P.O.P Era

P.O.P

กลับถึงบ้านจากคอนเสิร์ต P.O.P – Party of the Bakerian สดๆ เลยบันทึกไว้หน่อย ก่อนจะหายฟิน

P.O.P

คือฟินครับ ไม่ได้ดูคอนเสิร์ตแล้วฟินมานาน นานจนมาพินิจดูแล้ว ก็พบว่าผมก็เป็นติ่งเบเกอรี่กะเขาเหมือนกันนี่หว่า

P.O.P

ต้องบอกว่าเป็นเรื่องธรรมดาสามัญมากๆ มากๆๆๆๆ ที่คนวัยเดียวกัน โตมาด้วยกันกับค่ายเพลงค่ายนี้จะต้องนิยมชมชอบอะไรสักอย่าง ไม่มากก็น้อยแหละ เพราะมันคือประวัติศาสตร์หน้าที่มีคุณภาพของวงการเพลงไทยจริงๆ และผมก็เป็นหนึ่งในนั้น ที่ตอนมัธยม เรียนโรงเรียนต่างจังหวัด แต่มีโอกาสได้รู้จักและติดตามฟัง เพราะเหตุผลที่ว่าใครในยุคนั้นที่ฟังเบเกอรี่แล้วจะเท่ จะดูดี สาวชอบ (ไม่ได้นึกเลยว่ามีปัจจัยอื่นมากมายนะที่สาวเขาไม่สนมึง)

P.O.P

จนเข้ามหาลัย เพลงค่ายนี้จากที่เคยอินดี้ๆ ก็เริ่มกลายเป็นกระแสหลัก หลักจนขนาดที่บอกว่าเป็นเรื่องธรรมดามากๆ เหมือนตอนนั้นใครถืออะเดย์ ก็ถือว่ามึงเป็นพวก main stream ไปแล้ว มึงไม่อินดี้แล้ว (ทั้งที่ บ.ก.ยังเป็นคนแรกอยู่เลยนะ! ศิลปากรแม่งอยู่ยากขิงๆ) ดังนั้นการฟังเบเกอรี่ก็ไม่ได้เท่อะไร แต่ให้รู้กันไว้ว่ายามใดที่มีการเกากีต้าร์ หรือเล่นดนตรีที่ไหน ก็จะได้ยินเพลงของค่ายนี้ซึ่งอยู่ในช่วงบูมสุดขีดทุกครั้ง

DOJO

พอบูมสุดขีดก็เริ่มมีนั่นนี่งอกออกมา มีหนังสือ มีรายการทีวี และมีค่ายโดโจ!

โดโจยุคนั้นก็คือกามิกาเซ่ในยุคนี้ เอาล่ะ เรื่องคุณภาพงานหรือรสนิยมในการฟังเพลงไม่ต้องไปพูดถึงก็ได้ แต่ให้รู้ว่าวัยรุ่นยุคเราๆ ที่ทำเป็นเก๊ก เบเกอรี่แม่งโหล อะไรแบบนี้ อยู่ดีๆ ก็มาบ้าคลั่งสาวน้อยขาวหมวยกันจนทิ้งฟอร์มอินดี้กันไปหมด ซึ่งผมก็เป็นหนึ่งในนั้น (อีกแล้ว)

DOJOCity

อาจจะเป็นวาสนาหรือประการใดก็มิอาจทราบได้ ตอนปีสอง ผมได้ไปช่วยงานสโม (มหาลัยอื่นอาจเรียกองค์การนิสิต นักศึกษาก็ว่าไป แต่ศิลปากรมันเป็นสโม) ในฝ่ายเปิดเพลงตอนเย็นๆ ให้คนเล่นกีฬาในสนามบาสได้เพลิดเพลินเจริญใจ จนทำไปทำมาเลยเป็นแผนกที่คอยไปตามค่ายเพลงต่างๆ เพื่อขอแผ่นมาเปิด เลยได้สนิทกับพี่ๆ ที่ทำงานในฝ่ายแจกแผ่น แจกโปสเตอร์ ของพรีเมียมอะไรแบบนี้ เลยติ่งกันไปใหญ่

Dojocity

แล้วเบเกอรี่ยุคนั้นกะสโมศิลปากรก็มีสายสัมพันธ์อันแน่นแฟ้น คงเพราะเราไปประจบเขาบ่อย และรู้ว่ามหาลัยนี้มันคือเป้าหมายโดยตรงเลยละมั้ง 555 ต่อมาพอผมทำงานสโมเต็มตัว ก็เลยได้อยู่หลังเวทีคอนเสิร์ตทุกครั้ง

P.O.P

ได้เห็นพี่น้อยแกเต้นมันส์จัด โดดจนเป้ากางเกงขาด แล้วขอโทษขอโพย วิ่งมาหลังเวที ถอดเปลี่ยนต่อหน้า

P.O.P

ได้นั่งข้างภรรยา (ตอนนั้นเป็นแฟนเฉยๆ ทำสโมมหาลัยด้วยกัน) เป็นคนคุมคิวศิลปินตอนคอนเสิร์ตใหญ่ช่วงรับน้อง แล้วไม่รู้ว่าคนไหนคือนภ พรชำนิ แล้วพี่นภแกเดินมาพอดี ก็บอกอายๆ ว่า “พี่เองครับน้อง” (คือศิลปินค่ายนี้ในยุคนั้นจะหน้าเมือกๆ ทำเพลงอยู่เบื้องหลัง ไม่ค่อยได้ออกอากาศเท่าไหร่ การเจอตัวจริงแต่ละครั้งจึงเจ็บปวดใจมาก โห อีลุงเนี่ยนะที่ร้องเพลงโคตรเพราะที่ฟังมาตลอดงี้)

P.O.P

ได้ดูวงใหม่ชื่อ Groove Riders มาเปิดอัลบั้มแนวดิสโก้กลางสนามบาสเล็กๆ ที่คนเบียดกันแน่น มองจากหลังเวทีก็รู้ว่า ถึงวงนี้จะยังไม่เป็นที่รู้จัก แต่ตอนนั้นเชื่อว่าทุกคนน่าจะเดาออกว่าต่อไปวงนี้ต้องสุดยิดแน่ๆ

P.O.P

และประสบการณ์มากมายที่ทำให้รู้ว่า เออว่ะ ในชีวิตวัยรุ่นของเรามีเบเกอรี่เคยผ่านเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งเลยนะ ถึงจะไม่เคยได้ดูคอนเสิร์ตใหญ่ๆ แบบเสียเงิน (เพราะไม่มีเงิน) แต่ก็ได้อยู่เบื้องหลังและดูอะไรแบบนี้ ก็ถือว่าฟินไปคนละแบบ

P.O.P

จนเบเกอรี่ปิดตัวลง (แน่นอนว่าคอนเสิร์ตครั้งสุดท้ายเราก็ไม่ได้ไปดู) ตำนานบทใหม่ๆ ของวงการดนตรีก็ถูกเล่าขาน ขับเคลื่อนกันต่อไป

P.O.P

จนมารู้ว่าตัวเองแก่ก็เมื่อโมนา น้องเมียอายุ 16 ที่ไปด้วยกัน และเป็นพวกที่โคตรจะฟังเพลงแนวคลื่นแฟตน่ะนะ แต่ขอโทษ มันไม่รู้จักเพลงโปรโมตๆ ในอัลบั้มก่อนหน้าของ P.O.P เลย!!! (แม้กระทั่งเพลง ไม่มี, คนที่เดินผ่าน, ยอม, อยากหลับตางี้ ไม่รู้จักได้ไง!)

P.O.P

เอาเข้าจริงคือ และไม่รู้จักเพลงส่วนใหญ่ หรือศิลปินในยุคเบเกอรี่ครองโลกด้วยครับ อยากจะกรี๊ด นี่คือเราแก่กันจริงๆ แล้วสินะ (ขนาดชื่อบล็อกตอนนี้ เชื่อว่าลูกๆ หลานๆ ก็คงไม่รู้หรอกว่ามันเป็นชื่ออัลบั้มของพีโอพีนะ)

P.O.P

เอาน่า อย่างน้อยคอนเสิร์ตนี้ก็ทำให้คนที่รู้จัก เป็นติ่ง P.O.P และเบเกอรี่มาก่อน ได้พบปะกับน้องๆ เด็กๆ ที่โตมากับยูทูบและเพลงเกาหลี ได้แลกเปลี่ยนพูดคุยกันว่าเฮ้ย เมื่อก่อนเพลงบ้านเราแม่งเป็นงี้นะ มันอวดได้นะเว้ย

P.O.P

โดยเฉพาะคุณป้ารัดเกล้า โมนาพอจะเคยได้ยินชื่อในฐานะนักแสดงละคร แต่ไม่รู้ว่าเป็นนักร้องด้วย พอบอกไปว่าคือคนเดียวกะที่เป็นเจ้าของเสียงประกาศชื่อสถานีในบีทีเอส (“สถานีต่อไป สยาม”) ก็เลยอ๋อ

P.O.P

และกรี๊ดขาดใจเมื่อเห็นการแสดงอันสุดยอด สุดยอด โคตรพ่อโคตรแม่สุดยอดของเจ๊แกบนเวที (เพลง “ใจสองใจ” น่ะครับ) ไม่ใช่แค่โชว์พลังเสียงนะ แต่นี่มีการแสดงแบบที่เห็นแล้วผมกราบจริงๆ (คือยกมือไหว้แล้วก้มหัวลงไปเยอะๆ กลางคอนเสิร์ตเลย คือกราบจริงๆ ไม่ได้แค่พิมพ์ว่ากราบ)

P.O.P

หลังจากนั้น นานๆ ทีผมเลยหยิบมือถือขึ้นมาถ่ายรูป คือทีแรกกะว่าจะดูเงียบๆ เสพเงียบๆ ไม่โซเชียล แต่เห็นแล้วแบบ เหี้ย กูต้องอวดแล้ว เหี้ยยยยย แบบ โอ๊ย

P.O.P

ในคอนเสิร์ตวันนี้ยังมีอีกสารพัดความประทับใจจากพีโอพีเอง และจากแขกรับเชิญยกค่ายจากเบเกอรี่ คือพอจะแบ่งสัดส่วนของพีโอพีและชาวเบเกอรี่ได้ครึ่งๆ พอดี อันที่จริงสมาชิกพีโอพีแต่ละคนก็ต่างทำงานอยู่เบื้องหลังในเบเกอรี่อยู่แล้ว เวลาเชิญแขกแต่ละเจ้ามาโชว์ เลยเล่นแจมร้องแจมกันอย่างกลมกลืน และอิ่มเอม เรียกว่าใครที่โตมากับเบเกอรี่ เจอโชว์คราวนี้เข้าไปคงหายคิดถึง ก็ฟินมากๆ น่ะครับ ถือว่าประทับใจที่สุดตั้งแต่ดูคอนเสิร์ตในสถานที่จัดงานสำเร็จรูปแบบนี้มาเลย (ถ้าเป็นเอาต์ดอร์ยังยกให้ “มันใหญ่มาก” ครั้งแรก เพราะเคยไปครั้งเดียว หลังจากนั้นได้ยินว่าดราม่าเยอะจัง)

P.O.P

และที่ต้องชื่นชมอย่างสุดใจขาดดิ้น คือ การออกแบบแสงสีและระบบความอลังการบนเวทีครับ ดูมาหลายๆ งาน ก็ไม่ได้หวังอะไรว่าเวทีจะดีไซน์ให้เท่ คือไม่ต้องสนก็ได้ แต่พอมางานนี้ แม่งโคตรเท่ ทั้งโมชันกราฟิกและวิธีคิดเอฟเฟกต์สารพัดให้กับตัวเวที ที่สมบูรณ์แบบสุดๆ คือเลยมานึกได้ว่าเบเกอรี่ของแท้นั้น ไม่ใช่แค่เพลงเจ๋ง มันต้องมีรสนิยมด้านดีไซน์เทพโคตรๆ ด้วย และก็ร้องเหยดซะหลายครั้งตลอดงานเลย ถือว่าเป็นคอนเสิร์ตที่แค่ดูนั่นนี่บนเวทีก็เลือดพุ่งแล้ว

P.O.P

สรุปว่าประทับใจครับ ชื่นชมครับ ไม่รู้เขาจะอัดลงแผ่นไหม แต่พี่บอยพูดบนเวทีว่าจะไม่มีลงแผ่น คือเสียดายมากๆ ครับ ขนาดดูแล้วยังอยากจะดูอีกเลย

ป.ล.
ซื้อบัตรไว้โซนหน้าตั้งแต่วันแรกที่ขาย แต่พอถึงวันงาน นิทานเกิดไม่สบายพอดี เมียผมเลยต้องดูแล ทีแรกผมกะว่าจะขายต่อทิ้งไปเลย จะได้แคนเซิลมาดูลูกด้วยกัน (เห็นว่าบัตรผีราคาคูณสอง โหดสัสจริงๆ วงการนี้) แต่สุดท้ายก็มีเหตุให้ไม่ได้ขาย เลยพาน้องเมียไปดูแทน (ตังค์ก็ไม่ได้) เสียดายแทนโบว์จริงๆ นะเนี่ย จะแสดงท่าทางฟินมากก็ไม่ได้ เดี๋ยวเกิดดราม่าครอบครัวฉิบ :05:

ป.อ.
เกลียดรถติดเส้นแจ้งวัฒนะ-เมืองทองมากๆๆ ติดระดับสามช้างยิ้มเลย

ป.ฮ.
ดูคอนเสิร์ตมาหลายที ไม่เคยเขียนบันทึกหลังดูเลย ขอบคุณ @buumoon ที่เป็นต้นแบบครับ (ภาพถ่ายทั้งหมดถ่ายในมือถือ พอดี Google+ มันดูดขึ้นไปเก็บให้เอง เลยเอามาเขียนลงบล็อกละกัน ต้นฉบับภาพอยู่ที่นี่)

คอมเมนต์