โลโก้หมูเด้ง

เมื่อวันที่ 2 ตุลาคมที่ผ่านมา องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (ZPOT) เขาจัดประกวดโลโก้หมูเด้ง 🦛 (กติกาตามนี้) สรุปคร่าวๆ คือ

  • เปิดรับผลงานตั้งแต่วันที่ประกาศ ปิดรับวันที่ 7 ต.ค.67 (5 วัน!)
  • ผู้ชนะ จะได้รับเงินรางวัล 10,000 บาท
  • ต้องมีคำว่า “หมูเด้ง” หรือ “Moodeng” ประกอบในภาพโลโก้ด้วย
  • เปิดกว้างไม่มีข้อจำกัดด้านแนวคิดหรือการออกแบบ
  • ส่งผลงานทางอีเมล

มีกติการะบุไว้เท่านี้ครับ มีคนถามว่าใช้ AI ได้ไหม แอดมินก็บอกว่าได้ครับ แต่ก็มีผลต่อการพิจารณางั้นงี้แหละ ประมาณว่าออกแบบเองจะได้คะแนนเยอะกว่า

เราเห็นแล้วก็อยากลองทำส่งดู แต่เวลามันกระชั้นเหลือเกิน เลยเอาเวลาคืนนึงที่ว่างจากงาน มานั่งทำ ไม่ได้หวังจะชนะหรอกเพราะกติกากว้างใหญ่ไพศาลขนาดนี้ แต่อย่างน้อยก็ได้เข้าร่วม 55555

กลางดึกในคืนวันที่ 5 ก็เลยนั่งออกแบบมาประมาณนี้

.

รูปหน้าน้องจะเอา ref มาจากรูปตอนผู้ดูแลเขาเกาคางแล้วน้องทำตาพริ้ม นิ่ง ไม่กัด ถือว่าเป็นโพสที่น่ารัก แล้วอยน่าจะอยู่ได้นาน ใจนึงก็อยากเอารูปที่เป็นมีมมาทำเหมือนกัน แต่กลัวว่า(ถ้าชนะ 555)เดี๋ยวใช้ๆ ไป น้องโตแล้วจะเปลี่ยนโหมด

เอาจริงๆ การเลือกจิ้มสีของฮิปโปให้ดูเป็นกราฟิกได้นี่ย้ากยากเหมือนกันนะ 5555 คือสีน้องจะตุ่นๆ เลยลองดึงมาทางม่วงชมพู แล้วก็ลองปรับให้สดกว่าปกติ เอ้า พอได้นี่นา เลยนั่งปรับนั่งขยับไป โดยตั้งใจอย่างยิ่งว่าโลโก้นี้น่าจะเอาไว้สื่อสารได้ในหลายภาชนะ หลายสื่อ อยู่บนสิ่งพิมพ์ เสื้อผ้า ของฝาก ของสะสมก็ได้ แสดงผลบนหน้าจอดิจิทัลก็ได้ เล็กได้ ใหญ่ได้ สื่อที่สีจำกัดก็ปรับให้ลงได้ มีเวอร์ชันขาวดำ-ลายเส้นล้วนด้วย ฯลฯ

แล้วก็เลือกส่งหลายๆ อันที่ชอบจากในนี้มาใช้ ส่งไปทางอีเมล เขียนเรียงความไว้อย่างดีเหมือนขายงาน แต่ ส่งไปแล้ว 1 วัน 2 วัน เขาก็ไม่ตอบ ส่งทางข้อความก็ไม่ตอบ 555555 T_T อะไรเนี่ย

จนวันที่ 8 หลังจากปิดรับผลงาน แอดมินเพจก็โพสต์ว่า มีผลงานเข้าส่งประกวดถึง 1,895 ผลงาน เราก็สบายใจละ เลิก! 55555555555555

และสุดท้ายวันนี้ก็มีการประกาศ 10 ผลงานสุดท้ายที่เข้ารอบ มาเปิดให้โหวตกัน ใครชนะก็ชนะเลยกติกานี้ไม่ได้บอกไว้ก่อนหน้า (ถ้าบอกจะได้ไม่ส่ง อ้าว)

ที่เจ๋งคือ 10 ผลงานที่เข้ารอบสุดท้าย จะได้บัตรเข้าชมทุกสวนสัตว์ รวม 6 สวนสัตว์ พร้อมผู้ติดตาม 2 ท่าน แบบไม่จำกัดจำนวนครั้ง ระยะเวลา 1 ปี!!! นี่มันว้าวกว่ารางวัลชนะเลิศอีก (ถ้าบอกก่อนจะตั้งใจทำมากๆ อ้าว)

ก็เลยขอลงไว้เป็นบันทึกว่าเราเคยตกรอบการเข้าประกวดโลโก้หมูเด้งนะ ไม่เข้ารอบ แต่ก็ได้เข้าร่วม สนุกดี ยินดีกับผู้เข้ารอบทั้ง 10 ผลงานด้วยนะครับ

แถมท้ายด้วยงานสเก็ตช์ใน Illustrator สังเกตว่าใน sketchboard จะมีช่วงที่นั่งหาสีอยู่นานมาก

ใจจริงอยากให้เขาตอบรับอะไรสักหน่อย อย่างน้อยให้รู้ว่าผลงานเราถูกส่งไปถึงปลายทางแล้ว ตกรอบก็ไม่เป็นไร แค่อยากฟินว่าได้ร่วมกิจกรรมน่ะ (ก็พอจะนึกออกว่ากรรมการตัดสินเขาก็คนในองค์กรฯ น่าจะไม่ได้ว่างขนาดนั้น และผลงานก็ดันส่งกันถล่มทลาย ทั้งที่มีเวลาแค่ไม่กี่วัน)

ถ้าจะให้ดี ถ้าวันนึงทางองค์การฯ ผ่านมาเห็นโลโก้ พาเลตต์สี ไทโปกราฟี่ หรือส่วนหนึ่งส่วนใดของงานสเก็ตช์เหล่านี้ แล้วจะเอาไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในสักงาน ก็จะดีใจนัก

ของดี: คลิปสอนกราฟิกดีไซน์เบื้องต้น

ผ่านเวลามานานเท่าไหร่ก็ไม่รู้ แต่ทุกวันนี้เราก็ยังคงทำงานกราฟิกอยู่ อาจจะไม่ได้ทำเป็นอาชีพ (คือหารายได้โดยตรงจากการรับจ้างออกแบบ) แต่มันกลืนมาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะทำเล่น (เช่นออกแบบปกพอดแคสต์และอื่นๆ) หรือทำมาหากิน (ลูกจ้างเมีย) คือเปิดโฟโต้ช็อปเกินวันละ 8 ชั่วโมงละกัน

แล้วช่วงนี้มีภารกิจเล็กๆ ก็คือสอนกราฟิกให้น้องคนนึง ซึ่งนู้บมาก

แล้วระหว่างหาคลิปน้องอิ้งค์ในยูทูบ ก็เจอคลิปเหล่านี้ เราเลยนั่งดูด้วยความเพลิดเพลินมาก คือสอนวิชาออกแบบกราฟิกเบื้องต้นได้ดีและเข้าใจง่ายด้วย แล้วตัวคลิปเองก็ทำออกมาสวยดูเพลินจริงๆ

แล้วก็เผลอรำพึงรำพันออกมาว่า อิจฉาเด็กสมัยนี้จังเลยว่ะ…

เรื่องเลย์เอาต์และคอมโพส (อันนี้ดี เพลินมาก)
เรื่องสีในงานออกแบบ
การจัดวางตัวอักษร (ไทโปกราฟิี)
กระทั่งการเลือกรูปภาพมาใช้ในงานออกแบบ
แบรนดิ้ง และอัตลักษณ์ (ไม่ใช่แค่โลโก้)
หรืออยากดูความรู้พื้นฐานก็ดูนี่ (เอามาไว้หลังๆ เพราะมันเป็นเลกเชอร์ แต่ก็ทำดีนะ)

ขอบคุณยูทูบช่อง GCFLearnFree.org นะคัรบ ไปกดไล่ดูได้ มีอะไรดีๆ อีกเพียบเลย แถมยังมีคลิปจากช่องอื่นๆ ที่ไหลตามกันมาอีกเพียบ เช่นอันนี้ก็ดี๊ดี

เอ้า ฉิบหายละ พอดูคลิปสาระต่อๆ กัน คลิปน้องอิ้งค์ก็หายไปจากกล่อง Suggestions หมดพอดีสิ 😫

รวมพลังอะเวนเจอร์สแห่งแม่น้ำเจ้าพระยา

เมื่อคืนจะนอน อยู่ดีๆ ก็เจอฟีดน่าสนใจไหลเข้ามา เลยตาสว่าง ยืดเวลานอนไปอีกหน่อย

หลายๆ โครงการของรัฐบาลนั้น เราๆ ท่านๆ ก็รู้กันว่ามันโคตรจะราชการ (และโคตรจะขับเคลื่อนด้วยอำนาจการเมือง) ไม่ว่าจะเกิดมาในยุคประชาธิปไตยกี่เปอร์เซ็นต์ก็ตาม ที่พอโครงการอนุมัติสร้างจริงนั้น แม่งจะดู “รีบ” เสียเหลือเกินไปทุกโครงการ แม้ข้อความสามบรรทัดแรกจะดูสวยหรูแค่ไหนก็ตาม

โครงการพัฒนาพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาของรัฐบาลทหาร ที่ดูเหมือนจะดี คือจะให้คนเดินและจักรยานวิ่งชมวิว (ฟังดูดีนะ) แต่พอเอาเข้าจริงๆ ก็คลอดมาเป็นถนนแข็งๆ แห้งๆ และโคตรจะราชการ ไม่ต่างจากอีก 87,609,335 โครงการที่เคยผ่านมา ว่าขอเบิร์นงบให้หมดทันปีนี้หน่อยเถอะ เห็นแล้วก็…

เอาเป็นว่าเราข้ามเรื่องบ่นซ้ำๆ ซากๆ ไปเลยละกันครับ มาเรื่องใหม่เลยดีกว่า

ขนาดผมไม่ได้อยู่ในวงการสถาปนิกนี่ยังรู้เลยว่า การที่มึง เอ๊ย คุณเอาถนนแข็งๆ มาวาง โป้ง ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ปิดไม่ให้แสงส่องลงไปในน้ำทั้งสองข้างเท่าๆ กันนั้นมันสร้างความเลวร้ายให้กับทั้งระบบนิเวศแค่ไหน ไม่ต้องกับสิ่งแวดล้อม สัตว์โลกพืชพรรณแพลงตอนที่ฟังดูไกลตัวหรอกครับ เอาแค่ชาวบ้านที่อยู่ริมฝั่ง วันหนึ่งมีถนนมาคั่น​โป้ง ระหว่างพื้นที่ชีวิตของตัวเองในระดับสเกลมนุษย์ กับแม่น้ำที่เคยตื่นมาแปรงฟันแล้วบ้วนหรือฉี่ลงน้ำ แต่ระยะทางของแผ่นคอนกรีตที่กำลังจะมานั้นแม่งใหญ่เบิ้มเท่าๆ กับเลนถนนยักษ์ๆ ที่ขีดโดยไม่ได้ใช้หัวใจ ไม่ได้สนสี่สนแปดอะไร สนอย่างเดียวคือความอารยะในทรรศนะของท่าน

แน่ใจนะว่านี่ผ่านการประกวดแบบมาแล้ว (เอ๊ะหรือไม่มี…)

แถมแนวถนนของโครงการนี้แม่งนับได้หลายกิโล และทำท่าว่าถ้าไม่มีใครขัด ก็จะขยายยาวออกไปอีก “ตลอดแนวชายฝั่ง”

เรา–ชาวบ้านที่ไม่ได้อะไร ก็ยังรู้สึกว่าแปลกๆ แหม่งๆ แล้วคนที่ซีเรียสเรื่องนี้โดยตรง อย่างวงการสถาปนิกที่เขามีความรู้ และมองเห็นว่าต่อไปนี้มันจะมีบั๊กชิ้นใหญ่มากกับอนาคตของลูกหลานเรา และอีกสารพัดปัญหาที่จะกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตอย่างชัดเจน

เขาจึงออกมารณรงค์กันครับ

การต่อสู้ได้เริ่มต้นขึ้นจากหลายทาง มีการรวมตัวกันเป็นภาคีทั้งอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการ ในทางการนั้นเขาก็จับมือกันยื่นหนังสือไปยังรัฐบาลเพื่อขอทบทวนโครงการ ชี้ให้เห็นข้อเสียที่จะเกิดขึ้น โอเค อันนั้นปล่อยให้เป็นเรื่องของคนและสมาคมที่ถนัดสายทางการไป

โลโก้เกือบสวยแล้ว (ชอบ พพพ)
โลโก้เกือบสวยแล้ว (ชอบ พพพ)

อ่าน: ผังเมืองจุฬาฯนำ ‘ภาคีพัฒนาพื้นที่ริมน้ำเจ้าพระยา’ ค้านรูปแบบทางเลียบเจ้าพระยา

กับอีกขานึงที่เวลารณรงค์เขาจะต้องหาแนวร่วมด้วยการใช้โซเชียลมีเดียเป็นช่องทางรณรงค์ หลักๆ คือบอกชาวบ้านให้รู้ว่าเออ อีโครงการของรัฐบาลนี่มันมีปัญหาแบบนี้ เราเห็นแบบนี้ คุณเห็นด้วยไหม ถ้าไม่แน่ใจ ลองดูสเต็ปถัดไป

เป็นสเต็ปที่ผมสนใจมากจนตาลุกวาว พี่แกมีโครงการ “Sketches for the River Challenge” ด้วยการท้าทายสถาปนิก นักออกแบบแต่ละคน ลองสเก็ตช์แบบมาแจมกัน และท้าต่อไปอีก 3 คน ว่าความรู้และไอเดียของมืออาชีพ (และมือสมัครเล่น) อย่างคุณนั้นจะเอามาช่วยโลกได้แค่ไหน… ความมันส์มันเลยเกิดขึ้นตรงนี้ครับ

คืออย่างผมนี่ตอนเรียนถาปัด (ใช่ เคยเรียนมา แต่ไม่เหลือความรู้แล้ว) ในวิชาดีไซน์ปีแรกๆ สิ่งหนึ่งที่สนุกมากๆ ก็คืองานที่เรียกว่า “Sketch Design” โดยอาจารย์จะโยนโจทย์ลงมา โป้ง ให้เอาไปคิด ออกแบบและนำเสนอไอเดียทั้งหมดลงในกระดาษ A2 โดยไม่จำกัดกระบวนการนำเสนอ (แน่นอนว่ากลวิธีในการนำเสนอแบบเจ๋งๆ ก็ถือเป็นคะแนน) เสร็จแล้วส่งมา ตอนให้คะแนน อาจารย์ก็จะหยิบงานของแต่ละคนมาเปิดดูหน้าชั้น และวิจารณ์กันต่อหน้าเพื่อนร่วมวิชาชีพแบบสดๆ และแสบๆ

ส่วนมากของผมนี่คือโดนสับเละไม่มีชิ้นดี แต่สนุกก็คือสนุก ถึงจะเจ็บปวดแต่ก็สนุก…

แต่พอยุคโซเชียลมาเต็มแบบนี้ Sketch Design ไม่ได้ถูกจำกัดแค่ในกระดาษอย่างเดียว แถมเฟซบุ๊กแม่งแท็กได้ สนับสนุนนโยบาย crowdsourcing idea เท่านี้ความมันส์ก็เลยเกิดขึ้น

ลองดูตัวอย่างผลงานได้ครับ

มุมมองจากภูมิสถาปนิก คุณอรรถพร คบคงสันติ Pocco Kobkongsanti

Posted by ภาคีพัฒนาพื้นที่ริมน้ำเจ้าพระยา on Wednesday, May 27, 2015

เนี่ย วิธีนำเสนอเป็นขั้นเป็นตอนและเห็นกระบวนการคิด สนุกกกก

Urban Design Guidelines ช่วยเสริมการพัฒนาพื้นที่ริมน้ำได้อย่างไร / ขอบเขตงานของสถาปนิกผังเมือง (urban designers) ที่เชื่อมต่อกับงานของภูมิสถาปนิก (landscape architects) โดย SaKrapat Anurakpradorn

Posted by ภาคีพัฒนาพื้นที่ริมน้ำเจ้าพระยา on Wednesday, May 27, 2015

“ ทางกลุ่ม Friends of the River (FOR) ขอเชิญชวนเข้าร่วมกิจกรรม Sketchs for the River Challenge โดยส่งต่อคำท้าไปยังผู้คนร…

Posted by Friends of River on Monday, May 25, 2015

หรือบางทีก็ใช้วิธีนำเสนอแบบอธิบายให้เห็นภาพ พร้อมกรณีศึกษาอย่างเช่นโพสต์นี้

อยากเขียนอธิบายให้คนที่ไม่ได้อยู่ในวงการออกแบบได้เข้าใจถึงประเด็น ทางเดินริมน้ำเจ้าพระยา 14 กม. ที่มีนักวิชาชีพ/วิชาการม…

Posted by Prapan Napawongdee on Sunday, May 24, 2015

เห็นไหม สนุกออก เนอะะะะะ

พอเท่านี้ก่อนครับ ต้องไปส่งลูกเข้าโรงเรียนแล้ว ถ้าสนใจเชิญอ่านและติดตามได้จากหลายเพจครับ เช่น ภาคีพัฒนาพื้นที่ริมน้ำเจ้าพระยา, Friends of River, TALA Thai Association of Landscape Architects, ฯลฯ (ผมไม่แน่ใจว่าเพจไหนคือเพจหลัก แต่กระจายๆ แบบนี้ก็ดี)

ที่จริงก็อยากเห็นมันลามทุ่งไปถึงคนนอกวงการด้วยครับ ถึงจะมีพื้นความรู้ต่างจากสถาปนิกและภูมิสถาปนิกมืออาชีพก็ตาม แต่งานระดมไอเดียแบบนี้มันต้องการความเห็นและทัศนคติที่หลากหลาย ไม่ได้จำกัดว่าจะถูกผิดหรือรู้มากรู้น้อยกว่ากัน แต่มันคือการแชร์!

#แชร์ไปให้ถึงบิ๊กตู่

ครัวบ้านน้าเมฆ

วันนี้เราจะพาคุณไปเยี่ยมบ้านเล็กๆ แต่อบอุ่นของครอบครัว “คุณเหนือเมฆ น้ำเงินใจงาม” (หรือน้าเมฆ น้าชายของภรรยาของผู้เขียนเอง) ผู้เป็นเจ้าของบ้านยกพื้นหลังเล็กๆ ติดสวนร่มรื่น ที่ อ.เมือง จ.ปทุมธานีกันครับ

ครัวบ้านน้าเมฆ

ความอบอุ่นของครอบครัวขยาย ที่ประกอบไปด้วยสมาชิกครอบครัวสืบทอดกันมาถึงสามรุ่น ถูกถ่ายทอดอย่างละเมียดละไม ผ่านการจัดวางของห้องครัวที่เป็นสเปซเชื่อมต่อกับห้องนั่งเล่นและห้องนอนได้อย่างเหมาะเจาะ
ด้วยช่องแสงจากหลังคาที่สาดส่องลงมา ทาบทับกับภาชนะเก๋ๆ ชิกๆ จากตลาดปทุมธานี ที่แขวนเป็นระนาบเพื่อประโยชน์ในเชิงฟังก์ชันการใช้สอย ที่สะดวกรวดเร็ว แถมยังเป็นการโชว์มิติและพื้นผิวของวัสดุ จนเกิดเส้นสายของแสงและเงารูปร่างแปลกตา แต่มีจังหวะจะโคนดูเพลิดเพลินและน่าสนใจไม่เบื่อ ขับให้เกิดบรรยากาศแห่งความสุขยามรับประทานอาหารเย็นร่วมกันของสมาชิกทุกคนเป็นอย่างดี

นอกหน้าต่าง

เมื่อมองจากโต๊ะรับประทานอาหาร จะเห็นบรรยากาศของสวนหลังบ้าน ถึงแม้จะเป็นที่ดินและทางเดินเข้าบ้านของคนอื่น ได้อาศัยความได้เปรียบด้านความสูงของตัวบ้านที่สามารถมองเห็นวิวจากมุมสูงลงไปพบความเขียวชอุ่มเบื้องล่าง โดยเฉพาะหน้าฝนอย่างตอนนี้ เราจะได้เห็นหยดน้ำฝนที่เกาะพร่างพราวตรงขอบหน้าต่างบานผลัก ทำให้ฤดูฝนที่เป็นสิ่งน่าเบื่อของคนเมือง กลับกลายเป็นความรื่นรมย์ของครอบครัวค้าขายอย่างบ้านคุณเหนือเมฆได้เป็นอย่างดี

งานนี้ต้องขอยกเครดิตให้สถาปนิกผู้ออกแบบ อันได้แก่ เตี่ย คุณเหนือเมฆ (น้าเมฆ) และเจ็กชุน ที่ช่วยกันออกแบบ หาวัสดุ แผ่นไม้ แผ่นประตูจากเพื่อนบ้านและญาติมิตร และลงมือลงแรงต่อเติมบ้านด้วยตนเองเป็นแบบ DIY แท้ๆ

หมายเหตุ:
ปลายปี 2554 น้ำท่วมปทุมธานีฝั่งตะวันตก บ้านน้าเมฆพังไปครึ่งหลัง จากการอยู่ใต้น้ำสูงถึงสองเมตร และถูกต้นก้ามปูใหญ่หลังบ้านที่ล้มลงมาทับเนื่องจากดินชุ่มน้ำไม่สามารถรับน้ำหนักรากของต้นไม้ใหญ่ไว้ได้ หลังจากฟื้นฟูสภาพบ้านแล้ว ครอบครัวน้ำเงินใจงามจึงได้รีโนเวตบ้านใหม่ให้ด้านหลังมีพื้นที่เลี้ยงนกกรงหัวจุกและชมวิวสีเขียวร่มรื่นด้านหลังบ้าน พร้อมกับการจิบกาแฟและอ่านนิตยสารทีวีพูลได้อย่างสบายอารมณ์

ปรัชญา สิงห์โต : ถ่ายภาพ (Galaxy Note / Camera360 / Fห่าอะไรไม่รู้ / ISO 9002)

เพิ่มเติม: ผู้เขียนเพิ่งไปเปิดเจอสภาพบ้านน้าเมฆตอนน้ำท่วมครับ แนะนำให้คลิกดูแล้วจะร้องเหยดเป้ด :05: