บล็อกตอนนี้ขอแหกธรรมเนียมของสองวันที่ผ่านมาหน่อย พอดีที่พักวันนี้มันมีห้องสลัวๆ ให้พอใช้มือถือได้ ไม่ต้องแอบเขียนในห้องน้ำอย่างเคย
ด้วยความงูปลา ผมเริ่มสนใจต้นไม้ใหญ่ๆ บ่อยขึ้น เริ่มขับรถและชื่นชมความเจ๋งของต้นไม้ข้างทางให้เมียฟังถี่ขึ้นในระยะหลังๆ
มันคงเริ่มมาจากการอยากครอบครองต้นไม้ทรงสวยๆ เมื่อหลายปีก่อน ซึ่งต้นหูกระจงนั้นตอบโจทย์ ขออนุญาตเอ่ยชื่อ-ผมทวีตคุยกระหนุงกระหนิงกะพี่หนุ่ยอำพลในฐานะที่เป็นคนชอบไม้ยืนต้นเหมือนกัน (สมัยนั้นยังฟอลโลวกัน ทำไมเดี๋ยวนี้ไม่แล้วก็ไม่รู้ 555)
แน่นอน พอรากหูกระจงหน้าบ้านที่สูงเท่าตึกสามชั้นเริ่มออกอาการระรานโครงสร้าง นั่นก็ทำให้ความรักที่มีต่อมันน้อยลงไปหน่อย คือรู้ว่ามันเป็นต้นไม้ใหม่ ที่คนไทยรู้จักมาแค่ไม่กี่ปี ดังนั้นการที่สถาปนิกเลือกระบุชื่อมันให้เป็นไม้ประดับหน้าบ้านที่เป็นตึกแถว นี่ถ้าพูดว่าคงเป็นความผิดพลาดก็ไม่เกินไปนัก
โอเค ประสบการณ์สอนให้เรารู้แล้วว่าปลูกชิดโครงสร้างแล้วไม่ดี จะให้ดีควรเผื่อที่ให้มันแผ่บารมีเยอะๆ
ดังนั้นในโปรเจกต์หนองแฟบของผม (ทำลิงก์ย้อนไปบอกตอนนู้นไม่ถนัด) เลยปลูกมันลงไปเป็นหูกระจงคู่ ให้ห่างกัน 4 เมตร …ระยะผูกเปลน่ะ ไม่ได้มีภูมิความรู้อะไรหรอก เดี๋ยวค่อยว่ากันว่าพอโตมาแล้วจะยังไงต่อกับมัน แต่ที่แน่ๆ คงไม่ปลูกบ้านไว้ใกล้นัก
นี่ล่าสุดสองต้นนั้นก็สูงเกือบสามเมตรเรียบร้อย ไชโย!
เนื่องจากมันยังใหม่ในไทย ดังนั้นเราจึงไม่เคยเห็นหูกระจงที่โตเต็มที่ แบบที่จงโตไปให้เท่าที่พระเจ้าจะอนุญาต ดังนั้นความสุขเล็กๆ ของผมคือการตามล่า ไม่สิๆ ตามเก็บสถิติส่วนตัวว่าที่ไหนหนอ ที่ปลูกหูกระจงได้ยิ่งใหญ่ที่สุด
ในกรุงเทพฯ เคยเห็นที่โชคชัยสี่ ซอยห้าสิบ ต่อมาก็โดนล้มสถิติโดยอีกต้นที่ใหญ่กว่า และแผ่กิ่งก้านอลังระดับก้ามปูที่ร้านส้มตำลาดปลาเค้าซอย 72 (คุณลุงเจ้าของบอกว่าปลูกมา 15 ปี ไม่เคยตัดเลย โอเคครับ ผมก๊อปสูตรนี้นะ)
แต่สถิติก็มีไว้ทำลาย เมื่อไปเที่ยวจันท์แล้วเจอต้นที่อยู่ริมถนนแถวท่าใหม่ โอ้โห สูงอลังการจนต้องเหลียวหลังตอนขับรถ
และล่าสุด ตอนนี้ผมก็นั่งเขียนบล็อกใต้ร่มสถิติโลก(ส่วนตัว)ล่าสุด อยู่ที่เพชรวารินทร์รีสอร์ต แก่งกระจานนี่เอง พี่เป็นหูกระจงที่เกิดริมแม่น้ำเพชร เลยโตแบบไม้ป่า คือกูต้องชะลูดแข่งกับต้นอื่นๆ ที่สูงสุดแหงนมาก่อน ดังนั้นพี่จึงไม่เน้นแผ่บารมีออกข้าง แต่นี่ออกแนวสูงอย่างเดียว แข่งกับตีนเป็ดที่กลายเป็นไม้ชะลูดได้ไงไม่รู้ เสียดายที่ไม่ได้ถ่ายรูปมาเพราะขนาดกล้องโกโปรยังเก็บไม่หมด!
แถมแถวนี้ยังมีแบบที่เน้นแผ่ฯ ตามคอนเซปต์อีก คือต้นที่ยืนอยู่ริมแม่น้ำ นี่ถ่ายมาให้ดูด้วย เสียดายในรูปไม่เห็นคนยืน จะได้เทียบสเกลให้รู้ว่ามันใหญ่มาก
หลังจากรู้จักหูกระจง ก็เริ่มสนใจไม้ยืนต้นอื่นๆ เริ่มตั้งแต่มะขามหวาน ที่เป็นต้นไม้ต้นแรกที่ตัวเองปลูกในวัยเด็ก เอ้อ จะพูดว่าปลูกก็คงไม่ใช่ แค่พ่อแม่ซื้อมาแล้วเรากินเสร็จ ถุยเม็ดมันลงดินในตำแหน่งที่ตั้งใจจะให้มันงอกเงย แล้วสิบกว่าปีต่อมามันจึงเป็นต้นไม้ใหญ่ประจำบ้าน ระบบนิเวศสวยงามร่มรื่น เสียดายที่มีดราม่าบางประการ มะขามหวานที่รักต้องมีอันโดนโค่นทิ้งไป …เล่าย้อนให้รู้ว่ามันเป็นพืชที่ปลูกง่ายและสนิทสนมคุ้นเคยกันดีมาแล้ว นี่จึงยังเป็นต้นไม้ที่เป็นตัวเลือกแรกๆ เสมอเวลาอยากผูกเปล
มะม่วงล่ะ ไม่เอา ไม่ปลูกเพิ่มแล้ว โตมากับมัน มีเยอะไปหมด มดแดงเอย กิ่งเอย ยางเอย งูเอย!
ก้ามปู ชอบมาก แต่ไม่ชอบความเปราะของมัน ถ้าวันไหนมีตังค์พอจะเลือกซื้อที่ดินใหญ่ๆ ได้ คงพิจารณาจากการมีก้ามปูเก๋ๆ สักต้นนี่แหละ 5555
แล้วก็มาถึงยางนา (เข้าเรื่องซะที)
ใครมาจากกรุงเทพฯ ก่อนถึงตัวอำเภอท่ายาง จะเห็นว่าอยู่ดีๆ สองข้างทางก็กลายเป็นป่า มีไม้ยืนต้นต้นสูงลิบเท่าตึกสิบยี่สิบชั้นยืนเรียงกันเต็มไปหมด เป็นต้นที่เน้นสูง ลำต้นตั้งตรง กิ่งก้านไม่เยอะ เห็นแล้วน่าหั่นแนวยาวมาทำโต๊ะยักษ์ตามงานเฟอร์นิเจอร์แฟร์
นั่นแหละครับ ต้นยางนา
มีตำนาน (ที่เป็นเรื่องจริง) อยู่ว่า สมัยก่อนในหลวงเคยเสด็จผ่านแล้วเห็นว่ามันเจ๋งมาก ทรงโปรด อนุรักษ์ไว้นะ ไม่ใช่แค่โปรดเปล่าๆ ทรงเอาไปเพาะในแล็บเกษตรส่วนพระองค์อีกด้วย นั่นคงเป็นเหตุให้ป่ายางแถวนี้ยังไม่โดนตัด และอำเภอท่ายางที่มีต้นยางอยู่เต็มไปหมดโดยเฉพาะริมน้ำหรือตามวัดวา ก็เลยยังแฮปปี้กันดี
พออยากได้อยากมี ก็เลยหาอ่านข้อมูลจนรู้ว่าต้นไม้ชนิดนี้มีชะตากรรมแสนอาภัพ คือมี พ.ร.บ. สมัยปี 2484 ระบุไว้ว่ามันเป็นพืชที่ต้องอนุรักษ์ ใครจะปลูก ปลูกได้ แต่ถ้าจะโค่นจะตัดมาแปรรูป ต้องขออนุญาตป่าไม้ก่อนแม้จะอยู่ในที่ดินตัวเองก็ตาม เช่นเดียวกับสักและพะยูง ไม่งั้นโดนโทษหนักไม่รู้ตัว (เป็นแสนนะครับ) และในทางปฏิบัติ เห็นมีแต่เกษตรกรบ่นกันว่าการขออนุญาตกับทางการนั้นยุ่งยากเชื่องช้า จนบางทีโค่นลงมา 2-3 ปีแล้วยังทำเรื่องไม่เสร็จ จะเอามาสร้างบ้านก็ไม่ได้ พร้อมแนบภาพประกอบ
นั่นจึงทำให้ครั้งหนึ่งที่คันนาของเกษตรกรไทยที่เคยปลูกยางนากันเขียวไสวสวยงาม ต้องโดนแอบตัดทิ้งก่อนที่มันจะโต ก็เพราะกลัวซวยนี่เอง หลายคนเรียกว่าเป็นต้นอัปรีย์เลยด้วยซ้ำ เศร้าเนอะ น้ำตากามเทพเลย
แต่เท่าที่อ่านความเห็นของคนรักต้นไม้เขาคุยกัน ทางออกที่ดีก็คือพอจะปลูกก็ไปขึ้นทะเบียนกับป่าไม้จังหวัดไว้ก่อน หรือทำเป็นสวนป่า ต่อไปเวลาจะตัดจะอะไรจะได้ง่าย อันนี้เลยจดเอาไว้เพื่อเตรียมทำเรื่องขอเมีย (เมียอยากได้ลั่นทมมากกว่า)
เออ แล้วเลยได้ข้อคิดจากคุณลุงที่เป็นติ่งยางนา (จำชื่อลุงไม่ได้ครับ ขออภัย) แกบอกว่ามันคือพืชมหัศจรรย์ ปลูกทิ้งขว้างไว้เถอะ หนึ่งต้นช่วยลดอุณหภูมิรอบๆ ได้ถึง 1-2 องศา
โอ้โห เท่านี้ก็พอแล้วครับเหตุผล นึกภาพออกเลยว่าแค่ปลูกทิ้งไว้โดยลงทุนค่ากล้ายางแค่ 10 บาท สิบปีต่อมามันก็กลายเป็นเสมือนแอร์ขนาดใหญ่ (การนอนอยู่บ้านทั้งวันโดยไม่ต้องเปิดแอร์นั้นยังเป็นจริงในโลกนอกกรุงเทพฯ นะครับ)
นอกนั้นเขายังมีสูตรเพาะเห็ดไม่อั้นตรงรากต้นยาง, การนำน้ำยางมาทำเชื้อเพลิงหรือพลังงานทดแทน (อันนี้ล้ำมาก) และถ้าวันนึงจะหั่นมาทำบ้านอะไรก็ทำได้เลย เออดี คุ้มดี แต่ขอเวลาสัก 20 ปีนะ
ต้นไม้ใหญ่ในความคิดของผมคือมันเลยเรื่องเท่ เรื่องความหล่อถ้าพูดถึงอะไรอนุรักษ์ๆ รักษ์โลกๆ ไปไกลแล้ว แต่นี่เราพูดถึงฟังก์ชันล้วนๆ – ครับ ต้นไม้นี่แหละคือสุดยอดฟังก์ชันที่บรรพบุรุษเรารู้กันมาเป็นหมื่นปีแล้ว
เห็นไหมว่าตอนนี้เริ่มพูดเรื่องอะไร 10 ปี 20 ปีบ่อยขึ้นเรื่อยๆ นั่นคงเป็นนิสัยของคนที่สนใจต้นไม้ใหญ่ล่ะมั้ง คือไม่รีบ เรื่อยๆ นะ จะรอดู ตอนเราแก่ๆ คงได้นั่งเก้าอี้โยกดูความร่มรื่นจากพวกแก ถ้าแกไม่โตแบบเท่ๆ ก่อน เราก็ตายก่อน
ก็เท่านี้เอง
ป.ล.
ภาพประกอบบล็อกบนสุด ถ่ายแถวๆ คอชะออม ริมน้ำเพชรอีกแล้ว มีนายแบบตัวน้อยเป็นลูกชายคนรู้จักของแม่ กำลังช่วยผู้ปกครองเข็นรถเข็น เอาใบไม้แห้งไปกองรอเผา และต้นไม้ยักษ์ลิบๆ ข้างหลังนั่นแหละครับ ยางนา