ยาวไปไม่อ่าน

ผ่านงานหนังสือมาเกือบสองเดือนแล้ว ผมเพิ่งหยิบหนังสือเล่มแรกจากงานนั้นมาอ่าน

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ซื้อหนังสือจากงานมาดองไว้ เหมือนกับว่าพอเห็นปก เห็นชื่อคนเขียนปั๊บ ก็อยากจะครอบครองมันเพื่อความเท่และแสดงตัวตนอะไรบางอย่าง เอาเข้าจริงไม่ได้อินหรือสนใจเนื้อหาข้างใน เท่ากับการได้อวดคนอื่นว่า “อ๋อ เล่มนี้เหรอ เราซื้อแล้ว”

แน่ะ ดูหล่อเลยเห็นไหม มีรสนิยมจริงๆ เมื่อได้บอกใครว่ามีหนังสือเล่มนี้ของนักเขียนคนนี้ (แต่อ่านหรือไม่นั่นอีกเรื่อง — อ่านแล้วเก็บอะไรไปได้แค่ไหนนั่นก็อีกเรื่อง)

เมื่อก่อนก็แปลกใจพฤติกรรมนี้ของตัวเองเหมือนกันนะครับ แต่พอผ่านงานหนังสือครั้งแล้วครั้งเล่า ผมก็พบว่าตัวเองมีหนังสือประเภทดังกล่าว (ซื้อมาไว้เท่ๆ) เยอะขึ้นเรื่อยๆ จนต้องมาสำรวจตัวเองว่าเป็นเพราะอะไร

ก็สรุปได้ว่า ระยะหลังมานี้ เราเหลือสมาธิในการอ่านหนังสือน้อยลงจริงๆ

เราเล่นทวิตเตอร์ ซึ่งสรุปจบเนื้อหาทั้งหมดภายในการกวาดสายตาแค่เสี้ยววินาที เราเปิดแต่เพจเฟซบุ๊กที่แอดมินเพจเข้าใจหลักการโพสต์ ว่า “ยาวไปก็ไม่มีใครอ่าน” เราเปิดรายการทีวีย้อนหลังบนยูทูบที่นับวันจะสั้นและคัดเอาเฉพาะเนื้อๆ มาเปิดให้ดูเท่านั้น (เกิน 5 นาทีก็ไม่ดูละ อาจจะยกเว้นรายการที่ชอบจริงๆ)

และเราติดการอ่านฟีดข่าวและบทความจากเว็บไซต์ อันนี้คนอื่นคงไม่เป็น แต่เราเป็น และรู้ด้วยว่าอาการหนักแล้ว (ก็ตรงที่พอ Google Reader จะปิดตัวลงในเดือนหน้ากว่าๆ นี้แล้ว ผมงี้ลนลานควานหาที่พักพิงแห่งใหม่รัวๆ) ซึ่งการอ่านฟีดนี้คือการเก็บทุกๆ ข้อมูลที่ผ่านตาอย่างคร่าวๆ บางครั้งอ่านแค่หัวข้อข่าวแล้วมโนว่าเราเข้าใจสาระของมันทั้งหมดแล้ว (ซึ่งคนเขียนข่าวก็ถูกสอนให้สรุปเนื้อข่าวลงในพาดหัว ไม่งั้นก็ไม่มีใครคลิกอ่าน) วันๆ กิจกรรมยามเปิดมือถือของผมกว่าครึ่ง ตกเป็นของการเปิดอ่านข่าว อ่านบทความนั่นนี่

ไหนจะกองการ์ตูนที่ซื้อมาอีก ยอมรับว่าตัวเองเป็นคนชอบอ่านการ์ตูนมากๆ และมีอุดมการณ์ว่าต้องอ่านแบบเล่มถูกลิขสิทธิ์เท่านั้น พวกสปอยล์ในเว็บนี่อย่าได้หวัง มันไม่ได้บรรยากาศในการซึมซับจากการกวาดสายตาไปทั้งหน้าแล้วสูดกลิ่นกระดาษเปื้อนหมึกเข้ามาด้วย ซึ่งความละเมียดละไมนี้ทำให้ผมกลายเป็นมนุษย์ประหลาด ที่อ่านการ์ตูนเล่มนึงช้ามากๆ ต่างจากการอ่านหนังสือที่เป็นตัวๆ เพียวๆ อย่างเดียว เพราะไม่มีศิลปะอะไรต้องให้เสพมาก เลยติดนิสัยมองตัวอักษรกวาดสายตาไปให้สุดบรรทัด แล้วเริ่มบรรทัดใหม่แบบลวกๆ แล้วจับประเด็นเอาเท่านั้น

ด้วยนิสัยลวกๆ นี้เอง ผมจึงชอบ “อ่านตัวหนังสือ” ผ่านหน้าจอมากกว่าผ่านกระดาษที่ต้องใส่ใจกับรูปเล่มของมันมากกว่า ส่วนในหน้าจอซึ่งปรับซุม เปลี่ยนฟอนต์ให้สบายตาได้เท่าที่ต้องการนั้น ระหว่างบรรทัดก็มีเพียงประจุไฟฟ้าที่ขับสีของจอภาพออกมาให้เห็น ไม่ได้มีสำนักพิมพ์ใดๆ ซ่อนอยู่ในนั้น..

ทั้งหมดนี่ไม่ได้บอกว่าพอฉาบฉวยแล้วจะเป็นความเลว หรือความไม่เลว แต่จะบอกว่าพฤติกรรมเราเปลี่ยนเป็นแบบนี้จริงๆ โดยยังไม่ต้องไปตัดสินอะไรมัน

เมื่อก่อนผมเช่าหนังสืออ่านได้วันละเล่ม นี่ขนาดเป็นสมัยเรียน (ที่ส่งโปรเจกต์โหดๆ อย่างที่เขียนในบล็อกที่แล้ว) นะ แต่เดี๋ยวนี้หนังสือพ็อกเก็ตบุ๊กเล่มหนึ่งถ้าจะได้หยิบมาอ่านจริงๆ ก็ต้องว่างสุดๆ หรือไม่มีฟีดอ่านแล้ว (นี่ยังดองบทความไว้หลายชิ้นใน Pocket อีกนะ) แล้วต้องเป็นตอนขี้ด้วย เพราะถ้าไม่ขี้ ก็จะหาอะไรโน่นนี่ทำมากกว่าการหยิบหนังสือสักเล่มมาอ่าน แล้วก็จมอยู่กับมัน

โชคดีที่มือถือผมเสีย ส่งซ่อมศูนย์ซัมซุงอยู่

ทั้งหมดนี้จึงเป็นคำแก้ตัวง่ายๆ ว่าทำไมผมถึงเพิ่งหยิบหนังสือเล่มแรกที่ตัวเองสนใจที่สุดจากงานหนังสือครั้งที่ผ่านมา เอามาอ่านก่อน ไม่งั้นก็ไม่ได้เริ่มซะที

แล้วก็คิดไม่ผิดครับ หนังสือ “เงินไม่ใช่พระเจ้า” ที่แปลจาก “What Money Can’t Buy” โดยพี่ยุ้ย @Fringer (กดเข้าไปอ่านคำนำเอาเองนะ) นั้นว่าด้วยโลกและสังคมที่ถูกกรอบ “ตลาด” (เป็นคำในภาษาเศรษฐศาสตร์ ซึ่งก็หมายความว่าทุนนิยมนี่แหละ) มาครอบคลุมการตัดสินใจทุกอย่าง ไม่ได้บอกว่าทุนนิยมนี่มันเหี้ยจริงๆ นะ แต่มันบอกว่าไอ้กรอบทุนนิยมที่กลายเป็นเทรนด์มาหลายสิบปีจนมันหยั่งรากลึกให้มนุษย์ยุคหลังการประกาศและยอมรับทฤษฎีนี้ เราใช้มันเป็นแว่นมองทุกอย่างโดยมีตลาดเป็นแกนกลาง จนบางทีหลงลืมไปว่า โลกเราแม่งมีกรอบแว่นให้มองอีกตั้งหลายประเภท และบางครั้งการมองด้วยกรอบของตลาด

มันทำให้คำเชยๆ อย่าง “ศีลธรรม” กลายเป็นตาลุงแก่ๆ โง่ๆ เชยๆ อะไรไม่รู้ที่ไม่มีใครพูดถึงกันอีกแล้ว ทั้งที่มันมาก่อนตั้งมากมาย (มาก่อนใช่ว่าจะดี?) แต่ในเล่มนี้มีคำอธิบายอีกมากมายที่บอกเราได้ว่า คำว่าศีลธรรม (จริยธรรม ธรรมาภิบาล ฯลฯ) น่ะ จริงๆ มันไม่เชยเลยนะ แต่เราลองถอดแว่นตาแห่งความเคยชินในวิถีชีวิตทุกวันนี้ออกมา แล้วมองกลับเข้าไปที่พฤติกรรมหลายๆ อย่างที่กำหนดตัวตนของเราอีกทีสิ แล้วจะเริ่มเห็นภาพว่า ทำไมเงินจึงไม่ใช่ทุกสิ่งทุกอย่าง และหลายสิบปีที่ผ่านมา โลกเราบิดเบี้ยว เปลี่ยนแปลงไปแค่ไหนที่ใช้ตลาดเป็นแกน เป็นตัวกำหนดทุกอย่าง

จนเราหลงลืมอะไรไปบางอย่างจริงๆ

ผมไม่มีความสามารถในการอธิบายเนื้อหาในหนังสือเล่มนี้ได้หมด แต่จะบอกว่ายิ่งอ่านยิ่งมันส์ ไม่อยากอ่านแค่ในส้วมอีกแล้ว ต้องพกมาข้างนอกและนอนกลิ้งอ่านกับลูกเลยครับ

จนเมื่อวานนี้คุยกับเมียตอนขับรถกลับบ้าน ว่าเออ ที่เราอินกับหนังสือเล่มนี้จริงๆ ก็คงเพราะเราไม่ได้เป็นมนุษย์ที่ขับเคลื่อนด้วยเงินนะ (ถ้าไม่รู้จักกันจริงๆ พูดแบบนี้ไปก็น่าหมั่นไส้ แต่ถือว่าเขียนให้คนรู้จักกันอ่านละกัน) ซึ่งเมียผมให้คำตอบกลับมาว่าตัวเธอเองน่ะเป็นนะ มนุษย์พันธุ์ที่หายใจเข้าออกเป็นเงินเนี่ย และยอมรับด้วย ทุกวันนี้จึงแฮปปี้กับโลกที่มีปัจจัยชี้วัดความสุขด้วยเงิน เพราะหลังจากใช้หนี้รถ หนี้บ้าน หนี้ครอบครัวสารพัดจนหมดแล้ว ก็ยอมรับเลยว่าชีวิตมีความสุขขึ้นมากๆ

ส่วนผมก็บอกไปเหมือนกันว่าตั้งแต่ถอยออกจากงานบริษัทมาอยู่บ้าน มีเวลาให้กับตัวเอง ถึงรายได้จะน้อยลงมากๆ แต่ก็มีความสุขเพิ่มขึ้น ผกผันกันโดยสิ้นเชิงล่ะนะ 55555

เออ เป็นผัวเมียที่ต่างกันแบบนี้ก็ดีนะ จะได้ถ่วงดุลกัน ไม่จูงมือกันเลยเถิดไปโลกใดโลกหนึ่งจนเกินไป

คอมเมนต์