ประชาธิปไตยและการเมืองไทยในทรรศนะของข้าพเจ้า

democrazy

เมื่อเย็นวานเป็นวันแห่งการเป่านกหวีดสำหรับม็อบใหญ่ เป็นม็อบที่ท่าทางจะจุดติด และน่าสนใจที่สุดในรอบปีที่ผ่านมา เพราะประเด็นที่ฝ่ายรัฐบาล “เชิญแขก” มานั้นแข็งแรงมากๆ คือมีเหตุผลเข้าท่า หากจะนำไปสู่การล่มสลายของรัฐบาลได้เลย ..หรือที่จริง การมีม็อบรณรงค์อย่างบริสุทธิ์ใจนั้นไม่เคยมีครั้งไหนที่สามารถล้มรัฐบาลได้เลย …จนกว่าจะมีคนตาย – เอาจริงๆ แกนนำม็อบเลยยิ้มที่มุมปากเสมอเวลามีคนตายไงล่ะ เป็นตำรายุทธพิชัย :(

เดี๋ยวๆ ก่อนที่จะเข้าเรื่องม็อบ มาเข้าเรื่องการเมืองก่อน

ไหนๆ เคยเขียนบล็อกบันทึกเรื่องทรรศนะส่วนตัวด้านพุทธศาสนาแล้ว ก็ขอบันทึกทัศนคติทางการเมืองหน่อย จะได้รู้ว่า “วันนี้” เราคิดแบบนี้ แล้ววันข้างหน้าจะเปลี่ยนไปแค่ไหน รวมถึงไม่รู้จะย้อนมาจำได้ไหม

ทีแรกกลัวว่าเสนอความเห็นแล้วจะดูโง่ แต่วันหนึ่งก็นึกได้ว่า ที่จริงประชาธิปไตยนั้นเป็นระบอบที่ถูกออกแบบมาเพื่อทุกคน ไม่ว่าจะโง่หรือฉลาด ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ชอบการถกเถียงและแสงความคิดเห็นก็ตาม เมื่อคิดได้ดังนั้น เลยรู้สึกอุ่นใจขึ้นมานิดนึงว่า นอกจากเราแล้วก็ยังมีคนที่โง่ (และโง่กว่าเรา) อยู่เยอะแยะไป ก็ไม่เป็นไรนี่นา ทำไมต้องฉลาดก่อนแล้วค่อยมีสิทธิ์พูดล่ะ?

ประชาธิปไตยนั้นอนุญาตให้คนไม่สนใจการเมืองเลย สามารถอยู่ด้วยได้อย่างแฮปปี้พอๆ กะพวกหายใจเป็นการเมืองมิใช่หรือ

แต่อีกแว้บนึงก็รู้สึกว่า อุณหภูมิการเมืองในช่วงเกือบสิบปีที่ผ่านมามันเซนซิทีฟเกินไปนะ คืออยู่ดีๆ ใครก็ตามดันแสดงความคิดเห็นทางการเมืองขึ้นมา คนคนนั้นจะต้องถูกดึงเข้าวังวนดราม่า และถูกแปะป้ายอะไรสักอย่างลงบนตัวไปตลอดกาลทันที ช่างเป็นบรรยากาศที่ผลักไส และไม่เป็นมิตรต่อการแลกเปลี่ยนความเห็นโดยสันติเอาซะเลย

บรรยากาศในอุดมคติคือเรามานั่งพูดคุยเรื่องการเมืองกันเหมือนพอดูหนังจบเราคุยเรื่องหนัง พอออกไปกินข้าวแถวบ้าน เราคุยกันว่ามันอร่อยไหม แพงไปปะ คราวหน้ามากินอีกไหม ไม่ใช่แบบติ่งใต้น้ำหรือสาวกหน้ามืด ที่ทะเลาะกันแบบขาดสติ คือไม่รู้จะไปอินอะไรกันนักกันหนากับค่ายที่ตัวเองเชียร์ โอเค มันเกี่ยวพันกับชีวิตเรา แล้วข้าวร้านที่เราไปกินก็เกี่ยวกับชีวิตเราไม่ต่างกันไม่ใช่หรือ?

เริ่มยังไงดีหว่า นึกเป็นข้อๆ ไปละกัน

1.
ระบอบประชาธิปไตยต้องเป็นโอเพนซอร์ส
กติกาใดๆ ที่เกิดขึ้นมาเพื่อเลือกคนมาเป็นตัวแทนแห่งอำนาจนั้น “มันมีรูรั่วอยู่เสมอ” ไม่มีทางสมบูรณ์ได้เลย เพราะนี่เรากำลังเล่นเกมอยู่กับมนุษย์ที่มีขีดความสามารถในการดิ้นได้เสมอ และเพราะอำนาจคือผลประโยชน์ก้อนใหญ่พอที่จะลงทุนกับมัน ดังนั้น “ที่มาของอำนาจ” ที่ยังมีข้อบกพร่อง จึงไม่ใช่สิ่งพิสูจน์ความขาวสะอาดของผู้ชนะที่มีสกิลศรีธนญชัยได้นะครับ แต่ประชาธิปไตยคือระบอบที่ออกแบบมาให้ค่อยๆ คลำหาข้อบกพร่องนั้น และปรับแก้กันไปจนมันดีขึ้น แต่ก็ต้องอย่าลืมแยกกันให้ออกระหว่าง “การได้มาซึ่งอำนาจ” กับ “ความถูกต้องสัมบูรณ์เสมอเมื่อมีอำนาจ” มันคนละเรื่องกัน นั่นแปลว่า ถ้าคนจะเหี้ย ก็สามารถใช้ช่องโหว่ของกติกาที่ดีไซน์ไว้ไม่รัดกุมพอ มาตักตวงผลประโยชน์เข้าตัวได้อยู่ดี กรณีศึกษามีเป็นร้อยเป็นพันให้เห็น (หันไปมองวงการฟุตบอล)
ในทางกลับกัน ถ้าเกิดจะไม่เอาละ ประชาธิปไตย กูอยากได้ระบบอื่นที่มั่นใจว่าได้ “คนดี” ชัวร์ (คนดีเนี่ย เป็นคำที่เขาประชดกัน และประโยคถัดมาก็จะตามมาด้วยพฤติกรรมลับๆ ที่เหี้ยๆ แล้วถามเย้ยๆ ว่า ไงล่ะ คนดีของมึง? – อยากจะบอกว่า ถ้ามันเหี้ย ก็แสดงว่าไม่ใช่คนดีแล้วสิ ง่ายจะตาย จะแขวะกันทำไมล่ะเอ๊อ) ก็ต้องบอกว่าอย่าเลย ขนาดประชาธิปไตยที่เป็นระบบที่ออกแบบให้มีการยืดหยุ่นและปรับปรุงนั่นนี่ได้เสมอ ยังเจอรูรั่วขนาดนี้ แล้ว “ระบบปิด” อย่างอื่นมันจะไปเหลืออะไร
นี่จึงเป็นหลักฐานที่ชี้ว่าอย่างไรก็ตาม ประชาธิปไตยเป็นกติการ่วมกันทางสังคมที่โอเคที่สุด ที่เปิดโอกาสให้ลองผิดลองถูกไปอีกชั่วลูกชั่วหลานจนกว่าจะได้ระบบที่ลงตัวขึ้นเรื่อยๆ (ไม่มีหรอกที่สมบูรณ์ 100%)
แต่ก็ใช่ว่าจะไปสรรเสริญมันแบบเป็นสาวกไม่ลืมหูลืมตา ถ้ามีข้อเสีย ก็ต้องยอมรับว่ามันเสีย และช่วยๆ แสดงออกว่าต้องการแก้ ในหลายๆ เวอร์ชันที่ผ่านมา เมื่อใดก็ตามที่มีการปรับแก้กติกา ไม่ว่าจะโดยประชาชนเอง หรือโดยกลุ่มผลอำนาจ กลุ่มประโยชน์ไม่กี่คนก็ตาม เราจะเห็นได้ว่ามันแอบมีดอกจันตัวเล็กๆ ที่แสดงเบื้องหลังอยู่เสมอ เช่น อยู่ดีๆ มาเร่งแก้ประเด็นจำนวน ส.ส.ในแต่ละเขตไรงี้ ซึ่งคนเสนอแก้ก็คือ ส.ส.เองที่กำลังถืออำนาจในการปรับกติกาอยู่ ไรงี้ (ซึ่งกติกาเราออกแบบให้พวกเขานั้นอำนาจเพื่อการนี้เองนี่หว่า) มันก็เลยเป็นโดมิโน่ไปสู่สิ่งอื่นๆ

2.
เชื่อในระบบการโวยวายของคนอย่างเราๆ เพื่อถ่วงดุล ตรวจสอบ (และประจาน) การกระทำผิดของผู้มีอำนาจในทุกวงการ ยิ่งเป็นยุคนี้ที่ทุกอย่างไฮเทคและโซเชียลพอ เรื่องอะไรแบบนี้มันทำได้ไม่ยากอยู่แล้ว เลยไม่เห็นด้วยกับการบอกว่าถ้าไม่ชอบรัฐบาลทุจริต ก็ให้อดทนสี่ปี แล้วค่อยเลือกพรรคอื่น มันต้องเล่นงานกัน(ในกติกา)แบบรัวๆ และฝั่งที่เชียร์รัฐบาลก็ต้องเงี่ยหูฟังว่าเขาด่าอะไร จริงหรือไม่ ถ้าไม่จริงแล้วจะมีวิธีอธิบายยังไง ที่มันไม่จบด้วยการดราม่ากันเอง แต่ไอ้คนข้างบนลอยลำงี้ เสียเวลา
อ้อ การตรวจสอบที่ว่า ใช้กับระบบราชการ หรือระบบอื่นๆ ที่ถ่วงดุลผู้มีอำนาจได้เหมือนกันนะ ถึงข้าราชการจะถูกทำโทษด้วยการ “ย้าย” ไปที่อื่นแทนที่จะไล่ออกก็เถอะ

3.
ย้ำว่าการได้มาซึ่งอำนาจกับความสง่างามบนเก้าอี้มันคนละเรื่องกัน ทีแรกก็ไม่ค่อยเคลียร์เท่าไหร่นะข้อนี้ แต่พอเห็นตัวอย่างจากหนังสารคดี “ประชาธิปไทย” ของเป็นเอก ก็พบว่าพอใครก็ตาม (เอาตั้งแต่คณะราษฎรเลยเหอะ) ที่ลงทุนกับการเปลี่ยนแปลงมากๆ เมื่อขึ้นไปอยู่บนเก้าอี้ปั๊บ ก็จะยิ่งกอดแน่น เพื่อพยายามรักษาความมั่นใจของตัวเองว่าสิ่งที่กูทำมาตลอดนั้นถูก ถึงกูจะต้องเปลี่ยนคอนเซปต์นิดนึง แต่กูจะล้มลงไปแบบไม่สวยไม่ได้ บทเรียนนี้มีมาตลอด ใครยังไม่ได้ดูสารคดีเรื่องที่ว่า ลองหาดูนะ เขาเปิดฉายเรื่อยๆ

4.
หัวใจของระบอบประชาธิปไตยควรอยู่ที่สิทธิและเสรีภาพของประชาชน มากกว่าการโฟกัสไปที่ “การเลือกตั้ง” ซึ่งที่จริงมันก็แค่พูดถึงปากทาง คือการได้มาซึ่งผู้ปกครอง (ที่จริงต้องใช้คำว่า “ผู้บริหาร” มากกว่าผู้ปกครอง เห็นมะ ย้อนแย้งมะ) ดังนั้นนิยามของประชาธิปไตยมันจึงไม่ได้มีแค่การเลือกตั้ง (พูดแบบนี้นี่สลิ่มเลยนะ) หรือต้องไปทำอะไรที่เกี่ยวกับนักการเมืองหรืออยู่ในช่วงข่าวการเมืองอย่างเดียว แต่มันต้องกลืนเป็นธรรมชาติกับการดำเนินชีวิตประจำวันของเรา เช่น การใช้ชีวิตเป็นมนุษย์เงินเดือน ทำงานอยู่ในออฟฟิศ การใช้ชีวิตเป็นนักเรียนนักศึกษา เรามีสิทธิอะไรอย่างที่สมควรหรือเปล่า การขึ้นรถตู้ รถเมล์ รถไฟฟ้าล่ะ สิทธิของเราถูกเบียดเบียน หรือไปเบียดเบียนใครหรือเปล่า เราได้ทำอะไรที่อยากทำมากแค่ไหน อะไรที่เขาห้ามทำแล้วแต่เรารู้สึกว่ามันละเมิด เราลุกขึ้นพูด หรือแสดงออกอะไรบางอย่างเพื่อหาทางแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ไหม ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นตลอดเวลาแม้กระทั่งในหน่วยย่อยๆ อย่างครอบครัว ท้องถนน โรงเรียน ออฟฟิศ เว็บบอร์ด กรุ๊ปเฟซบุ๊ก ฯลฯ เลยนะครับ ไม่เห็นต้องไปเปิดช่องการเมืองแต่อย่างใด อยู่ที่เราจะสนใจมันหรือเปล่า แค่ไหนเท่านั้นเอง
จะเห็นว่าทั้งหมดที่ว่ามานี้มันใหญ่กว่าแค่เรื่องการเลือกนักการเมืองเยอะเลย

5.
ดราม่ากองเชียร์กีฬาสีในรอบหลายปีที่ผ่านมา ฝ่ายหนึ่งบอกว่าอยากได้การเมืองใสสะอาด ไม่ทุจริต ไม่คอร์รัปชัน อีกฝ่ายบอกว่าอยากได้ประชาธิปไตย แล้วสองฝ่ายก็ตีกันบาดเจ็บล้มตาย คำถามคือ อีสองอย่างมันก็ไปด้วยกันได้ไม่ใช่เรอะ ทำไมฝ่ายหลังถึงไม่พูดเรื่องทุจริต และฝ่ายแรกไม่เน้นเรื่องสิทธิหว่า หรือที่จริงก็มี แต่มันดึงอารมณ์ร่วมของมวลชนที่เป็นมุษย์คนละประเภทกันให้คล้อยตามได้ยาก ก็เลยเล่นผลิตวาทกรรมซ้ำๆ มันซะประเด็นเดียว ซึ่งก็ทำให้สงสัยว่าที่มวลชนเป็นแบบนี้เพราะการวางคอนเซปต์เพื่อแยกเขาแยกเราที่ว่านี่รึเปล่า เช่นฝั่งนึงก็จะตะโกนแต่ว่า เราต้องการคนดี คนเลวออกไป (อ้าวแล้วกติกาล่ะ) กับอีกฝั่ง แกนนำก็สะกดจิตมวลชน จนรู้สึกว่าเรามีพลังแค่การกากบาทเลือกตั้งเท่านั้น พลังการตรวจสอบหายไปจากพจนานุกรมเลย

6.
โตพอจะเข้าใจเรื่องการรัฐประหารก็เมื่อครั้งล่าสุดตอนปี 2549 ที่ผ่านมานี้เอง และเห็นข้อดีของรัฐประหารครั้งนั้น คือทำแล้วคนเดือดร้อน ด่ากันฉิบหายวายวอดตั้งแต่ระดับชาวบ้านยันระดับนานาชาติ จนยากที่จะมีใครคิดลงทุนกับมันอีก เพราะพอถึงวินาทีนี้แล้ว คนส่วนใหญ่ในสังคม “ไม่เอา” รัฐประหาร ดังนั้นใครคิดจะ รปห ก็ลำบากหน่อย เดิมพันสูงกว่าเดิมมากๆ เผลอๆ จะมากจนผมชักจะกลัวว่า ถ้าเกิดมีขึ้นจริง การกอดเก้าอี้ที่บอกในข้อ 3 เนี่ย มันจะยิ่งน่ากลัว และพาสู่สังคมโกลาหลได้อีกหลายปี แต่ไม่เคยเห็นคนรอบข้างทั้งออนไลน์และออฟไลน์ที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล มาเชียร์ให้ทหารออกมารัฐประหารเลยนะ เห็นแต่บทความของฝ่ายเชียร์รัฐบาลนี่แหละที่พูดแต่ “กลิ่นรัฐประหาร” กันบ่อย และพูดมาตลอด เข้าใจว่าคงมีไอ้้บ้าที่จะใช้กำลังแบบนี้จริงๆ และเข้าใจว่าเป็นความตั้งใจดิสเครดิตฝั่งตรงข้ามจริงๆ

7.
สมเพชคนทะเลาะกันแล้วด่า “กด” ฝ่ายตรงข้ามว่าโง่ โดยใช้คำว่า “สลิ่ม” หรือ “ชนชั้นกลาง” หรือ “คนดี” เป็นนัยแฝง ในขณะที่อีกฝ่ายด่ากันตรงๆ ว่า “ควายแดง” เอาเป็นว่าไม่ว่าจะด่ากันด้วยอะไรถ้ามันคิดเผื่อไว้ว่าฝ่ายตรงข้ามอ่านแล้วจะรู้สึกถูกเหยียดหยาม แม่งก็ไม่ดีทั้งนั้นแหละ … เขาเรียกรวมๆ กันว่า Hate speech ใช่มะ

8.
เวทนาคนเสียเพื่อนเพราะกีฬาสี

9.
เชื่อว่าทุกเรื่อง แม้กระทั่งเรื่องต้องห้ามอย่างเรื่องเจ้าเรื่องวัง ควรพูดคุยกันได้ ในเจตนาแห่งความสุภาพ (แน่นอนว่าต้องออกแบบกติกาให้รองรับความสุภาพนี้ได้) คือ ตอนดูหนังประชาธิปไทยรอบสุดท้าย (ตอนนั้นคนดูแน่นโรงที่เอสพละนาดเลยนะ) จุดที่ฮาที่สุดคือตอนที่ผู้ถูกสัมภาษณ์ในหนังพูดถึงเรื่องสถาบันพระมหากษัติรย์แล้วโดนดูดเสียง (ใช่ หนังโดนกองเซ็นเซอร์สั่ง) คือปากขยับนะ แต่ไม่มีเสียง ยิ่งเงียบ เสียงคนดูหัวเราะยิ่งดัง เป็นตลกร้ายสุดๆ เลยครับ

10.
เห็นด้วยกับการเสนอให้แก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 ตรงการฟ้องและกระบวนการดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด หรือผู้ต้องสงสัย คนที่ฟ้องจะต้องไม่เป็นใครก็ได้ (ที่มันมั่วๆ มาจนทุกวันนี้ก็เพราะการเป็นใครก็ได้นี่แหละ) แต่ควรมีหน่วยงานที่เหมือนอัยการสำหรับคดีแบบนี้ อาจเป็นหน่วยงานในสำนักพระราชวังก็ได้ — แต่ไม่เห็นด้วยกับการยกเลิกกฎหมายมาตรานี้

11.
ที่จริงข้อนี้เขียนไว้นานมากแล้ว แต่เพิ่งมารวมกันลงในบล็อกเดียว — ผมไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมแบบเหมาเข่ง (ตอนนั้นยังไม่มีคำว่าสุดซอย) ผมเห็นด้วยกับพรรคประชาธิปัตย์ในเรื่องการเคลียร์ความจริงให้เสร็จก่อนดัน พ.ร.บ. นิรโทษกรรม คือความจริงทั้งหลายมันยังไม่ปรากฏ ก็เชื่อว่าไม่มีทางที่จะปรองดองกันได้ จะอ้างเหตุผลว่าอยากให้อุณหภูมิการเมืองสงบลงด้วยความปรองดอง แต่การจะได้มาซึ่งคำว่าปรองดอง (ที่ถูกนำมาใช้จนช้ำเละเนี่ย) มันต้องเคลียร์ปัญหาที่อยู่บนพรมและใต้พรมก่อน ไม่ใช่โบกปูนทับไปเลย
ส่วนเรื่องใหม่ที่เกิดขึ้นในไม่กี่วันที่ผ่านมา จนดัน พ.ร.บ.อย่างเรื่องที่จะขอกด undo การตัดสินของศาล ลามไปถึงปี 2547 นั้น อันนี้เหี้ยครับ ผมไม่ยอมรับครับ โอเค มันเป็นการผลิตซ้ำ และตอกย้ำข้อมูลที่ดิสเครดิตทักษิณจากฝั่งตรงข้าม ที่ทุกวันนี้ชิงชังกันจนถอยกลับไปไม่ได้อีกแล้ว แต่ในฐานะผู้ฟังข้อมูล เราเห็นด้วยกับเรื่องที่เขาประท้วงขึ้นมา มันเสียงดังพอที่คนเสื้อแดงจำนวนมากจะรู้สึกว่า เหี้ยแล้วไหมล่ะ

12.
ความเห็นของผมในหลายข้อที่ผ่านมานั้น อ่านๆ ดูแล้วจะพบว่าเข้าทางพรรคประชาธิปัตย์ (ซึ่งจริงโดยไม่ต้องปิดบัง) คือไม่ได้เป็นแฟนคลับพรรคนี้นะ เลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาก็ไม่ได้เลือกคนของพรรคนี้ แถมยังรังเกียจวัฒนธรรมหลายๆ อย่างที่มีในพรรคนี้ … อาจจะน้อยกว่าที่รังเกียจเพื่อไทย แต่ก็ให้รู้ว่าบางอย่างกองเชียร์แม้ฝั่งไหนก็ตามไม่ควรหลับหูหลับตาเชียร์ เช่นเรื่องการบริหารจัดการที่ไม่โปร่งใส หรือการทุจริตให้เห็นโต้งๆ ผิดเห็นๆ อย่างที่รัฐบาลปัจจุบันทำอยู่ (เช่น ตัวเลขขาดทุนของการจำนำข้าว, เหตุผลในการสร้างเขื่อนแม่วงก์, ที่มาของพระราชบัญญัติเงินกู้ 2 ล้านล้าน รวมถึงเรื่องใหม่ที่เรียกแขกมาร่วมม็อบฝ่ายตรงข้ามได้เยอะมากจนน่าจะจุดติดแล้วแหละ อย่างเรื่อง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม) อย่างผมเองจัดเป็นพวกแกว่งๆ มากกว่าจะจม หรืออินอยู่กับพรรคใด (พี่ @malimali พูดไว้น่าสนใจว่าการเมืองเนี่ย ใครอินก่อนแพ้) คือถ้ามีตัวเลือกที่น่าสนใจก็พร้อมจะฟัง
และขณะเดียวกัน ในฐานะคนที่ไม่ชอบพรรคเพื่อไทย เรากลับเห็นว่าการด่าว่านายกโง่ และพากันขย่มที่จุดอ่อน (ที่ไม่ได้ช่วยให้ส่วนรวมดีขึ้นเลย) นั้น นอกจากความสะใจที่ได้พ่นความเกลียดชังแล้ว มันไม่ส่งผลดีอะไรกับฝ่ายตัวเองเลย คือถ้าแน่จริง มึงลองสู้กับฝ่ายตรงข้ามที่ฉลาดปราดเปรื่อง และเอาชนะความเก่งนั้นให้ได้สิ

13.
พอพูดถึงวัฒนธรรมประชาธิปัตย์แล้ว ก็นึกขึ้นได้อีกข้อนึงว่า ผมเชียร์คุณอลงกรณ์นะครับ

คอมเมนต์