ช่วงหนึ่งของชีวิต ที่ตรงกับช่วงหนึ่งของยุคสมัยที่เทคโนโลยียังไม่ใช่สำหรับทุกคน แต่เป็นคนที่เจอมันก่อน มีโอกาส และเข้าถึงเท่านั้น
เราเป็นหนึ่งในคนแบบนั้น ถึงที่บ้านจะไม่ได้มีฐานะทางการเงินที่ดี แต่ด้วยวิสัยทัศน์ของพ่อ ที่บังคับไปเรียน Lotus , D-Base, DBFORM ที่โรงเรียนสอนคอมพิวเตอร์และบัญชีใกล้บ้าน (โรงเรียนคอมพิวเตอร์ท้องถิ่นนะเว้ย) ตอน ป.6 และซื้อคอมพิวเตอร์ 486 DX-II แรม 4MB มาให้หัดเล่นหัดแงะตั้งแต่ ม.1 ด้วยแกเห็นอะไรบางอย่างที่น่าจะเป็นอนาคตที่เด็กเนิร์ดอย่างเราอาจจะคว้าไว้ได้
และเราก็คว้าไว้ ล้วงแคะแกะเกาอย่างสนุกจัดๆ หัดโน่นซนนี่ เท่าที่เทคโนโลยีจะอำนวย แงะเกม โมรอม (ในยุค 90s) ทำเว็บ (ในยุคที่บังมีเน็ตให้เล่นอยู่ที่เดียวในจังหวัดคือราชภัฏ) ไม่นับพวกงานประกอบคอมพ์ ซึ่งเป็นสูตรมาตรฐานของคนประเภทนี้ ที่ทำจนสร้างรายได้จากเหล่าเพื่อนพ่อที่โดนเราหลอกพามาเดินพันธุ์ทิพย์เพื่ออัปเดตว่ากรุงเทพฯ เขาไปถึงไหนกันแล้ว
ในยุคก่อนอินเทอร์เน็ตนั้น การเรียนรู้ระบบไอทีอะไรที่เข้าถึงได้โดยไม่ต้องเสียเงิน ก็น่าจะเล่นมาจนปรุ
แต่แบบเสียเงิน เช่นเรียนเขียนโปรแกรม PASCAL ตอน ม.3 ที่ต้องจ่ายเพิ่มเทอมละ 400 บาท ไม่กล้าขอเงินพ่อแม่ไปเรียน นี่เป็นสิ่งที่นึกย้อนไปแล้วเสียดายจนทุกวันนี้ ถ้ารากฐานตอนนั้นดี มันคงเปลี่ยนเราไปจากนี้เยอะเลย แต่ช่างมัน
ชีวิตในวัยมัธยมของเราจึงโคตรฟินกับอะไรใหม่ๆ กระโดดขึ้นรถไฟขบวนแรกอยู่เสมอ ถึงจะเป็นรถไฟต่างจังหวัดที่เป็นเพียงกะลาเล็กๆ สู้เด็กในเมืองไม่ได้หรอก แต่มันก็ถูกพิสูจน์ชัดตอนเข้ามหาลัย
เราเข้าเรียนคณะสายออกแบบ อีคณะนี้เรียกว่าไม่มีอะไรเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ที่เราถนัดเลย แต่นั่นเลยกลายเป็นคนนอกระบบการศึกษาด้านเทคโนโลยี ที่ดันต้องแถกไถหาวิธีเล่นเอง มันเลยกลายเป็นสายประยุกต์ที่น่าสนุกดีนะ อย่างพวกวิชากราฟิก วิชาทำฟอนต์ ทำเว็บ วิชาแฟลช (ภูมิใจมาก แต่ตอนนี้ลืมหมดแล้ว) แล้วก็ SketchUp (ที่น่าจะเคลมได้ว่าหัดเองเป็นคนแรกๆ ของประเทศเรา เพราะโหลดเถื่อนตรงจากเว็บฝรั่ง แล้วเอามาสอนอาจารย์ที่คณะอีกที แถมเอามาทำ Thesis คนแรกของไทย 5555)
ที่อวดเก่งมาทั้งหมดนี่เพียงเพื่อจะบอกว่ามันเป็นเรื่องเล่าเก่าแก่ในอดีตของคนที่เคยมั่นใจในความนำสมัยของตัวเองว่า ถึงจะด้อยโอกาสอยู่หน่อยๆ แต่เรื่องสู้ชีวิตเพื่อให้ได้เป็นโปรยูสเซอร์นี่ เราก็ไม่แพ้ใครนะ
เป็นแค่ในตอนนั้น
ถัดมาแค่สิบปี พอเราอิ่มตัวจัดๆ และหมดไฟในการใช้ชีวิตในเมืองกรุง ถึงขั้นตัดสินใจเด็ดขาดว่าขอลาออกจากกรุงเทพฯ แม้จะเป็นการเปลี่ยนงานเปลี่ยนอาชีพ โดดลงจากรถไฟสายเทคโนโลยีที่รู้ดีว่ามันเร็ว และไม่มีทางหยุด
แต่กูเหนื่อยไง
พอโจทย์ในชีวิตเปลี่ยน มันก็เหมือนสับสวิตช์ปิดฉับเลย วางมือจากทุกงานที่เกี่ยวกับงานออกแบบสร้างสรรค์หรือดิจิทัลเอเจนซีใดๆ ที่ใช้เทคโนโลยีเป็นพาหนะ หันมาคุยกับต้นไม้ คุยกับแมว ถ่ายรูป ช่วยเมียขายเสื้อผ้า ฯลฯ
แล้วก็ได้พบว่าอีกเพียงไม่นานหลังจากนั้น สิ่งที่เราโม้ เราภูมิใจที่ผ่านมาทั้งหมด มันเป็นขยะ
โอเค เราสามารถอวดได้แหละว่าพี่มาก่อน พี่ทำก่อน พี่รู้ก่อน แต่มันยังไงต่อนะ เพราะทุกวันนี้ไอ้ทักษะที่เราอวด มันคือสิ่งปกติสามัญธรรมดามากๆ ประเภทที่เด็กประถมก็เกิดมากับการทำเป็นกันหมดแล้ว
วิทยาการมันพัฒนาไปจนคลื่นลูกที่ตามมามันทับถมตะกอนทราย เป็นพื้นฐานและต่อยอดทบทับขึ้นไปเรื่อยๆ ไม่รอ และแน่นอน ไม่หยุด
เราจึงเป็นเพียงเศษซากความภูมิใจในอดีต ที่จดไว้ฟินเองในบันทึกส่วนตัวเท่านั้น ตอนนี้จะตัดคลิปติ๊กต็อกแบบที่เขาเล่นกันท้ายตลาด ยังทำไม่เป็นเลย
และทั้งหมดนี้ไม่ได้รู้สึกว่าเสียใจหรือชอกช้ำระกำทรวงอะไรนะ แต่รู้สึกว่ามันเป็นภาพใกล้เคียงกับที่จินตนาการไว้ตอนโดดลงจากรถไฟ ว่ายังไงถ้าทุกปัจจัยมันลงตัวพอดี ไอ้สิ่งที่เราเคยเบ่งบารมีว่าเคยทำ ทุกคนก็ต้องทำได้เป็นปกติ และดีกว่า
เราจึงแฮปปี้ที่ได้อยู่ในโลกที่เทคโนโลยี (ซึ่งเป็นสิ่งที่เราชอบ) มันดีขึ้นเรื่อยๆ แม้ตัวเองจะชราลงทุกวัน และตกยุคหล่นสมัยไปแล้ว
แต่ก็จะพยายามไม่ให้ตกไปไกลมากนะ เดี๋ยวคุยสคิบิดี้ซิกมากับเจนอัลฟาที่บ้านไม่รู้เรื่อง