037 | การ์ตูนแล้วทำไม

wc_comics

อาจารย์คนนึงที่มหาลัยผม เป็นอดีตรองอธิการบดี
(นึกภาพแกเหมือนเจ๊เบียบ จะได้ไม่ต้องบรรยายให้นึกมากมาย)
ตอนนั้นเรานั่งรถตู้ไปประชุมต่างสถาบันด้วยกัน
ผมพกการ์ตูนไปด้วยเล่มนึง นั่งอ่านอยู่ตรงที่นั่งด้านหลังแก
ก็นั่งอ่านไปเรื่อยๆ จนกระทั่งแกหันมาเจอเท่านั้นแหละ

โดนตวาดเลยครับ

บอกว่าโตแล้วยังอ่านอีกเหรอ การ์ตูนน่ะ
ทำไมคนรุ่นนี้ถึงไม่สนใจอะไรที่มันเป็นสาระเลย
เด็กเดี๋ยวนี้ไม่อ่านสกุลไทย พลอยแกมเพชรกันแล้วรึไง

:55:

ว่าแล้วแกก็หันไปบ่นเรื่องการ์ตูนอีกยาว กับอาจารย์ผู้ใหญ่อีกท่านที่นั่งข้างๆ กัน
ผมหยุดอ่าน ยิ้ม มองแก (จากทางด้านหลัง) สักพัก แล้วก็ก้มหน้าก้มตาอ่านต่อไป

พอจบเล่มปั๊บก็หันไปดูแกด้วยความเอ็นดูอีกที .. ในใจก็คิดว่า มันน่าสนใจดีนะ
ที่คนคนนึงจะสร้างกำแพงระหว่าง “ยุคสมัย” ของตัวเองกั้นกลางกับอีกคนนึง
เหมือนกับทิ้งช่วงห่างระหว่างวัยขึ้นในรถตู้คันเล็กๆ ที่มีแค่พนักพิงเบาะกั้น
(เรื่องช่องว่างระหว่างวัยนี่ เขียนอีกสามวันสามคืนก็ไม่จบ งั้นพอก่อน)

ประเทศญี่ปุ่น ต้นกำเนิดของหนังสือการ์ตูนที่ครองตลาดบ้านเรา
(มากซะจนผู้ใหญ่ยุคเผด็จการทหารคิดว่า มันคือการกลืนวัฒนธรรม ..โอววว)
ถือเป็นประเทศที่ขึ้นชื่อว่า ประชากรมีนิสัยรักการอ่านมากที่สุดในโลกประเทศหนึ่ง
เขามีวิธีสร้างนิสัยรักการอ่านให้กับเด็กอย่างง่ายๆ ก็คือการอ่านการ์ตูน
คนเขียนการ์ตูนของเขาถูกเรียกโดยมีคำนำหน้าชื่อว่า อาจารย์
เพราะวัฒนธรรมการเขียนการ์ตูนของเขานั้นถือเป็นศาสตร์แขนงหนึ่ง
ที่คนที่จะทำได้ดีมีคุณภาพ จะต้องผ่านการฝึกปรือ ผ่านด่านมนุษย์ทองคำตั้งนาน
กว่าจะก้าวขึ้นมาเป็นที่ยอมรับในวงการ และผลงานเป็นที่ประจักษ์แก่สายตาผู้อ่าน

เด็กๆ ของเขาก็ใฝฝันว่า โตขึ้นหนูจะเป็นนักเขียนการ์ตูนให้ได้
และถ่ายทอดพลังงานนี้ต่อๆ กันไป รุ่นต่อรุ่น

เดี๋ยวจะหาว่าเอะอะก็แขวะประเทศตัวเอง ..
แต่ถ้าเปรียบกับบ้านเราก็คงเป็นวงการบันเทิงมั้งครับ
เห็นเขาเป็นดารากันง่าย รายได้ดี แลดูมีศักดินาในสังคมจังเลย
โตขึ้นหนูจะเป็นดาราให้ด๊ายยยยย .. ว่าแล้วก็วิ่งไปไดเอตอย่างด่วน

คนญี่ปุ่นเวลาเขาว่างๆ ไม่มีอะไรทำ ก็จะหยิบหนังสือมาอ่านครับ
เราจะเห็นได้จากสื่อต่างๆ ที่ฉายไปที่ประเทศนี้แล้วเห็นภาพคนนั่งอ่านหนังสือ
ไม่ว่าจะในรถไฟ สวนสาธารณะ หรือริมฟุตบาตข้างถนน
นิสัยความเป็นเด็กนั้นสืบต่อไปถึงวัฒนธรรมสื่ออื่นๆ ทุกแขนงของญี่ปุ่นครับ
จะเห็นได้ว่า ไม่ว่าจะเป็นหนังสือ นิตยสาร เกม รายการทีวี เว็บไซต์ ฯลฯ
มันจะแฝงความเป็นเด็กไว้ในนั้นด้วย สังเกตจากการออกแบบ ดีไซน์อะไรกุ๊กกิ๊กๆ
อย่างพวกมาสคอต ตัวการ์ตูนน่ารัก โทนสีหวานเย็น โนเนะ คิมูจิ๊
เราจะพบได้อย่างดาษตา แต่ก็ไม่น่าเบื่อ (มีทุกสื่อจริงๆ ไม่เว้นหนังโป๊)

มันแสดงให้เห็นว่า กลุ่มตลาดของเขาแม้จะเลยช่วงวัยเยาว์มาแล้ว
แต่วัฒนธรรมความต่างระหว่างวัยนั้นกลับบีบแคบลงได้ด้วยความน่ารักคิกขุนี่แหละ
นี่แหละ พอไปอ่านการ์ตูนฝรั่ง หรือการ์ตูนฮ่องกงก็ตาม
เราก็เลยจะไม่ค่อยได้เห็นความเยาว์วัยในนั้น
จะมีก็แต่สไตล์ของเกาหลีเท่านั้นแหละที่ยังกะฝาแฝดของญี่ปุ่น
(ตอนนี้กำลังจะวิ่งแซงกัน — และผมเชียร์ข้างเกาหลี เพราะไม่ค่อยศรัทธาอารยธรรมโซนี่)

อ้า .. นี่ผมเลยไปถึงไหนแล้วเนี่ย เขียนมายาวแล้วพอดีกว่า
ถ้าวันไหนมีเวลาว่างนานๆ ค่อยมานั่งร่ายกันยาวแปดเมตรเลย
ส่วนคราวนี้ก็แค่อยากจะบอกว่า ผมน่ะชอบอ่านการ์ตูนนะ

แต่ก็เลือกอ่านด้วย เหมือนกับที่คุณชอบหนังบางประเภท ชอบเพลงบางแนวนั่นแแหละ
ถ้าวันนึงไปเห็นเด็กมันนั่งอ่านการ์ตูนก็อย่าไปว่ามัน
เพราะนั่นเป็นบันไดขั้นแรกสู่การพัฒนาด้านสติปัญญาและจินตนาการอย่างง่ายที่สุด

แต่ถ้าเป็นการ์ตูนโป๊ (ก็บอกแล้วว่า มันมีหลายแนว) ก็ตบหัวสั่งสอนเลย
เพราะว่าเผลอๆ มันจะชักนำไปสู่สิ่งเสพติดอื่นได้ง่ายเช่นกัน
ทั้งนี้คุณจะทันเด็กหรือเปล่า หรือถ้าคุณเป็นเด็กคนนั้น คุณจะทันตัวเองหรือเปล่า

สุดท้ายนี้ ก็แค่จะบอกว่า
ใครที่ไม่เคยอ่าน หรือแค่เคยอ่าน หรือหนักหน่อยก็ ถ้าแอนตี้การ์ตูนละก็
ขอให้คิดใหม่ วางอคติพับเก็บไว้ข้างๆ
แล้วลองหยิบการ์ตูนดีๆ มาอ่านสักเล่ม

ลองฝึกตัวเองให้หัดไล่สายตาตามภาพในช่อง จากซ้ายไปขวา (หรือขวาไปซ้าย)
จากบนลงล่าง ดูภาพทีละภาพ อ่านคำแต่ละคำ
แล้วซึมซับสารที่สื่อประเภทนี้ต้องการนำเสนอ

ถ้าคุณวางอคติลงได้สำเร็จจริงๆ และมีความตั้งใจที่จะเรียนรู้ ศึกษาจากมัน
ไม่ใช่แค่การอ่านการ์ตูนนะครับ
ไม่ว่าจะเป็นการคบเพื่อน การทำงาน หรือจะเรื่องอะไรก็ตาม
ถ้าแค่คุณวางอคติลงแล้วพยายามทำความรู้จักและเข้าใจละก็
รับรองว่าคุณจะได้รับคุณค่าจากสิ่งที่ทำอย่างเต็มเหนี่ยวไปเลยพี่!!

คอมเมนต์