LINE WebToons / ยุคใหม่ของวงการการ์ตูนและเว็บในบ้านเรา

หลังๆ มานี้ไม่ค่อยได้เขียนอะไรเนิร์ดๆ เพราะลาออกจากวงการเว็บและแอปแล้ว งานอดิเรกที่ชอบคุ้ยหาแอปเจ๋งๆ หรือเครื่องมือพัฒนาเว็บดีๆ ก็เลยจางหายไปด้วย แต่ปริมาณการอ่านการ์ตูนก็ยังคงเส้นคงวา คือไม่ได้เยอะเหมือนนักอ่านสายจริงจัง แต่เรียกว่าอ่านแทบทุกครั้งที่มีเวลาว่าง(อันน้อยนิด)จากการเลี้ยงลูก

แต่ส่วนตัวเป็นคนไม่อ่านการ์ตูนละเมิดลิขสิทธิ์ เพราะอะไรไม่รู้ รู้สึกว่าจะเป็นศักดิ์ศรีค้ำคอของคนทำงานสายสร้างสรรค์ (ก็เป็นข้ออ้างที่น่าจะฟังขึ้น)

ที่สำคัญคือการอ่านการ์ตูนที่สร้างมาเพื่อให้ได้อรรถรสเต็มเปี่ยมเมื่ออยู่บนกระดาษ แต่แม่งดันมาเลื่อนๆ ดูในจอ มันไม่ใช่อะ กระดาษมันต้องพลิกอ่านสิวะ

webtoons

แอป LINE WebToons นี่ ผมรู้จักครั้งแรกก็ตอนที่เล่นไลน์ตามปกติ แล้วพอดีมันอยู่ในหน้าแจกเหรียญฟรี ด้วยความโลภอยากเก็บเล็กผสมน้อยเพื่อโหลดสติกเกอร์ฟรี ก็เลยโหลดมา ลองเปิดดู พบว่ามันเจ๋ง เลยกลายเป็นแอปที่เปิดเสพเป็นอันดับแรกๆ ของทุกๆ วันไปแล้ว (สารภาพว่าเพิ่งรู้ว่ามันมีเว็บก็เมื่อกี้ตอนค้นกูเกิลว่าชื่อมันเขียนยังไงนี่แหละครับ แล้วเวอร์ชันเว็บกฌเสือกครบกว่าในแอปมือถือที่ทำมาดีมากๆ อยู่แล้วอีกด้วย)

การได้เจอแอปดังกล่าว ความคิดที่ว่า “อ่านการ์ตูนมันก็ต้องสัมผัสกับกระดาษสิวะ ถึงจะได้อารมณ์” ก็เปลี่ยนไปตลอดกาล

เปล่าหรอก ไม่ได้บอกว่าการจับกระดาษ สูดกลิ่นน้ำหมึก และพลิกหน้าไปนิ้วดำไปอย่างที่ทำในทุกวันนี้มันไม่ดี แต่วัฒนธรรมรากฐานการผลิตงานการ์ตูนในรูปแบบของ “หนังสือเล่ม” นั้น เขามีกรอบที่เป็นกติกาอยู่

คือเวลาอ่าน มันต้องพลิก / เสพภาพรวม / แล้วค่อยเก็บรายละเอียดด้วยการกวาดสายตา มองซ้าย มองขวา (หรือกลับกันถ้าเป็นการ์ตูนที่อ่านจากขวามาซ้าย) แล้วพลิก / แล้วเสพ / ทำแบบนี้วนไปเรื่อยๆ จนจบเล่ม (ฟินไหม ฟินเนอะ) ซึ่งสิ่งนี้ดันทำได้ไม่ดีเมื่อมาอยู่ในจอคอมหรือมือถือซะยังงั้น เช่นเดียวกับพวกอีแม็กกาซีนต่างๆ ที่ดูยังไงก็ยังยึดติดกับภาพเก่าๆ ว่ามันต้องมีหน้าขวา หน้าซ้าย — หรือแม้แต่จะต้องมีแนวคิดแบบ “หน้า” อยู่เสมอ

ผมเองไม่ชอบเลย เวลาเห็นนิตยสารที่จัดเลย์เอาต์เป็นหน้าๆ เรียบร้อยเหมาะสำหรับการอ่านในเล่ม แต่นี่คือสแกนมาเป็น PDF แล้วเอามาให้อ่านบนจอ คือมันไม่ใช่อะตึ๋ง

ซึ่งพอมาอ่านการ์ตูนในแอปเว็บตูนส์นี่ แม่งเปลี่ยนความคิดเลย

การ์ตูนแต่ละเรื่อง (มีมาจากหลายสัญชาติ รวมถึงไทยด้วย แบ่งแนวเรื่องไว้เรียบร้อย) ใช้วิธีการดำเนินเรื่องแบบที่เหมาะกับการอ่านผ่านหน้าจอมือถือโดยเฉพาะ เพราะมันเป็นภาพนิ่งยาวๆ ต่อๆ กัน (ส่วนมากจะเขียนสวยมากๆ จนชักอยากรู้ค่าต้นฉบับ)

เวลาอ่านก็คืออ่าน หรือกวาดสายตาเสพภาพที่ปรากฏในหน้าจอมือถือ พอเสพจนจืด ก็รูด เลื่อนไปยังจอถัดไป หรือบางโอกาสอาจจะเลื่อนนิดเดียวก็ได้ หรือบางโอกาสก็ต้องเลื่อนลงไปยาวมากๆ ก็มี แต่ละภาพไม่มีกฎเกณฑ์ ไม่มีจำกัดว่าตอนนึงจะต้องมีจำนวนหน้าเท่าไหร่ เพราะบางทีก็เจอทั้งสั้นบ้างยาวบ้าง ขาวบ้างดำบ้าง และสีบ้าง แต่หนึ่งตอนคือเหมือนเราดูซีรี่ส์จบหนึ่งเฮือกพอดี

จะเห็นประสิทธิภาพของการออกแบบประสบการณ์การอ่านนี้ได้ชัดกว่าปกติในการ์ตูนแนวระทึกขวัญครับ เพราะบางทีผู้เขียนก็เว้นจังหวะภาพด้วยการทิ้งที่ว่างไว้มืดๆ ยาวๆ ให้รูดปื้ด ปื้ด ปื้ดดดดดด ไล่ลงมา อึดใจที่รูดก็มีช่วงเวลาที่เราอินไปกับเนื้อเรื่องไปด้วย นั่นก็เป็นอารมณ์หนึ่ง

บางทีก็มีภาพที่เขียนไว้ภาพเดียวยาวๆ แบบพาโนรามาแนวตั้ง เช่นเรื่องวันสิ้นโลกหรืออะไรแนวนี้ (จำชื่อไม่ได้ ขี้เกียจหยิบมือถือมาดู) เวลารูดดูยาวๆ นอกจากจะตื่นตาตื่นใจกับงานภาพแล้ว มันยังทำให้เราจมไปกับเนื้อเรื่องเหมือนเป็นผู้แพนมุมกล้องด้วยตัวเองอีกด้วย

เหี้ย มันเจ๋งมากครับ ประสบการณ์อ่านแบบนี้ ตอนนี้เลยติดหนึบหนับอยู่หลายเรื่องเลย

แถมการ์ตูนก็มีหลายเรื่อง อัปเดตทุกวัน ตื่นมาปั๊บ เอาละ เห็นโนติของเรื่องที่ fav ไว้เด้งขึ้นมา ก็อ่านไปขี้ไป เพลินมากครับ ปริมาณ 1-2 เรื่อง/ตอน มันกำลังเหมาะกับการขี้อย่างพอดิบพอดี คือมึงคิดมาจบมาก

เข้าใจว่าวิธีการผลิตสื่อแบบนี้ในญี่ปุ่นหรือเกาหลีคงมีมานานแล้ว เพราะเขาเป็นสังคมมือถือมาก่อนบ้านเรา การรูดอ่าน และการออกแบบ UX ของแอปแนวๆ นี้คงมีให้เห็นอีกหลายเจ้า (แต่ผมเคยเห็นแค่ไม่กี่อัน นอกนั้นจะเป็นพวก Manga Reader ซึ่งยังไงก็ยังเป็นการพลิกแบบ “หน้ากระดาษ” อยู่)

แต่ของบ้านเรานี่ สถิติการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตผ่านมือถือเอาชนะการเข้าผ่านหน้าจอคอมไปตั้งแต่ปีก่อน (เมื่อก่อนพูดเรื่องนี้จะตกใจและนึกภาพกันไม่ออก แต่ทุกวันนี้มันคือเรื่องธรรมดาแล้ว) ดังนั้นนโยบาย mobile-first นี่คือปัจจุบันแล้ว “มึง ทำเว็บให้มือถือก่อนสิโว้ย” ได้ตั้งนานแล้ว

เพราะต้นทุนการผลิตนิตยสารมันแพงมากๆ แถมผู้อ่านกลุ่มสำคัญยังเลิกอ่านกระดาษ หันไปอ่านผ่านจอ(เถื่อน)แทน นั่นเลยทำให้บูมเจ๊ง และนิตยสารการ์ตูนไทยเกิดมาทีไรก็เจ๊งกันแทบทุกเจ้า เจ้าที่ยังเหลืออยู่ก็ร่อแร่กันทั้งนั้น

ดังนั้นถ้าใครเห็นจุดพลิกผันเมื่อปีที่แล้วนี้ (คนอ่านมือถือ (ไม่ใช่จากคอมนะ) มากกว่าอ่านจากกระดาษ) นั่นคือโอกาสอย่างดีของค่ายนิตยสาร ไม่ว่าจะเป็นแนวการ์ตูนหรือไม่ก็ตาม

คีย์เวิร์ดสำคัญคือทุกคนมีมือถือ มีหน้าจอส่วนตัวกันเรียบร้อยแล้วนะครับ – เฮ้ย โคตรน่าสนุกกกก

ป.ล.
ในเว็บตูนส์นี่ ที่ชอบมีหลายเรื่องนะ ชอบสุดตอนนี้คือเรื่องลูกเต๋า กับเรื่องเซียนเกม ส่วนเรื่องที่เหี้ยมาก แนะนำสำหรับส่งให้เพื่อนที่เกลียด (นี่คือคำชม) คือเรื่องเทพบุตรมิติที่ 10 อะไรสักอย่าง แม่งอุมาก อุจนอยากปามือถือทิ้ง (แต่ก็กด fav และรอคอยการอัปเดตของมันอย่างเหนียวแน่น) ลองโหลดดูครับ อ่านดูสักเรื่อง

ป.อ.
สมัยผมเลิกทำเว็บเฟล ตอนนั้นเป็นช่วงที่เฟซบุ๊กกำลังเริ่มเข้ามามีอิทธิพล และกลืนกินเว็บใหญ่ๆ ตายห่าตายเหี้ยน เว็บเฟลก็โดนผลกระทบพอสมควร (ตอนที่เพิ่งเริ่มทำเฟล นั่นคือแค่มีปุ่มแชร์ขึ้นเฟซบุ๊กทวิตเตอร์ก็โคตรเจ๋งแล้ว) แต่พอมาถึงวินาทีนี้ อยู่ดีๆ ก็มีเว็บ “นอกเฟซบุ๊ก” ผุดขึ้มาเป็นปริมาณมหาศาล โอเคมันมีหลายเว็บที่ “ลอก” BuzzFeed มา แต่ก็ต้องไม่ปฏิเสธว่าการมีอยู่ของเว็บพวกนี้ มันทำแล้วโคตรประสบความสำเร็จเลย โมเดลการหารายได้มันเลี้ยงชีพได้จริงๆ จนน่าเอามาประยุกต์ใช้กับเว็บที่มีเนื้อหา “เป็นของตัวเอง” (อย่างสำนักพิมพ์ที่มีนักเขียนในสังกัด) และใช้โซเชียลต่างๆ ที่ตอนนี้เบ่งบานและสำแดงพลังกันเต็มที่ในขณะนี้ มาช่วยรับรองความสำเร็จ คือถ้าคนทำมีกึ๋นพอ มีเนื้อหาสักตอนสองตอนที่มันดังเปรี้ยงขึ้นมาจนยี่ห้อของตัวเองติดลมบน เท่านี้ก็สนุกสุดๆ ไปเลยนะครับ

ป.ฮ.
เออๆ ให้นึกถึงเว็บดราม่าก็ได้ เพราะอยู่มาตั้งแต่ยุคก่อนเฟซบุ๊กครองประเทศ จนตอนนี้มาถึงยุคมือถือสดๆ ร้อนๆ แล้ว จุดแข็งสำคัญยังคงเป็นการใช้ประโยชน์จากทั้งโซเชียลเองมาเป็นแขนขาเสริมกำลังให้กับเว็บ และใช้กระแสของเนื้อหาที่คัดมาแล้วว่าเป็นของขายได้ตลอด ทำให้มันอยู่ได้ …ไม่ใช่อยู่ได้ธรรมดา แต่อย่างแข็งแรงล่ำซำ มีแฟนคลับและเหล่าสาวกเหนียวแน่นมากๆ ด้วย (ที่จริงไม่ได้ตามอ่านดราม่ากันหรอก แต่คือคอยดูจ่าพิชิตว่าจ่ามันจะซื้ออะไร จะได้รอสักพักให้ลดราคางี้ โคตรศักดิ์สิทธิ์)

ม้วนทิชชู่ในห้องน้ำ ต้องคว่ำหรือหงาย?

flamewar

ที่จริงก็สงสัยมานาน คือนอกจากจะเป็นความสนใจส่วนตัวแล้ว ยังไปได้แรงยุเพราะอยู่ดีๆ ฝรั่งเขาก็ลุกขึ้นมาถกเถียงกันเรื่องนี้อย่างจริงจัง ว่าม้วนกระดาษชำระในห้องน้ำเนี่ย ต้องเสียบให้หงายหรือคว่ำ เถียงกันจริงจังระดับโลก มากพอๆ กะบ้านเราที่ถกกันเรื่องวิธีแกะฝาปีโป้ หรือวิธีเรียกข้าวราดแกง หรือแกงราดข้าว พริกน้ำปลา น้ำปลาพริกอะไรแบบนี้

กลายเป็น meme ที่กำลังแพร่ระบาดอยู่ในหนึ่งหลืบแห่งสังคมออนไลน์ที่กว้างใหญ่แห่งนี้ โดยที่ผู้ร่วมสงครามต่างแบ่งฝ่ายกันหาเหตุผลมาคัดง้างกัน ถล่มฝ่ายตรงข้ามกันทั้งแบบมีเหตุผลน่าคล้อยตาม และเถียงหน้ามืดอย่างเอาเป็นเอาตายไม่แพ้กีฬาสีการเมืองบ้านเรา

และฝ่ายชนะดูเหมือนจะเป็นฝ่ายที่เห็นด้วยกับแบบคว่ำ (over) ด้วยเสียงสนับสนุนมากกว่าแบบหงาย (under) นิดหน่อย โดยมีข้อมูลสรุปมากมาย ตัวอย่างเช่นแผนภาพนี้

diagram

หรือถ้าอยากดูละเอียด ก็มีอินโฟกราฟิกนี่เลย

จริงจังกันระดับคุโรมาตี้เลยนะ..

cat

อย่างภาพนี้เขาบอกว่า เหตุผลเดียวที่จะวางทิชชู่แบบหงาย คือถ้าแบบคว่ำ แมวมันจะตะกุยเล่นได้นะ ซึ่งน่าสนใจมาก แล้วอีตาอีกคนก็ออกมาเสนอวิธีแก้ปัญหานี้ให้ ด้วยการบอกว่า “ก็อย่าเลี้ยงแมวสิวะ”

vertical

ส่วนเจ๊อีกคนที่ไม่เข้าใจว่าจะเถียงกันทำไมให้ใหญ่โต ก็ออกมาบอกว่า นี่ ที่จริงแล้วตัวเลือกของมนุษยชาติไม่น่าจะมีแค่หงายกับคว่ำนะ เพราะม้วนทิชชู่มันวางตะแคงก็ได้ (แบบในภาพ) ก็จะเพิ่มตัวเลือกว่าจะให้ดึงแบบซ้ายหรือขวา! ถึงขนาดที่มีคนบอกว่าการวางตะแคงเนี่ยช่วยทำให้ชีวิตคู่ของเขาดำเนินต่อไปได้เลยนะ เพราะเขากะเมียอยู่ฝ่ายตรงข้ามกันมาตลอด ดังนั้นวิธีนี้จึงประเสริฐมาก แต่เอาจริงๆ การดึงทิชชู่ในแนวตะแคงมันก็ไม่ได้ตอบโจทย์ด้านสรีรศาสตร์ และประสบการณ์การใช้งานที่ดีของผู้บริโภคอยู่ดี วิธีนี้จึงไม่นิยม

หนักๆ เข้าก็มีผู้ให้ความเห็นว่า “ก็ไม่ต้องใช้่ทิชชู่เลยสิ สายฉีดตูดไง!” ซึ่งถ้าเป็นบ้านเราที่ใช้น้ำฉีดตูดกันเป็นเรื่องธรรมดาอยู่แล้วก็คงได้รับการสนับสนุนล้นหลาม แต่อันนี้มันปัญหาระดับสากล ฝรั่งเขาไม่ได้มีน้ำใช้เหลือเฟือที่อุณหภูมิพอเหมาะอย่างเรา เวลาหน้าหนาวแล้วต้องฉีดน้ำเข้าไปในร่องตูดนี่มีตายนะครับ ดังนั้นเขาเลยไม่นิยมใช้วิธีนี้กัน

และยังมีความเห็นอีกมากมายก่ายกอง รวมถึงสารพัดทฤษฎีประกอบมากมายที่… เอ่อ วิกิพีเดียครับ

แหล่งที่มาและอ้างอิง:

  • ภาพ Flame Wars บนสุด จากบทความเรื่องเดียวกันนี้ที่ LifeHacker
  • บทความจาก LifeHacker อีกอันที่สรุปอย่างจริงจังและเป็นวิชาการ (บ้าชัดๆ)
  • ภาพประกอบและข้อมูลหลายอย่างจาก Know Your Meme
  • อินโฟกราฟิกจาก Bit Rebels
  • และข้อมูล ผลสำรวจจากแบบสอบถาม พร้อมแหล่งอ้างอิงเป็นร้อยจากวิกิพีเดีย

พฤติกรรมการใช้งานเฟซบุ๊กที่ผิดเพี้ยน

เปลี่ยนโหมดมาคุยเรื่องการออกแบบเว็บกันนิดนึงครับ

ทุกวันนี้ผมเสพติดโลกออนไลน์ จมปลักอยู่หลายบริการ แต่ที่รับไม่ได้จริงๆ คือเฟซบุ๊ก ที่ถึงแม้บ่อยครั้งจำเป็นต้องเข้าไปอ่านเพราะคนไทย (ปกติจะเกลียดการเหมารวม “คนไทย” แต่นี่เราเป็นกันจริงๆ เลยเหมาได้) แม่งเอะอะอะไรก็เอาทุกอย่างไปฝากไว้ในนั้นหมด ขี้หมูขี้หมาก็โยนลงไปจนทุกวันนี้เฟซบุ๊ก = อินเทอร์เน็ตไปแล้ว

ซึ่งมันดันเป็นอินเทอร์เน็ตที่ไม่เสรีเลยนะ แต่ถูกควบคุมด้วยเอกชนเพียงรายเดียว

นั่นเลยส่งผลให้ทุกครั้งไม่ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงอะไร ไม่ว่าจะเป็น Policy ใหม่ หรือประสบการณ์การใช้งานแบบใหม่ ที่ส่งผลกระทบต่อผู้ใช้ ถึงจะแค่นิดหน่อย แต่ถ้ามีผู้ใช้จำนวนมหาศาลโคตรพ่อโคตรแม่อันดับหนึ่งของโลกแบบนี้ เฟซบุ๊กจึงโดนด่าอยู่ร่ำไป ก็ดูอย่าง UI แบบไทม์ไลน์ที่ผมเคยชมนั่นสิ ชาวบ้านด่าจนต้องเปลี่ยนเป็นแบบใหม่ล่าสุดของล่าสุดของล่าสุด (อีกไม่กี่วันก็จะเปิดตัวละ)

ซึ่งก็เป็นสัญญาณอันดีที่จะค่อยๆ เปลี่ยนเว็บที่เปลี่ยนยากที่สุดในโลก (เพราะมันออกแบบมาห่วยตั้งแต่ต้น) ให้ใช้ง่ายขึ้นบ้าง

ที่จริงคำว่า “ใช้ง่าย” เนี่ยไม่เคยเกิดกับเฟซบุ๊กเลยนะครับ มันเลยเป็นเรื่องน่าสนใจมากว่า ที่จริงแล้ว user ทั่วโลกไม่ได้โง่รึเปล่า คนที่เป็นนักออกแบบ UI นั้นถูกปลูกฝังมาตลอดว่าเวลาออกแบบอะไร ให้คิดถึง user ที่โง่ที่สุด แต่เฟซบุ๊กซึ่งเป็นเว็บใหญ่อันดับต้นๆ ของโลก ดันเป็นเว็บที่ใช้งานยาก ปุ่มนู่นนิด ต่อมนี่หน่อย ไหนจะตัวอักษรเล็กจนมดยังต้องเพ่ง หรือระบบนำทางที่ชวนงง กูกดภาพแล้วจะ back ไปอะไรยังไงต่อ เมนูหลักอยู่ไหน ฯลฯ

ที่ผ่านมาเฟซบุ๊กเองก็คงพยายามไม่น้อยแหละครับ ในเรื่องที่จะค่อยๆ เปลี่ยนเว็บให้มันใช้ง่ายขึ้น และตอบโจทย์เรื่องพื้นที่ทุกพิกเซลสามารถสร้างรายได้ได้ ตอนนี้เลยลุ้นอยู่กับการออกแบบไทม์ไลน์แบบใหม่ล่าสุด ว่ามันจะเปลี่ยนอะไรได้แค่ไหน

อุตส่าห์ลอก Google+ มาทั้งที :27:

เรื่องลอกนี่ไม่มีปัญหานะครับ ลอกไปเลย ถึงจะเสียศักดิ์ศรีหน่อย แต่ก็เอาเหอะ เอาให้เนียนๆ ให้ user ที่แอนตี้สุดลิ่มทิ่มประตูอย่างผมรู้สึกว่ามันดีขึ้น ใช้ง่ายขึ้น ใครจะไม่ชอบล่ะ

จบเรื่องบน มาต่อเรื่องล่าง

ทั้งนี้ที่อยู่ดีๆ ก็เขียนบล็อกนี้ขึ้นมา เพราะผมตื่นมาแหกขี้ตาดูข่าวในมือถือ ก็เจอลิงก์นี้

เลยพบว่าการประกาศอะไรที่เป็นใจความสำคัญเนี่ย เจ้าของเพจ (และผู้ใช้ปกติ) จะถูกสั่งสอนกันมาว่า “อย่าโพสต์เป็นข้อความธรรมดาหรือแชร์มาสิ เดี๋ยวไม่มีภาพ หรือภาพมันเล็ก จะไม่เป็นที่สนใจ ดังนั้นให้โพสต์เป็นภาพไปเลย แล้วถ้ามีต้นฉบับก็ให้ใส่ที่มาเอา”

ทั้งนี้เพื่อล่าไลก์ ที่เหี้ยคือไม่ได้เกิดแค่บ้านเรา แต่เขาสั่งสอนกันมาทุกเพจทั่วโลก

กลายเป็นว่าทุกวันนี้เรามีประเภทของโพสต์ที่เป็น “รูปภาพพร้อมคำบรรยายใต้ภาพ” เต็มไปหมด ในฐานะคนออกแบบระบบ พฤติกรรมสุดฮิตที่คนหันไปใช้การโพสต์ภาพ เพื่อจะบอกเล่าเรื่องราวในฐานะข้อความใต้ภาพกันหมดเลยเนี่ย แบบนี้ถือว่าล้มเหลวนะครับ

แก้ยังไง?

ถ้าในฐานะคนออกแบบระบบและประสบการณ์การใช้งาน ก็แก้ง่ายๆ ครับ ในเมื่อเราเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ใช้ทุกคนในโลกทันทีไม่ได้ ก็หันมาเปลี่ยนสเต็ปการโพสต์ จาก “เลือกประเภทข้อความก่อนที่จะโพสต์” (คือเลือกว่าจะเอา text หรือภาพก่อน) ให้กลายเป็น “โพสต์แล้วค่อยแนบภาพหรือคลิปลงไป” แทน

ดังนั้นผู้ใช้จะจะแนบหรือไม่แนบภาพก็ได้ อย่างน้อยแค่มีข้อความก็ถือเป็น “การ์ดข้อความ” 1 ใบ (เรียกว่าการ์ดเพราะผมอิงกับดีไซน์ใหม่ล่าสุดที่กำลังจะเปิดตัว (และลอกมาจาก Google+) นะครับ) แต่ถ้ามีภาพก็แสดงภาพประกอบไปด้วย จบเลย สวยงาม การปรับปรุงประสบการณ์ใช้งานแบบนี้ใช้ได้ดีและเห็นผลมาแล้วกับทั้งทวิตเตอร์และ Tumblr และ แฮ่ม… Google+

แหม พอจะจับภาพประกอบก็พบว่าเฟซบุ๊กเขามีอัปเดต ใส่ไอ้ตัวข้างล่างมาแล้ว สงสัยแวะมาอ่าน 5555 แต่ยังไงผู้ใช้ก็ยังต้องเจอคำสั่งให้เลือกจากด้านบนอยู่ดีว่าจะโพสต์เป็นภาพ หรือเป็นข้อความ ดังนั้นตรงนี้ต้องใช้เวลาตัดสินใจอยู่อีกหน่อย

วิชา UX มันสนุกแบบนี้แหละ ถึงจะนิดๆ หน่อยๆ แต่ถ้าทำให้เว็บใช้ง่ายขึ้นมาอีกหน่อย คนออกแบบก็ยินดีครับ

ป.ล.
ทวีตเรื่องนี้ไปเมื่อกี้ นึกได้ว่าน่าขยายเลยเอามาต่อในบล็อก จบ