ยินดีที่ได้รู้จักกันอีกครั้ง

ความสัมพันธ์มันรีบูตกันได้เนอะ

รีบูตนี่คล้ายๆ กับเทรนด์ของหนังฮอลลีวูด ที่ชอบเอาหนังเก่าๆ มาสร้างภาคต่อพร้อมกับเคลียร์ตัวเองให้ใหม่ปิ๊งน่ะ เรื่องที่ทำแล้วแป้กก็เยอะ แต่เรื่องที่ทำแล้วเจ๋งสัสๆ แบบ MAD MAX ก็มี – แน่นอน เราจะพูดในโหมดที่เจ๋ง ไม่ใช่เจ๊ง

ผมเพิ่งวางหูโทรศัพท์จากผู้ชายคนหนึ่ง เราคุยกันนานถึง 1 ชั่วโมง

* ใช้คำว่าผู้ชายคนหนึ่งเพื่อกันแก๊งเพื่อนเหี้ยมารุมเล่นมุกเมียน้อย
** พูดถึงปริมาณการโทร หนึ่งชั่วโมงนี่ปกติคือการใช้โทรศัพท์รวมทั้งเดือนละนะ

ผมรู้จักพี่คนนี้มานานมาก เพิ่งเปิดอีเมลที่เคยส่งถึงกันอย่างออฟฟิเชียล และคุยกันด้วยชื่อจริงในโหมดหน้าที่การงานสุดๆ พบว่าจดหมายลงวันที่ไว้เป็นปี 2007

แล้วเราก็โคจรผ่านกันบนโลกออนไลน์ ในยุคที่ประเทศไทยเพิ่งเล่นทวิตเตอร์กันอย่างเตาะแตะ และเฟซบุ๊กกำลังเริ่มมีคนเล่น… เล่นควิซกับอินไวต์เพื่อนเพื่อขอคะแนนเกมกันเป็นสมัยแรกๆ

เจอกันตัวๆ ตามวาระโอกาสต่างๆ เป็นบางครั้งบางคราว เราต่างก็จำกันในฐานะคาแรกเตอร์ที่แสดงออกผ่านตัวหนังสือ (ที่ดูบ้าๆ บอๆ และเบาๆ) ไม่เคยคุยกันเป็นจริงเป็นจังสักที

เราเห็นความสัมพันธ์แบบเดียวกันนี้ได้เป็นเรื่องปกติใช่มะ เช่น เออ รู้จักกันผ่านทวิตเตอร์เนอะ เดาว่าแกคงเป็นคนอย่างที่ทวีตออกมาแหงๆ เลย ดังนั้นฉันขอเล่นหัวแกแบบสนิทสนมได้ทันทีโดยไม่ต้องถาม อะไรแบบนี้ (แต่ตัวจริงของแกจะเหมือนตัวอักษรหรือเปล่า ก็อีกเรื่อง เราข้ามไป เอาเฉพาะ MAD MAX นะ)

นั่นแหละ เพราะความผิวเผินนี้เอง แม้จะปักหมุดไว้แล้วว่าเออ คนนี้คือหนึ่งในคนรู้จัก ที่ต่างก็รู้สึกโอเคและแฮปปี้ที่จะติดตามอีกฝ่าย แต่นั่นก็ยังคงเป็นการ follow each other ผ่านตัวตนที่แสดงออกมาในโลกออนไลน์ ก็เท่านั้น เราเลยเคยแต่หันด้านที่ไร้สาระใส่กัน เล่นมุกอะไรต่อมิอะไรเมื่อโคจรมาเจอกัน แล้วก็จาก

ด้วยจังหวะชีวิตของเราทั้งคู่ เราก็ห่างกันไปเรื่อยๆ …จนหายไปนาน

อยู่ดีๆ วันนี้เขาทักมาว่า “อยากรู้จักเราใหม่อีกครั้ง”

เป็นประโยคที่ไม่คุ้นเคย และไม่คุ้นเคยยิ่งกว่านั้นเมื่อเขาบอกว่าขอโทรคุยสักห้านาทีนะ

ไม่ใช่ขายตรงแล้วจะเป็นอะไรได้วะแบบนี้ ประกันชีวิตเหรอ

เปล่าเลย เขาทำแบบประโยคที่ใส่เครื่องหมายคำพูดจริงๆ

เสียงโทรศัพท์ดังขึ้น บทสนทนาเริ่มขึ้นอย่างเคอะเขิน ด้วยความที่ปกติเราก็ไม่ใช่คนที่ชอบโทรคุยกับใครเลยด้วยซ้ำ (ยกเว้นลูกค้าที่พร้อมจะโปรยเงินมาให้ อันนั้นคุยนานได้ ไม่ถือ)

คงเพราะอีกฝ่ายเป็นนักสัมภาษณ์มืออาชีพอยู่แล้วด้วยแหละ ไม่ทันได้ตั้งตัว เขาก็เริ่มสัมภาษณ์เราอย่างจริงจัง

รื้อไล่กันมาเลยว่าเออ จบที่ไหนนะ ทำงานอะไร ชอบอะไร ทำไมถึงทำสิ่งนั้น ทำไมถึงทำสิ่งนี้ เป็นเวลา 1 ชั่วโมงเต็มด้วยความลื่นไหลและสนุกมาก

มากจนวางหูปั๊บ ผมก็เปิดบล็อกขึ้นมาเขียนเลย

หนึ่งในบทสนทนาที่เราคุยกันก็คือ เดี๋ยวนี้การเขียนบล็อกมันเป็นเรื่องส่วนตัวกว่าการทวีต หรือโพสต์เฟซบุ๊กแล้วด้วยซ้ำ นั่นเพราะบล็อกเป็นสิ่งที่ไม่มีใครอ่าน เราจึงไม่ต้องมานั่งปั้นแต่งประโยคอะไรมากนัก และไม่ต้องมามัวกังวลกับยอดไลก์หรือผลตอบรับ แน่ล่ะว่าใจนึงเราก็อยากให้มีคนมาอ่าน มาแสดงความคิดเห็น แต่ด้วยสภาพการเป็นบล็อกในยุค 2018 …ซึ่ง ย้ำอีกทีว่ามันไม่มีใครมาอ่านกันแล้ว มันเลยดูเหมือนเราเปิดบ้านรอรับแขกอยู่เสมอ แต่บ้านเราอยู่บนยอดเขา หรือป่าลึก เปิดประตูไว้ก็แทบจะไม่มีใครมาอยู่แล้ว

เราเลยเป็นตัวเองได้กว่าเดิม ไม่ต้องเก๊ก ไม่ต้องเช็กแล้วเช็กอีกว่าอันนี้จะปังไหม ยอดรีจะมีแค่ไหน ไลก์เยอะหรือเปล่า

แต่ก็ไม่ค่อยได้เขียนอยู่ดี เพราะนึกอะไรออกเดี๋ยวนี้ก็ทวีตเลย ดูสิความฉาบฉวยนี้

เลยคุยกันต่อว่า ประโยชน์ของบล็อกมันคือเครื่องบันทึกเวลา บันทึกความคิดในแบบที่เป็นเรา มากกว่าไอ้ที่พ่นๆ ไว้ในโซเชียลนะ อย่างน้อยพรรณาโวหารที่ใส่ไว้ มันก็อ่านแล้วได้น้ำเสียง และเห็นตัวเราในอดีตมากกว่าที่เล่นมุกฉาบฉวย

คนที่ชอบยึดติดกับอดีตอย่างเราจึงเหมาะกับบล็อก

กลับมาๆ ตีหนึ่งแล้ว เดี๋ยวตื่นสายเมียด่า (ตะกี้ตอนโทรก็ได้ยินเสียงเมียลุกมาเข้าห้องน้ำ มันจะรู้ไหมว่าอีหนูที่ผัวคุยอยู่นี่คือชายร่างใหญ่คนนั้น)

ถ้าถอดบทสนทนาเมื่อสักครู่ ที่ผมเป็นฝ่ายถูกสัมภาษณ์ มันคงจะอารมณ์เหมือนมีคนมาขุดแคะตัวตนในวัยหนุ่มของเรา รื้อฟื้นขึ้นมาเพื่อให้เรียบเรียงและทบทวนกันอีกครั้ง ว่าที่เราเป็นเราทุกวันนี้ เราผ่านอะไรมา ทั้งหน้าที่การงาน ความคิด อุดมการณ์ ที่ตกตะกอนนอนก้นอยู่ในหลืบมานาน ด้วยงานการและวิถีชีวิตในทุกวันนี้ ผมอยู่แค่กับปัจจุบันและวางแผนอนาคตไปยันลูกเต้าเท่านั้น ไม่มีใครมาช่วยกระทุ้งอดีต และขุดมาคุยกันจริงๆ จังๆ แบบเมื่อสักครู่

บทสัมภาษณ์เพื่อรีบูตความสัมพันธ์เมื่อสักครู่จึงเหมือนได้นั่งไทม์แมชชีนย้อนเวลา นอกจากผู้ฟังจะได้รู้จักเราแล้ว ผมยังได้มองเห็นตัวเองที่กูเองก็ลืมไปนานแล้วเหมือนกัน (ย่อหน้านี้ใข้สรรพนามเปลืองมาก)

มันจึงเป็นบทสนทนาที่ดี ดีพอที่จะบันทึกเสียงเอามาพิมพ์เป็นเล่มใส่หนังสืองานศพ ตั้งชื่อว่า “บทสัมภาษณ์แอนวัยหนุ่ม” (ขอใช้ฟอนต์เชยๆ ที่ตัวเองทำไว้เมื่อสิบกว่าปีก่อน — เฮ้ย เรื่องเว็บฟอนต์ก็อยู่ในบทสนทนาตั้งนานเลยนะ)

มันจึงเป็นบทสนทนาที่ดี และเป็นการรื้อฟื้นความสัมพันธ์ที่ดีเช่นกัน

ขอบคุณและยินดีที่ได้รู้จักกันอีกครั้ง

ในยุคที่เราลืมไปแล้วว่าโทรศัพท์มันโทรได้นะ

คอมเมนต์