บรรทัดต่อจากนี้ไปขอให้อ่านโดยนึกอยู่เสมอว่าผมที่เป็นผู้เขียนเนี่ย เขียนด้วยหน้านิ่งๆ ไม่ได้รู้สึกคร่ำครวญหรืออะไร แต่อยากบันทึกความรู้สึกไว้ เพราะคิดว่ามันเป็นช่วงเวลาที่มีค่าดี แน่นอนว่าเขียนเรื่อยๆ นึกอะไรออกก็พิมพ์เหมือนเดิม อย่าหวังความสละสลวย
วันนี้พี่ที่เคารพท่านนึงชื่อจ๋ง (นามสมมติ ซึ่งจริงๆ แกก็ชื่อจ๋ง) นัดสัมภาษณ์ที่ร้านแถวบ้านผม อันที่จริงบ้านผมกะบ้านแกนี่ปุ่นจักรยานไปเจอกันได้ภายใน 10 นาทีด้วยซ้ำ
ประเด็นที่แกมาสัมภาษณ์คืองานวิจัยเกี่ยวกับศูนย์การเรียนรู้แห่งหนึ่ง ผมไม่แน่ใจว่าจะเป็นความลับหรือเปล่า (ลืมถามแก) แต่ก็น่าจะพูดได้แหละ แค่จำมาเขียนไม่หมดเท่านั้นเอง
การสัมภาษณ์นี่ไม่ใช่นั่งถือไมค์ มีบันทึกภาพ หรืออะไรใหญ่โต แต่เป็นการคุยง่ายๆ ในร้านไอติม ดูไกลๆ แล้วเหมือนนั่งเกย์จีบกันมากกว่า ความคาดหวังของคนสัมภาษณ์คืออยากได้มุมมองเกี่ยวกับดีไซเนอร์ กับความคาดหวังต่างๆ เพื่อยกระดับวงการนักออกแบบและสร้างสรรค์ในประเทศไทย
มีเนื้อหาท่อนนึงที่พี่แกพูดขึ้นมาว่า “ไอ้การที่อเมริกามันมีบิลเกต สตีฟจ็อบส์ หรือมาร์กซักเคอร์เบิร์กเนี่ย ไม่ใช่ฟลุกเลยนะ ภาครัฐเขาทุ่มเทกันตั้งเท่าไหร่ กว่ามันจะออกดอกออกผลก็ผ่านไป 20-30 ปี ซึ่งประเทศเราก็ต้องทำได้ โดยเฉพาะในวงการของคนออกแบบ”
ผมนี่อึ้งไปเลยครับ เหมือนตัวเองเล่นมาริโอ้ด่านแรกอยู่ดีๆ แล้วมีโคตรไททันตัวสูง 120 เมตรโผล่มาในฉาก
บทสนทนาในวันนี้เลยกลายเป็นผมซะอีกที่นั่งฟังพี่จ๋งพูดเกี่ยวกับวิสัยทัศน์อันยิ่งใหญ่อลังการ (และอหังการ) ของศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ โดยตั้งใจจะปรับใหม่ เหมือนรีบูตใหม่หมดเพื่อตอบโจทย์ของคนทำงานสายออกแบบ ที่มีวัฒนธรรมการทำงานในโลกใหม่ แบบที่คำว่าบริษัทคือคำเชยๆ ไปเลย
โอเค ที่ผ่านมาผมชินกับคำว่าฟรีแลนซ์ แต่คำว่าสตาร์ตอัป หรือโคเวิร์กกิ้งสเปซอะไรแบบนี้ ดูมันยังไกลตัว เพราะผมเองเริ่มขยับห่างจากคนทำงานมืออาชีพและมีทัศนคติก้าวหน้าเหล่านั้นออกมาทุกทีๆ
คำว่าดีไซเนอร์ที่ผมถูกผู้สัมภาษณ์เรียก จึงฟังดูเหมือน เหมือนอะไรดีวะ เหมือนให้เกียรติเราเกินไป ทุกวันนี้ผมแม่งแทบไม่ได้ทำงานออกแบบเลยเหอะ 5555
กลายเป็นตาลุงว่างงานอยู่บ้านเลี้ยงลูกและพาเมียไปกินข้าวในซอยเป็นอาชีพหลัก อาชีพรองคือสกรีนเสื้อขายงี้ หรือปีนึงคึกๆ ก็เขียนหนังสือขายเอาตังค์ไปให้เมียซื้ออะไรประดับกาย คำว่านักออกแบบมันเลยขยับห่างจากชีวิตไปทุกที เหมือนคนวางมือจากวงการแล้วจริงๆ
แต่นั่นก็ทำให้ผมมานั่งทบทวนตัวเองเหมือนกัน เพราะหลายๆ คำถามในวันนี้ดูท่าทางพี่แกจะสนใจวิถีชีวิตแบบนี้ คือหลุดออกจากระบบบริษัท–ที่จริงคือหลุดออกจากการไปรวมกลุ่มสมาคม ฯลฯ ด้วยซ้ำ เป็นมนุษย์ที่ทำงานอยู่กับบ้าน โดยไม่ได้มีศักดิ์ศรีของนักออกแบบที่ควรจะมีอีโก้และเย่อหยิ่งว่าเราทำงานเพื่อจรรโลงสังคม
อย่าว่าแต่จรรโลงสังคมเลย เอาแค่คำว่าทำงานนี่ ผมก็เกือบจะเรียกได้ว่าไม่ได้ทำเป็นชิ้นเป็นอันแล้ว
รวมถึงงานอดิเรกที่ตั้งใจว่าจะเป็นความอดิเรกไปตลอดชีวิตอย่างเว็บฟอนต์ ที่วันนี้เป็นประเด็นให้พูดถึงและขุดคุ้ยเรื่องที่ตัวเองก็ไม่ค่อยกล้านึกด้วยซ้ำ ตัวอย่างเช่น
เว็บฟอนต์มันเกิดขึ้นมาได้ยังไง มันคือโมเดลที่ยิ่งใหญ่มากรู้ไหม
เหรอวะพี่ ผมไม่เห็นมันจะมีอะไรเลย คือเกิดมาด้วยจุดยืนว่ามันจะเป็นงานอดิเรกส่วนตัว และมีเพื่อนพ้องน้องพี่เข้ามาร่วมแจมด้วยก็เท่านั้น (โดเมนเนม f0nt.com จะมีอายุครบ 10 ปีเต็มในวันพรุ่งนี้หรือมะรืนนี้นี่แหละ ไม่ได้จำ ไม่ได้พิธีอะไร) แต่พอพี่แกพูดไปเรื่อยๆ เกี่ยวกับคุณูปการของมัน ก็เออ ยิ่งใหญ่จริงๆ ก็ได้วะ มันสร้างอะไรขึ้นมาให้กับโลกเราพอสมควร แต่เราเองต่างหากที่ไม่รู้ ไม่เคยมองว่านั่นคือคุณค่า คงเพราะทำมาจนเป็นเรื่องธรรมดา
มีวิธีบริหารคอมมูนิตี้ยังไงให้มันอยู่มายาวนานขนาดนี้ เอาจริงทุกวันนี้ตัวคอมมูนิตี้หลังบ้านที่เคยรุ่งเรืองในยุคเว็บบอร์ดเฟื่องฟู ก็โดนผักตบชวาชื่อเฟซบุ๊กแดกหมดแล้วเหมือนกันพี่ แต่แกนหลักของมัน (ที่เป็นการแลกเปลี่ยนเรื่องการออกแบบตัวอักษร) ก็ยังอยู่ดีเหมือนเดิม
รู้สึกว่าอยากให้มันไปในทิศทางไหน
ผมนึกอยู่นานก่อนจะบอกว่า ใจจริงอยากให้มันเหมือนไลบรารี่ฟอนต์ของไทย แต่พอพูดออกไปก็ชะงักนิดนึง คือเอาเข้าจริงๆ เราไม่เคยนึกเรื่องนี้อยู่ในหัวเลยด้วยซ้ำ ไม่รู้มันงอกมาได้ยังไง อาจจะเป็นเพราะบรรยากาศของคำถามมันรีดจนได้คำตอบนี้ออกมา พอมานึกดูแล้วก็เออ ถึงจะไม่เคยนึกมาก่อน แต่ที่จริงสถานภาพของมันก็ควรเป็นเหมือนกันนะ เพียงแต่ติดเรื่องเวลา และทรัพยากรบุคคล (ซึ่งก็คือตัวกูเองทำอยู่คนเดียวและทุกวันนี้ก็ให้ความสำคัญกับเรื่องอื่นมากกว่า คือทำเว็บมาเป็นงานอดิเรก ไม่ได้มีโมเดลอะไรมารองรับ เรียกว่าอยู่ไปเรื่อยๆ ในมุมมองของนักพัฒนา สิ่งนี้จึงน่าเสียดาย ซึ่งเราก็ไม่เคยนึกเลยเหมือนกัน เพิ่งมาสะดุ้งเอาวันนี้)
ที่จริงเรื่องอะไรแบบนี้เคยคุยกับกลุ่ม TFace มาแล้วทีนึง แต่ก็ไม่ได้สานต่อทั้งเราทั้งเขา
คนในวงการออกแบบบ้านเราต้องการอะไร ปัญหาคืออะไร
บอกได้เต็มปากเต็มคำเลยว่าผมไม่รู้ ตัวเองไม่ได้อยู่ในวงการ หมายถึงกลุ่มคน สมาคม หรือสังกัดอะไรที่มีการรวมตัวพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้และทัศนคติเกี่ยวกับงานออกแบบ แต่ไอ้เราดันอยู่บ้านเปิด Pinterest เงียบๆ คนเดียว (จะเรียกว่าอินดี้ก็ดูจะให้เกียรติเกินไป) และเอาต์พุตของงานก็มีแค่เสื้อยืดที่ทำขายเท่านั้น แต่พอคุยๆ ไป เออ มันมีประเด็นหลายอย่างที่คนทำงานทุกวันนี้มันขาด แต่ไม่รู้ตัว คือถ้ามีขึ้นมาก็ดีมาก แต่มึงไม่รู้ไงว่าตัวเองต้องการ เช่นพวกงานมีตอัป หรืออีเวนต์ หรือเวิร์กกิ้งสเปซสำหรับคนทำงานออกแบบเข้ามานั่งแจมกัน โดยสร้างออกมาให้สอดรับกับพฤติกรรมจริงๆ เช่นแม่งเริ่มงานกันตอนตีสอง สถานที่มันก็ต้องมี ต้องอำนวยให้ อะไรแบบนี้
ผมเลยเสนอไปเรื่องโรงหนังชุมชนของกันตนา ส่วนตัวชอบโปรเจกต์นี้ของกันตนามาก มาตั้งแต่ได้อ่านคอนเซปต์ของโครงการแรกๆ แล้ว คือมันจะเป็นเหมือนเซเว่นในวงการหนัง วางแม่งหน้าปากซอยง่ายๆ มีโรงหนังชวนคนไปดูในห้องแอร์ เก็บตังค์ไม่แพง (รู้สึกจะ 30 บาท ไม่รู้เปลี่ยนยัง) พิธีไม่ต้องเยอะ แต่จุดที่สำคัญคือมันกระจายเข้าถึงชุมชน (ตอนนี้ยังไม่ถึงอุดมคตินี้ แต่เชื่อว่าถ้าได้รับเสียงตอบรับที่ดี กันตนาน่าจะทำได้)
ผมเปรียบเทียบเพื่อจะบอกว่า ห้องสมุดหรือศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบเดี๋ยวนี้มันดูหยิ่ง (จำไม่ได้ว่าใช้คำว่าอะไร แต่พอพิมพ์ๆ นี่อยู่แล้วคำว่ายิ่งมันงอกออกมา) สรุปคือผมเคยไปที่นั่นแค่ 3-4 ครั้ง ทั้งที่ตัวเองในตอนนั้นคือคนทำงานวิชาชีพออกแบบเต็มๆ ตรงๆ นั่นเพราะรู้สึกว่ามันไม่ใช่ที่ของเรา มันสูง มันแตะต้องยาก ซึ่งที่จริงมันก็เหมาะกับหลายคนที่ชอบความเป็นแบบนั้น แต่เราไม่ชอบเท่านั้นเอง
ซึ่งความไม่ชอบนี้เป็นที่สนใจของผู้สัมภาษณ์มากๆ (บ้าจริง) ผมเลยเสริมไปอีกเรื่องคือศูนย์อะไรแบบนี้มันไม่น่าจะต้องไปรวมศูนย์อยู่สักที่แล้วเราต้องขึ้นรถไฟฟ้าไปง้อมันถึงในห้าง แต่มันน่าจะเข้าถึงง่ายเหมือนกับที่เรานัดกันที่ร้านกาแฟปากซอยหมู่บ้าน ลดสเกลลงมาให้กระชับ แต่เข้าถึง ตอบโจทย์คนยุคนี้ที่ไม่เข้าห้องสมุดเพื่อหาหนังสืออ่านกันเงียบๆ อีกต่อไปแล้ว
และที่สำคัญคือตอบโจทย์พวกมวยวัดอย่างเรา
ง่วงแล้ว ยังมีอีกประมาณ 500 ประเด็นที่คุยกันวันนี้ ส่วนมากผมที่ควรจะเป็นฝ่ายพูด กลับเป็นคนฟังด้วยหูตาลุกวาวมากกว่าคนถามซะอีก
สรุปว่าวันนี้ได้คุยหลายเรื่องมากๆ ทั้งหนักเบา ยอมรับว่าพอผมหลุดออกมาจากเก้าอี้ของคนทำงานออกแบบและพัฒนาเต็มตัวปั๊บ มันมีบางอย่างที่ฟังแล้วไม่ทันเหมือนกัน น่าเสียดายและอายเหมือนกัน
ที่แน่ๆ ได้ทบทวนสถานะของตัวเองว่าตอนนี้มึงออกจากวงการทุกวงการที่เคยใกล้ชิด หลุดออกมาเป็นพ่อลูกอ่อน อยู่บ้าน เปิดคอมทำงานวันละ 2-3 ชั่วโมง นอกนั้นคือสนองตัณหาลูกเมียไปวันๆ จบแล้ว ไม่ได้จะพัฒนาโลกหรือเปลี่ยนแปลงสังคมอะไรเลย
พอคุยวันนี้แล้วอยากกลับไปทำอีกนะ มันสนุกฉิบหายเลย แต่รอลูกเข้าโรงเรียนก่อน เพราะยุ่งฉิบหายเหมือนกัน