พุทธศาสนาที่ข้าพเจ้ารู้จัก

เขียนก่อนนอน จะได้ไม่มีอะไรค้างคาใจ ตั้งชื่อหัวข้อเหมือนจะกว้างและมีประเด็นเยอะแยะแหลมคม แต่ไม่หรอก แค่บ่นๆ ตื้นๆ เหมือนเดิม

พอดีวันนี้วันอาสาฬหบุชา แม่ยายและครอบครัวเมียพร้อมน้องเมียก็ขับรถพากันไปที่วัดอัมพวัน สิงห์บุรี (เป็นวัดที่สวยและมีหลวงพ่อจรัญเป็นดิ ไอดอล)

แล้วแบบ คึกครับ ไม่ได้เข้าวัดหรอก แต่หยิบจักรยานพับท้ายรถไปปั่นดูบรรยากาศแถวนั้น (แน่นอนว่าขี่ไป จอดไป ถ่ายรูปสลิ่ม และโพสต์ขึ้นบล็อกตีนใหม่หัดปั่นไปด้วย)

บรรยากาศโคตรดีเลยครับ ดีทั้งในวัด และนอกวัด ที่มีแม่น้ำเจ้าพระยาตีคู่กับถนน ทุ่งนา และคันคลอง ปั่นไปชิวไปตลอดทาง แม้จะเป็นช่วงเพลที่ร้อนโคตรๆ

เลยนึกได้ว่า เออ เราแม่งไม่เข้าวัดว่ะ นี่ขนาดวันพระขนาดใหญ่แล้วนะ แถมมาถึงวัดที่เจ๋งระดับนี้แล้ว เลยลองสำรวจอคติที่ตัวเองมีต่อศาสนาพุทธดูว่าทำไม

แน่นอนว่าคงไม่พูดถึงกรณีพระปลอม พระกาก พระเดนที่ทุกคนแม่งรู้กันหมดแล้วว่ามี แต่ทำอะไรได้หรือเปล่า หรือทำแล้วจะส่งผลอะไร ตัดปัญหา แก้ปมมารศาสนาได้ไหม นั่นเป็นเรื่องของคนอื่น ไม่ใช่เรื่องของผม

ไอ้ที่เกี่ยวจริงๆ คือมันส่งผลกระทบต่อผมโดยตรง เช่นเวลามีคนชวนไปทำบุญ ปล่อยนกปล่อยปลาปล่อยหมาแมว ทำไมกับบางคน บางวัด จึงรู้สึกอึดอัด ก็พอจะนึกได้ดังนี้ ว่า

ผมไม่ชอบเลย เวลาคนมาทำบุญแล้วต้อง “ได้” บุญ

ถึงพระเท่ๆ อย่างสายท่านพุทธทาส (ซึ่งผมว่าโอเคสุดๆ แล้ว) จะบอกว่า “ทำดี ดี!” (ไม่มีคำว่าได้) ซึ่งเฮ้ยมันเท่มาก คุณจะไปโยงเหตุโยงผลอะไรแล้วเอามาเหมาเป็นเรื่องของกฎแห่งกรรม ผลบุญ หรือศัพท์แสงอะไรที่จะบอกว่าการเอาตังค์ไปถวายวัดหนึ่งร้อยบาทแล้วจะส่งผลให้เรามีหน้าที่การงานที่ดี หรือชีวิตสุขสบาย ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ อะไรนั่น … ก็บอกเลยว่าไม่เชื่อ

แล้วก็ต้องขอขัดขาไว้ก่อนว่า “ยังงี้มึงก็เลวสิ”

โน้ๆๆๆ

คือมันจะมีระบบความคิดประหลาดๆ ที่ชอบกีดกันคนอื่นที่ไม่ได้เห็นด้วยกับเราให้เป็นคนอื่นเนี่ย คือผมโอเคกับการทำดี ผมเชื่อว่าแต่ละคนมีนิยามความดีแตกต่างกันออกไป จะสมาทานเป็นของตัวเอง หรือพยายามโน้มน้าวคนอื่นให้เชื่อว่าหลักเกณฑ์ความดีของตนนั้นมันถูกต้องสมควร ก็ว่ากันไป

แต่ผมเชื่อว่า “ความดีมันเป็นค่าสัมพัทธ์” (เคยกล่าวไปแล้วในบล็อกเมื่อหลายปีก่อน ซึ่งบล็อกพังไปแล้ว) ที่เกิดจากคนหนึ่งทำกับสิ่งหนึ่ง แล้วแต่ว่าสิ่งนั้นจะเล็กใหญ่ หรือส่งผลกระทบอะไรต่อไป เสียดายคืนนี้ง่วงแล้วเลยไม่ได้อธฺบายซ้ำว่าไอ้ทฤษฎีความดีสัมพัทธ์น่ะมันอะไรยังไง แต่น่าจะพอเดากันออกเนอะ ขี้เกียจเขียนซ้ำ

ฉะนั้นเมื่อผมมีอคติกับนิยามของความดีแบบที่เห็นต่อหน้าต่อตาบ่อยๆ โดยเฉพาะเรื่องการกอบโกยหรือคาดหวัง “ผลตอบแทนจากการทำบุญ” ผมจึงไม่ให้เงินขอทาน ผมจึงไม่ทำบุญกับวัด ผมจึงขี้เกียจนั่งฟังพระเทศน์เป็นภาษาต่างประเทศที่ตัวเองไม่เข้าใจ หรือพิธีกรรมแบบไทยๆ (ไม่ใช้คำว่าพุทธ) ที่ดูไม่เห็นจะจำเป็นเลย รวมถึงพฤติกรรมอื่นๆ ที่ดูแล้วไอ้นี่แม่งมารศาสนาแน่ๆ

แต่ผมเชื่อว่าไอ้การทำแบบนี้มันก็ไม่ได้ชั่วหรอก เพราะเชื่อว่าไอ้ที่ตัวเองทำ และเป็นอยู่ทุกวันนี้ มันก็เป็นความพยายามจะดีอยู่ไม่น้อย เรียกว่าค่อนข้างเนิร์ดเลยด้วยซ้ำ เพราะผมยังเป็นคนหัวเก่าที่คิดอะไรแบบเก่าๆ ยังประทับใจเวลาเห็นคนทำอะไรดีๆ (ที่เป็นนิยามความดีในแบบสากล ฝรังเขามีศัพท์ด้วย แต่จำไม่ได้ ถึงจำได้เอามาเขียนในวงเล็บตรงนี้ก็ไม่ออกสอบ)

เพียงแต่มีอคติที่รุนแรงต่อการโปรโมตเรื่อง “ผลบุญ” ที่ตัวเองไม่เชื่อเอาเสียเลยเท่านั้นแหละ

สำหรับเรื่องวัดวา ผมก็เหมือนหลายๆ คน (ไม่ได้เหมารวม แต่แค่จะบอกว่าตัวเองก็ไม่ได้แนวอะไร) คือเกลียดวัดที่ทำตัวเป็นสถานที่ปลุกเสก เกลียดพระ (อ้าว ไหนบอกจะละไว้) ที่ทำตัวเป็นนักธุรกิจ รู้ว่ามันต้องมี และมันต้องขับเคลื่อนอะไรต่ออะไร แต่ถ้าเลือกได้ก็จะไม่ข้องเกี่ยวเลย ปล่อยให้คนที่เชื่อเขาเชื่อไป เราไม่ได้ไปโดดขวางเขา แต่เราแค่ไม่ร่วมสังฆกรรมด้วยเท่านั้นแหละ

แต่บางทีจะบอกว่าต่างคนต่างอยู่ก็ลำบาก เพราะมันจะมีหลายๆ เคสที่ความเชื่อของแต่ละคนมันจะมีโอกาสมาไฝว้กันบ่อยๆ (แค่นึกภาพช็อตที่มีญาติโยมชวนไปนั่งสมาธิที่วัด X นี่ก็ถือเป็นความอึดอัดแล้วนะ) และเราไม่สามารถใช้ชีวิตแบบหลีกเลี่ยงการโคจรผ่านก้อนความเชื่อของคนอื่นๆ ออกไปได้ อย่างการนับถือสิงศักดิ์สิทธิ์ (ไม่เชื่อโซ้ย) ความเป็นสิริมงคล (ไม่เชื่อโว้ย) ผีสางเทวดา หลวงพ่อศักดิ์สิทธิ์ อิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ (ไม่เชื่อโว้ยยยยย) และป่วยการที่จะมาอธิบายว่าไอ้พวกนี้ไม่ได้เรียกว่าพุทธเลยเหอะ ดังนั้นก็ลำบากน่อย แต่ก็โอเค

ขนาดไปวัดเจ๋งๆ อย่างวัดหลวงพ่อจรัญ แต่ประตูเข้าวัดยังมีพ่อค้าแม่ค้าจับเต่าเผือกมาใส่กะละมังโชว์ให้คนมาทำบุญ หรือมีตาลุงจูงช้างเด็ก (เด็กมาก) มาให้คนจ่ายเงินให้อาหารมันเลย หรือแม้แต่ของวัดเองยังมีท่อนไม้ศักดิ์สิทธิ์ที่มีผ้าเจ็ดสีพันไว้รอบๆ พร้อมชุดนางรำสารพัด ทำเป็นเพิงใหญ่ๆ เลยนะ เห็นแล้วก็เออ หลวงพ่อท่านคงปรามไม่หมดจริงๆ แล้วก็คงเซ็งๆ ด้วยแหละ แต่ก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะเหตุผลคล้ายๆ กับที่ว่าไว้ข้างบน (อันนี้ไม่ได้มโนเอาเอง อ้างอิงจากประวัติรูปปั้นหลวงพ่อโตในวัด ที่เขียนบอกไว้ว่า คนนั้นคนนี้ก็ฝันว่าหลวงพ่อโตมาบอกให้สร้างรูปปั้น แต่หลวงพ่อจรัญไม่เชื่อ แต่ก็ทานไม่ไหว โดนบิ๊วจนยอม อะ สร้างก็สร้าง ในเขียนดุไว้ในแผ่นป้ายด้วยว่าเป็นสมภารที่ดื้อ แต่สรุปก็ต้องยอมๆ ไป)

ในเมื่อศาสนาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ การที่หัวใจจะไปยึดเหนี่ยวกับอะไรทั้งที มันก็ต้องเท่ๆ หน่อย ไม่ใช่แบบ อะไรวะ มึงอีกแล้ว งมงายอีกแล้วงี้

โอ๊ย เขียนแล้วก็ด้น วกวนจับประเด็นไม่ได้เลย แต่ก็เอาเหอะ

มาขนาดนี้แล้วต้องบอกไหมว่าเป็นความคิดเห็น(อคติ)ส่วนตัว

คอมเมนต์