ที่บ้านมีทีวีไว้เปิดยูทูบครับ (ใช้ Chromecast)
ตั้งกติกาให้ลูกไว้ว่าในหนึ่งวันสามารถดูทีวีได้ประมาณ 1 ชั่วโมงเต็มๆ ส่วนมากจะเปิดคลิปจากเพลย์ลิสต์นี้ ส่วนของเมียก็จะเป็นอีกเพลย์ลิสต์นึง ซึ่งในนั้นมีรายการ ‘พี่บาร์นีย์’ ด้วย (พอดีผมไม่มีลิงก์ ลองเข้ายูทูบค้นเอานะ มีเพียบ)
บาร์นี่ย์เป็นรายการเด็ก ตัวละครคือไดโนเสาร์สีม่วงตัวใหญ่เท่าควาย มาเล่นกับเด็กๆ อายุประมาณ 4-5 ขวบ โดยเนื้อหาจะเน้นสอนเรื่องประสบการณ์ชีวิต สร้างเสริมลักษณะนิสัย และการงานพื้นฐานอาชีพให้เด็ก สลับกับร้องเพลงที่พอพากย์ไทยแล้วอาจจะฟังดูประหลาดสักหน่อย เนื่องจากไร้ซึ่งความคล้องจองสัมผัสนอกสัมผัสใจ แต่นิทานก็ยังชอบและฟังบ่อยจนร้องได้ทุกเพลง (มีแต่งเนื้อเองด้วย!)
ทีนี้มีตอนนึงที่เพิ่งเปิดดูเมื่อกี้แล้วประทับใจจนต้องเอามาเขียนบล็อกสั้นๆ นี้ เป็นตอนที่กล่าวถึงการอยู่ด้วยกันเป็นครอบครัว
บาร์นีย์บอกเป็นเพลงว่า ครอบครัวนั้นมีความหลากหลาย บางครอบครัวอยู่กันพ่อแม่ลูก บ้างก็อยู่กับแมว กับสัตว์เลี้ยง หรือบางครอบครัวอยู่แค่ตัวหนูเองและคุณยายแค่สองคน แต่นั่นแหละครอบครัว
และความแตกต่างนี่แหละที่เป็นสิ่งพิเศษ
ดูแล้วสะกิดใจเลยครับ ผมโตมากับเพลงอนุบาลที่เคยร้องมาตั้งแต่ยี่สิบกว่าปีมาแล้วตอนรอเข้าแถวเคารพธงชาติสมัยอยู่โรงเรียนวัด และยังวนเวียนอยู่ในหัวมาจนทุกวันนี้ ไม่รู้มีโรงเรียนไหนใช้เพลงนี้สอนเด็กกันบ้างไหมนะ มันร้องว่า
“บ้านของฉันอยู่ด้วยกันมากหลาย มีพ่อมีแม่ ลุงป้าตายาย มี
ทั้งน้าอาพี่และน้องมากมาย ทุกคนสุขสบายเราเป็นพี่น้องกัน”
ไหนจะการโตขึ้นมาโดยที่ทุกคนต้องแต่งเรียงความส่งครูเรื่องพ่ออันสุดประเสริฐของฉัน แม่อันแสนรักลูกสุดชีวิตที่ไม่มีใครรักมากเท่านี้อีกแล้ว เป็นความรักบริสุทธิ์ในอุดมคติแบบที่พวกควรตอบแทนพระคุณในวันแม่ด้วยการถือพวงมาลัยไปก้มกราบเท้าดอกมะลิบนเวทีโรงเรียนกันเราทุกคน …นึกภาพย้อนไปตอนมัธยมที่ผมหันไปเห็นเพื่อนทำหน้าเจื่อนเพราะมันไม่มีแม่
ในขณะที่ทุกวันนี้ ในฐานะที่ตัวเองก็เป็นพ่อของลูกสาวสองคน คืออยู่ในฐานะบุพการีเรียบร้อยแล้ว ผมก็ยังได้ยินคนหลังบ้านที่ดูภายนอกก็ปกติดีเหมือนชนชั้นกลางในกรุงเทพฯ ทั่วไป แต่กลับแหกปากตะเบ็งเสียงด่าและตะคอกลูกชายอายุเท่ากันกับนิทานเป๊ะๆ ด้วยความโมโหร้ายขาดสติ และขาดคุณสมบัติความเป็นแม่ที่ดี (แบบที่กระทรวงวัฒนธรรมอยากเห็น) อย่างชัดเจน คือด่าตะคอกแม้กระทั่งเวลาลูกร้องไห้ อีแม่ก็กรี๊ดดดดดดดดดดดด เสียงดังไปแปดบ้าน (ดังกว่าลูกเยอะ) แล้วตะคอกให้ลูกเงียบด้วยโทนเสียงสูงหวีดแหลมดังกว่าเดิม มลพิษทางเสียงนี้มีให้ได้ยินแทบทุกวัน!
เวลาที่ผมไปยืนล้างจานในครัวแล้วได้ยินเนื้อหาที่เจ๊แกด่า (จะอุดหูหรือเปิดเพลงกลบยังไงก็ได้ยิน เพราะบ้านเป็นตึกแถว เสียงมันส่งถึงกันง่าย) หลายครั้งไม่ใช่เรื่องที่จะต้องโมโหและไปใส่พิษให้ลูกเลยแม่้แต่น้อยนะ ตัวอย่างเช่น เรื่องการที่ถามลูกก่อนตอนอยู่เซเว่นว่าหิวนมไหม แล้วลูกบอกไม่หิว แต่พอมาถึงบ้าน ลูกบอกหิวแล้ว อีแม่ได้ยินเข้าก็กรี๊ดแล้วด่าลูกแรงขนาดให้ไปเกิดใหม่ บางวันลูกร้อง อีพ่อก็ทำเสียงกรรโชกให้เงียบ (เด็กมันจะเงียบไหม) ฯลฯ
คือมึงเป็นแม่ที่ไม่ควรให้เด็กไหว้เลยนะ แล้ววันแม่เด็กมันจะเขียนเรียงความส่งครูยังไง
ผมจำได้ว่าทวีตเรื่องนี้บ่อยครั้งเพื่อหาทางระบายความหงุดหงิดให้ชาวบ้านรับพลังลบไปบ้าง กูจะได้โล่งๆ คือมันอัดอั้นมาก ชีวิตนึงผมเครียดกับเรื่องแค่ไม่กี่เรื่องหรอก เรื่องนี้ถือเป็นหนึ่งในนั้น
พอมาดูรายการของเด็กฝรั่งเรื่องการยอมรับและเข้าใจความหลากหลาย (แบบไม่ต้องพยายามอะไรเลยนะ มันเกิดขึ้นมาอย่างเป็นธรรมชาติอยู่แล้ว) แล้วก็รู้สึกอิจฉาขึ้นมาอีกหน่อย อย่างน้อยก็เอาไว้สอนลูกได้