#ปิดเล่มแล้วจะเขียนอะไรก็ได้ ตอน การซื้อหนังสือการ์ตูนไม่ใช่เรื่องแมสๆ อีกต่อไป

บอกไว้ก่อนว่านี่ก็เป็นการบ่นซ้ำๆ ในเรื่องที่เราก็รู้ๆ กันนั่นแหละ คือวงการหนังสือการ์ตูนญี่ปุ่นแบบที่เราคุ้นๆ กันมาหลายสิบปี มันกำลังหายใจรวยรินเต็มที

แต่ถึงรู้แบบนั้น จะบ่นซ้ำอีกก็คงไม่เป็นไรเนอะ เพราะอีกเดี๋ยวก็จะไม่มีให้บ่นแล้ว สถานะของเรื่องที่บ่นอยู่นี่ก็จะเหลือไว้แค่เพรยงความทรงจำ ที่อีกพักนึงก็ลืม ผ่านไปห้าปีสิบปี กลับมาอ่านก็จะไม่เก็ต ซึ่งน่าเสียดายยิ่ง

ก็เลยบ่นละกันเนอะ

bookstore

ณ ชั่วโมงนี้ ร้านการ์ตูนประจำที่เคยแวะเวียนเป็นประจำมากกว่า 20 ร้าน ทั้งกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด “เกือบทั้งหมด” ปิดกิจการลงในช่วง 1-3 ปีมานี้ ยังคงเหลือเจ้าที่ยังแวะเวียนอยู่บ่อยๆ แค่สามเจ้า คือ B-Books ข้างเมเจอร์รัชโยธิน, ร้านรัตนาภรณ์ ซอยเสนา และร้านบาร์ใหม่ ม.เกษตร

ในย่านซอยเสนาเคยมีร้านหนังสือทั้งแบบซื้อ แบบเช่า รวมกัน 6-7 ร้าน เอาเฉพาะร้านขายก็มี 3-4 ร้านได้เนอะ ตอนนี้ร้านที่ยังคงยืนหยัดขายหนังสือ นิตยสาร (และอุปกรณ์เครื่องเขียน + ลายแทงหวย) ก็คือรัตนาภรณ์

ร้านรัตนาภรณ์ (แผนที่) เป็นร้านที่ผมชอบมากที่สุดตลอดสิบปีที่ผ่านมา ตั้งแต่มาอาศัยอยู่แถวๆ นี้ แม้เดี๋ยวนี้พอย้ายบ้านออกมา ก็ยังหาโอกาสแวะเวียนไปฟังเสียงหวานๆ ของเจ๊แป้น สาวแว่นใจดีตัวเล็ก ที่จำผมได้ตั้งแต่สมัยนู้น จนเดี๋ยวนี้แม้จะห่างหายกันไปนาน เพราะผมย้ายบ้านออกมาอยู่ไกลจากแถวนั้น แต่เดือนสองเดือนพอแวะไปทีนึง แกก็ยังจำได้อยู่เสมอ

การจำลูกค้าได้ และทักทาย หรือบางทีไม่ทักทายก็ไม่เป็นไร แต่รู้นะว่าจำได้ ประสบการณ์นี้หาที่ร้านหนังสือตามห้างไม่ได้นะครับ

วันนี้ผมมีธุระแถวนั้น เลยขอวะสักหน่อย ก่อนแวะก็เช็กดูว่าเรื่องที่ติดตามอยู่มีออกเล่มใหม่หรือยัง (ผมใช้แอป miimai – มีไหม ซึ่งเวิร์กมากๆ ช่วยชีวิตคนที่เผลอพลาดซื้อการ์ตูนซ้ำเล่มได้ดีมากๆ) ก็โอเค ซื้อไซโคเมทเธอร์ เล่ม 13 แล้วก็พบว่า

แม่งขึ้นราคาเป็น 70 บาท

เหี้ย 70 บาท นี่กูยังจำได้อยู่เลยว่ามันเพิ่งขึ้นจาก 25 เป็น 30 บาทสมัยโคนันแรกๆ จนเลิกซื้อไป (มึงก็แก่ไป)

หนังสือการ์ตูนญี่ปุ่นกับเด็กตอนนี้ก็เริ่มหาความเชื่อมโยงกันยากขึ้นเรื่อยๆ เพราะจำนวนเงิน 70 บาทนี่ถือว่าสูงมากๆ เข้าใจว่ามันติดบ่วงวงจรอุบาทว์ และงูกินหางตัวเองไปเรื่อย (ยอดขายน้อยลงมากๆ สวนทางกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น) ก็สรุปได้เลยว่าในระยะเวลาอันใกล้มากๆ นี้ วงการการ์ตูนญี่ปุ่นฉบับลิขสิทธิ์ที่ยังขายแบบเดิมๆ แบบที่เราค้นเคยกันมาตั้งแต่เด็กๆ ก็กำลังรอวันล่มสลายเนอะ

ไหนจะซีคิดส์ที่ฉบับนี้เป็นฉบับสุดท้าย ถามเจ๊แป้นแล้วแกบอกว่าเล่มนี้ดันขายดีเพราะมีคนซื้อเก็บ เนี่ย หมดร้านเลย เดี๋ยววันจันทร์(มะรืนนี้) จะไปรับมาใหม่ น้องมาอีกรอบนึงนะ

แม้แต่เจ้าแห่งนิตยสารขายดีอย่างคู่สร้างคู่สมเองก็บอกไว้สักแห่งว่าโดนผลกระทบไม่น้อยเลยเช่นกัน เพราะโฆณาน้อยลง ก็ต้องลดการผลิตลง เนื่องจากคนอ่าน “มีตัวเลือกอื่นๆ มากขึ้น” ไม่เห็นต้องอ่านนิตยสารเลย

เราเลยได้ลาก่อนเปรียว ลาก่อนสกุลไทย ลาก่อนพลอยแกมเพชร อินสไตล์ วอลุ่ม ไรต์เตอร์ คอสโม่ ลาก่อนวีว่า บูม ซีคิดส์ และลาก่อนการ์ตูนรวมเล่มดีๆ หลายสำนักพิมพ์ที่โดนลอยแพไปเพราะแบกรับต้นทุนไม่ไหว

จะว่าก็ว่าเถอะ นิตยสารหลายๆ หัวที่เจ๊งไป บางฉบับนั้นดี แต่บางเจ้ามันก็กากจริงๆ นะครับ เนื้อหาแบบเดียวกับที่อ่านได้ในเน็ตอยู่แล้ว แต่ซื้อแบบกระดาษมาก็ต้องมาสคิปข้ามโฆษณาไปค่อนเล่ม อีห่า ชุ่ยเกิน ตายไปเลยไป

แต่อีเหี้ย ที่ยังรับความจริงของโลกนี้ไม่ได้ก็คือ เม็ดเงินโฆษณาหลายๆ พันล้านในแต่ละปีที่ตอนนี้โยกจากสื่ออื่นไปออนไลน์กันมากขึ้นเรื่อยๆ เนี่ย ดันไปหวยออกที่เหล่าแอดมินเพจเฟซบุ๊กจนแม่งรวยเอาๆ 5555 เห็นแล้วเหม็นยังไงก็ไม่รุ้ รู้สึกว่านี่มันเป็นสภาวะระบบนิเวศน์ที่บิดเบี้ยวผิดที่ผิดทางอยู่ ยังไม่ลงตัวลงล็อกบางอย่าง อารมณ์เหมือนมีคนปล่อยปลาซักเกอร์(เบิร์ก) ลงมาในแหล่งน้ำสาธารณะ แล้วตอนนี้แม่งขยายพันธุ์ยั้วเยี้ยเต็มไปหมด มองเข้าไปทั้งจากสายตาชาวบ้าน และสายตากำนันผู้ใหญ่บ้านก็บอกเลยว่าไม่รู้จะทำยังไงดี ไม่รู้คนอื่นรู้สึกไหม หรือแฮปปี้กันดีวะ โอ๊ยพูดงี้เดี๋ยวโดนด่า 55555

ถาม: แล้วมึงเดือดร้อนอะไร อิจฉาเหรอ เดือดร้อนเหรอ เปล่าเลยนี่
ตอบ: เดือดร้อนสิครับ เรื่องอิจฉานั่นเรียกว่าหมั่นไส้ดีกว่า 55555 เอาแค่มันส่งผลกระทบต่อวงจรนิตยสารประจำที่ติดตามอยู่ทยอยปิดตัวลง แค่นี้ก็เดือดร้อนมากๆ แล้ว ไหนจะการ์ตูนขึ้นราคาขนาดนี้อีก นี่ไม่ได้มองวงกงวงการอะไรเลยนะ มองแค่ตัวเองที่หนังสือเล่มโปรดทยอยหายไป การ์ตูนดีๆ หลายเรื่องที่รอให้มันออกไลเซนส์ไทย แต่ไม่มีใครกล้าเอามาขายเพิ่มซะทีเนี่ย โอ๊ยเดือดร้อนจะตายชัก

ทางออกที่สำนักพิมพ์บางเจ้ากำลังดิ้นอยู่ก็คือ การแปลงตัวเองเป็นอีบุ๊ก อันไหนได้รับความนิยมหน่อยก็ค่อยทำออกมาเป็นเล่มจริงวางขาย ไม่รู้เหมือนกันว่าเวิร์กไหม แต่ก็ภาวนาพุทโธมากๆ ว่าจงอยู่รอดปลอดภัย และต่อสู้กับพวกแปลเถื่อนได้สักหน่อยเหอะ

แต่เอ้อ อยากจะบอกว่า เท่าที่ผ่านมา โมเดลการแปลงตัวเองจากสำนักพิมพ์กระดาษไปเป็นอีบุ๊ก อีแม็กกาซีน หรือแพลตฟอร์มดิจิทัลอื่นๆ นี่ ดูมาหลายปีมากๆ ออกมากี่แพลตฟอร์ม เท่คูลแค่ไหร ก็ยังไม่เห็นเจ้าไหนอยู่รอดหรืออยู่ได้เลยครับ ก็อย่างที่รู้กันนะว่าเรามีทัศนคติกันว่าโลกออนไลน์มันต้องฟรี …แต่มึงเสียตังค์ซื้อสติกเกอร์ไลน์และเติมเงินในเกมกันนะ ก็ซื้ออะไรอ่านดูไหมล่ะ

ที่พูดนี่คือผมเองยังไม่ซื้อเลย 555555 ไม่ชอบหนังสือไฟฟ้าง่ะ ความรื่นรมย์มันต่างกันมากๆ

ก็ได้แต่ภาวนาว่าที่ผ่านมามันเป็นการมาก่อนกาลนะครับ ตอนนี้คุณกาลกรุณาพร้อมได้แล้ว เริ่มเห็นการปรับตัวของนิตยสารหลายๆ ฉบับ เช่น WAY เปลี่ยนตัวเองเป็นแนว bookgazine นานๆ ออกที แพงหน่อยแต่แน่นเปรี๊ยะ หรือบางฉบับเปลี่ยนเป็นฟรีก๊อปปี้ คนซื้อไม่ต้องซื้อ แต่อ่านหนังสือที่มีโฆษณาเยอะหน่อย แฮปปี้ดี แบบเดียวกับพวกแอปมือถือเลยที่คนชอบแอปฟรีแต่มีโฆษณามากกว่าแอปเสียเงิน

หรือแม้แต่บางฉบับที่ประกาศว่าฉันจะโกออนไลน์เต็มตัว ต่อไปจะเป็น content provider ให้คนอ่านอ่านฟรี พยายามกระตุ้นให้เกิดยอดวิวเยอะๆ แล้วเวลาขายโฆษณาก็ขายแพ็กพ่วง อวดการแชร์ อวดยอดวิวงั้นงี้ว่าไป เอาตังค์โฆษณามาเลี้ยงชีพ (ซึ่งอันนี้แหละคือโมเดลที่ดูโอเคมั้งใน พ.ศ.นี้ แต่ก็นะ พอตัวเลขพวกนี้มันชัดและชูโรง มันเลยไปทำอะไรที่ทุ่มเทลงทุนเจาะลึกมากไม่ได้ และก่อกำเนิดการพาดฉาบฉวยหัวล่อคลิกมากมาย ไม่เว้นแม้สำนักข่าวที่ดูมีมาตรฐานก็ยังทำหำๆ แบบนี้เลย) ทั้งหมดนี้ก็ขอเอาใจช่วยละกันครับ

แต่ก็นั่นแหละ อย่างไรก็ตามถ้ามองจากมุมคนอ่านการ์ตูน และสะสมการ์ตูนเต็มผนังบ้าน นี่คือความเศร้า แต่ถ้าถอยออกมามองจากสายตา (สายตาใครดีวะ พระเจ้างี้เหรอ จะจบหล่อๆ แต่นึกไม่ออก) มันก็คือกฎการคัดเลือกตามธรรมชาติธรรมดาๆ แค่นั้นเอง คนที่แพ้ก็ตายจากไป และเผ่าพันธุ์ที่ปรับตัวได้และแข็งแกร่งพอเท่านั้นที่จะอยู่รอด ออกลูกออกหลาน และวิวัฒนาการต่อไปได้

ก็ขอภาวนาพุทโธ

จบ

ป.ล.
ความเครียดคือ หาซื้อเอย์จิ (ภาค 2) เล่ม 11 ไม่ได้ คือจำไม่ได้ว่าซื้อมาแล้ว วางไว้ที่ไหนสักแห่งแต่ยังไม่ได้อ่าน เอ๊ะหรืออ่านแล้ววะ กะว่าจะปิดต้นฉบับให้เสร็จก่อนแล้วค่อยอ่าน พอเปิดเล่ม 12-13 แล้วงง เล่มก่อนเนื้อเรื่องมันไปถึงไหนแล้ววะ คือเรื่องมันต่อกัน มันอ่านข้ามไม่ได้ไง ทำไงดีวะ ทวีตถามก็ท่าจะไม่มีคนรู้เลย เพราะการซื้อการ์ตูนอ่านมันไม่ใช่กิจกรรมกระแสหลักมาพักใหญ่แล้ว ฟวยมาก

ป.อ.
ก็เลยต้องกูเกิลดู และได้รู้ว่ามีกระทู้สปอยล์ในพันทิปว่ะ เลยเข้าไปส่องๆ ดู เออ โอเค เล่ม 11 ยังไม่ได้อ่าน ถ้าหาไม่เจอจะซื้อใหม่ ถึงแม้ในแอป miimai เราลงไว้ชัดเจนว่าซื้อแล้วก็ตาม (เศร้าอยู่ดี)

ป.ฮ.
โอ๊ย คิดถึงการเขียนบล็อกเพ้อเจ้อไหลยาวไปเรื่อยๆ ไม่ได้ประเด็นแก่นสารไม่ต้องตรวจทานแบบนี้มาก ตอนปั่นต้นฉบับก็ว่าจะแวะมาเขียนแต่แม่งไม่ได้สักที งั้นตั้งชื่อหัวข้อว่างั้นละกัน เดี๋ยวจะมาต่ออีกหลายเรื่อง เรื่องยูธูปก็ยังไม่ได้เขียน อยากเล่าโว้ย

[Get Talks] โตแล้วยังอ่านการ์ตูนอีก?

อารัมภบทเกี่ยวกับรายการ Get Talks กันนิดนึง
ตอนนี้ตอนทำงานหรือขับรถ ผมนิยมฟัง Podcast (ก็คือรายการวิทยุนั่นแหละ แต่เป็นแบบออนไลน์) ไปด้วย เพราะมันสะดวกดี มือทำอย่างอื่น ตาทำอย่างอื่น แต่หูว่าง ก็เปิดฟังเพลินๆ ตอนนี้ติดตามอยู่ 3-4 รายการ เช่น WitCast, BATCast, Omnivore, JUSTดูIT., GM Cast, RadioMANGA (เกินยังวะ) (ทั้งหมดดูเป็นชื่อรายการฝรั่ง แต่พูดไทยทั้งหมดนะครับ ผมภาษาอังกฤษยังไม่ได้แข็งแรงพอจะฟังฝรั่งคุยกันยาวๆ ได้เถอะ)

และสุดท้ายที่นึกออกและเราจะมาอวยกันวันนี้คือ “Get Talks” ของสองพิธีกร แซมมี่และกตัญญู ซึ่งต่างคนก็ต่างมีหน้าที่การงานกันดีอยู่แล้วแหละนะ แล้วมึงมาจัดรายการกันทำไม ว่างเหรอ

คืองี้ครับ วันก่อน คุณแซมติดต่อเข้ามาชวนคุยเรื่องการอ่านการ์ตูน ผมก็งงๆ ไม่กล้ารับปากมัน เกรงว่าเราจะไปรู้อะไรเรื่องการ์ตูนนักวะ เพราะตัวเองก็แค่คนหนึ่งในท่ามกลางผู้คนอีกมากมายหลายล้านที่ต่างก็เติบโตและอ่านการ์ตูนมาตั้งแต่เด็กจนโตมาเหมือนๆ กัน คือมันเป็นเรื่องที่หันไปทางไหนก็เจอแต่คนที่รู้เยอะกว่าผมแน่นอน

พอไอ้แซมเห็นผมอึกอักทำท่าจะรับปากแหล่ไม่รับแหล่ มันก็ให้เหตุผลที่รู้สึกว่าเออ ผมยอมรับได้ นั่นก็คือ “ก็ผมรู้จักพี่คนเดียว”

GetTalks-iannnnn

พอถึงวันนัด ทีมงาน Get Talks ก็ยกสตูดิโอ (ก็มีสองคนนั่นแหละ กะมือถือเครื่องนึงไว้อัดเสียง) มานั่งสัมภาษณ์กันอย่างจริงจังที่บ้านลาดปลาเค้า ถือเป็นครั้งแรกในรอบหลายๆ เดือนที่ผมได้นั่งคุยกับมนุษย์นานขนาดนี้ แถมยังเป็นเรื่องที่ตัวเองก็ประหม่าอยู่ใช่ย่อย

แต่พอเริ่มปริปาก โอ้โห ต้องขอกล่าวอย่างสุภาพเลยครับว่าเย็ดเป็ด ความทรงจำของวัยรุ่นยุค 90s (เห็นกำลังฮิตแซะกันใช่มะตีมนี้) ก็พรั่งพรูทะลักทลายพรวดพราดออกมาอย่างรุนแรงเหมือนดั่งเพิ่งอัดน้ำยาดีท็อกซ์สวนเข้าไปในรูตูด อั้นไว้ 3 นาทีแล้วตัดสินใจคลายการเกร็งหูรูด พุ่งมากๆ! พุ่งมากๆ!

มากไป!

มากไปจนกลายเป็นว่า ตลอดเวลาหนึ่งชั่วโมงครึ่งของรายการนั้นเต็มไปด้วยเนื้อหาดักแก่ และความโรแมนติกข้นคลั่กของอดีตเด็กที่โตมากับวัฒนธรรมการอ่านการ์ตูน ทั้งการ์ตูนสายหลัก สายรอง สายโป๊ (<--ดอกจัน) รวมถึงการพยายามลิสต์รายชื่อการ์ตูนโปรดของแต่ละคน แทนที่จะเลยไปเรื่องอื่นที่มันร่วมสมัย เช่นว่าด้วยการล่มสลายของอาณาจักรการ์ตูน หรือวงการการ์ตูนดิจิทัล พวกเว็บตูนงี้ นี่กลายเป็นว่ามาโชว์กันว่าใครจะรำลึกความหลังได้มากกว่ากันซะยังงั้น แต่นั่นกลับกลายเป็นว่า เออแม่งสนุกฉิบหายเลย 5555 คือทุกคนต่างแลกเปลี่ยน ต่างจากเทปอื่นๆ ที่แขกรับเชิญจะเชี่ยวชาญเรื่องอะไรสักอย่างสัสๆ ที่น่าเสียดายมากก็คือ พอคุยๆ ไป เวลามันผ่านล่วงเลยไปเร็วมาก ก็ยังรู้สึกว่ามีการ์ตูนอีกหลายเรื่องที่ปลิวหลุดไปจากความทรงจำ บางเรื่องถูกยกขึ้นมาพูดแล้วก็นั่งนึกกันอยู่นาน แต่พอร้องอ๋อปั๊บ เฮ้ย เรื่องนี้กูอินเว้ยยยยย แต่กับบางเรื่อง กดหยุดเทปอัดจบรายการ ก็มานั่งสบถกันด้วยความเสียดายว่าเฮ้ย เมื่อกี้ลืมพูดถึงเรื่องนี้ว่ะะะะะ อารมณ์ประมาณว่า มีนักท่องเที่ยวมาถามว่าประเทศยูมีอะไรฮาๆ มั่ง ให้เวลาเล่าแป๊บนึง เชื่อเถอะว่าเล่ายังไงก็ไม่หยด (แค่หมวดการปกครองก็ฮาจนหมดเวลาแล้ว) ก็เลยเหมือนเป็นการเปิดช่องให้คนฟัง (ใช่แล้ว คุณนั่นแหละครับถ้าเกิดทนฟังได้จนจบ) ได้ร่วมสนุก ร่วมแชร์ และแบ่งปันประสบการณ์ของคุณกันบ้างเนอะ ขอบคุณทั้งสองท่านนะครับที่ให้เกียรติ และขอบคุณที่เอาพลังงานมาฝากอย่างล้นเหลือ ฟังเลยครับ

ป.ล.
หลังจากจบการบันทึกรายการ เดินไปส่งอีสองคนนี้หน้าบ้าน กำลังจะปิดรั้ว ผมก็บอกอีแซมไปว่า เออ ทำรายการงี้ก็สนุกดีเหมือนกันแฮะ น่าทำมั่งว่ะ 555

ป.อ.
ไอ้แซมบอก เอาดิพี่

ป.ฮ.
คืนนั้นเลยได้ชื่อและโลโก้รายการเรียบร้อย รวมถึงผู้ดำเนินรายการแล้วด้วย ก็คือแซมกะผมนี่แหละ ไม่ได้หาจากที่ไหนไกลเล้ย 55555 เอาไว้เดี๋ยวให้มันเสร็จสักตอนแล้วมาอัปเดตกันอีกทีครับ

LINE WebToons / ยุคใหม่ของวงการการ์ตูนและเว็บในบ้านเรา

หลังๆ มานี้ไม่ค่อยได้เขียนอะไรเนิร์ดๆ เพราะลาออกจากวงการเว็บและแอปแล้ว งานอดิเรกที่ชอบคุ้ยหาแอปเจ๋งๆ หรือเครื่องมือพัฒนาเว็บดีๆ ก็เลยจางหายไปด้วย แต่ปริมาณการอ่านการ์ตูนก็ยังคงเส้นคงวา คือไม่ได้เยอะเหมือนนักอ่านสายจริงจัง แต่เรียกว่าอ่านแทบทุกครั้งที่มีเวลาว่าง(อันน้อยนิด)จากการเลี้ยงลูก

แต่ส่วนตัวเป็นคนไม่อ่านการ์ตูนละเมิดลิขสิทธิ์ เพราะอะไรไม่รู้ รู้สึกว่าจะเป็นศักดิ์ศรีค้ำคอของคนทำงานสายสร้างสรรค์ (ก็เป็นข้ออ้างที่น่าจะฟังขึ้น)

ที่สำคัญคือการอ่านการ์ตูนที่สร้างมาเพื่อให้ได้อรรถรสเต็มเปี่ยมเมื่ออยู่บนกระดาษ แต่แม่งดันมาเลื่อนๆ ดูในจอ มันไม่ใช่อะ กระดาษมันต้องพลิกอ่านสิวะ

webtoons

แอป LINE WebToons นี่ ผมรู้จักครั้งแรกก็ตอนที่เล่นไลน์ตามปกติ แล้วพอดีมันอยู่ในหน้าแจกเหรียญฟรี ด้วยความโลภอยากเก็บเล็กผสมน้อยเพื่อโหลดสติกเกอร์ฟรี ก็เลยโหลดมา ลองเปิดดู พบว่ามันเจ๋ง เลยกลายเป็นแอปที่เปิดเสพเป็นอันดับแรกๆ ของทุกๆ วันไปแล้ว (สารภาพว่าเพิ่งรู้ว่ามันมีเว็บก็เมื่อกี้ตอนค้นกูเกิลว่าชื่อมันเขียนยังไงนี่แหละครับ แล้วเวอร์ชันเว็บกฌเสือกครบกว่าในแอปมือถือที่ทำมาดีมากๆ อยู่แล้วอีกด้วย)

การได้เจอแอปดังกล่าว ความคิดที่ว่า “อ่านการ์ตูนมันก็ต้องสัมผัสกับกระดาษสิวะ ถึงจะได้อารมณ์” ก็เปลี่ยนไปตลอดกาล

เปล่าหรอก ไม่ได้บอกว่าการจับกระดาษ สูดกลิ่นน้ำหมึก และพลิกหน้าไปนิ้วดำไปอย่างที่ทำในทุกวันนี้มันไม่ดี แต่วัฒนธรรมรากฐานการผลิตงานการ์ตูนในรูปแบบของ “หนังสือเล่ม” นั้น เขามีกรอบที่เป็นกติกาอยู่

คือเวลาอ่าน มันต้องพลิก / เสพภาพรวม / แล้วค่อยเก็บรายละเอียดด้วยการกวาดสายตา มองซ้าย มองขวา (หรือกลับกันถ้าเป็นการ์ตูนที่อ่านจากขวามาซ้าย) แล้วพลิก / แล้วเสพ / ทำแบบนี้วนไปเรื่อยๆ จนจบเล่ม (ฟินไหม ฟินเนอะ) ซึ่งสิ่งนี้ดันทำได้ไม่ดีเมื่อมาอยู่ในจอคอมหรือมือถือซะยังงั้น เช่นเดียวกับพวกอีแม็กกาซีนต่างๆ ที่ดูยังไงก็ยังยึดติดกับภาพเก่าๆ ว่ามันต้องมีหน้าขวา หน้าซ้าย — หรือแม้แต่จะต้องมีแนวคิดแบบ “หน้า” อยู่เสมอ

ผมเองไม่ชอบเลย เวลาเห็นนิตยสารที่จัดเลย์เอาต์เป็นหน้าๆ เรียบร้อยเหมาะสำหรับการอ่านในเล่ม แต่นี่คือสแกนมาเป็น PDF แล้วเอามาให้อ่านบนจอ คือมันไม่ใช่อะตึ๋ง

ซึ่งพอมาอ่านการ์ตูนในแอปเว็บตูนส์นี่ แม่งเปลี่ยนความคิดเลย

การ์ตูนแต่ละเรื่อง (มีมาจากหลายสัญชาติ รวมถึงไทยด้วย แบ่งแนวเรื่องไว้เรียบร้อย) ใช้วิธีการดำเนินเรื่องแบบที่เหมาะกับการอ่านผ่านหน้าจอมือถือโดยเฉพาะ เพราะมันเป็นภาพนิ่งยาวๆ ต่อๆ กัน (ส่วนมากจะเขียนสวยมากๆ จนชักอยากรู้ค่าต้นฉบับ)

เวลาอ่านก็คืออ่าน หรือกวาดสายตาเสพภาพที่ปรากฏในหน้าจอมือถือ พอเสพจนจืด ก็รูด เลื่อนไปยังจอถัดไป หรือบางโอกาสอาจจะเลื่อนนิดเดียวก็ได้ หรือบางโอกาสก็ต้องเลื่อนลงไปยาวมากๆ ก็มี แต่ละภาพไม่มีกฎเกณฑ์ ไม่มีจำกัดว่าตอนนึงจะต้องมีจำนวนหน้าเท่าไหร่ เพราะบางทีก็เจอทั้งสั้นบ้างยาวบ้าง ขาวบ้างดำบ้าง และสีบ้าง แต่หนึ่งตอนคือเหมือนเราดูซีรี่ส์จบหนึ่งเฮือกพอดี

จะเห็นประสิทธิภาพของการออกแบบประสบการณ์การอ่านนี้ได้ชัดกว่าปกติในการ์ตูนแนวระทึกขวัญครับ เพราะบางทีผู้เขียนก็เว้นจังหวะภาพด้วยการทิ้งที่ว่างไว้มืดๆ ยาวๆ ให้รูดปื้ด ปื้ด ปื้ดดดดดด ไล่ลงมา อึดใจที่รูดก็มีช่วงเวลาที่เราอินไปกับเนื้อเรื่องไปด้วย นั่นก็เป็นอารมณ์หนึ่ง

บางทีก็มีภาพที่เขียนไว้ภาพเดียวยาวๆ แบบพาโนรามาแนวตั้ง เช่นเรื่องวันสิ้นโลกหรืออะไรแนวนี้ (จำชื่อไม่ได้ ขี้เกียจหยิบมือถือมาดู) เวลารูดดูยาวๆ นอกจากจะตื่นตาตื่นใจกับงานภาพแล้ว มันยังทำให้เราจมไปกับเนื้อเรื่องเหมือนเป็นผู้แพนมุมกล้องด้วยตัวเองอีกด้วย

เหี้ย มันเจ๋งมากครับ ประสบการณ์อ่านแบบนี้ ตอนนี้เลยติดหนึบหนับอยู่หลายเรื่องเลย

แถมการ์ตูนก็มีหลายเรื่อง อัปเดตทุกวัน ตื่นมาปั๊บ เอาละ เห็นโนติของเรื่องที่ fav ไว้เด้งขึ้นมา ก็อ่านไปขี้ไป เพลินมากครับ ปริมาณ 1-2 เรื่อง/ตอน มันกำลังเหมาะกับการขี้อย่างพอดิบพอดี คือมึงคิดมาจบมาก

เข้าใจว่าวิธีการผลิตสื่อแบบนี้ในญี่ปุ่นหรือเกาหลีคงมีมานานแล้ว เพราะเขาเป็นสังคมมือถือมาก่อนบ้านเรา การรูดอ่าน และการออกแบบ UX ของแอปแนวๆ นี้คงมีให้เห็นอีกหลายเจ้า (แต่ผมเคยเห็นแค่ไม่กี่อัน นอกนั้นจะเป็นพวก Manga Reader ซึ่งยังไงก็ยังเป็นการพลิกแบบ “หน้ากระดาษ” อยู่)

แต่ของบ้านเรานี่ สถิติการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตผ่านมือถือเอาชนะการเข้าผ่านหน้าจอคอมไปตั้งแต่ปีก่อน (เมื่อก่อนพูดเรื่องนี้จะตกใจและนึกภาพกันไม่ออก แต่ทุกวันนี้มันคือเรื่องธรรมดาแล้ว) ดังนั้นนโยบาย mobile-first นี่คือปัจจุบันแล้ว “มึง ทำเว็บให้มือถือก่อนสิโว้ย” ได้ตั้งนานแล้ว

เพราะต้นทุนการผลิตนิตยสารมันแพงมากๆ แถมผู้อ่านกลุ่มสำคัญยังเลิกอ่านกระดาษ หันไปอ่านผ่านจอ(เถื่อน)แทน นั่นเลยทำให้บูมเจ๊ง และนิตยสารการ์ตูนไทยเกิดมาทีไรก็เจ๊งกันแทบทุกเจ้า เจ้าที่ยังเหลืออยู่ก็ร่อแร่กันทั้งนั้น

ดังนั้นถ้าใครเห็นจุดพลิกผันเมื่อปีที่แล้วนี้ (คนอ่านมือถือ (ไม่ใช่จากคอมนะ) มากกว่าอ่านจากกระดาษ) นั่นคือโอกาสอย่างดีของค่ายนิตยสาร ไม่ว่าจะเป็นแนวการ์ตูนหรือไม่ก็ตาม

คีย์เวิร์ดสำคัญคือทุกคนมีมือถือ มีหน้าจอส่วนตัวกันเรียบร้อยแล้วนะครับ – เฮ้ย โคตรน่าสนุกกกก

ป.ล.
ในเว็บตูนส์นี่ ที่ชอบมีหลายเรื่องนะ ชอบสุดตอนนี้คือเรื่องลูกเต๋า กับเรื่องเซียนเกม ส่วนเรื่องที่เหี้ยมาก แนะนำสำหรับส่งให้เพื่อนที่เกลียด (นี่คือคำชม) คือเรื่องเทพบุตรมิติที่ 10 อะไรสักอย่าง แม่งอุมาก อุจนอยากปามือถือทิ้ง (แต่ก็กด fav และรอคอยการอัปเดตของมันอย่างเหนียวแน่น) ลองโหลดดูครับ อ่านดูสักเรื่อง

ป.อ.
สมัยผมเลิกทำเว็บเฟล ตอนนั้นเป็นช่วงที่เฟซบุ๊กกำลังเริ่มเข้ามามีอิทธิพล และกลืนกินเว็บใหญ่ๆ ตายห่าตายเหี้ยน เว็บเฟลก็โดนผลกระทบพอสมควร (ตอนที่เพิ่งเริ่มทำเฟล นั่นคือแค่มีปุ่มแชร์ขึ้นเฟซบุ๊กทวิตเตอร์ก็โคตรเจ๋งแล้ว) แต่พอมาถึงวินาทีนี้ อยู่ดีๆ ก็มีเว็บ “นอกเฟซบุ๊ก” ผุดขึ้มาเป็นปริมาณมหาศาล โอเคมันมีหลายเว็บที่ “ลอก” BuzzFeed มา แต่ก็ต้องไม่ปฏิเสธว่าการมีอยู่ของเว็บพวกนี้ มันทำแล้วโคตรประสบความสำเร็จเลย โมเดลการหารายได้มันเลี้ยงชีพได้จริงๆ จนน่าเอามาประยุกต์ใช้กับเว็บที่มีเนื้อหา “เป็นของตัวเอง” (อย่างสำนักพิมพ์ที่มีนักเขียนในสังกัด) และใช้โซเชียลต่างๆ ที่ตอนนี้เบ่งบานและสำแดงพลังกันเต็มที่ในขณะนี้ มาช่วยรับรองความสำเร็จ คือถ้าคนทำมีกึ๋นพอ มีเนื้อหาสักตอนสองตอนที่มันดังเปรี้ยงขึ้นมาจนยี่ห้อของตัวเองติดลมบน เท่านี้ก็สนุกสุดๆ ไปเลยนะครับ

ป.ฮ.
เออๆ ให้นึกถึงเว็บดราม่าก็ได้ เพราะอยู่มาตั้งแต่ยุคก่อนเฟซบุ๊กครองประเทศ จนตอนนี้มาถึงยุคมือถือสดๆ ร้อนๆ แล้ว จุดแข็งสำคัญยังคงเป็นการใช้ประโยชน์จากทั้งโซเชียลเองมาเป็นแขนขาเสริมกำลังให้กับเว็บ และใช้กระแสของเนื้อหาที่คัดมาแล้วว่าเป็นของขายได้ตลอด ทำให้มันอยู่ได้ …ไม่ใช่อยู่ได้ธรรมดา แต่อย่างแข็งแรงล่ำซำ มีแฟนคลับและเหล่าสาวกเหนียวแน่นมากๆ ด้วย (ที่จริงไม่ได้ตามอ่านดราม่ากันหรอก แต่คือคอยดูจ่าพิชิตว่าจ่ามันจะซื้ออะไร จะได้รอสักพักให้ลดราคางี้ โคตรศักดิ์สิทธิ์)

ฮิคารุ เซียนโกะ

ผมเป็นคนที่อ่านการ์ตูนช้ามาก

ที่จริงก็ไม่ได้แปลว่าทำอะไรอย่างอื่นเร็วหรอกนะ ส่วนมากจะโดนเมียด่าเรื่องช้านี่แหละ เรียกทีกว่าจะขยับตัวก็ต้องสักพัก แต่กับการ์ตูนนี่ไม่เหมือนกัน เป็นความช้าที่ตัวเองพอใจจะละเลียดไปกับมัน

การ์ตูนเล่มไหนที่ยิ่งชอบมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งพยายามอ่านให้ช้าลงเรื่อยๆ และยิ่งดื่มด่ำกับทั้งภาพทั้งเนื้อหาหนักข้อขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะภาพนี่ ถึงจะการ์ตูนวาดห่วยขนาดไหน แต่ถ้าภาพมันน่าสนใจก็จะยิ่งตั้งใจดูทีละช่องๆ ว่าเขาวาดยังไง (ไม่รู้คนอื่นเป็นรึเปล่านะ แต่ผมเสียเวลากับสิ่งเหล่านี้มากๆ)

สำหรับฮิคารุ เซียนโกะ ผมอ่านในบูม (นิตยสารผู้ล่วงลับ) ในสมัยที่มันเป็นรายสัปดาห์ มันตีพิมพ์ในยุคที่ผมอยู่มหาลัยพอดี จำได้ว่าช่วงนั้นกระแสโกะบูมขึ้นเต็มประเทศจริงๆ ดั่งชื่อนิตยสาร หันไปทางไหนก็มีแต่คนตอบรับกระแส การ์ตูนฉบับรวมเล่มก็มีคนรอบกายซื้อหากันเฉกเช่นการ์ตูนฮิตที่ควรสะสมทั่วไป (ยุคนั้นไม่มีสปอยล์ตามเน็ต–เอาเป็นว่ายุคนี้ผมก็ไม่อ่านสปอยล์ มันไม่ใช่น่ะเข้าใจมะ) ขนาดระดับผู้ใหญ่เองก็ยังมีหนังสือและตำราโกะวางอยู่บนแผงหนังสือขายดีตามร้านอยู่ไม่น้อย แถมยังมีการจัดแข่งขันอะไรต่อมิอะไรเป็นที่คึกคักในบ้านเรา นั่นแปลว่ากระแสมันจุดติด

เป็นความบัดซบของตัวเองในยุคนั้น ที่อยู่ในช่วงอายุที่ไม่ชอบทำตามกระแส (สมัยนั้นคงรู้สึกว่าเท่ แต่พอมองย้อนกลับไปในสายตาลุงอายุ 30 กว่าๆ มึงนี่ปัญญาอ่อนมาก) ผมเลยเลิกติดตามการ์ตูนเรื่องนี้และสารพัดเรื่องเกี่ยวกับโกะอย่างสิ้นเชิง ทั้งที่รู้ว่ามันน่าสนุกมาก และตั้งใจไว้ว่า วันหนึ่งมันเลิกฮิตเมื่อไหร่จะกลับมาอ่าน

จ้ะ เท่มาก

แล้ววันหนึ่งมันก็เลิกฮิตจริงๆ แบบเดียวกับสายลมแห่งกระแสอื่นๆ ที่พัดมาแล้วก็ผ่านไป เป็นอนิจจัง

จนกระทั่งที่ญี่ปุ่นเขามีโครงการเอาการ์ตูนดังๆ มาพิมพ์ซ้ำด้วยขนาดใหม่ ปกสวยขึ้น เก็บงานเนี้ยบขึ้น เล่มใหญ่ขึ้น ..และราคาแพงขึ้น แล้วเรียกมันว่า Ultimate Edition เพื่อหลอกขายผู้ใหญ่ที่ยังมีหัวใจเป็นเด็ก ไล่จากเรื่องนั้นเรื่องนี้ ตีเมืองกระหนาบเข้ามาเรื่อยๆ จนในที่สุดก็มาถึงคิวของฮิคารุ

hikaru

ผมนั้นลืมความรู้สึกของตัวเองเมื่อสิบปีก่อนไปแล้วครับว่าเคยไปกร้าวเกรียนอะไรเอาไว้ แต่พอมาเห็นรวมเล่มใหญ่รู้สึกแค่ว่า เออ เรื่องนี้จัดอยู่ในลิสต์ “ไว้ว่างๆ จะอ่าน” ต่อตูดนิตยสารและหนังสือเล่มอื่นๆ ที่กองหนาเป็นเมตรๆ สมเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการซื้อมาดองไว้แล้วไม่อ่านแห่งลาดปลาเค้า

แต่เรื่องฮิคารุนี่ยังไม่ซื้อนะ เพราะการลงทุนซื้อความสุขเล่มละ 130 บาท คูณ 20 เล่มจบก็ปาเข้าไป 2,600 บาทเข้าไปแล้ว (แต่เอาจริงๆ ไปซื้อตามงานหนังสือที่รวมห่อขายก็ได้ลดกว่านี้อีกหลายบาท) ดังนั้นอารมณ์ที่ว่าไว้เดี๋ยวจะอ่าน ก็จืดจางลงไปทุกที

โชคดีที่มีเพื่อนอย่างไอ้ปิง

ปิงเป็นมนุษย์การ์ตูน นิตยสารบูมที่ผมเคยอ่านสมัยเรียนก็ไม่ได้ซื้อเอง ยืมมันทั้งนั้นแหละ ไหนจะเรื่องอื่นๆ ที่ยังไม่รู้จัก หรือไม่แน่ใจว่าสนุกสมควรซื้อเก็บไว้เองไหม ผมก็อาศัยยืมมันอ่าน เพราะบ้านมันรวยไง (เพื่อนแบบนี้ควรคบไว้นะครับ ดี) จนกระทั่งฮิคารุเล่มใหญ่ตีพิมพ์ออกมา ไอ้ปิงก็ซื้อมาอ่านและเก็บไว้บนหิ้งเรียบร้อย … อันที่จริงต้องบอกว่าไม่ค่อยเรียบร้อยเท่าไหร่ และพอครบ 20 เล่มปล่อยให้ฝุ่นเกาะอยู่บนชั้นรกๆ ของมันอยู่แบบนั้น

ดีที่มีเพื่อนอย่างเราที่เห็นค่าของการ์ตูน ไม่อยากให้การ์ตูนมันเสื่อมสภาพเพราะถูกทิ้งไว้ ก็เลยไปขโมยมันมา (ถ้ามันอ่านบล็อกนี้คงรู้แล้วแหละว่าการ์ตูนหาย)

ของร้อนนั้นเร้าใจเสมอ ผมเลยเลือกลัดคิวอ่านฮิคารุก่อนหนังสือดองเล่มอืนๆ ที่งอนอยู่บนชั้น

ฮิคารุเป็นการ์ตูนสะอาดครับ คือเด็กๆ อ่านได้ (เรต ท. คือไม่มีพิษภัย ไม่มีฉากที่ยั่วยุให้อ่านแล้ววาบหวิวหิวกระหายเพศสัมพันธ์) พอจะสปอยล์แบบไม่เสียอรรถรสคร่าวๆ ได้ดังนี้ครับ มันเป็นเรื่องของเด็กประถมคนนึงที่เป็นมนุษย์ปกตินี่แหละ แต่วันดีคืนดีก็ไปซนเจอกระดานโกะ (หมากล้อม) ที่วางไว้ในห้องเก็บของ แล้วเผอิญว่าข้างในมีวิญญาณที่เป็นเทพแห่งโกะสิงสถิตอยู่

วิญญาณนั้นชื่อซาอิ สมัยที่ยังไม่ตายนั้นเขาเป็นครูสอนโกะให้กับเจ้าในสมัยพันปีก่อน ดังนั้นในเรื่องก็จะใส่เครื่องแบบเหมือนผีญี่ปุ่นชั้นสูงตลอดเวลา แล้วมาวันหนึ่ง นักเล่นโกะที่น่าจะเก่งที่สุด หรือไม่ก็เก่งอันดับต้นๆ ของโลกคนนี้ก็ตายลงด้วยความช้ำใจ ความผูกพันกับสิ่งที่ยังไม่ได้สะสางก็เหมือนกับผีญี่ปุ่นทั่วไป ประมาณว่า กูอยากเล่น อยากเล่นให้มากกว่านี้อีก … สิงอีเด็กห่านี่ซะเลย

ถ้าเป็นพล็อตการ์ตูนเรื่องอื่นๆ อาจจะนำพาให้เด็กฮิคารุนี่โดนสิงแล้วไปทำนั่นนี่เป็นซูเปอร์ฮีโร่แห่งวงการไปแล้ว แต่เรื่องนี้ไม่อย่างนั้นครับ ผู้แต่ง (Yumi Hotta) วางโครงเรื่องไว้ให้ฮิคารุเลือกที่จะเป็นเด็กที่เป็นเด็กน่ะ คือยังเป็นตัวของตัวเอง จากที่ไม่เคยสนใจโกะเลย และเฉยๆ จนเริ่มใจอ่อน เอาวะ กูสานฝันให้ผีซะหน่อย ยอมเล่นตามใจมันหน่อย จนจับพลัดจับผลูเข้าไปสู่วงการหมากล้อมจนได้ เพราะผีผลักนี่แหละ

พวกการ์ตูนในวงการอะไรแปลกๆ สักอย่างนี่ดีนะครับ ก่อนเริ่มลงมืออ่าน เราจะไม่รู้เลยว่าวงการนี้มันคืออะไร โกะมันเล่นยังไง แต่พออ่านๆ ไป มันจะค่อยๆ สอนเราทีละหน่อยอย่างแนบเนียนครับ ไม่ใช่แบบการ์ตูนฟุตบอลที่ลงลึกในเทคนิคของการแข่งขันแต่ละครั้ง (ไม่งั้นแปลงเป็นหมากล้อมนี่คงน่าเบื่อตายชัก) แต่เขาจะมีวิธีนำเสนอให้เรารู้สึกสนุกไปกับมันด้วย โดยที่ไม่ต้องเล่นเป็นก็ได้ หรือถ้าเกิดเล่นเป็นขึ้นมาก็ยิ่งสนุกใหญ่ แบบเดียวกะอีเด็กพระเอกของเรื่องที่แต่เดิมก็โง่ๆ นี่แหละ จับหมากแบบเท่ๆ ยังไม่เป็นเลย แต่พอสนองนี้ดผีในการสิงร่างให้ไปนั่งเล่นกับชาวบ้านจนเขาแตกตื่นกันปั๊บ ฮิคารุเองก็เริ่มค่อยๆ ซึมซับความสามารถในการเล่นโกะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ที่เจ๋งก็คือ อิทธิพลของผีไม่ได้มีส่วนในการเอาชนะใครเท่าไหร่ ความเจ๋งมันอยู่ที่พรสวรรค์และทัศนคติของตัวเด็กเองต่างหาก ว่าเขาค่อยๆ เติบโต ก้าวผ่านความเป็นเด็กธรรมดาๆ ใส่ชุดนักเรียนปะปนกับเพื่อนๆ ที่วันหนึ่งก็ต้องเรียนต่อ จบไปหางานทำ แต่เขากลับเลือกทางเดินอีกแบบด้วยวิธีของตัวเอง ที่มีวิญญาณคอยเป็นผู้สนับสนุน โดยที่พ่อกับแม่ไม่ได้รู้เรื่องอะไรเลย เป็นตัวน่าสงสารที่มองตามลูกที่โตขึ้นพรวดพราด รู้ตัวอีกทีก็ไปถึงไหนต่อไหนแล้วน่ะครับ

มันมีคำศัพท์ที่เรียกว่า Coming of age ที่เอาไว้อธิบายปรากฏการณ์ของเด็กวัยรุ่นเห่อหมอยธรรมดาๆ ที่ไปเจอจุดเปลี่ยนของชีวิตสักอย่างที่ส่งผลอย่างรุนแรงกับเส้นทางที่จะต้องเลือกเดินต่อจากนี้ไปทั้งชีวิต และตัวเอกก็ต้องมุ่งไปสักทาง เพื่อข้ามกำแพงนี้ให้ได้ อารมณ์แบบนี้แหละครับที่สร้างความประทับใจมากๆ (ยกตัวอย่างเป็นหนังก็เรื่องเด็กหอ หรือ Stand by Me หรือการ์ตูนก็ BECK ได้ไหมหว่า?)

และเนื้อเรื่องของฮิคารุก็พัฒนาไปเรื่อยๆ ผู้เขียนก็เขียนไปหาข้อมูลไป ได้เห็นภาพในมุมกว้างขึ้นเรื่อยๆ ผู้วาด (Takeshi Obata) ก็วาดสวยขึ้นเรื่อยๆ (ผมชอบลายเส้นและขนาดช่องการ์ตูนในช่วงท้ายๆ ของเรื่องฮิคารุนี่มากกว่าความอัดแน่นเกินไปในช่วงหลังๆ อย่างเรื่อง Death Note หรือแม่แต่ BAKUMAN อีกนะ มันอ่านสบายตากว่า แถมวาดผู้หญิงดูสวยน่ารัก ถูกจริตกว่า)

จาก 20 เล่ม ผมอดหลับอดนอนละเลียดอ่าน (งงไหม คืออ่านช้าไง แต่ติดหนึบ) จนตอนนี้อ่านไปได้ 15 เล่มแล้ว เนื้อเรื่องแข็งแรงมาก ทุกอย่างบิ๊วมาให้เป็นหนึ่งในการ์ตูนระดับตำนานอย่างสวยงาม คือตอนนี้อ่านไปขี้ไปอย่างสมองโล่งเลยครับ ชอบโมเมนต์เวลาอ่านการ์ตูนที่ประทับใจจนต้องรีบเอามาเขียนอะไรแบบนี้

แต่ก็ต้องมาหยุดชะงักเมื่อพบว่าเล่ม 16 ไม่มี ไอ้ปิงมันเอาไปเก็บไว้ไหนวะ แย่จริงๆ ต้องรีบไปขโมยมาซะแล้ว

จึงตัดจบด้วยประการฉะนี้

ข

พอดีนั่ง backup ข้อมูลในคอมขึ้น Google Drive เลยเจอการ์ตูนนี่ วาดไว้ตั้งกะปี 2549 (2006) แน่ะ พอดีบล็อกเก่าที่เคยอัปไว้สมัยนั้นพังไปแล้ว (จำได้ว่าคนคอมเมนต์หลักร้อยได้ ก็มันเป็นยุคก่อนเฟซบุ๊กนี่นา) ไหนๆ ก็ไหนๆ แล้ว เลยขออัปใหม่อีกทีละกัน

ป.ล.การ์ตูนใหม่ๆ ดันไปวาดในเพจ Endcut หมดเลย เลยไม่ได้ใส่ในบล็อกเลยแฮะ งั้นรอเฟซบุ๊กเจ๊งก่อนคอยทำสำเนามาที่นี่อีกทีจ้ะ