ไม่ใช่ไทม์แมชชีน แต่มันคือเฟซบุ๊ก

แอนสมัยประถม
(ขอบคุณภาพประกอบจากเตย เมธาวี)

เมื่อคืนตื่นเต้นมากจนทวีตออกมาอย่างรวบรัดว่าอย่างนี้ครับ

เหตุการณ์ก่อนหน้านั้นคืออยู่ดีๆ ก็มีอีเมลเด้งเข้ามาว่ามีคนตอบเราในเฟซบุ๊ก (ต้องอธิบายหน่อยว่าผมไม่ได้ “เล่น” เฟซบุ๊ก ไม่ได้แปลว่าไม่ได้ใช้งาน แต่แปลว่าไม่ได้จมปลักอยู่กับมัน ซึ่งการจมปลักนี้ใช้กับทวิตเตอร์ แม่งเรียกได้ว่าตลอดเวลา ติดต่อง่ายกว่าโทรหากันสักล้านเท่า) เลยกดไปดู

ก็พบว่ามีเพื่อนชื่อจูนทักเข้ามา แล้วลงท้ายด้วยว่ามาจากกรุ๊ปชื่อ อ.ป. ซึ่งเป็นชื่อย่อของโรงเรียนอรุณประดิษฐ เพชรยุรี ที่ผมเคยเรียนอยู่สมัย ป.3 ถึง ป.6

ด้วยความฉงนแกมตะลึง (คือพอจะสปอยล์ตัวเองได้แล้วว่าวินาทีต่อจากนี้ไป จะเกิดอะไรขึ้น) ก็เลยกดลิงก์นั้นเข้าไป และพบกับโลกที่ไม่คิดว่าจะได้เจอ

เพื่อนสมัยประถมหลายคนกำลังูดคุยสนทนากันในกรุ๊ปแบบปิด บางคนแนะนำตัว บางคนโพสต์รูปถ่ายเมื่อสมัย 20 ปีก่อน (เด็กประถมที่ถือกล้องถ่ายรูปเมื่อ 20 ปีก่อนนี่รวยส์จังเลย 5555) เอามาอวดกัน แล้วเริ่มไล่เรียงทายชื่อเพื่อนแต่ละคนที่วิญญาณสถิตอยู่ในภาพถ่ายนั่น

ผมตื่นเต้น ไล่นิ้วปาดดูไปเรื่อยๆ (เปิดในมือถือ) ก็พบว่าไม่สาแก่ใจ เลยวิ่งลงมาหยิบคอม เอาไปวางบนเตียงแล้วนอนคว่ำหน้าเสพภาพมหัศจรรย์ที่เกิดขึ้นตรงหน้า มันคือภาพของเด็กประถมจำนวนมากที่กำลังจัดกิจกรรมอะไรบางอย่าง บางภาพเป็นภาพหมู่ บ้างก็ภาพเดี่ยวๆ แต่ด้วยเทคโนโลยีและราคาของมันในสมัยนั้น ทำให้ทุกคนที่อยู่ในกรอบสี่เหลี่ยมต่างตั้งใจฉีกยิ้ม และเก็กท่าใส่กล้องอย่างเต็มที่

ซึ่งสารภาพว่าผมจำใครแทบไม่ได้เลย แม้เพื่อนหลายคนจะรายงานตัวว่าตัวเองชื่อ นามสกุลอะไร ก็ยังคงจำได้แค่คลับคล้ายคลับคลา

มัธยมกับประถมมันต่างกัน

วัยมัธยมเรามีเพื่อนเป็นศูนย์กลางของชีวิต การมีกรุ๊ปเพื่อนมัธยมมันคือเรื่องสามัญของยุคนี้ไปแล้ว (ยิ่งเพื่อนมหาลัยนี่ไม่ต้องพูดถึง) ดังนั้นการเข้าไปพูดคุยอัปเดตสถานะปัจุบัน และทำท่าทีสนิทสนมกันแบบที่ใครดันลืมชื่อเพื่อนก็ถือเป็นบาป นั่นคือเรื่องปกติ แต่สำหรับเพื่อนประถมนั้นต่างออกไป

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นตอนนี้คือเพื่อนแต่ละคนก็จำกันไม่ได้ จะจำได้ก็ต่อเมื่อลากเพื่อนที่สนิทๆ กัน หรือยังต่อติดจนปัจจุบันเข้ามาในกรุ๊ป แล้วเริ่มแนะนำตัวกันอีกทีว่าตัวเองเป็นใคร ผูกโยงกับเรื่องราวเมื่อยี่สิบปีก่อนว่ามีบุคลิกยังไงตอนประถม หรือพยายามแสดงท่าทางว่าถ้าเพื่อนๆ จำเด็กคนนั้นไม่ได้ ให้นึกถึงเหตุการณ์นี้สิ

ไม่มีเรื่องอะไรที่ต้องอาย เมื่อบอกกันตรงๆ ว่า “เราจำเธอไม่ได้นะ” และเริ่มแนะนำตัวเองใหม่อีกครั้ง — ด้วยชื่อจริง (สมัยนั้นไม่มีใครเรียกกันด้วยชื่อเล่นหรอก โดยเฉพาะผมที่แม่ตั้งชื่อว่าแอน โคตรน่าอายเลย เลยชื่อปรัชญามาตลอด)

มิตรภาพที่เกิดขึ้นมันคล้ายกับเพื่อนใหม่ที่เพิ่งรู้จักกันหมาดๆ แต่มีสายใยอะไรบางอย่างที่ผูกกันบางๆ บ้างก็ขาดไปแล้วเนิ่นนาน แต่วันนี้มันกลับย้อนคืนมาอีกครั้ง

ไม่ใช่แค่เรื่องของเพื่อน แต่หมายถึงเรื่องของเราเอง

สำหรับผม เด็กชายปรัชญาสมัยประถม ไม่มีเรื่องอะไรให้เพื่อนจำไปมากมายไปกว่าการเป็นเด็กเนิร์ด(มากๆ)คนนึง ที่เรียนเก่งที่สุดในห้องของฝั่งชาย (ของฝั่งหญิงจะเป็น “จูน จินตนา” ที่เราเจอกันโดยบังเอิญเมื่อเดือนก่อน ตอนนี้เธอมีครอบครัวแล้วและเปิดร้านขายยาอยู่สมุย) นอกนั้นก็เป็นเด็กที่ชอบนั่งเงียบๆ วาดรูป (หลอดสัส) .. และความทรงจำอื่นๆ ที่พอจะแกะออกมาได้คือเราบ้าหมากรุกมาก เอาหมากรุกไปเผยแพร่ในโรงเรียนจนดังระเบิดตอน ป.6 แล้วมั่นใจมากว่ากูนี่เก่งนักหนา ล้มเพื่อนทุกคนในโรงเรียนได้ จนไปแพ้ อ.สอนคณิตศาสตร์เสียหลุดลุ่ยไม่มีชิ้นดี ฯลฯ

ฯลฯ

ฯลฯ

เมื่อคืนนี้นอนยิ้มและหลับด้วยอารมณ์ดีมากๆ เหมือนตัวเองได้กระโดดกลับไปเป็นเด็กอีกครั้ง ทั้งที่รู้ว่าความทรงจำต่างๆ มันเป็นเพียงสิ่งเสพติดให้เราหลงเคลิ้มไปชั่วคราว แต่พอตื่นมาก็เจอโลกปัจจุบัน ที่มีเมียนั่งสกรีนเสื้อขายอยู่ เคล้ากับเสียงเด็กทารกที่รักการแหกปากร้องและขี้แตกทั้งวัน

แต่ก็เชื่อว่าสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นต่อจากนี้ไปไม่ใช่แค่การหลงอดีต แต่คือการขุดมิตรภาพในอดีตที่ตัวเองไม่เคยนึกถึงว่าจะได้เจอ ให้กลับมาอีกครั้ง ด้วยเทคโนโลยีปัจจุบัน และความสัมพันธ์แบบปัจจุบัน

ผมเขียนบล็อกตอนนี้ขึ้นมาด้วยความตื่นเต้นกับสิ่งที่กำลังเกิด เข้าใจว่าผู้อ่านบางคนคงเคยพบช่วงเวลาแบบนี้มาแล้ว ก็ขอสมัครเข้าเป็นสมาชิกใหม่ล่าสุดของพวกโหยหาอดีตที่กำลังจะเป็นปัจจุบันด้วยคนละกันนะครับ

ขอบคุณมาร์ก ซักเกอร์เบิร์กจริงๆ ครับ (อีมาร์กคงงงว่าเกี่ยวอะไรกะกู)

ป.ล.
จูน จินตนาที่พูดถึงนี่เป็นคนแรกในชีวิตผมที่พูดคำว่า “คอมพิวเตอร์” ให้ได้ยินนะครับ ตอน ป.6 เธอบอกว่ากำลังเรียน “โลตัส” อยู่ ผมไม่เคยได้ยินคำว่าโลตัสมาก่อน (ตอนนั้นห้างโลตัสบิ๊กซีเซเว่นยังไม่มีเลยด้วยซ้ำ) เอาจริงๆ คำว่าคอมพิวเตอร์ก็ไม่เคยได้ยิน แต่รู้สึกว่าแม่งเท่ฉิบหาย .. ปีต่อมาพ่อผมก็เก็บเงินซื้อคอมมาให้ลูกได้เรียนได้หัดบ้าง ถือเป็นวิสัยทัศน์ที่สุดยอดจริงๆ

ป.อ.
ที่จริงผมแอบขุดบล็อกเก่าไว้ที่ Exteen และจะทยอยโพสต์ของรักของหวงสมัยเด็กๆ ไปแปะไว้ที่นั่น ก็ไม่คิดว่าจะได้เจอกรุ๊ปนี้พอดี เออ บ้าอดีตกันเข้าไป (ก็สนุกดีนะ แล้วจะทำไม)

ป.ฮ.
ขออภัยที่ไม่ได้เรียบเรียง พอดีเมียเร่งให้เขียนเร็วๆ จะไปกินข้าว

บางลำพูในวันที่ยังมีต้นลำพู

ใครยังไม่รู้ข่าวต้นลำพูต้นสุดท้ายของบางลำพูที่โดนตัด ก็ไปอ่านจากเว็บ ผจก ก่อนได้นะครับ

สำหรับผมแล้ว ถึงตอนอยู่มหาลัยจะเรียนไม่ไกลจากท่าพระอาทิตย์ สวนสันติชัยปราการ ป้อมพระสุเมรุ และบางลำพูสักเท่าไหร่ แต่ก็เป็นหนึ่งในสถานที่ที่รักเลยแหละตอนนั้น เพราะมันเป็นที่ที่สามารถลงไปกลิ้งชิวได้กลางสนามหญ้า และดูการเคลื่อนไหวของวัฒนธรรมนานาชาติที่ไม่มีใครต้องมาร้องขอให้แสดง เพราะไม่ว่าจะไทยญี่ปุ่นฝรั่งดินแดง ต่างก็มาโชว์ออฟ โชว์ความเท่กันเยอะแยะไปหมด

เมื่อไหร่ที่เบื่อๆ เหงาๆ ไม่มีอะไรทำ ผมก็จะมานั่งอ่านหนังสือ รับลมเย็นๆ ดูวิว ดูหมวยบ้าง ตามประสามนุษย์ชิวแบบไม่มีตังค์จะไปเที่ยวหรือสังสรรค์แบบชาวบ้านเขา

ความผูกพันระหว่างผมกับสถานที่แห่งนั้น ที่มีต้นลำพูร้อยปียืนต้นอยู่ ก็มีเท่านั้นแหละครับ.. ฟังดูไม่โรแมนติกเลยใช่ไหม ก็มันจริงนี่หว่า เดี๋ยวจะหาว่าอินเกินเหตุหรือว่าอะไร แต่ตอนที่ได้ยินข่าวว่าอ้าว เขาตัดอีต้นนี้ทิ้งไปแล้วเหรอ ก็คงมีความรู้สึกโหวงๆ ขึ้นมา ว่าเออ เสียดายว่ะ ธรรมชาติของต้นไม้ชายเลนแบบนี้ที่จริงมันสามารถแตกหน่อแตกกอออกมาได้เรื่อยๆ เนอะ แต่กว่าอีต้นรอบๆ จะโตได้ขนาดต้นแม่มันก็ไม่รู้จะนานแค่ไหน แถมวิสัยทัศน์ของผู้รับผิดชอบการดูแลก็ไม่รู้จะใส่ใจกับ “เรื่องกะโหลกกะลาแค่นี้” ขนาดไหน

ตอนปี พ.ศ.2545 (2002) ผมขอขูดรีดเงินจากพ่อแม่ (ที่ไม่ค่อยจะมีอยู่แล้ว) มาซื้อกล้องดิจิทัลได้สำเร็จ สมัยนั้น Fuji Finepix 6800Z ในตำนาน ราคาฝากเพื่อนหิ้วจากญี่ปุ่นคือ 14000 บาท) ที่ซื้อเพราะข้ออ้างในการเรียนด้วย (ทุกคนควรมีกล้องเพราะใช้ในการออก Site ..แต่ผมไม่มีตังค์ซื้อฟิล์มบ่อยๆ เลยไปศึกษาเรื่องกล้องดิจิทัลมา ก็ได้รุ่นนี้ ทุกวันนี้ยังชอบดีไซน์มันอยู่เลย แถมภาพออกมาก็ไม่ได้แย่สมเป็นกล้องดิจิทัลยุคโบราณซะหน่อย

Continue reading บางลำพูในวันที่ยังมีต้นลำพู

076 | ขัดตาทัพ

ตอนนี้ปั่นงานยังไม่เสร็จหรอกครับ
แต่รู้สึกลอยๆ หมุนๆ ยังไงไม่รู้
เลยมาโพสต์เอากลางดึก

ภาพชุดนี้ขุดมาตั้งแต่สมัยใช้กล้องฟูจิ 6800z ตอนปีสาม
สมัยนั้นไม่ค่อยมีใครถือกล้องดิจิตอลกันนัก
การเดินถ่ายกราดๆ เวลาว่างๆ เลยเป็นความสุขอย่างนึง

ซึ่ง “เวลา” แบบนั้น เป็นสิ่งที่ผมโหยหามันอีกแล้วครับ Continue reading 076 | ขัดตาทัพ