สวัสดีครับ บล็อกนี้ขออธิบายเรื่องเกี่ยวกับปรากฏการณ์น้ำท่วมจังหวัดเพชรบุรีแบบคร่าวๆ ให้คนต่างจังหวัด หรือคนเพชรเหมือนกันแต่ไม่เก็ตว่าทำไมน้ำท่วมถึงได้เกิดถี่ขึ้นเรื่อยๆ ในระยะหลัง ได้พอเห็นภาพรวมเบื้องต้นจากมุมมองของผมเองในฐานะที่ตัวเองเป็นชาวบ้านคนนึงที่สนใจ และเบื่อดราม่าจากความไม่รู้ 5555
ออกตัวไว้ก่อนว่า ข้อมูลบางส่วนเป็นข้อเท็จจริง (Fact) บางส่วนเป็นเพียงความคิดเห็น หรือประสบการณ์ส่วนตัว ดังนั้นถ้ามีจุดไหนอ่านแล้วมีข้อเท็จจริงมาหักล้าง หรือไม่เห็นด้วยตรงไหน รบกวนชี้แนะหรือคอมเมนต์แก้ไขได้เลยครับ ไม่ต้องเกรงใจนะครับ (กลับกัน ผมจะขอบคุณมากๆ ด้วยครับ)
เริ่มเลยนะ
ลักษณะภูมิประเทศของจังหวัดเพชรบุรี
ผมวาดแผนที่ทางภูมิศาสตร์ให้ดูง่ายๆ แบบไม่ตรงสเกลเป๊ะให้ดูครับ ว่าคอนเซปต์ของเพชรบุรีจะเป็นแบบนี้นะ คืออยู่ตรงโคนสุดของด้ามขวาน ด้านบนชนราชบุรี, สมุทรสงคราม ด้านขวาชนอ่าวไทย ด้านล่างชนหัวหินประจวบฯ ส่วนด้านซ้ายมีเทือกเขาตะนาวศรีกั้นพรมแดนระหว่างไทยกับพม่า
แต่ถ้าเราลบเส้นสมมติที่มนุษย์กำหนดขึ้นมาทั้งหมดออกไป เราจะเห็นว่าดินแดนแถบนี้เป็นแผ่นดินเอียงๆ มีภูเขาและป่าไม้ผืนใหญ่อยู่ครึ่งนึง ที่เหลือเป็นที่ราบ มีแม่น้ำสั้นๆ สายหลักอยู่สายนึงครับ นั่นคือแม่น้ำเพชรบุรี
แม่น้ำเพชรบุรีมีต้นน้ำอยู่ในป่าเทือกเขาตะนาวศรีครับ ไหลผ่านป่าผืนใหญ่มากๆ แล้วแตะระดับพื้นราบ รวมกับห้วยแม่ประจันต์ที่ไหลมาจากป่าทางเหนือ โป๊ะ กลายเป็นแม่น้ำเพชรบุรีที่เมื่อก่อนเขาภูมิใจกันว่าน้ำเนี่ยอร่อยเด็ดจนในหลวงรัชกาลที่ 5 ทรงออเดอร์ไปเสวยโดยเฉพาะ (อ่านเรื่องแม่น้ำเพชรบุรีแบบมีข้อมูลตัวเลข มีเกร็ดตำนานอะไรต่ออะไรได้ที่วิกิพีเดียครับ)
เสร็จแล้วพอแตะพื้นราบ ก็ไหลย้อนขึ้นทางทิศเหนือ จากแก่งกระจาน ผ่านท่ายาง บ้านลาด เมืองเพขร ไปลงอ่าวไทยที่บ้านแหลม ตรงนั้นก็จะมีแขนงที่เรียกว่าแม่น้ำบางตะบูนอีกหน่อย
ทีนี้พอประเทศเราเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ ก็มีการพัฒนาระบบชลประทานและสร้างไฟฟ้า ในปี พ.ศ.2509 เขื่อนแก่งกระจานก็เลยถือกำเนิดขึ้นมากั้นแม่น้ำเพชรในหุบเขาช่วงที่จะแตะพื้นราบ กลายเป็นทะเลสาบขนาดใหญ่ พอไล่ลงมาช่วงกลางแม่น้ำเพชรก็สร้างเขื่อนเพชรขึ้นมาอีกต่อนนึง เพื่อเอาไว้คอนโทรลน้ำเข้าสู่คลองชลประทาน 3 สายหลัก ส่วนฝั่งเหนือ (หนองหญ้าปล้อง) ก็ทำอ่างเก็บน้ำแม่ประจันต์ขึ้นมาอยู่ช่วงต้นของสายลำห้วยแม่ประจันต์อีกที (ในภาพลืมวาดไว้) นอกจากนั้นก็ยังมีโครงการพระราชดำริของในหลวง ร.9 อีก เช่นอ่างเก็บน้ำห้วยผาก ซึ่งคอนเซปต์คล้ายอ่างแม่ประจันต์ คือเก็บน้ำไว้ใช้ยามแล้ง
โอเค ทีนี้มาดูเรื่องน้ำท่วม
น้ำท่วมเพชรบุรีครั้งใหญ่
เช่นเดียวกับทุกๆ จังหวัดที่มีแม่น้ำเป็นแกนกลาง ชีวิตของคนเพชรแถบลุ่มน้ำเลยชินกับน้ำมาตั้งแต่โบร่ำโบราณ (เหมือนย่อส่วนประเทศไทยมาไว้ที่นี่ โดยมีแม่น้ำเพชรเป็นเจ้าพระยาขนาดมินิ) พอหน้าฝน หน้ามรสุม น้ำมาที เรียกว่าฤดูน้ำหลาก ชาวบ้านก็แค่เก็บข้าวเก็บของ ยกใต้ถุนบ้าน อะไรก็ว่ากันไป แป๊บๆ น้ำลดก็ลงมาทำมาหากินกันต่อ (เพราะแม่น้ำเพชรมันสั้นครับ เวลาท่วมทีไม่กี่แป๊บก็ยุบแล้ว ไม่เหมือนเจ้าพระยาจริง) ไม่ได้รู้สึกว่ามันน่ากลัวอะไร
คืออยู่กันเป็น
ผมยังจำได้ว่าเมื่อปี 2538-2539 ตอนนั้นเป็นช่วงเปิดเทอมสองพอดี (เดือนพฤศจิกายน) ตอนนั้นรู้ข่าวว่าน้ำมาเยอะ แต่ไม่รู้รายละเอียดอะไรมาก พ่อเป็นคนขับรถรับส่งนักเรียน ก็รับเด็กจากแถวบ้านไปส่งในตัวอำเภอเมือง ปรากฏว่าพอเข้าเพชรเกษม รถติดมาก เลยเลี่ยงอ้อมไปทางฝั่งปึกเตียน (กลัวจะเข้าเรียนสาย)
แล้วก็พบว่าตัวเมืองเพชรทั้งเมือง จมอยู่ใต้บาดาลเสียแล้ว รถลุยน้ำไปจนถึงโรงเรียนประจำจังหวัด เพื่อจะได้เห็นป้ายออฟฟิเชียลติดไว้ว่า หยุดเรียนไม่มีกำหนด (เย้!)
หลังจากนั้นก็สนุกเลยครับ กลับมาบ้าน ปั่นจักรยานออกไปตรงถนนหลักของหมู่บ้าน ที่ตัดผ่านทุ่งนา มีน้ำหลากข้ามถนนเป็นแนวยาวมากกกก แต่ยังเห็นแนวถนนอยู่นะ เพราะน้ำใสแจ๋ว (ใสจริงๆ แบบดื่มได้เลย) มีปลาตัวโตๆ พวกปลาช่อน ปลาดุก ปลาหมอ ปลากระดี่ เด้งผ่านหน้าไปแบบเยอะมาก แก๊งเด็กๆ ก็โดดเอาเสื้อไปครอบปลา จับกลับบ้านกันได้ไม่น้อย ส่วนผู้ใหญ่ที่ดูมืออาชีพหน่อยก็มาพร้อมอุปกรณ์ ไปดักตามทางน้ำ แฮปปี้กันทั่ว ยกเว้นเจ้าของนา เจ้าของบ่อปลาครับ 5555
อีกครั้งที่ท่วมก็ออกเดินทางไปบ้านย่า จอดรถไว้กลางถนนคันคลองสายสาม แล้วเดินลุยน้ำระดับเอวถึงอกเข้าไปถึงบ้านทรงไทยยกพื้นใต้ถุนสูง (ภูมิปัญญาอดีตนี่โคตรดี) แล้วก็ชมทิวทัศน์รอบบ้านแบบที่นานๆ จะเห็นที ถ้าเป็นยุคนี้สงสัยไลฟ์กันสนุกสนาน
หรือบางทีพ่อก็จะพาขับไปดูสปิลเวย์ที่เขื่อนแก่งกระจาน น้ำแก่งที่ล้นมาถึงระดับนี้ก็จะปีนข้ามสปิลเวย์ มีชาวบ้านมาเที่ยว พาลูกเต้ามาเล่นน้ำกันหนุกหนานอีกแล้ว ทั้งที่ไม่กี่วันก่อนมันยังเป็นแค่ถนนแห้งๆ
และเนื่องจากลุ่มน้ำเพชรมันเป็นแค่แม่น้ำสายสั้นๆ ดังนั้นผ่านไปแป๊บเดียว 2-3 วันถัดมา ทุกอย่างก็กลับมาแห้งเหมือนเดิมอย่างที่ว่า ข้าวเขิ้วในนายังไม่ทันตายเลย
วิถีชีวิตแบบนี้สมัยก่อนถือเป็นเรื่องปกติ แต่เดี๋ยวนี้ไม่ปกติแล้ว เพราะเราไม่ได้ใช้ฟังก์ชันของแม่น้ำ หรือพื้นที่ทำการเกษตรล้วนๆ เหมือนเมื่อก่อน
ตอนนี้ “พื้นที่รับน้ำ” ที่เคยเป็นที่ลุ่มแม่น้ำ ถูกเปลี่ยนเป็นถนนหนทางบ้านเรือน ไม่อนุญาตให้น้ำไหล-หลากผ่านอีกต่อไป โดยเฉพาะในเขตอำเภอเมือง ที่ผู้คนอยู่กับถนน กับบ้าน กับรถยนต์ ทำมาหากินอยู่กับตลาดห้างร้านบนบก ไม่ได้สนิทกับแม่น้ำเพชรแล้วนะ ขอบคุณที่เคยรักกันมาตลอด แต่เราเองที่ไม่เหมือนเดิม
ถึงจะดูเศร้านิดนึง แต่ก็ต้องยอมรับว่าโลกมันเปลี่ยนไปแล้วครับ อดีตนั้นแสนหวานก็จริง แต่มันไม่หมุนกลับมาอีกแล้ว จากนี้คือเรื่องการบริหารจัดการการอยู่ร่วมกับธรรมชาตินะ
ถ้าดูประวัติย้อนหลัง เราจะพบว่าเพชรบุรีโดนน้ำท่วมครั้งใหญ่เป็นรอบๆ ครับ รอบนึงก็ประมาณ 5-10 ปี เวลาท่วมนี่ แม่น้ำเพชรจากเดิมที่บางช่วงเป็นแค่ลำธารตื้นๆ สามารถเดินข้ามได้โดยน้ำเปียกถึงแค่ไข่ ก็จะเปลี่ยนโหมดเป็นโหมดต่อสู้เต็มกำลัง รำดับน้ำสูงขึ้นมา 4-5 เมตร ชายหาดรอบๆ ก็ถูกน้ำล้นขึ้นมา ขยายขนาดเป็นแม่น้ำใหญ่ยักษ์ดุดัน ไหลเชี่ยวกราก
ซึ่งระดับน้ำของแม่น้ำเพชรแทบทั้งสายนั้นถูกคอนโทรลโดย “เขื่อนเพชร” ครับ เขื่อนที่มองจากภาพถ่ายทางอากาศแล้วเห็นเป็นแค่ติ่งเล็กๆ นี่แหละ แต่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวด เพราะมีหน้าที่ไว้คอยจัดสรร จัดการและกระจายน้ำ ในยามปกติก็กักน้ำไว้ใช้ในการเกษตรยามหน้าแล้ง (โซนแม่น้ำเพชรหรือคันคลองจึงไม่เคยแล้ง) ถ้าช่วงไหนเป็นหน้าน้ำ มีน้ำทะลักมาจากแก่งเยอะหน่อย เขื่อนเพชรก็จะเปิดประตูน้ำกว้างขึ้น ทำให้แม่น้ำเพชรเป็นที่ระบายความอ้วนของก้อนน้ำมหาศาลที่มาจากข้างบน
ทีนี้ถ้าเราดูย้อนขึ้นไปข้างบน เหนือเขื่อนเพชรก็มีพี่ใหญ่ “เขื่อนแก่งกระจาน” ที่แนะนำตัวกันไปแล้ว กราฟระดับน้ำในเขื่อนแก่งกระจานนี่แหละครับที่เป็นตัวส่งสัญญาณว่าปีนี้จะดีหรือจะดับ บางปีก็แฮ้งแห้ง บางปีก็น้ำดี แต่หน้ามรสุมโดยเฉพาะช่วงปีหลังๆ อย่างปีนี้นี่ต้องเรียกว่าโคตรเยอะ ก็ต้องวางแผนระบายอะไรกันไป รายละเอียดเดี๋ยวว่ากันต่อข้างล่าง
แล้วน้ำที่ว่าเยอะๆ นี่ล่ะ มาจากไหน
“มาจากฝนตกครับ” ป่าแก่งกระจานนี่ผืนใหญ่มาก พอฝนตกในป่า ไหลลงแม่น้ำ เจอเขื่อนกั้นไว้ ถ้าเขื่อนเห็นว่ากั้นไม่ไหวก็ระบาย ถ้าเห็นสัญญาณว่าพายุฝนมาแบบนี้ กราฟรายงานแบบนี้ มีแววท่วมแหงๆ เขาจะบอกประชาชนให้เตรียมตัวก่อนล่วงหน้าครับ เมื่อก่อนใช้วิธีออกประกาศผ่านเสียงตามสาย หรือรถติดโทรโข่งไล่ไปตามตำบลหมู่บ้านแถบแม่น้ำ ส่วนทางการก็มีจดหมายวิ่งบอก แต่เดี๋ยวนี้เร็วกว่านั้น ชาวบ้านรู้กันผ่านกรุ๊ปไลน์ ผ่านเฟซบุ๊กครับ (ทวิตเตอร์ยังไม่แมสในเพชร)
น้ำท่วมใหญ่ปี 2560
อธิบายกันอีกครั้ง เวลาหน้ามรสุมมาทีนึง แหล่งต้นน้ำคือป่าเนอะ คือน้ำจากภูเขา ไหลลงมารวมกันในแม่น้ำเพชร ผ่านเขื่อนใหญ่เขื่อนเล็กที่ทางการเป็นคนคอนโทรล แล้วเวลาท่วม คนที่เดือดร้อนคือชาวบ้านริมน้ำตลอดแนวแม่น้ำเพชรที่เป็นเกษตรกร กับชาวบ้านในตัวอำเภอ(เมือง) เป็นหลัก (กลุ่มหลังจะเสียงดังหน่อย) อันนี้ก็อยู่ที่ว่าน้ำหนาแค่ไหน ปล่อยน้ำจากเขื่อนออกมาทันไหม ถ้าไม่ทันก็ท่วมเยอะอะไรงี้
แต่ของปี 2560 นั้นต่างออกไปครับ เราเรียกกันว่า “ฝนตกท้ายเขื่อน”
แทนที่น้ำจะไปกองรวมกันเหนือเขื่อนแก่งกระจาน แล้วค่อยพามวลน้ำไหลลงมาตามสเต็ป แต่คราวนี้ฝนดันตกหลังจากแก่งฯ ลงมาแล้ว ทีนี้เลยไหลลงสู่แม่น้ำตรงๆ เลย บวกกับก้อนน้ำฝั่งเหนือที่มาทางแม่ประจันต์อีก แม่น้ำเพชรก็เลยโอเวอร์โหลด
ส่วนน้ำในเขื่อนแก่งกระจาน แห้งครับ!
เนื่องจากยุคนี้มันยุคโซเชียล ทุกคนเข้าถึงแหล่งข้อมูลกันได้ง่ายมาก แต่ไอ้ความง่ายนั้นกลายเป็นว่ามันพาทุกคนรวมถึงคนที่ขี้เกียจอ่าน ขี้เกียจหาข้อมูลเอง เข้ามาด้วย เยอะซะด้วย 55555 อาศัยว่ามาเปิดเน็ต ด่าเสร็จแล้วก็ไป เลยเราจะเห็นดราม่าที่เกิดจากความไม่รู้ซะเยอะ อย่างในกรณีของปี 60 นี่กรมชลฯ รวมถึงทางผู้ว่าฯ โดนด่าเปิงเลยครับ ว่า “ถ้ารู้ว่ามรสุมมา ทำไมไม่พร่องน้ำจากเขื่อนแก่งกระจานก่อนแต่เนิ่นๆ ไม่ใช่มาปล่อยเอาตูมเดียวเสียหายทั้งเมืองแบบนี้ บริหารจัดการน้ำกันเป็นไหม” นั่นแหละครับ ด่าเสร็จแล้วก็ไป เข้าใจว่าเดือดร้อนนะ แต่ช่วยเข้าใจปัญหานิดนึง 5555
น้ำท่วมเพชรปีนี้และปีถัดๆ ไป
สำหรับปีนี้ (2561) ตอนที่ผมเขียนอยู่นี่ อยู่ในระหว่างที่ทางการได้ประกาศว่ามวลน้ำก้อนใหญ่จากแก่งฯ จะเดินทางถึงอำเภอเมืองในเวลาเที่ยงคืนของวันที่ 7 สิงหาคม ก็คือคืนนี้เลย! อัปเดตข้อมูลครับ กรมชลประทานแจ้งว่าน่าจะล้นตลิ่งหลังวันที่ 10-11 สิงหาคมจ้ะ ใช้เวลาเดินทาง 36 ชั่วโมง (ตามข่าวกันเรื่อยๆ เด้อ) ขอให้ประชาชนเก็บของขึ้นที่สูงอะไรก็ว่ากันไป มิตรสหายชาวอำเภอเมืองก็โบกปูนหน้าบ้าน กั้นกำแพงกันรัวๆ บนทางเท้านั้นแหละครับ เป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมแนวใหม่…
การประกาศนี้ถ้าเอาจากจดหมายทางการคือรู้ล่วงหน้า 3-4 วัน แต่ถ้าใครตามข่าวสักหน่อยก็รู้เป็นอาทิตย์ครับ แต่จะมาเยอะมาน้อยแค่ไหนก็แล้วแต่ตัวแปรที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน (เช่นฝนซ้ำกรรมซัด)
สาเหตุของน้ำท่วมปีนี้ไม่ได้มีอะไรพิสดารไปกว่าการที่เป็นหน้ามรสุม มรสุมก็มา ปีนี้มาแรงด้วย ฝนตกในป่าเยอะกว่าที่ใครๆ จะนึกออกได้ มากขนาดไหนดูกราฟในทวีตนี้ (ที่มา: 1 , 2)
เจอชาวเน็ตท้องถิ่นเพชรบุรีโวยว่า จนท มัวทำไรกันอยู่ ไม่พร่องน้ำเตรียมไว้แต่เนิ่นๆ หรือเงินค่ำคอ (พาลไปถึงธุรกิจรีสอร์ต) ฯลฯ ก็อยากให้ดูกราฟนี้ครับ
เห็นคองูเห่าแผ่แม่เบี้ยไหม นั่นแหละก้อนน้ำเข้าในวันเดียว! รู้สึกจะ +20% ของความจุเขื่อนแก่ง แถมช่วงนี้ฝนตกรัวๆ ในป่าเหนือเขื่อนอี๊ก! pic.twitter.com/aloQXv6sPe
— 囧 (@iannnnn) August 6, 2018
ของปีนี้เขาคาดการณ์กันว่าอาจจะท่วมเป็นเดือนๆ ส่วนข่าวที่รายงานกันให้ตัวเลขมาว่าน่าจะท่วม 2 สัปดาห์ บ้างก็ว่าตอนนี้เราตื่นตัวและจัดการกันดีแล้ว น่าจะไม่ท่วมนะ แต่บางคนก็บอกเดี๋ยวดูช่วงน้ำทะเลหนุน / มีฝนมาเติมเพิ่มเหนือเขื่อน
ซึ่งทั้งหมดนี้ก็ต้องรอดูกันต่อไปครับ
การแก้ปัญหาระยะสั้น และป้องกันระยะยาว
ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่า จากนี้ไปพอฝนตก น้ำจะท่วมเมืองง่ายขึ้นมาก นอกจากจะเพราะสภาพอากาศของโลกที่มันสวิงแรงขึ้นทุกปีๆ แล้ว ก็เป็นเพราะบ้านเรือนและถนนหนทางที่ผุดขึ้นมารัวๆ นั่นแหละเป็นตัวขวางน้ำครับ ที่ผ่านมาพื้นที่รับน้ำ-ระบายน้ำมันน้อยลงอย่างไม่มีการวางแผนที่ดี ใครมีที่ดินก็ถมสูงกันทั้งนั้นเนอะ เราทุกคนต่างก็ช่วยกันทำให้น้ำท่วมเป็นสิ่งที่น่ากลัวขึ้น ยิ่งมีความเป็นคนเมืองเท่าไหร่ก็จะกลัวน้ำท่วมกันมากขึ้น ทั้งที่คนเดือดร้อนกว่าคือเกษตรกรนะ 555 ไม่เอาๆ ไม่ดราม่าแหละ เปลี่ยนเรื่อง
โปรเจกต์ระยะยาวที่เห็นผ่านตาก็มีคลองลัด หรือฟลัดเวย์ ที่จะเจาะโป้งเข้าไปเหนือเขื่อนเพชรครับ เพื่อทำชอร์ตคัตลากน้ำลงทะเลด้วยอัตราเร็วเท่าๆ กับแม่น้ำเพชรอีกสายนึงเลย (ถ้าจำตัวเลขไม่ผิดจะอยู่ที่ประมาณ 100 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที) กับอีกเส้นนึงที่มีการศึกษากันคือท้ายเขื่อนเพชรลงมา แต่อาจจะยากนิดนึงเพราะต้องมีเวนคืนที่ดงที่ดินอะไรกันอีก
ส่วนที่ทำได้เลย ตอนนี้ก็ทำอยู่อย่างต่อเนื่อง (คือขุดอยู่เลย ขุดing) ก็เช่นการขยายคลองลัดหลังโรงพยาบาลท่ายาง, คลองชลประทานบ้านลาด ที่ตัดฉับมาเป็นโหมดระบายน้ำด่วนไปก่อน เสร็จแล้วพอหน้านาก็จะเป็นคลองส่งน้ำเข้านาน้องแทน และคลองอื่นๆ อีกหลายเส้นทั่วจังหวัด ที่ปกติก็เป็นคลองส่งน้ำเหมือนกัน แต่คราวนี้ขอแปลงร่างเป็นคลองระบายน้ำบ้างนะ
ข้อมูลล่าสุดที่ทราบมาก็คือ เขาลดระดับน้ำในคลองสาย 3 เพื่อดำเนินการเชื่อมซร้วบเข้าคลองใหม่ที่เพิ่งขุดจวนจะเสร็จตะกี้ เปิดใช้จริงกันเดี๋ยวนี้เลย! ฉับไวสไตล์อีลอนมัสก์! (ถ้ามันกันน้ำท่วมเมืองได้จริงๆ นี่ก็จะถือเป็นปรากฏการณ์ใหม่เลยนะครับ เล็งว่าท่วมแน่ๆ แต่สามารถจัดการน้ำได้อยู่หมัดก่อนท่วมซะอีก) ซึ่งแน่นอนว่ามีชาวเน็ตที่ออกมาต่อว่าว่าทำไมคลองสาย 3 น้ำน้อย ไม่เต็มตลิ่ง ไม่ช่วยระบายกันบ้าง โทษทางการโทษเจ้าหน้าที่ ฯลฯ …แก ประกาศเขาก็มี อ่านหน่อยไหม แล้วค่อยด่า
ส่วนงานอื่นๆ ก็เช่นเรือผลักดันนำตรงปากอ่าวที่บ้านแหลม ที่ดำเนินการอยู่อย่างต่อเนื่องเพื่อพร่องน้ำออกก่อนน้ำก้อนใหญ่จะมา การเคลียร์ผักตบ เคลียร์สิ่งกีดขวางลำน้ำให้น้ำไหลคล่องๆ ขึ้นอีก หรือช่วงระหว่างปีในยามปกติก็มีการขุดลอกแม่น้ำเพชรเรื่อยๆ อยู่แล้วครับ บางจุดที่ผมเคยเล่นน้ำตอนเด็กๆ นี่ พอกลับไปดูอีกที อ้าวลึกเฉยเลย ไม่กล้าโดดแล้ว
เรียกว่าคนทำงานก็ทำกันเต็มที่อย่างที่ควรจะเป็นแหละครับ เท่าที่เห็นอาจไม่เก่งประชาสัมพันธ์ แต่ก็เชื่อว่าถ้าอยากรู้ว่าเขาทำอะไร ชาวเน็ตสามารถกดเปิดเพจ อ่านสเตตัสล่าสุดของหน่วยงานดูได้ไม่ยาก
ส่วนการข่าวที่มีดราม่ากันอยู่ก็ต้องแก้กันไปตามสูตรจรรยาบรรณของสำนักข่าวที่ขี้เกียจจำพูดให้ซ้ำซาก อย่างล่าสุดวันนี้ที่เห็นคือสำนักข่าวบางช่องเอานักข่าวไปยืนแช่น้ำ แล้วรายงานให้มันดูโหดๆ ตระหนกๆ เยอะๆ เพื่ออะไรของแก๊ (มีคนบอกว่าถ้าไฟไหม้แกต้องไปรายงานในกองเพลิงด้วยไหม 555555)
ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมได้ที่ไหน
ย้ำอีกทีว่าตอนนี้เขียนบล็อกนี้ สถานการณ์น้ำยังไม่นิ่ง เอาจริงคือในเมืองเพชรยังหมอบการ์ดตั้งรับอยู่เลยนะครับ อาจไม่ท่วมหรือท่วมมากมาย ก็แล้วแต่ปัจจัยหลายอย่างที่ว่ามา ขอแนะนำแหล่งข้อมูล, คอมมูนิตี้สำหรับสอบถามพูดคุยและติดตามกันต่อไปดังนี้:
1. เฟซบุ๊กกลุ่มจังหวัดเพชรบุรี และ กลุ่มจังหวัดเพชรบุรี
(อันหลังมีคำว่ากลุ่มในชื่อกลุ่มด้วย) ในสถานการณ์ปกติก็ขายของกะปิน้ำตาลหอยแครงอะไรกันไปเรื่อยครับ แต่ยามวิกฤติคุณจะได้เห็นข่าวสารสดๆ เพียบ จากสมาชิกกลุ่มเป็นแสนๆ คน
2. เพจถ่ายทอดสด ณ.จุดเกิดเหตุในจังหวัด เพชรบุรี
เป็นของจิตอาสาที่ขยันไลฟ์ และมีแฟนคลับมากมาย / ถ่ายดี วันนี้มีโดรนบินไปถ่ายเขื่อนเพชรด้วย เท่โคตร (ถ้าน้ำท่วมคงได้เห็นคลิปโดรนสวยๆ ของเมืองเพชร (ตัวอย่าง) อย่างแน่นวล / อ้อ ระวังเนื้อหาในสถานการณ์ปกตินะครับ น้องแกชอบไปถ่ายจุดเกิดเหตุ มีศพเศิพ จับงูไรงี้
3. คุณอรุณ เกิดสมิง ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านที่แก่งกระจาน
แกขยัน ไลฟ์ รายงาน มาก โดยใช้เน็ต 3G แบบเติมเงินของแกเอง (เปิดให้ donate ไหมเนี่ย) ซึ่งการเป็นคนในพื้นที่เหนือเขื่อน ทำให้ผู้ชมสามารถเห็นภาพความเดือดร้อนเหนือเขื่อนชัดเจน (ซึ่งไม่ออกข่าวนะ) / บุคลิกแกน่ารักนอบน้อม ดูและอ่านเพลินดีครับ / และแกฟันธงว่า “น้ำเข้าเมืองเพชร แต่ไม่ท่วม” แน่นอนครับ
4. กราฟระดับน้ำเรียลไทม์
เป็นของสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) เส้นสีฟ้าคือระดับน้ำปัจจุบัน สีแดงเป็นตลิ่ง (ถ้าฟ้าชนแดง = บ๊ายบาย) อ้อ มีแอปด้วย แต่ยังไม่ได้ลองนะครับ
สุดท้าย ฝากพอดแคสต์รายการเสาเสาเสา EP34 ว่าด้วยเรื่องน้ำท่วมครับ เราจัดรายการกันปลายปีที่แล้ว ในช่วงที่น้ำกำลังท่วมเพชร และท่วมกรุงกันบ่อยๆ นั่นแหละ เล่าเรื่องเกี่ยวกับคอนเซปต์ของน้ำท่วมทั้งสาเหตุและการแก้ปัญหา ฯลฯ เท่าที่รู้ไว้เยอะเลย :D