เฟดบุ๊ก

ไหนๆ เขียนตอนตะกี้แล้วติดพัน เลยแยกเรื่องออกมาต่อสักหน่อย (หายไปหลายเดือน มีเรื่องอยากเขียนเต็มไปหมดแต่มันเป็นเรื่องใหญ่และต้องใช้สมาธินาน อย่างเช่นสรุปปี 2018 ที่ชาวบ้านเขาเขียนกันจนนี่พ้นปีใหม่มานานแล้วเราก็ยังไม่ได้เขียนสักที จนตกผลึก ปุ๊! กูเขียนเรื่องเล็กๆ สั้นๆ แล้วบ่อยๆ แทนก็ได้นี่หว่า เลยสัญญากับตัวเองว่าเอาแบบนี้ละกันเนอะ คิดถึงบล็อกเหลือเกิน)

เข้าเรื่อง… วันนี้ทวีตไปแบบนี้

มาอ่านทีหลังแล้วรู้สึกว่าห้วนไปหน่อยเหมือนด่วนสรุป ไม่ค่อยได้ใจความเท่าไหร่ แต่ก็นะ มีคนมาแสดงความเห็นในรีพลายด้วย ในโควตด้วย เยอะโคตร ซึ่งถูกแล้วที่พูดเรื่องเลิกเล่นเฟซบุ๊กในทวิตเตอร์ ซึ่งเป็นแหล่งของคนที่เลิกเล่นเฟซบุ๊กอยู่แล้ว 5555

ตามความเข้าใจเดิมของเราและใครหลายๆ คน ต่างก็คิดติดเป็นภาพจำมาตลอด ว่ากลุ่มคนที่เลิกเล่นเฟซบุ๊กนั้น คำตอบคือเป็นกลุ่มเด็กๆ ที่พ่อแม่เข้ามายุ่มย่ามกับชีวิต จนขี้เกียจจะวางตัว เลยหนีมาเป็นบุคคลนิรนามในทวิตเตอร์ ที่ยังรักษาเสรีภาพในการแสดงออกแบบที่ไม่ถูกใจผู้ปกครอง (แต่มันคือชีวิตกูจริงๆ ไง) ได้อยู่

แต่ปรากฏว่าพอเรามาทำงานขายของ โดยติดต่อกับลูกค้าผ่านช่องทางหลักคือเฟซบุ๊กและอีเมล ก็พบเรื่องที่น่าสนใจ โอเคนี่คือผลการวิจัยที่ไม่ถูกต้องเพราะเราอาศัยประสบการณ์ส่วนตัวมาโน้มน้าว แต่ฟังหน่อยจะเป็นไรไป

เรื่องน่าสนใจที่ว่าคือ เมื่อสิบปีที่แล้ว (เราทำร้านสกรีนเสื้อมา 15 ปีได้) การติดต่อผ่านช่องทางหลักคืออีเมล ผู้คนยังใช้คอมพิวเตอร์กันเป็นหลักมากกว่ามือถือแบบในทุกวันนี้ ดังนั้นลิสต์อีเมลที่ใช้คุย ใช้ส่งงานกับลูกค้าจึงมีเยอะ และยังเก็บ archives ไว้จนปัจจุบัน (ขุดดูเจอลูกค้าสมัย 2004 อยู่อีกหลายเจ้า)

ไม่ดักแก่มากละกัน โดดมายุคนี้เลย เราตั้งใจจะไม่ใช้ไลน์ เพราะระบบของไลน์มันเหี้ยเกินไปสำหรับธุรกิจอย่างเรา ที่ต้องคุยกับลูกค้าหลายๆ เจ้า และเก็บความสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง แถมยังต้องแทร็ก (= เก็บลิงก์ของลูกค้าแต่ละคน) แยกไว้ในตารางงานอย่างเป็นระบบ ระบบของเราเอง ชาวบ้านเขาคงมีวิธีที่ไม่เชยแบบนี้

ปรากฏว่าลูกค้าก็โอเคนะ ช่องทางติดต่ออื่นๆ ที่เราเปิดไว้ให้คืออีเมลและเฟซบุ๊ก ซึ่งทั้งสองอย่างตอบโจทย์ของเราพอสมควร (โทรศัพท์เอาไว้ยามจำเป็น เพราะมันแทร็กไม่ได้) แต่ตอบโจทย์ลูกค้าหรือเปล่านี่สิ เวลาคือคำตอบ และเราก็ได้คำตอบมาแล้วว่ามันโอเคอยู่

จนกระทั่งในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมานี้เอง เราเห็นสัญญาณปุแล่มๆ จากลูกค้าหน้าใหม่ที่เข้ามาเรื่อยๆ เป็นบทสนทนาทางโทรศัพท์ที่บอกว่าตัวเอง “ไม่มีเฟซบุ๊ก” อยู่ประปราย มีทั้งที่เป็นเด็ก เป็นวัยรุ่น (ส่วนใหญ่ต่างจังหวัด) ไปยันวัยกลางคนที่พอจะบอกลูกหลานให้ช่วยใช้บัญชีส่วนตัวมาสั่งซื้อและส่งงานกราฟิกทาง Facebook Messenger นั่นก็ไม่ได้ติดขัดอะไร ยังได้อยู่

แต่กับช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา (ก็คือปีใหม่นี้แหละ) มีลูกค้าที่ไม่มีเฟซบุ๊กเลยติดต่อเข้ามาถึง 4 คน ทั้งสั่งสกรีนเสื้อและเช่าสตูดิโอ (ขีดเส้นใต้ทำลิงก์เพื่อ SEO) แน่นอนเราก็เข้าใจแหละว่าคนไทยใช้ไลน์เป็นหลักกันแทบทุกคนเนาะ แต่เอ๊ะทำไมไม่มีเฟซบุ๊กล่ะ เลยเสือกถามเขาไป

ไม่ใช่ไม่มี แต่เคยมี เลิกเล่นแล้ว

เหตุผลต่างกันออกไป บางคนไม่มีเพื่อนเล่นในนั้นแล้ว บางคนไม่มีความจำเป็นจำต้องใช้ บางคนไม่ได้บอกอะไร ก็ไม่ได้เล่น ใช้แต่ไลน์

พอผมทวีตออกมา ปรากฏว่ามีคนมาคุยด้วย หลายคนแชร์เหตุผล (หลายคนผมก็ถามไปด้วยความเสือกเขาอีกนั่นแหละ) ว่าทำไมถึงไม่เล่น หรือเลิกเล่น คำตอบของหลายคนก็น่าสนใจ (กดอ่านในรีพลายเอาเองก็ได้) เช่น

  • ขี้เกียจเสือกเรื่องชาวบ้าน (มาเสือกในทวิตเตอร์แทนเพราะมันเรียลกว่า)
  • ญาติไม่แฮปปี้ที่แสดงความเห็นเป็นตัวเองแต่ไม่ถูกใจท่านๆ อย่างที่พอเดาได้ (ตัวอย่างเช่น #เลื่อนแม่มึงสิ หรือ #ปั่นอุ่น อะไรสักอย่างลืมแล้ว เมื่อเดือนก่อน ที่เห็นได้รึ่มในโลกของนกสีฟ้า)
  • เบื่อการที่ต้องแสดงออกสร้างภาพชีวิตดีๆ
  • เบื่อการ “keep connection”
  • เป็น Social Media ที่ Toxic มาก” คนนี้อธิบายว่าการเห็นคนอื่นมีชีวิตดี มันทำให้เราดาวน์ ซึ่งจริงตามที่เขาวิจัยๆ นั่นแหละ
  • อันนี้เราก็เคยเป็น เห็นเพื่อนที่เราเคยสนิทด้วยคุยกันถูกคอแล้วเหมือนเราหลุดออกมา คุยกันคนละภาษาแล้ว หาทางแทรกไม่ถูก เจ็บปวดแต่ทำใจเหมือนกันนะวัยรุ่น 555
  • ไม่ไว้ใจจากการโดนดักฟัง
  • ไม่ชอบความไม่เรียลไทม์
  • รำคาญโฆษณา (อันนี้ธรรมดามาก แต่ขอเอามาลงให้เห็นรวมๆ)
  • บางคนเกลียดถึงขนาดที่ร้านรวงไหนให้ไปร่วมแคมเปญไลก์แชร์เช็กอิน จะไม่อุดหนุนเลยยังมี
  • โอ๊ยเสียดายทวิตเตอร์มันแทร็กข้อความที่มีคนโควตเราไปคุยต่อไม่ได้ ลืมหมดแล้ว

ความลำบากใจอย่างหนึ่งก็คือตอนนี้งานการที่ทำของผมนั้นยังหากินในทะเลที่มีปลาเยอะๆ อยู่ แล้วเฟซบุ๊กคือสิ่งนั้นโดยไม่มีใครสามารถทาบรัศมีได้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และคงจะเป็นแบบนี้ไปอีกหลายปี (โดยเฉพาะในไทย) ไหนจะไปกดสมัครบริการต่างๆ นั่นนี่ทั้งไทยเทศ ซึ่งการล็อกอินผ่านเฟซบุ๊กมันสะดวกจริงๆ เลยให้ตาย (เมื่อก่อนจะมีกูเกิลกับเฟซบุ๊กมาคู่กัน หลังๆ คงเอาที่คนไทยฮิตก็คืออีผีบ้าสีน้ำเงินนั่นอย่างเดียว) ก็เลยลบแอปออกไปไม่ได้

พอเปิดคอมพ์ทำงาน ตอบลูกค้าทีนึง กดเข้าไปเช็กข้อความ แถมยังต้องสะสมข้อมูลเพื่อเตรียมตัวในงานที่กำลังทำอยู่ (ปีหน้าจะเปิดคาเฟ่) ก็จะเผลอเหลือบตาไปมองไอ้ตุ่มแดงๆ นั่น จึงสะดุดหล่นลงไปในหลุมดำ แล้วก็พบว่าแม่งเสียเวลาชีวิตจนได้ ถึงจะแค่ 5-10 นาที แต่ก็พบว่ามันไม่ใช่ทางของเราเลย เอาเวลามาเสพทวิตเตอร์สบายใจกว่า (อ้าว)

ไหนๆ ก็ไม่ได้สรุปเรื่องของปี 2018 แล้ว ในนันมีพาร์ตนึงตั้งใจจะเขียนเรื่องการเสพติดโซเชียลของตัวเองไว้ด้วย ก็เอามาใส่ตรงนี้แทนละกัน ขอจบตอนนี้ด้วยการจดพฤติกรรมตัวเองในปีที่ผ่านมาละกันว่าถ้าไม่ได้นับเรื่องงาน เราเข้าเฟซบุ๊กไปทำอะไร

  • เข้ากรุ๊ปขายของเก่าแอนทีค, กรุ๊ปต้นไม้, กรุ๊ปสเก็ตช์รูป, Calligraphy, กรุ๊ปการ์ตูนเก่า, กรุ๊ปการเกษตรต่างๆ
  • เข้า Marketplace เฮ้ย เราใช้ฟีเจอร์นี้บ่อยนะ บ่อยได้ไงไม่รู้ ไม่เห็นใครพูดถึงกันเลย 555555 เข้าไปดูเฟอร์นิเจอร์ไม้ ดูต้นไม้ ดูอสังหา ดูของเก่า
  • ส่องโนติที่กดตามเพจไว้ เพจที่ตามจริงจังอยู่ไม่กี่แห่งมั้ง เช่นพี่ยุ้ย โดนไล่มาเล่นในนี้ ไข่แมวX การ์ตูนเดือด แล้วก็เพจพากินพาเที่ยวที่มีเฉพาะในแพลตฟอร์มนี้เท่านั้น (ถ้าใครมีเว็บก็จะไปกดสับตะไคร้ฟีดในเว็บแทน)
  • โนติที่เหลือคือปิดไปหมดแล้ว เปิดไว้แค่ถ้ามีเพื่อนมาเม้นถึงจะเด้ง แล้วเพื่อนก็จะเม้นแต่เรื่องเหี้ยๆ จนคนเข้าใจไปแล้วว่ากูมีคอนโดอยู่ 4 มีเมียอยู่ 8 ลูกอีก 13 ลูกชายคนโตเข้ามัธยมแล้ว
  • ไม่ได้กดหน้าแรก ไม่ได้เสพไทม์ไลน์ เว้นแต่ว่างแบบว่างสัสๆ จริงๆ เช่นขี้อยู่แต่อ่านข่าวใน Feedly หมดแล้ว ทวิตเตอร์ก็หมดแล้ว เว็บตูนก็หมดแล้ว เอาวะส่องหน้าแรกหน่อย (เห็นเราเม้นใครคือขี้อยู่ 100%)
  • นานๆ จะเข้าไปเพื่อไล่อันเฟรนด์คนที่ชีวิตไม่ได้โคจรผ่านกันอีกต่อไปแล้ว… เออ ถ้าเราอันเฟรนด์ใครอาจจะดูเสียมารยาทเนอะ แต่การ “Keep connection” ด้วยการต้องเป็นเฟรนด์กันในเว็บนั้น แม่งไม่ใช่สิ่งที่จริงสำหรับเราเลย เดี๋ยวคุยกัน (จริงๆ) ก็กลับมาเป็นเพื่อนกัน (จริงๆ) เองแหละ เราเกลียดการที่เฟซบุ๊กมันใช้ความสัมพันธ์ของคนเป็นตัวประกัน
  • ที่กล่าวดังนี้ก็คือไม่มีเพื่อนนั่นเอง

ป.ล.
ทีแรกจะแปะทวีตของ Verge เมื่อสองสามวันก่อน ที่ว่าด้วยการเป็น monopoly ของเฟซบุ๊กอย่างไร้เทียมทานไปอีกหลายปีด้วยเทคนิคการไล่ก๊อป ไล่ฆ่า ไล่กลืน คู่แข่ง เพื่อความมั่นคงของรัฐบาล เสียดายทวีตนั้นปลิวไปแล้ว

Vlog

มานึกได้ว่าตัวเองก็เคยทำไอ้สิ่งที่คล้ายๆ กับ Vlog เมื่อสิบกว่าปีก่อนเหมือนกัน สมัยที่ยังใช้กล้องวิดีโออยู่ (ยุคที่เริ่มมีฮาร์ดดิสก์ข้างในกล้องแล้ว แต่ไฟล์ยังออกมาเป็น .mpg = 240p) ลืมไปแล้วว่ายืมใครมา หรือใครให้มาเป็นค่าจ้างทำงาน

ตอนนั้นยังเป็นยุคสังคมเว็บบอร์ด ได้ไปเที่ยวทะเล ไปมีตติ้งกับชาวคณะอยู่บ่อยๆ พอเบื่อๆ ถ่ายภาพนิ่งก็เลยใช้กล้องวิดีโอที่ว่า ถ่าย, ก๊อปลงคอมพ์ ตัดต่อ (ใช้ โปรแกรม Sony Vegas เถื่อน ยุคนั้นยังใช้ของเถื่อนอยู่) เสร็จแล้วก็อัปขึ้น Google Videos! ลืมชื่อนี้ไปกันแล้วหรือยัง! ใครจะไปนึกว่าวันนึงมันจะเจ๊งเพราะกูเกิลเสือกไปดันแพลตฟอร์มใหม่สุดๆ ของโลกอย่างยูทูบล่ะ!

ก็นั่นแหละ พอวันนี้มานั่งย้อนดูต้นฉบับไฟล์ที่เก็บไว้บน Google Drive ก็สนุกดี แต่สัมผัสได้ว่าลักษณะการสื่อสารและการแสดงออกจะเป็นคนละแบบกับ Vlog ในทุกวันนี้ คือเราไม่ได้ทำตัวเหมือนเป็นพิธีกร และเป้าหมายของเราคือคนกลุ่มเล็กๆ ไม่ใช่หวังว่าคุยกับผู้ชมทางบ้านกว่า 8 ล้านคนที่อยู่อีกฝั่งนึงของก้อนเมฆอย่างทุกวันนี้

ที่นึกเรื่องนี้ขึ้นมาได้ก็เพราะวันนี้เพื่อนลูกมาเที่ยวบ้าน เลยได้คุยกับผู้ปกครองของเพื่อนลูก ลามไปถึงเรื่องแชนเนลยูทูบสำหรับเด็กหลายๆ ช่องที่เด็กในนั้นอายุเท่าๆ กับลูกเรา แต่ทำรายได้โคตรเป็นกอบเป็นกำ เรียกว่าทำเป็นอาชีพ กลับมาบ้านก็วางกระเป๋าแล้วเดินเข้าสตูดิโอถ่ายทำรายการ หรือไม่ก็ไปเที่ยวไปกินที่ไหนๆ ฟรีบ้างจ่ายบ้าง แลกกับการรีวิว แสดงกันเป็นครอบครัวโดยมีเด็กเป็นตัวชูโรง และมีพ่อแม่ชักใยกำกับอยู่

แล้วกลุ่มผู้ชมคือเด็ก อันนี้เป็นความลับสวรรค์เฉพาะคนที่มีลูกหรือได้เลี้ยงเด็กมาแล้วเท่านั้นเลยนะ ว่าบ้านใดมีเด็กที่ถูกสะกดวิญญาณโดยยูทูบนั้น เพลย์ลิสต์ในแอปดังกล่าวจะล้ำกว่าใคร เพราะจะมีแต่รายการเด็ก, การ์ตูนเด็ก, Vlog ของช่องเด็ก และอะไรๆ ที่เกี่ยวพันกับเด็ก แม่งก็จะกด next ไปเรื่อยๆ ไล่ไปทีละคลิป ไม่บ่นเรื่องโฆษณา ไม่บ่นอะไรทั้งนั้น เป็นผู้ชมที่ดี ทำได้เพียงเสพติดมัน น้ำลายยืด เซลล์ประสาทถูกเบบี้ชาร์กและผองเพื่อนทำลายลงไปเรื่อยๆ ส่วนฝั่งครีเอเตอร์นั้นน่ะหรือ รวยไม่รู้เรื่องเลยแหละเธอ

ก็เคยเห็นเคสที่เขาทำแล้วเอาตัวเลขมากางให้ดู ในยุคสมัยที่คนทำยูทูบบ่นกันว่าโดนกดรายได้ แต่ขอโทษ คลิปในหมวดครอบครัวนั้นเป็นข้อยกเว้น เราจึงตื่นตาตื่นใจและร่วมแสดงความยินดีด้วย …บอกกงๆ ว่าอิจฉาจังโว้ยยยย

วันนี้เลยได้คุยกันว่า ทำแบบนี้มันโคตรง่ายและรายได้ดี เป็นงานที่แจ๋วมากเลยเธอว่าไหม / ใช่ ฉันก็ว่า / แล้วทำไมเธอไม่ทำล่ะ ฉันว่าเธอทำได้สบาย / ไม่ล่ะ ฉันอยากไปเที่ยวกับครอบครัวมากกว่า ไม่ได้อยากไปเที่ยวแล้วต้องทำการแสดงต่อหน้าคนแปดแสนคนทั่วโลกนั่น

ไม่ใช่แค่คนที่คิดเรื่องการเอามันมาเป็นรายได้หรอก แต่รู้สึกเหมือนกันว่าตอนนี้เทรนด์มันเป็นแบบนี้จริงๆ ยิ่งพอเทคโนโลยีแม่งโคตรง่าย เราตัดต่อรายการสนุกๆ ได้แม้ในมือถือ (วันก่อนโหลดแอปตัดต่อวิดีโอฟรีมา แม่งเง้ย ง่ายจนอยากรีไฟแนนซ์ตัวเองให้มาเกิดใหม่ทันโตยุคนี้) เหล่าเน็ตไอดอล Vlogger จึงถือกำเนิดขึ้นมารัวๆ ทั้งมือใหม่มือเก่าต่างก็แฮปปี้กับการเป็นดาราหน้ากล้อง เป็นซัมวันแห่งกระแสวัฒนธรรมนี้

ดาราจักรมันเคลื่อนย้ายจากทีวี นิตยสาร มาสู่โลกของสื่อใหม่กว่า …ใหม่กว่าเฟซบุ๊กด้วยซ้ำ

กระทั่งการไปเที่ยวกับครอบครัวหลายครั้งเมื่อเร็วๆ นี้ ก็ยังต้องคอยเกรงใจเหล่า Vlogger หนุ่มสาวหลายๆ คณะ ที่ขอยึดสถานที่ท่องเที่ยว ที่พัก หรือคาเฟ่ร้านอาหารที่เราเองก็จ่ายตังค์กินเหมือนกัน แต่กลับต้องคอยหรี่เสียงและเกรงใจเขาและเธอเมื่อยามเดินผ่านกล้อง…

พอคุยถึงตรงนี้แล้วก็พบว่า เอาจริงๆ ถึงแม้ในใจเราจะมีอคติเต็มไปหมด เช่น อะไรวะ เฮ้ยมึงมาเที่ยวกับเพื่อนกับครอบครัวนะ จะมาแสดงทำไม แต่ก็ต้องข่มใจไว้ ไม่ให้มองวิถีนี้เป็นเรื่องประหลาดแปลกปลอม สิ่งที่ควรทำจึงน่าจะเป็นการทำความเข้าใจ จะเห็นด้วยหรือไม่ก็ต้องยอมรับว่าโลกมันหมุนมาทางนี้แล้วจริงๆ ไม่ใช่หลับตาลงแล้วแอนตี้ คนที่วิจารณ์มัน (ถึงแม้จะแค่ในใจอย่างเรา) ต่างหากที่ตกยุค

แบบเดียวกับที่เราเคยรู้สึกสมัยวัยรุ่นว่าพ่อแม่ลุงป้านั้นไหงโบราณเหลือเกินนั่นแหละ

คุยกันจบแล้วก็มองไปยังลูกเต้าของพวกเราที่กำลังค่อยๆ เติบโตขึ้น ไปในโลกใหม่ที่เราไม่รู้จักขึ้นทุกที

สัญญาว่าพ่อจะยังไม่รีบแก่นะ

ชมพู่ อารยา

ข้ออ้างในการดองบล็อกก็คือ เพิ่งหายปวดตาเมื่อวานนี้ หลังจากเป็นตากุ้งยิงสลับตาแดงมานาน (มีหลายคนที่เป็นเหมือนกัน หาหมอมาแล้วหลายบาทแต่ก็ยังเป็นสลับซ้ายขวาอยู่ บัดซบ)

ชมพู่

ที่จริงจะเขียนเรื่องอื่นอีกมากมายในช่วงที่ไม่ได้จับบล็อกเลย แต่มาเห็นชื่อของคุณชมพู่ อารยา และข่าวคราวรวมถึงความเห็นเชิงบวกเชิงลบเชิงแซะเชิงอิจฉา เชิงแซะคนที่อิจฉาอีกที รวมไปถึงความเห็นที่ลากไปเรื่องวิชาการ ชนชั้น สังคม ฯลฯ โผล่มาในไทม์ไลน์อย่างมากมาย

แล้วก็นึกได้ว่า เราแทบไม่เคยเห็นภาพของชมพู่ หรือชุดแต่งงานในตำนาน (หรือเปล่าก็ไม่รู้) ของชมพู่เลย หรือแม้แต่หน้าเจ้าบ่าวซึ่งก็ไม่รู้เหมือนกันว่าเป็นใคร รู้แต่ว่ารวยมากๆ ซึ่งไอ้ที่รู้นี่ก็คือรูจากเศษข้อมูลที่ผ่านตามาจากไทม์ไลน์เช่นกัน

จนเมียเพิ่งเปิดภาพชุดแต่งงานชมพู่ให้ดูวันนี้เอง คือเมียโพสต์ลงเพจร้านนลินฟ้า แล้วมีคนมากดไลก์บ้างชื่นชมบ้างเยอะจนน่าสนใจ เลยมาเล่าให้ผมฟัง

ไอ้ความรู้บ้างไม่รู้บ้าง ถ้ารู้ก็รู้แค่เศษข้อมูล และ/หรือความไม่สนใจ หรือสนใจของข่าวอะไรแบบนี้ นี่แหละน่าสนใจ

สนใจว่าตอนนี้เรา (และเชื่อว่ามันต้องมีคนอื่นบ้างแหละ) ยืนอยู่ตรงไหนของสายธารแห่งข้อมูลหว่า มันไหลบ่ามาจนชาวบ้านร้านตลาดพูดกันขนาดนี้ แต่เราก็แทบไม่เคยเห็นภาพ หรือจับแก่นกระพี้ของข่าวได้เลย โอเค คือรู้แค่คีย์เวิร์ดที่ว่า “ชมพู่ได้ผัวรวย” (ขอโทษนะครับ คือมันสรุปได้แบบนี้จริงๆ ถ้าคุณชมพู่อ่านแล้วไม่พอใจผมขอโทษแรงๆ เลยครับ รักนะครับ ถึงคุณจะมีผัวรวยแล้วก็ตาม)

ซึ่งนั่นก็พอแล้ว ดีเทลอย่างอื่นเช่นสินสอดเท่าไหร่ เจ้าบ่าวเป็นใครทำอะไร มีบ้านมีรถมีชุดสวยๆ หรือมีดารามาร่วมงานอะไรยังไง ไม่ได้สนใจจะใคร่รู้ และชีวิตก็ปกติสุขดี

เลยนึกถึงเมื่อสมัยที่ทำงานบริษัทเมื่อ 3 ปีก่อน มีพี่คนนึงที่แกเป็นเซียนในวิชาเว็บ รวมไปถึงเรื่องปรัชญาศาสนาการเมืองอะไรก็คุยกับแกได้ลึกละเอียดพิสดาร ปกติก็คุยกันสรวลเสเฮฮาทั่วไปนั่นแหละครับ

แต่พออยู่มาวันหนึ่ง เราคุยกันเรื่องอะไรก็ไม่รู้ ผมยกชื่อดาราสาวไทยที่ตึงๆ เอ็กซ์ๆ ขึ้นมาคนนึง คือชมพู่นี่แหละ

…พี่แกงง “ใครนะ?”

โลกของแกไม่เคยรู้จัก หรือได้ยินชื่อดาราคนนี้มาก่อน แต่เฮ้ย สามปีที่แล้วชมพู่ก็โดดมาเป็นดาราเกรดเอแถวหน้าของเมืองไทยเทียบเท่าอั้มแล้วนะ มีคนไม่รู้จักด้วยเหรอ

ผมตกใจ แต่มองไปที่แววตาพี่แกที่ไม่มีทีท่าจะรู้สึกว่า “กูผิดสินะที่กูไม่รู้จักดาราคนนี้เลยสักนิด” แล้วก็เกิดพุทธิปัญญาขึ้นมา

เออ จะมีหรือไม่มีชมพู่ ชีวิตเราก็ปกติสุขดีนี่นา

#จบห้วน #เมียเรียก

สัญญาว่าจะหัดเล่นเฟซบุ๊กอีกครั้ง

นี่เป็นคำพูดที่เคยประกาศอย่างจริงจังมาหลายที จนเหมือนเป็นสิ่งที่เชื่อถืออะไรไม่ได้แล้วนะ

คือผมเป็นพวกเสพติดการออนไลน์ โดยที่ไม่มีเฟซบุ๊กมาเกี่ยวข้องด้วยน่ะ ใครที่เข้าใจคำว่า “โลกออนไลน์ = เฟซบุ๊ก” อาจจะนึกภาพไม่ออก แต่ผมนึกออก เพราะตัวเองเป็นอยู่

ที่จริงตัวเองน่าจะเป็นคนไทยกลุ่มแรกๆ เลยมั้ง ที่ได้สัมผัสอีเว็บดังกล่าวจากคำชวนของน้องที่ไปเรียนเมืองนอกเมืองนา ตั้งแต่สมัยที่ยังไม่มีใครคิดกันว่าวันนึงอาณาจักรไฮไฟว์จะพินาศลงได้

แต่นั่นก็เป็นประสบการณ์ที่แย่ เพราะเฟซบุ๊กไม่เคยทำให้ผมประทับใจได้เลย เนื่องจากแม่งไม่มีเพื่อนเล่น 5555

มันก็ชัวร์อยู่หรอกครับ ถ้าเป็นสมัยนี้ก็คงนึกภาพไม่ออกกันแล้ว แต่ตอนนั้นเฟซบุ๊กแม่งเป็นเว็บสีขาวน้ำเงินน่าเบื่อๆ มีแต่การ poke กันไป poke กันมา อัปภาพ โพสต์ข้อความ เลี้ยงสัตว์ ทำควิซ และต้องคอยเฝ้าเพื่อรายงานตัวกับเพื่อนเป็นระยะๆ (ไม่แน่ใจว่าสมัยนั้นมีปุ่มไลก์หรือยัง)

เชี่ย น่าเบื่อที่สุด เปลี่ยนตีม โมหน้ากากเล่นแบบฮิห้าก็ไม่ได้ ก็เลยเลิกเล่นไปนานมากๆ จนน่าจะจำรหัสผ่านไม่ได้ ต้องสมัครใหม่ด้วยซ้ำ (ไม่ชัวร์นะ คือยุคนั้นสมัครบริการนั่นนี่เปรอะมาก)

จนอีกสักพัก ผมก็ได้รู้จักทวิตเตอร์จากการสมัครเปรอะๆ เช่นกัน และพบว่ามันง่ายดีสำหรับคนที่มีโลกส่วนตัวอย่างเรา คือพอเข้าใจคอนเซปต์ของมันว่าเออ อยากทวีตอะไรก็ทวีตไป แล้วไม่ต้องคอยเฝ้าหน้าจอนะ ว่างเมื่อไหร่ค่อยมาเปิดและตอบคนที่มาถาม ไม่มีใครถือสาอะไร และไม่ต้องเร่งเร้า ไม่ต้องพยายามเป็นคนอื่น

โอเค กูเล่นไอ้นี่แหละ

ก็เลยเสพติดโลกออนไลน์โดยมีทวิตเตอร์เป็นช่องทางหลักๆ (ควบคู่กับเว็บบอร์ดอายุเกือบสิบปีที่ชื่อฟอนต์.คอม ที่เหมือนกับเว็บบอร์ดทั่วโลกที่โดนผักตบชวาที่ชื่อเฟซบุ๊กมาทำลายระบบนิเวศไปซะมาก)

โดยที่เคยพยายามหัดเล่นเฟซบุ๊กถึงขนาดที่เคยตั้งเป็นปณิธานเลยก็มี แต่ก็ไม่สำเร็จสักครั้ง

คือเราไม่อินจริงๆ นะ 555

โปรไฟล์ตัวเองก็ไม่ได้ปกปิดอะไร เพื่อนฝูงญาติมิตรก็ไม่ได้มีปัญหากับใคร เพจน่าสนใจก็มีมากมาย แต่ปัญหาคืออะไรวะ

เกลียดความรกของมัน?
เกลียดดีไซน์ที่ดูวุ่นวาย เกลียดการใช้ฟอนต์เล็กๆ เกลียดข้อจำกัดในการสร้างพื้นที่ส่วนตัว เกลียดความปิดกั้น เกลียดนโยบายที่ดึงดูดทุกเว็บให้ไปฝังอยู่ในระบบอันเทอะทะแต่ไม่เปิดระบบตัวเองให้เอาไปแปะตามเว็บชาวบ้านชาวช่องได้มั่ง (นี่มันเกลียดแบบเฉพาะทางสุดๆ เลยนะ) หรือเกลียดโฆษณาที่ดูรุกล้ำเรามากเกินไป เกลียดที่มันใช้ในมือถือไม่ถนัด เกลียดแคมเปญกลวง ห่าเหวจากนักการตลาดและเอเจนซีที่ไม่เก่งเท่าที่โม้ เกลียดวัฒนธรรมหลายอย่างในนั้นทั้งที่ระบบสร้างขึ้นมา กับที่ผู้ใช้บ้านเราสร้างกันเอง

เอ๊ะ หรือเกลียดความรู้สึกที่ว่าคนรอบข้างเกือบทุกคนเข้าใจว่ามนุษย์ทุกคนต้องเล่นเฟซบุ๊ก และต้องพร้อมออนไลน์เพื่อตอบข้อความเดี๋ยวนี้!!!

ก็ไม่ทราบได้

แต่นั่นเป็นข้อสงสัยที่ทำให้เราพยายามเท่าไหร่ก็ทำใจไม่ได้ ที่จะไปเสพติดมัน ทั้งที่เคยประกาศให้เพื่อนฝูงฟัง(อ่าน)หลายครั้งแล้วว่าปีนี้กูจะหัดเล่นให้ได้ คอยดูๆๆๆ เนี่ยเขียนลงบล็อกหลายทีแล้วด้วย คราวนี้เอาจริงสุดๆๆๆ

แต่ก็คึกได้แป๊บเดียว เลิก

ทุกวันนี้เฟซบุ๊กของผมจึงเป็นเพียงสถานที่สำเนาข้อความจากทวิตเตอร์อีกที (คือตั้งค่าในทวิตเตอร์ไว้ให้มันเด้งไปเฟซบุ๊กน่ะครับ ยกเว้นเวลาทวีตคุยกับใครมันจะไม่ขึ้น) ไม่ได้เคยสนใจจะไปพิมพ์คุยกับใคร หรือกดไลก์(ตามมารยาท)ให้กับคอมเมนต์ของเพื่อนที่อุตส่าห์เข้ามาเขียนคอมเมนต์ใส่ข้อความอัตโนมัติของเราโดยที่ไม่รู้ว่าไอ้บ้านี่ของแท้ต้องไม่เคยออนนะจ๊ะ

จนมีวันหนึ่งที่ตัวเองพอจะนึกออกว่าบรรยากาศของเฟซบุ๊กมันคล้ายๆ กับ MSN ในยุครุ่งเรือง นั่นคือมันจะมีความคิดมาตรฐานอย่างหนึ่งที่ทุกคนเข้าใจร่วมกันว่า “ทุกคนต้องเล่นเอ็ม” และการไม่เล่นเอ็มถือเป็นความบ้าบอที่เห็นแล้วสงสัยว่ามึงอินดี้ไปหรือเปล่า เนี่ย มี MSN Plus ด้วยนะ แต่งอีโมได้ด้วยนะ ทำวิงก์กระพริบๆ ได้ด้วยนะ เปลี่ยนสีฟอนต์ได้ด้วยเหอะ ฯลฯ

นั่นแหละที่ทำให้ผมเลิกเล่นเอ็มอย่างถาวร ไม่สนใจสังคมมากมายที่อยู่ในนั้น คือมันจอแจไป

เออ พิมพ์มาถึงคำว่าจอแจปั๊บนึกออกเลย ใช่ๆๆ “มันจอแจ”

คือเฟซบุ๊กมันมีสาธารณูปโภคและสิ่งเร้ามากมายให้เราเสพติดและอยู่กับระบบของมันนานๆ เลยมีการไลก์ (และการไม่มีปุ่มดิสไลก์) มีโนติแดง ข้างบน พร้อมกับเด้งเตือนเมื่อเพื่อนเราทำอะไร (ผมแทบไม่เคยกดโนติเลย) มีแถบเสือกด้านข้างที่ยิ่งบิ๊วนิสัยเสือกของมนุษย์ขึ้นมาอีก มีนั่นมีนี่สารพัด ที่พัฒนาขึ้นเรื่อยๆ แล้วผลักดันให้เราต้องทำตามคำสั่งที่ระบบมันวางเอาไว้ โดยที่ผู้ใช้อาจจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม แต่ก็เพลิดเพลินไปกับมัน และสร้างเป็นพฤติกรรมร่วมของมนุษย์ในยุคนี้ไปแล้ว (เช่นการชอบกดไลก์ ใช่กดแชร์ แคร์กดคอมเมนต์ อะไรแบบนี้)

ทุกอย่างดูดีและโซเชียลที่สุดเลยใช่ไหมครับ แต่ไม่เคยมีที่ไหนเลย ที่จะทำให้เรารู้สึกว่า “มันเป็นพื้นที่ของเราจริงๆ” แม้แต่ในหน้าโปรไฟล์ของเราเอง ที่ทุกอย่างต้องระบุตามช่องกรอกของมัน ไม่สามารถเปลี่ยนอะไร หรือแหวกอะไรได้มากกว่านี้แล้ว คุณมีหน้าที่เพียงกรอกข้อมูลของคุณ พร้อมภาพถ่าย ภาพปก และหมั่นอัปเดตสเตตัสอยู่เสมอๆ เพื่อบอกความเป็นคุณให้โลก(หมายถึงโลกบนเฟซบุ๊ก)รู้ ส่วนอะไรที่ “เป็นคุณ” จริงๆ หรือเป็นเพียงสิ่งที่อยากจะบอกว่านี่คือคุณ อันนี้ก็แล้วแต่จะปรุงแต่งกันตามใจนะ

ผลก็อย่างที่เห็นเลยครับ ทุกคนประกาศความเป็นคุณกันโบ้มๆ

เหมือนเวลาเลี้ยงรุ่น เพื่อนๆ มากันเต็มห้องเลย แล้วดันมีแต่คนแย่งกันพูด ไม่มีพื้นที่สำหรับคนชอบความเงียบตรงมุมห้องอย่างผม

เราเลยหันไปเล่น Google+ แทน

ผมเลยยังคงมีความสุขดีกับทวิตเตอร์ที่ไม่รุกล้ำพื้นที่ของตัวเองนัก เพราะระบบของมันไม่ได้ถูกออกแบบมาด้วยวิธีคิดแบบผู้ผลิตยาเสพติดสักเท่าไหร่ แต่ถูกออกแบบมาให้มี “ช่องว่างระหว่างไทม์ไลน์” กว้างพอที่จะหายใจหายคอ และเรียกร้องความอิสระจากมันได้ ตราบใดที่ยังอยู่ในพื้นที่ของคุณ เกิดพึงพอใจอยากทำอะไรขึ้นมาก็เชิญ

นั่น ทำไปทำมากลายเป็นบล็อกด่าเฟซบุ๊กอีกแล้ว

เอาจริงๆ ถึงจะไม่ชอบที่ตัวระบบและปรัชญาการออกแบบระบบของเฟซบุ๊กนัก แต่เราก็ไม่ได้เกลียดชังเพื่อนในนั้นนี่นา แถมเพื่อนที่เข้าใจว่า “ทุกคนต้องเล่นเฟซบุ๊ก” ก็ไม่ได้ทำผิดอะไร เพราะมันเป็นความเข้าใจสากลไปแล้ว เช่นเดียวกับสมัย MSN หรือไฮไฟว์ หรือยุคนี้ที่คนใช้มือถือไอโฟนก็ไม่ได้แปลว่าต้องเป็นคนแบบแอปเปิล (ที่ผมไม่ค่อยชอบปรัชญาการออกแบบระบบของมันเหมือนกัน) นี่นา

นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ผมอยากหัดเล่นเฟซบุ๊กอีกครั้ง และอีกครั้ง

เห็นแบบนี้ก็อยากเข้าสังคมเหมือนกันนะ ถึงจะเป็นพวกชอบอยู่เงียบๆ ตรงมุมห้องก็เถอะ

หวังว่าคราวนี้น่าจะทำได้นะ

ป.ล.
บล็อกตอนนี้ตื่นมาเขียนในมือถือตอนเช้ามืดเลยครับ ไม่มีคนอ่านก็ช่างมัน เพราะมันเป็นเรื่องปัจเจกมากเลยนะ 555 คือที่จริงนอนไม่หลับน่ะครับ เพราะเมียท่าทางจะไม่สบาย หลังจากไปบ้านพี่ชายที่เพชรบุรีมา แล้วบ้านนั้นก็ไอกันทั้งบ้าน พอเมียป่วย ผมเลยแยกมานอนที่พื้น แล้วมันเย็น เลยตื่นตั้งแต่ตีสี่ คิดนั่นนี่ไปมาเลยเขียนบล็อกแก้ว่างดีกว่า

ป.อ.
เออ จะบอกว่าหลายครั้งที่นั่งขี้อยู่ดีๆ ก็คิดไอเดียเพจเฟซบุ๊กสนุกๆ แบบที่น่าจะมีคนไลก์เยอะๆ ขึ้นมาทีไร ก็ต้องขยำทิ้งไปทุกที ก็ปัญหาคือเราแม่งดันไม่เล่นเฟซบุ๊ก ขี้เกียจคอยนั่งอัปเดตสม่ำเสมอน่ะสิ ถ้าทำเองแม่งต้องเบื่อและเลิกไปในในเจ็ดวันแน่ๆ (แล้วต่อมาไม่นานก็จะมีคนที่คิดได้เหมือนกันกับเราที่ทำเพจแบบนั้นเป๊ะๆ และประสบความสำเร็จจริงๆ อันนี้ดีใจนะ แต่อวดใครไม่ได้เพราะเราแค่ฝัน แต่เขาลงมือทำจริงๆ ต้องยกย่องครับ)

ป.ฮ.
เชี่ย เจ็ดโมงแล้ว บาย (เขียนเสร็จก็ทวีตลิงก์บล็อกนี้และให้มันไปโผล่ในเฟซบุ๊กเอง จบ)

ถ้าไม่มีมือถือ มึงจะอยู่ได้ไหม?

galaxy-none

1.
ถ้าไม่มีมือถือ มึงจะทำอะไรได้?

นี่เป็นคำถามที่ถามตัวเองเมื่อคืนนี้ครับ หลังจากพบว่ามือถือ (โน้ตสอง) ของตัวเองชาณ์จแบตไม่เข้า แบบเข้าบ้างไม่เข้าบ้าง ไม่ได้แตะอะไรเลยเดี๋ยวอยู่ดีๆ ก็ร้องจ๊ากว่าที่ชาร์จหลุดไรงี้ ซึ่งอาการนี้เป็นมาสักพักใหญ่แล้ว แต่มาเป็นหนักหน่อยในระยะหลังๆ พอเอาไปถามอินเทอร์เน็ต ก็พบว่าผู้ใช้โน้ตสองจำนวนมากที่เกิดอาการเดียวกัน มีทั้งแบบสายชาร์จผลิตมาไม่พอดี จนเสียบหล่นเสียบหล่น ซึ่งไม่น่าเกิดขึ้นได้เลยนะ แต่ก็เกิด (จนสายชาร์จของผมลงถังขยะไปเป็นอย่างแรก ก่อนจะมารู้จากชาวบ้านว่ามันเอาไปเคลมได้)
พอมือถือทำท่าจะเสีย ก็ตัดสินใจว่าวันนี้แหละ จะเอาไปเข้าศูนย์ ทวีตถามก็มีคนบอกว่าเจอกันเยอะ เยอะขนาดที่ศูนย์เองก็มีอุปกรณ์พร้อมเปลี่ยน ไปถึง รับบัตรคิว (รอนานเพราะคนเยอะแน่) เสร็จแล้วก็แจ้งอาการ ออกมาเดินเล่นแป๊บนึง แล้วรับเครื่องกลับได้เลย

ใจหนึ่งก็อยากเห็นบรรยากาศแบบนั้น แต่ก็คิดว่าเป็นไปได้ยากแหละ เพราะเอาเข้าจริงเคสแบบนี้มันต้องเอาเครื่องไปแงะ ไปตรวจอาการก่อน เลยทำใจไว้ว่า เราจะทิ้งมือถือไว้ที่ศูนย์ ไม่รู้แหละว่ากี่วัน แต่ช่วงนี้เราจะกลายเป็นมนุษย์ผู้ไร้โทรศัพท์ไปเลย

อ่านดูแล้วกระแดะสุดๆ เลยนะครับ สลิ่มมากอะ นี่มึงจะเป็นจะตายให้ได้เลยใช่ไหมกับการที่ไม่มีมือถือเนี่ย?

ใช่ครับ ผมจะเป็นจะตายให้ได้เลย
Continue reading ถ้าไม่มีมือถือ มึงจะอยู่ได้ไหม?