คือยังงี้ครับ
เมื่อ 2 เดือนก่อน Facebook Messenger ของผมก็มีโนติฯ เด้งขึ้นมา กดดูชื่อ เป็นผู้ชาย (ตัดทิ้ง #ผิด) ทักมาด้วยความสุภาพ
ผมเป็นนักศึกษาปีสองมาจากสถาปัตย์ลาดกระบังนะครับ พอดีผมได้รับโปรเจคจากอาจารย์มาให้ออกแบบบ้านพักอาศัยสองชั้น โดยมีuserเป็นครอบครัวนึง แล้วพี่แอนตรงกับโจทย์พอดี ผมจึงขอพี่แอนเป็น userในเป็นโปรเจคนี้ พี่แอนพอจะสะดวกเป็นผู้ใช้งานในโปรเจคผมมั้ยครับ
โอ้ว! จริงดิ
ผมถึงกับลุกขึ้น นึกขึ้นได้เลยนั่งลงอีกครั้ง แล้วกดน้ำ (รู้เลยว่าขี้อยู่) ตั้งใจอ่านอีกที… น้องเขาเอาจริงแฮะ
ผมตอบตกลง น้องเขาเลยส่งแบบสอบถามมาให้กรอก อ่านดูแล้วเป็นสำนวนของน้องเองที่สอบถาม requirements ต่างๆ ที่บ่งบอกว่าเจ้านั้นใส่ใจกระบวนการเก็บข้อมูลของผู้อยู่อาศัยได้ดีมาก โอเคเลย ถ้าเป็นแบบนี้ข้าถือว่าน่าสนุกนัก และขอร่วมงานกับเจ้าด้วยความยินดี
อันนี้คือเปิดหัวแบบสอบถาม ซึ่งเป็นตัวบอกวัตถุประสงค์ของโปรเจกต์นี้ ลองอ่านดูครับ
โครงการบ้านพักอาศัยในฝัน
บ้านหรือที่อยู่อาศัย คือ ปัจจัยหนึ่งในการดำรงชีวิตของเรา เป็นที่สำหรับการพักผ่อนและการอยู่ร่วมกันของคนในครอบครัว ในช่วงเวลาที่ผ่านมาในอดีตชีวิตที่เร่งรีบส่งผลให้ในระหว่างวันเราต้องเดินทางออกไปทำงานนอกบ้าน เราจึงได้ใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่กับบ้านแค่ในช่วงเวลาหลังเลิกงานหรือวันหยุดสุดสัปดาห์
แต่ในปัจจุบัน สถานการณ์แพร่ระบาดของโรค COVID-19 บ้านนอกจากจะเป็นที่อยู่อาศัยและที่พักผ่อนแล้ว บ้านยังเป็นส่วนหนึ่งของการทำงาน เป็นสถานที่สำหรับการสร้างสรรค์งานและคุณค่าแห่งตัวตนของผู้อยู่อาศัยใช้ชีวิตในเวลา 24 ชั่วโมงของแต่ละวันได้อย่างมีคุณค่าและเกิดประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตสูงสุดและปลอดภัย
ผมนึกย้อนกลับไปสมัยตัวเองเรียนสร้างบ้านเหมือนกัน (แต่นั่นมันยี่สิบกว่าปีมาแล้ว…) ตอนปีหนึ่งปีสอง ก็มีโปรเจกต์ประมาณนี้เช่นกันครับ คือเป็นโปรเจกต์สร้างบ้านโดยมีโจทย์กำกับ เช่น บอกบุคลิก รสนิยม ลักษณะเฉพาะ หรือความต้องการของเจ้าของบ้าน เสร็จแล้วให้นึกศึกษาจับเอาข้อมูลเหล่านั้นมาประเมิน เพื่อออกแบบมาเป็นบ้านที่สมบูรณ์ และเทลเลอร์เมดสุดๆ สำหรับเจ้าของบ้าน
ผ่านไปยี่สิบปีนิดๆ เดี๋ยวนี้ไม่ต้องมโนเองแล้ว อยากทำบ้านให้ใคร ก็ทักเขาไปเลย เออดี! สนุก!
ต้องบอกก่อนนะครับว่า ตอนนี้ผมก็มีบ้าน มีรถ มีลูกเมีย มีหนี้สินอยู่แล้วไม่น้อย ตัวบ้านนั้นผมออกแบบแค่คร่าวๆ และงานที่เหลือนอกนั้นจ้างเพื่อนที่เรียนมาด้วยกันนี่แหละทำให้ 5555555 เพราะผมไม่เก่ง เดี๋ยวทำแล้วพังขึ้นมาจะว่ายังไงดีล่ะ
ทีนี้พอเป็นบ้านของตัวเอง ก็เลยต้องกำหนดไปอย่างเต็มที่ว่าชอบอะไร ไม่ชอบอะไร อะไรที่เป็นเรา อะไรที่ไม่ใช่ ซึ่งบักเต้ย (สถาปนิก) ก็มาบอกทีหลังว่างานบ้านมึงนี่เป็นงานที่ทำง่ายมากเลยนะ เพราะเจ้าของบ้านสรุปมาให้แล้ว ออกแบบเองอีกครึ่งนึง หน้าที่กูคือจบแบบแล้วรับเงินอย่างเดียว … เออว่ะ รู้สึกเสียเปรียบ นี่ไปเสียเวลาเรียนทำไมวะตั้งห้าปี (ก็เรียนเพื่อเอาไว้คุยกับมึงรู้เรื่องไง)
เนื่องจากรู้ว่าตัวเองมีรสนิยมด้านสถาปัตยกรรมค่อนข้างเฉพาะ ไม่เหมือนผู้คนทั่วไปนัก (คือไม่เอาลอฟต์ ไม่เอามินิมัล ไม่เอาเกาหีล ไม่เอาคลีน ไม่เอาโมเดิร์น ฯลฯ แต่เอาอยู่สบายนะ ฯลฯลฯลฯ) สุดท้ายก็ออกมาเป็นบ้านที่ลงตัวที่สุดทั้งด้านดีไซน์ ฟังก์ชัน และงบประมาณ (สำคัญมาก) เท่าที่ตัวเองจะสามารถกินขี้ปี้นอนได้ทุกคืนวันแล้วครับ
อ้ะ แปะลิงก์ เผื่อใครจะจ้างมัน เชิญดูที่นี่จ้ะ
กลับมาที่งานของน้อง
คำถามทีลิสต์มานี่น่าสนใจนะครับ ใครคิดจะมีบ้าน หรือสร้างบ้านเป็นของตัวเอง ลองหยิบลิสต์นี้เอาไว้เป็นโจทย์พื้นฐานในการสรุปงานออกแบบก็ได้ น้องเขาลิสต์แพ็กเริ่มต้นจากการสัมภาษณ์พูดคุยกันผ่านแชตไว้ให้ดังนี้ :
พื้นที่ใช้สอยหลัก
(หากพี่แอนต้องการปรับเปลี่ยน สามารถพิมบอกได้เลยนะครับ)
- ห้องนอนสำหรับผู้ใช้อาคารหลัก มีส่วนแต่งตัวและห้องน้ำส่วนตัว
- ห้องนอนสำรอง มีส่วนแต่งตัว ห้องน้ำส่วนตัว เตรียมเผื่อไว้สำหรับทายาท หรือญาติมาเยี่ยมเยียน
- ห้องน้ำรวม ห้องน้ำส่วนกลางที่ใช้ร่วมกัน
- ส่วนพักผ่อนสำหรับครอบครัว ห้องสำคัญที่ทุกคนในครอบครัวมักลงมาทำกิจกรรมร่วมกันเสมอ
ทั้งในวันธรรมดา และในวันหยุดสุดสัปดาห์ - พื้นที่หรือห้อง สำหรับความเชื่อหรือความศรัทธาทางศาสนา หรือความเชื่ออื่น ๆ (สามารถปรับเป็นห้องอื่นๆได้ครับ)
- ส่วนทำงานของเจ้าของบ้าน เป็นส่วนสำคัญที่เจ้าของบ้านต้องการแยกออกมาเป็นสัดส่วน และ
สอดคล้องกับอาชีพของผู้ใช้อาคาร เน้นการออกแบบที่คำนึงถึงบรรยากาศที่ดีที่ตอบสนองการทำงาน
ได้ตลอดเวลา - ส่วนรับประทานอาหาร ต้องการโต๊ะที่สามารถรองรับได้ขนาด 4-6 ที่นั่ง และมีพื้นที่สำหรับเก็บ
ภาชนะสำหรับรับประทานอาหารอยู่ในบริเวณใกล้เคียง - ห้องครัว เนื่องจากต้องทำอาหารสำหรับสมาชิกทุกคน จึงต้องการครัวไทยที่สามารถทำอาหารได้
หลากหลาย และมีการระบายอากาศที่ดี - บริเวณซักผ้าและรีดผ้า ประกอบด้วยเครื่องซักผ้า ที่เก็บเสื้อผ้าที่รอรีด และราวแขวนผ้าที่รีดแล้ว
รวมถึงพื้นที่ตากผ้าและรีดผ้า - ห้องเก็บของภายในบ้าน สำหรับเก็บของใช้ภายในบ้าน
- ห้องเก็บของภายนอกบ้าน สำหรับเก็บของใช้ภายนอกบ้าน
- ที่จอดรถ
เนี่ย พอมีจุดเริ่มปั๊บ สเต็ปที่จะไปต่อได้ก็คือ อันไหนเอา อันไหนไม่เอา ก็มาขีดมาคุยกันต่อได้เลย
หลังจากนั้นก็เป็นแบบสอบถามครับ เป็นชุดคำถามที่แงะรสนิยม หรือทัศนคติของเจ้าของบ้านออกมา เช่น (ผมลิสต์มาบางคำถามพอ เดี๋ยวยาว แต่ก็ยาวแหละ ปีนึงจะเขียนบล็อกที) :
- บ้านในความหมายของพี่แอน (จำไม่ได้ว่าตอบอะไร ต้องมีคำว่าขี้และนอนแน่ๆ)
- นิยามความเป็นตัวเอง (กูจะตอบยังไง)
- อยากให้มีห้องสำหรับทำงานภายในบ้านเป็นสัดเป็นส่วนหรือไม่ (มีจ้า)
- [น้องลิสต์รายชื่อห้องมาเพียบ แล้วถามว่า] อยากได้ห้องอะไรเพิ่มอีกเป็นพิเศษ อาจจะเป็นห้องจัด podcast หรือ ห้องเลี้ยงแมว เป็นต้นครับ (อ่านถึงตรงนี้ก็คิดว่า เออ ดีนะไม่ต้องจ่ายตังค์จริง น้องเลยกดมาให้เต็มสูบ)
- เป็นคนที่จำเป็นต้องใช้เครื่องปรับอากาศมั้ยครับ (เออ อันนี้พิเศษ บ้านจริงๆ ปัจจุบันของเรา ผู้อยู่บ้านทั้งวันทั้งคืนนั้น ไม่ต้องเปิดแอร์เลย! ดีจัง ลมธรรมชาติจงเจริญ!)
- ปกติแล้วใช้เวลากับส่วนไหนของในบ้านมากที่สุด (น่าจะห้องหนังสือ ตอนที่เขียนบล็อกนี้ก็ใช่)
- สิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจภายในบ้าน อาทิเช่น การนับถือศาสนา ของสะสม งานอดิเรก กิจกรรมที่ชอบ เป็นต้น (ไม่เอาห้องพระ แต่เอาห้องการ์ตูน)
- ปัญหาที่เจอในบ้านที่อาศัยอยู่ปัจจุบัน ที่อยากแก้ไข เช่น พื้นที่ส่วนตัวน้อยไป เพื่อนบ้านเสียงดัง เป็นต้น (อันนี้เป็นข้อที่เราไม่ค่อยนึกถึง แต่สำคัญ แต่ละคนจะมีเพนพอยต์ไม่เหมือนกัน ถ้าคุยประเด็นนี้ก็ยาว ได้เสาเสาเสา 10 อีพีเต็ม)
- ทำอาหารกินเองไหม
- เมียทำงานอะไร
- อะไรที่ชอบเหมือนกันกับเมีย (นั่นแน่)
- ขับขี่รถอะไรบ้างไหม
- ลูกแยกนอนยัง
- มีแขกหรือญาติมา(นอน)บ่อยไหม
- ชอบวัสดุอะไรเป็นพิเศษไหม เช่น ไม้ เหล็ก ปูน หิน เป็นต้น (ข้อนี้ดี ขอชม)
- สไตล์งานสถาปัตย์ที่ชอบเป็นพิเศษ อาทิเช่น โมเดิร์น โมเดิร์นวินเทจ มินิมัล ลอฟต์ เนเชอรัล หรืออื่นๆ (ฉันยังรู้จักไม่ครบทุกคำเลย)
- นอกบ้านนอกจากต้นไม้และหญ้าแล้วจะเอาอะไรอีกไหม (สวน จำไม่ได้ว่าตอบอะไร รู้สึกจะสวนอังกฤษรกๆ ซึ่งตอนนี้ก็ทำอยู่ แต่ไปทำที่คาเฟ่นั้นน่ะ ที่ลูกค้ามาดราม่าบ่อยๆ น่ะ)
ประมาณนี้ครับ เห็นไหม ดีเนอะ น้องใส่ใจเรา เนี่ยปลื้มเลย จากคนที่ขาดการดูแลเอาใจใส่…
…
หลังจากน้องหายไป 1 เดือนเศษๆ เสียงโนติก็ดังขึ้นมาอีกครั้ง (เขียนบรรยายไปงั้นแหละ ที่จริงคือเปิดสั่น)
สวัสดีครับพี่แอน
พอดีว่าผมทำเสร็จแล้วครับพี่แอน ไหนๆ ก็เสร็จแล้ว อยากให้ user ได้เห็นงานไฟนอล
ไม่รู้ว่าจะตรงกับที่พี่แอนคิดรึเปล่า ผมรู้สึกว่าแอบใส่ความเป็นตัวเองไปเยอะเลยครับ 5555
ไหนๆๆๆๆๆ หูผึ่ง อยากเห็น ขอดูๆๆๆ
แล้วน้องก็ส่งลิงก์นี้มา (กดดูเต็มๆ ที่นี่ มีหลายมุม)
เย็ดเข้เท่จริงๆ ไม่เคยคิดมาก่อนว่าตัวเองจะได้มีบ้านที่มีสไลเดอร์บนหลังคา อ้าวไม่ใช่เหรอ แต่ใช่ละกัน
เนี่ยดูดิๆๆๆๆๆ เห็นต้นไม้ใหญ่รอบบ้านแล้วชอบเลย โอ้โห นั่นทางเดินรอบบ้าน นั่นผนังอิฐเปิดช่องลม จ๊าฟอย่างนี้ ฉันจะไม่เปิดแอร์ไปตลอดชีวิต!
แล้วน้องก็ส่งคลิปมา เฮ้ย บ้านเสร็จแล้ว สร้างจริงๆ แล้วด้วย!
ถึงจะเป็นการเก็บข้อมูลเจ้าของบ้านเพียงครั้งเดียว (ถ้าโลกแห่งความจริงคงต้องเก็บประมาณ 37 ครั้ง) แต่น้องก็ยังรีดเอาความต้องการของเจ้าของบ้าน ไปบวกกับความอยากได้อยากมีของตัวเอง 5555555555555 ใส่เข้ามาอย่างไม่ยั้ง ออกมาสวยเลย ลงตัวเลย ส่งให้เมียดู เมียชอบมาก อยากมี ขอเลยได้ไหมหลังนี้
ที่สำคัญคืองานปีสองนั้นยังเป็นโปรเจกต์ในจินตนาการอยู่ จึงไม่มีข้อจำกัดเรื่องงบประมาณ อันเป็นข้อจำกัดสำคัญในโลกแห่งความจริง 55555555
โอ๊ย การได้เห็นตัวเองรวยนี่มันเท่จังโว้ย
ที่ชอบจนต้องจดไว้คือการมีคอร์ดกลางบ้าน และห้องเวิร์กช็อป (ที่ในชีวิตจริงตอนนี้ยังไม่มี แต่ถ้าวันนึงแก่ตัวลงไป ลูกมีผัวหมดแล้ว จะแยกไปสร้างบ้านอยู่กันสองตายายที่ต่างจังหวัด คิดว่าน่าจะมีไว้สักหน่อย) (ส่วนห้องหนังสือตอนนี้มีแล้ว แต่มีเท่าไหร่ก็ไม่พอเหอะ)
สุดท้าย พอขอให้น้องไปเขียนสรุปโปรเจกต์หน่อย อยากเห็น text หรือ process งานว่าหลังจากที่เราคุยกันแล้ว งานมันพัฒนาไปอย่างไรบ้าง อยากรู้กระบวนการคิด กระบวนการออกแบบ น้องตอบตกลง สักพักก็ส่งมาเป็นลิงก์นี้ครับ
บ้านพักอาศัยของครอบครัวคุณแอน สมาชิกรุ่นใหญ่ของรายการ Podcast ชื่อดัง เสาเสาเสา สามโคกเรดิโอ สมาชิกในบ้านประกอบไปด้วย คุณแอน ภรรยา และลูกสาววัยเด็กทั้งสองคน
.
บ้านที่มีพื้นที่สำหรับเด็กๆ ในบ้านได้วิ่งเล่นสบายๆ มีเฉลียงไม้ไว้นั่งเล่นพักผ่อน ห้องเก็บหนังสือที่เป็นงานอดิเรกของคุณแอน
.
แผงฟาซาดเหล็กสนิมขนาดใหญ่สะดุดตาบริเวณหน้าบ้าน บ้านทรงตัว U เพื่อให้สามารถรับลมธรรมชาติได้อย่างเต็มที่ คอร์ดกลางบ้านมีต้นไม้ที่ให้ร่มเงาและความร่มรื่นกับบ้าน ทุกส่วนของบ้านสามารถมีประติสัมพันธ์กับคอร์ดกลางบ้านได้ทั้งหมด
.
พร้อมกับจุดเด่นของหลังคา Greenroof ที่มีทางลาดเชื่อมจากหลังคาชั้น 1 ไปยังหลังคาชั้น 2 นอกจากสร้างจุดเด่นให้กับบ้านแล้วยังช่วยบังความร้อนที่เข้าสู่ตัวอาคาร เปลี่ยนพื้นที่ของหลังคาจากที่โล่งๆ นำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยสามารถขึ้นไปทำกิจกรรมได้หลากหลายอย่าง และบริเวณขอบของ Greenroof ยังสามารถปลูกพืชผักสวนครัวเพื่อนำมาประกอบอาหารได้อีกด้วย
Location : Lat Krabang Bangkok
Design : Pongsuriya Sagonpuwarug
User : Prachya Ann Singhto
ขอแซวอีกนิด ถ้าจะปลูกกะเพรากินเอง ไม่ต้องเอาไว้บนหลังคาบ้านหรอก เอาตังค์ส่วนนั้นไปซื้อในตลาดได้ชาตินึงเลย!
แล้วเป็นอะไรมากไหม ปีนหลังคาขึ้นไปนั่งฟินกลางแดดเนี่ย แดดลาดกระบังนะครับ!
โอ๊ย อยากเขียนถึงเยอะๆ เลย แต่เมื่อยมือแล้ว ไม่ได้พิมพ์ยาวมานาน งั้นจบด้วยการบ่นเป็นคนแก่ดีกว่า
อิจฉาน้องๆ สถาปัตย์ในยุคนี้เหมือนกันนะครับ ที่ตอนนี้ไม่ต้องทำแบบสมัยลุง ที่ต้องมัวเสียเวลาต่อคิวยืมหนังสือหา ref จากห้องสมุด ที่มีอยู่อย่างจำกัดมากๆ หรือไม่ก็พอเพื่อนรวยๆ ไปซื้อหนังสือ หรือนิตยสารดีๆ ของฝรั่งมาดู ก็ต้องต่อคิวแย่งกันดู เสร็จแล้วงานมันก็งอกเงยออกไปได้ไม่มาก เพราะพรมแดนของจินตนาการมันถูกจำกัดไว้ด้วยอะไรหลายๆ อย่าง
แต่พอเดี๋ยวนี้ มีตัวอย่าง แรงบันดาลใจ ข้อมูลเปรียบเทียบดีๆ ทั้งเทคนิค ดีไซน์ คอนเซปต์ ไปยันปรัชญาการออกแบบที่โคตรของโคตรมหาศาลจากโลกอินเทอร์เน็ต ทำให้เรียนสนุก ทำงานสนุกขึ้นเยอะเลย
ขอบใจเจ้ามากๆ นะน้องต้าร์ ขอฝากความหวังของสถาปนิกเลือดใหม่ไว้กับเจ้า ส่วนข้า (ที่ไปเรียนเสียเปล่ามา 5 ปี เพื่อมาจ้างเพื่อนออกแบบ) ก็ขออยู่บ้านที่มีสไลเดอร์บนหลังคา และขึ้นไปรับแดดบ่ายๆ แบบนี้แหละ อากาศดีจังโว้ย!