แล้วเราเป็นใครในโลกออนไลน์?

ขอเกริ่นก่อนว่า ผมเป็นพวกที่ขี้รำคาญพวกอวดรู้เหลือเกิน
เลยขอเขียนแบบนั้นดูสักครั้ง อยากรู้ว่าอีพวกนักวิเคราะห์นี่มันมองอะไรยังไงกัน 555
ถ้าขี้เกียจอ่านก็กดข้ามไปตอนอื่นๆ เพื่อหาการ์ตูนปัญญาอ่อนได้เหมือนเดิมตามสบายครับ

.

จริงๆ บล็อกตอนนี้ต้องเขียนตั้งแต่เล่น Google+ วันแรก แล้วรู้สึกแวบขึ้นมา
เพราะหลังจากหยอดรีวิวแรก(ของชาติเลยนะ)ไปนิดนึง ก็รู้สึกว่าจะต้องขยายความเพิ่มอีก
แต่ก็ดันดองจนเริ่มเปรี้ยว เลยขอเขียนภาคต่อแบบดิบๆ แบบนี้แหละครับ

ประเด็นที่อยากขยายความก็คือ ขอสำรวจตัวตนก่อนว่าเหล่าสังคมออนไลน์ที่เราสิงสถิตอยู่เนี่ย
มันรู้จักอะไรกะเรา?

Facebook: นี่กูต้องเป็นใคร

ลองสังเกตดูครับ พฤติกรรมที่เว็บสีน้ำเงินแห่งนั้นจูงใจและเอื้ออำนวยให้เราเป็น
ก็คือการบอกว่า “กูเป็นใคร” ไม่ว่าจะ ไม่ว่าจะชอบกินอะไร เที่ยวที่ไหน เล่นอะไร
นับถือใคร ชอบ รัก เกลียด เลือกพรรคไหน และมั่นใจว่าคนไทยจะมั่นใจอะไร :30:
สิ่งเหล่านี้คืออาหารอันโอชะสำหรับเจ้าของเครือข่าย ที่ถึงเวลาแล้วเขาก็นำมาใช้หาประโยชน์
และร่ำรวยจากการรีดข้อมูลส่วนตัวของเราโดยสมัครใจ เอาไปขายโษณาซะงั้น
เราในฐานะผู้ใช้ก็ไม่ต้องไปรู้สึกระแวงหรืออะไรหรอกครับ มึงจะเอาก็เอาไป ขอให้กูได้เลี้ยงหมูก็พอ
(มีฝรั่งบอกว่า วิกิลีกส์เอาความลับมาแจกจนโดนล่า ส่วนเฟซบุ๊กได้ขึ้นปกไทมส์ทั้งที่ขายความลับเรา!)
นอกจากนั้นแล้ว ระยะเวลาที่ผ่านมา ระบบนิเวศในเฟซบุ๊กก็ดันเน่าหนอน
เพราะบรรดาบริษัทห้างร้านก็ดันระดมหลอกคนมากด Like (ฝ่านการตลาดชอบตัวเลขเยอะๆ นี้นัก)
จนข้อมูลส่วนตัวของคุณกลับกลายเป็นอะไรไม่รู้ นี่กูไปชอบบ้านจัดสรรของมึงตั้งแต่เมื่อไหร่วะ
แต่พักหลังทางคุณซักกะเบิกและทีมงานก็ได้เร่งแก้ปัญหานี้ด้วยการออกกฎเหล็กมาแปดข้อแล้ว
เดี๋ยวจะรอดูว่าได้ผลแค่ไหน และสังคมอุดมโฆษณาแห่งนี้จะกลับมาสงบสุขอีกครั้งหรือไม่

Twitter: ที่จริงแล้วกูเป็นใคร

“ในทวิตเตอร์ เราปกปิดตัวตนของตัวเองได้ไม่นานหรอก” ใครหลายคนก็กล่าวแบบนี้
ซึ่งทวิตเตอร์มันก็เป็นอย่างที่ว่าจริงๆ ครับ มันไม่มีอะไรให้เล่นอีกแล้วนอกจาก 140 ตัวอักษรนั่น
คุณนึกอะไร ชอบอะไร จะสร้างภาพยังไง พอทวีตไปสักพันทวีตมันก็ปกปิดตัวตนคุณไม่อยู่อยู่ดี
ด้วยระบบการ Follow ที่คุณสามารถแอบรักและติดตามความเคลื่อนไหวของคนอื่นได้
โดยเขาไม่จำเป็นต้องทำความรู้จักเรา มันทำให้ทั้งเขาและคุณต่างก็แสดงความเป็นตัวเองออกมาได้
ฉะนั้นประสบการณ์การใช้งานทวิตเตอร์ของแต่ละคน จึงมีลักษณะที่ไม่เหมือนกันเลย
ดังนั้นไม่จำเป็นต้องพยายามมานั่งหานิยามแบบที่ได้ยินบ่อยๆ ว่า “คนในทวิตเตอร์เป็นคนยังไง”
เพราะมันขึ้นอยู่กับว่าเราอยู่ในสังคมไหน มีความสนใจอะไร แสตนด์จะย่อมดึงดูดแสตนด์ด้วยกันครับ
ไม่เชื่อก็ลองกดดูไทม์ไลน์ของคนที่เราไม่รู้จักเลย แล้วดูสิครับว่าคนในทวิตภพของเขาเป็นยังไง
สนุกดีนะครับ ผมเคยหลุดไปในวงการที่คุยกันแต่เรื่องปลากัด ปลาตู้ โคตรเจ๋งเลย

Google+: คนอื่นมองเรายังไง

ผมคงไม่มานั่งพูดกันแล้วนะว่ามันลอก หรือมันทำมาฆ่า Facebook หรืออะไร
เพราะภายใต้หน้าตาที่ออกจะคล้ายกันนั้น .. วิธีคิดมันคิดกลับหัวกันเลย

ความเจ๋งมันอยู่ที่ Circles ครับ
อย่างที่เขียนไว้ในตอนก่อนว่านี่แหละของเด็ด แล้วก็ไม่ได้ขยายความต่อว่ามันเด็ดยังไง วันนี้จะมาว่ากัน

ก่อนอื่นต้องแนะนำอีเจ้า Circles ให้คนที่อาจจะยังไม่ได้ลองเล่น Google+ ซะก่อน
มันคือระบบที่หน้าตาใช้ง่าย เอาไว้ให้เราจับลาก “คนรู้จัก” ลงไปอยู่ในหมวดหมู่ต่างๆ
ซึ่งมันสัมพันธ์กับพฤติกรรมทางสังคมของเราพอดี ที่เวลานึกหน้าเพื่อนขึ้นมาสักคน
มันจะมีสถานะพ่วงมาด้วยเสมอ ผมก็เป็น คุณก็เป็น ไม่เชื่อลองสักสองสามสี่ห้าตัวอย่าง:

  • ไอ้บิ๊ก เพื่อนสมัยเรียนมัธยม ที่ตอนนี้กลับมาเจอกันและอยู่ในบอร์ดเดียวกันด้วย อาชีพทำเว็บ
  • ไอ้ตั๊ก ที่เป็นน้องมหาลัย แต่หลังๆ มันมาเที่ยวบ้านบ่อย แถมเป็นแก๊งกินที่ตามไปกินทุกที่
  • ไอ้แก้ว ที่รู้จักกันตอนทำงานที่ทำงานเก่า จนตอนนี้ก็ยังมาอยู่ที่ทำงานใหม่ด้วยกัน และเป็นแก๊งหมา
  • อีแชมป์ คนทำเว็บ วาดการ์ตูน เขียนหนังสือแนวจิกกัด รู้จักกันจากในเน็ตก็เพราะความจิกกัด
    จนพอมาเจอตัวจริงก็พบว่าเป็นชาวลาดพร้าวเหมือนกัน
  • เจ๊เพชร รู้จักกันในเน็ตแถมยังไม่เคยเห็นหน้าตากันเลย รู้แต่ว่าเจ๊กวนตีนจนน่าคบมาก และชอบหมา
  • ฯลฯ (รายนามบุคคลและสมาคมที่ถูกพาดพิงข้างบนนี้ ดันมีตัวตนอยู่จริงทั้งสิ้น)

เห็นไหมครับว่ามันมีบางอย่างที่กลุ่มคนที่กล่าวมาข้างต้นมีอะไรบางอย่างที่ “ทับซ้อน” กันอยู่หน่อยๆ
นั่นคือใน 1 คนอาจจะโคจรมาข้องแวะกับเราในฐานะ “สมาชิกร่วมวงการ” อะไรสักอย่าง
อาจจะเป็นวงใดวงหนึ่ง หรือมากกว่า 1 วงก็ได้ เช่นแก๊งกิน แก๊งเตะบอล แก๊งเที่ยว แก๊งเพื่อนสมัยเรียน ฯลฯ
กรุณาเปิดเพลง “เธอหมุนรอบฉัน ฉันหมุนรอบเธอ” ประกอบก็จะยิ่งเห็นภาพว่าวงโคจรมันมีอยู่จริง จริงๆ

Google-Plus-Circles

ในเมื่อวงมันมี แต่เราไม่เคยแปลงมันออกมาเป็นรูปธรรมแบบจับต้องได้ซะที
จน Google+ มันคลอดออกมาพร้อมกับภาพแรกที่เราเห็นแล้วก็จะงงว่า ไอ้ Circles นี่มันเชี่ยไรวะเนี่ย
มันคือ Circles อย่างที่เห็นในภาพนั่นแหละครับ แปลเป็นไทยว่า “แวดวง” (ฟังทีแรกจั๊กจี๋มาก แต่เริ่มชินละ)
ความที่มาถึงปั๊บ เราต้องไปเคลียร์กับตัวเองก่อนว่าจะจัดความสัมพันธ์กับคนนั้นคนนี้อย่างไร
อันนี้แหละที่ทำให้วิธีคิดของ Google+ นั้น “กลับหัว” กับทั้ง Facebook และ Twitter โดยสิ้นเชิง
เพราะ Facebook และ Twitter นั้นเรียกเพื่อนเราเป็น List และไม่ถูกขับเน้นเป็นสำคัญนัก
คือจะมีสักกี่ครั้งที่คุณได้ใช้การคุยกับเพื่อนเฉพาะลิสต์ที่ว่า? นอกนั้นก็เป็นระนาบเดียวกันหมด
โอเค ใน Facebook มีระบบ Groups ที่มองคล้ายกับเว็บบอร์ดที่ถึงเวลาก็ไปสุมหัว “ในนั้น”
แต่กับ Google+ นั้นไม่ต้องเข้าไปที่ไหน แต่การพูดทุกคำออกมาจะใช้การเจาะจงว่าเราพูด “กับใคร”
ผมเลยนับถือสถาปนิกระบบตรงนี้มากว่าเขาคิดได้ไงวะ พลิกกลับหัวจากระบบที่เราชินได้ โคตรเก่งเลย

ทีนี้มาต่อกันด้วยหัวข้อที่เขียนถึงในวันนี้ ว่า “คนอื่นมองเรายังไง”
ถ้าเปรียบเทียบกับใน Facebook และ Twitter การจัดเพื่อนเข้า List นั้นเพื่อความสะดวก
แต่สำหรับ Google+ มันมีมากกว่านั้นครับ ลองสังเกตดูว่าที่ผ่านมา Google ขาดอะไร?
Google มีคลังข้อมูลที่มีปริมาณเยอะที่สุดในโลก
Google มีสารพัดโปรแกรมระดับเทพ ที่พลิกระบบการคิดจากโปรแกรมอ้วนๆ ที่เรามี ไปอยู่บนเว็บ
Google มีระบบหุ่นยนต์และอัลกอริทึมมากมายที่ใช้วัดระดับความสัมพันธ์ของข้อมูลที่เก๋าที่สุดของโลก
ฉลาดที่สุดในโลกขนาดนี้ แต่กลับพลาดท่าตรงที่เสือกไม่รู้เรื่องความสัมพันธ์ของมนุษย์!
เรียกได้ว่า Google สามารถ Search หาอะไรก็เจอแม่งทุกอย่าง
แต่กลับหาใจเธอไม่เจอ (ฮิ้วววว)

แต่ในที่สุด ตอนนี้พอมี Google+ ขึ้นมาปั๊บ
มันก็เริ่มจะหาใจเธอเจอแล้วครับ

ก็จากการที่หลอกใช้พวกเราในฐานะ User (ตอนนี้แค่กลุ่มเล็กๆ แต่ต่อไปก็ทั้งโลก)
ให้ระบุ Metadata ต่างๆ ที่พ่วงมากับทุกคน โดยไม่ต้องอวยสร้างภาพตัวเองแบบใน Facebook
เพราะแทนที่จะให้เราบอกใครๆ ว่าเราเป็นใคร แต่คราวนี้คนอื่นจะบอกเราเองว่ามึงเป็นใคร!
ก็ด้วย Circles นี่แหละครับ

circles-me

และฐานข้อมูลมนุษย์นี่แหละครับที่กูเกิลกำลังเริ่มเปิดฉากเพื่อครอบครองต่อจากฐานข้อมูลภายนอก
แบบเดียวกับที่ไอน์สไตน์คุยกะซิกมุนด์ ฟรอยด์ ว่าตูเนี่ยรู้หมดทั้งจักรวาล แต่ไม่รู้เรื่องในสมองคน
บัดนี้ไอน์สไตน์ที่เกิดใหม่มาในคราบหุ่นยนต์ มันเริ่มรู้แล้วครับ และเฟสต่อไป มันก็จะเริ่มครองโลก

ตัดจบ!

คอมเมนต์

One thought on “แล้วเราเป็นใครในโลกออนไลน์?”

Comments are closed.