เมื่อคืนจะนอน อยู่ดีๆ ก็เจอฟีดน่าสนใจไหลเข้ามา เลยตาสว่าง ยืดเวลานอนไปอีกหน่อย
หลายๆ โครงการของรัฐบาลนั้น เราๆ ท่านๆ ก็รู้กันว่ามันโคตรจะราชการ (และโคตรจะขับเคลื่อนด้วยอำนาจการเมือง) ไม่ว่าจะเกิดมาในยุคประชาธิปไตยกี่เปอร์เซ็นต์ก็ตาม ที่พอโครงการอนุมัติสร้างจริงนั้น แม่งจะดู “รีบ” เสียเหลือเกินไปทุกโครงการ แม้ข้อความสามบรรทัดแรกจะดูสวยหรูแค่ไหนก็ตาม
โครงการพัฒนาพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาของรัฐบาลทหาร ที่ดูเหมือนจะดี คือจะให้คนเดินและจักรยานวิ่งชมวิว (ฟังดูดีนะ) แต่พอเอาเข้าจริงๆ ก็คลอดมาเป็นถนนแข็งๆ แห้งๆ และโคตรจะราชการ ไม่ต่างจากอีก 87,609,335 โครงการที่เคยผ่านมา ว่าขอเบิร์นงบให้หมดทันปีนี้หน่อยเถอะ เห็นแล้วก็…
เอาเป็นว่าเราข้ามเรื่องบ่นซ้ำๆ ซากๆ ไปเลยละกันครับ มาเรื่องใหม่เลยดีกว่า
ขนาดผมไม่ได้อยู่ในวงการสถาปนิกนี่ยังรู้เลยว่า การที่มึง เอ๊ย คุณเอาถนนแข็งๆ มาวาง โป้ง ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ปิดไม่ให้แสงส่องลงไปในน้ำทั้งสองข้างเท่าๆ กันนั้นมันสร้างความเลวร้ายให้กับทั้งระบบนิเวศแค่ไหน ไม่ต้องกับสิ่งแวดล้อม สัตว์โลกพืชพรรณแพลงตอนที่ฟังดูไกลตัวหรอกครับ เอาแค่ชาวบ้านที่อยู่ริมฝั่ง วันหนึ่งมีถนนมาคั่นโป้ง ระหว่างพื้นที่ชีวิตของตัวเองในระดับสเกลมนุษย์ กับแม่น้ำที่เคยตื่นมาแปรงฟันแล้วบ้วนหรือฉี่ลงน้ำ แต่ระยะทางของแผ่นคอนกรีตที่กำลังจะมานั้นแม่งใหญ่เบิ้มเท่าๆ กับเลนถนนยักษ์ๆ ที่ขีดโดยไม่ได้ใช้หัวใจ ไม่ได้สนสี่สนแปดอะไร สนอย่างเดียวคือความอารยะในทรรศนะของท่าน
แน่ใจนะว่านี่ผ่านการประกวดแบบมาแล้ว (เอ๊ะหรือไม่มี…)
แถมแนวถนนของโครงการนี้แม่งนับได้หลายกิโล และทำท่าว่าถ้าไม่มีใครขัด ก็จะขยายยาวออกไปอีก “ตลอดแนวชายฝั่ง”
เรา–ชาวบ้านที่ไม่ได้อะไร ก็ยังรู้สึกว่าแปลกๆ แหม่งๆ แล้วคนที่ซีเรียสเรื่องนี้โดยตรง อย่างวงการสถาปนิกที่เขามีความรู้ และมองเห็นว่าต่อไปนี้มันจะมีบั๊กชิ้นใหญ่มากกับอนาคตของลูกหลานเรา และอีกสารพัดปัญหาที่จะกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตอย่างชัดเจน
เขาจึงออกมารณรงค์กันครับ
การต่อสู้ได้เริ่มต้นขึ้นจากหลายทาง มีการรวมตัวกันเป็นภาคีทั้งอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการ ในทางการนั้นเขาก็จับมือกันยื่นหนังสือไปยังรัฐบาลเพื่อขอทบทวนโครงการ ชี้ให้เห็นข้อเสียที่จะเกิดขึ้น โอเค อันนั้นปล่อยให้เป็นเรื่องของคนและสมาคมที่ถนัดสายทางการไป
อ่าน: ผังเมืองจุฬาฯนำ ‘ภาคีพัฒนาพื้นที่ริมน้ำเจ้าพระยา’ ค้านรูปแบบทางเลียบเจ้าพระยา
กับอีกขานึงที่เวลารณรงค์เขาจะต้องหาแนวร่วมด้วยการใช้โซเชียลมีเดียเป็นช่องทางรณรงค์ หลักๆ คือบอกชาวบ้านให้รู้ว่าเออ อีโครงการของรัฐบาลนี่มันมีปัญหาแบบนี้ เราเห็นแบบนี้ คุณเห็นด้วยไหม ถ้าไม่แน่ใจ ลองดูสเต็ปถัดไป
เป็นสเต็ปที่ผมสนใจมากจนตาลุกวาว พี่แกมีโครงการ “Sketches for the River Challenge” ด้วยการท้าทายสถาปนิก นักออกแบบแต่ละคน ลองสเก็ตช์แบบมาแจมกัน และท้าต่อไปอีก 3 คน ว่าความรู้และไอเดียของมืออาชีพ (และมือสมัครเล่น) อย่างคุณนั้นจะเอามาช่วยโลกได้แค่ไหน… ความมันส์มันเลยเกิดขึ้นตรงนี้ครับ
คืออย่างผมนี่ตอนเรียนถาปัด (ใช่ เคยเรียนมา แต่ไม่เหลือความรู้แล้ว) ในวิชาดีไซน์ปีแรกๆ สิ่งหนึ่งที่สนุกมากๆ ก็คืองานที่เรียกว่า “Sketch Design” โดยอาจารย์จะโยนโจทย์ลงมา โป้ง ให้เอาไปคิด ออกแบบและนำเสนอไอเดียทั้งหมดลงในกระดาษ A2 โดยไม่จำกัดกระบวนการนำเสนอ (แน่นอนว่ากลวิธีในการนำเสนอแบบเจ๋งๆ ก็ถือเป็นคะแนน) เสร็จแล้วส่งมา ตอนให้คะแนน อาจารย์ก็จะหยิบงานของแต่ละคนมาเปิดดูหน้าชั้น และวิจารณ์กันต่อหน้าเพื่อนร่วมวิชาชีพแบบสดๆ และแสบๆ
ส่วนมากของผมนี่คือโดนสับเละไม่มีชิ้นดี แต่สนุกก็คือสนุก ถึงจะเจ็บปวดแต่ก็สนุก…
แต่พอยุคโซเชียลมาเต็มแบบนี้ Sketch Design ไม่ได้ถูกจำกัดแค่ในกระดาษอย่างเดียว แถมเฟซบุ๊กแม่งแท็กได้ สนับสนุนนโยบาย crowdsourcing idea เท่านี้ความมันส์ก็เลยเกิดขึ้น
ลองดูตัวอย่างผลงานได้ครับ
เนี่ย วิธีนำเสนอเป็นขั้นเป็นตอนและเห็นกระบวนการคิด สนุกกกก
หรือบางทีก็ใช้วิธีนำเสนอแบบอธิบายให้เห็นภาพ พร้อมกรณีศึกษาอย่างเช่นโพสต์นี้
เห็นไหม สนุกออก เนอะะะะะ
พอเท่านี้ก่อนครับ ต้องไปส่งลูกเข้าโรงเรียนแล้ว ถ้าสนใจเชิญอ่านและติดตามได้จากหลายเพจครับ เช่น ภาคีพัฒนาพื้นที่ริมน้ำเจ้าพระยา, Friends of River, TALA Thai Association of Landscape Architects, ฯลฯ (ผมไม่แน่ใจว่าเพจไหนคือเพจหลัก แต่กระจายๆ แบบนี้ก็ดี)
ที่จริงก็อยากเห็นมันลามทุ่งไปถึงคนนอกวงการด้วยครับ ถึงจะมีพื้นความรู้ต่างจากสถาปนิกและภูมิสถาปนิกมืออาชีพก็ตาม แต่งานระดมไอเดียแบบนี้มันต้องการความเห็นและทัศนคติที่หลากหลาย ไม่ได้จำกัดว่าจะถูกผิดหรือรู้มากรู้น้อยกว่ากัน แต่มันคือการแชร์!
#แชร์ไปให้ถึงบิ๊กตู่
Like this:
Like Loading...