ทดลองเล่น Leap Motion

ก่อนอื่นขอแนะนำก่อนว่าไอ้เจ้า Leap Motion นี่มันคืออะไร แต่ขี้เกียจอธิบาย ดูคลิปเอาละกันนะ

พอดีพี่อาท (@chaiyosart) เจ้าคณะแห่งสามย่าน แกซื้อไอ้เครื่องนี้มาตามที่ผมเคยง้องแง้งอยากได้อยากเห็นอยากเล่นอยากจับมาตั้งกะปีที่แล้ว แต่ของมันยังไม่ขายซะที (มีแต่รุ่นสำหรับนักพัฒนา ซึ่งไอ้เราก็ไม่ใช่) คือตอนเห็นครั้งแรกนี่ตื่นเต้นมากครับ เพราะมันดูเจ๋งมากในราคาแค่ประมาณ 2000 บาท (พอๆ กะเมาส์แอปเปิล!) คือถ้ามันผลิตเสร็จพร้อมขาย และเกิดฮิตขึ้นมา หรือแอปเปิลไม่ก็กูเกิลซื้อกิจการเอาไปทำนั่นนี่ต่อ รับรองว่าโลกเราจะไม่เหมือนเดิม และเมาส์ก็จะกลายเป็นไดโนเสาร์ไปเลย (นี่เอามาจากท็อปคอมเมนต์ใต้คลิปนะ)

แล้วอยู่ดีๆ เมื่อเช้า พี่แกก็เดินเอากล่องใส่ของเล่นชิ้นนี้มาวางไว้ แล้วบอกให้เอาไปเล่นให้ที อ้าว ก็เสร็จโจรสิครับ

ทีแรกว่าจะถ่ายตอนแกะกล่องแต่ก็ไม่ได้ถ่าย (แต่ก็มีอวดบน Google+ นะ) ก็เล่นที่ออฟฟิศไปแล้วรอบนึง แล้วพอดีจิ๊กกลับมาลองที่บ้าน (ยังไม่ได้ขออนุญาตด้วย น่ารักจริงๆ) เลยลงโปรแกรมในคอมที่บ้าน แล้วลองต่อเล่นอีกที

เพื่อให้เข้าใจง่ายและขี้เกียจพิมพ์ยาวๆ เพื่ออธิบาย ขอให้พี่น้องทุกท่านจงดูคลิปนี้ครับ เป็นการแกะกล่องออกมาและติดตั้งโปรแกรม รวมถึงการกดๆ ดูว่าใน Airspace (ก็คือ AppStore ของ Leap Motion) เขามีอะไรบ้างคร่าวๆ

และต่อไปนี้จะเป็นการอวดครับ อย่าเรียกว่ารีวิวเลย เรียกว่าอวดดีกว่า

Leap Motion

ตัวเครื่องหน้าตาเป็นงี้ กว้างประมาณยางลบ ยาวเกือบเท่านามบัตร และหนาเท่าการ์ตูนค่ายเนชั่น ด้านหน้าเป็นตัวรับสัญญาณ

เขาว่ามันจะรับสัญญาณเป็น “ทรงกรวย” เหมือนมีโคนไอติมที่มองไม่เห็นคอยดักจับการเคลื่อนไหวของวัตถุที่โฉบไปโฉบมาเหนือเซ็นเซอร์ ซึ่งจับได้ละเอียดยุบยิบโดยเฉพาะวัตถุที่หน้าตาคล้ายมือเราเนี่ยแหละ แต่เท่าที่เล่นๆ นี่ มันรองรับมือได้สองข้าง อย่างละเอียดและไม่มีหน่วงเลยนะ แปลกดี ทำได้ไง กินอะไรถึงได้โตมา

พอลงโปรแกรมเสร็จแล้วมันก็จะมีแนะนำนั่นนี่ ออกมาเป็นกราฟิกง่ายๆ เห็นแล้วเข้าใจเลยว่าแบบนี้

สุดท้ายก็ลองมาดูกันครับว่าจะเล่นมันยังไง ทีแรกว่าจะจับภาพให้ดูเยอะๆ แต่คิดดูอีกทีถ้าอธิบายไปคืนนี้คงไม่ได้อ่านการ์ตูนกันพอดี เลยถ่ายเป็นคลิปแม่งเลยละกัน (ขออภัยที่วันนี้เจมส์จิไม่ค่อยสบายครับ เลยหน้าตาดูอิดโรยนิดนึง)

โดยสรุปคือ มันทำได้อย่างที่คุยจริงๆ ครับ เพียงแต่โปรแกรมที่รองรับยังไม่เยอะ (แถมพอจะกดซื้อแอปนึงในนั้นมันก็ดัน error เลยไม่ได้เสียตังค์) แต่ทั้งนี้เขาก็เปิดให้นักพัฒนาซอฟต์แวร์ได้เข้ามามีส่วนร่วมเยอะๆ เผื่อต่อไปการร่ายรำอยู่หน้าจอจะได้ฮิตติดลมบนกะเขาบ้าง วงการที่ได้ประโยชน์ที่ได้จากการร่ายรำแบบนี้ก็คงเป็นพวกเกม หรือวงการแพทย์ หรือพวกงานอีเวนต์เปิดตัวนั่นนี่ก็น่าจะมีไอ้เจ้านี่ไปให้ผู้ร่วมงานมาเล่น แบบเดียวกับที่ Wii และ Kinect เป็นพระเอกอยู่ในทุกวันนี้

เพียงแต่ระยะทำการมันจะแคบหน่อยนะ อาจจะต้องนั่งเบียดๆ แนบๆ กับน้องพริตตี้นิดนึง

คอมเมนต์