ข้อเสนอ: วิธีใช้ทวิตเตอร์แบบปกติในสถานการณ์ไม่ปกติ

บอกไว้ก่อนว่าข้อเสนอนี้ง่ายฉิบหาย ง่ายจนไม่น่าเชื่อว่ามึงจะเสนอทำไม
แต่เชื่อเถอะว่ามันทำไม่ได้จริง 100% ครับ เพราะพฤติกรรมของผู้ใช้ทวิตเตอร์ ที่คิดว่า “ก็กูถนัดแบบนี้”

.

ไม่ว่าจะเมื่อไหร่ ที่ไหน เวลาเกิดวิกฤตใดๆ ขึ้นมา สิ่งหนึ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ “ข้อมูลข่าวสาร”
แต่ปัญหาก็คือข่าวลือมันเยอะเหลือเกิน วิกฤตที่ผ่านมาอย่างจลาจลปี 53 ก็เป็นตัวอย่างมาแล้ว
ว่าพอเราเข้าไม่ถึงแหล่งข้อมูลข่าวสารเมื่อไหร่ การบอกต่อกันมาโดยใส่เครื่องปรุงคนละนิดละหน่อย
กว่าข่าวจะมาถึงผู้รับ ก็โดนดัดแปลงแต่งเติมจนผิดเพี้ยน จึงเป็นชนวนดราม่าอย่างดีต่อไป

โยนเข้าสู่เรื่องทวิตเตอร์

จุดเด่นของทวิตเตอร์ คือมันเป็นช่องทางกระจายข่าวที่เร็วมากๆ
และมีจุดแข็งที่พวก FWD Mail ต่างๆ หรือแม้แต่ BBM, WhatsApp ไม่มี
คือ มันสามารถสืบย้อนไปถึงต้นตอข้อความแรกสุดได้เสมอ

twitter-rt

ดูจากแผนภาพด้านบนนี้ เห็นเลยว่าเพียงแค่มีต้นตอแหล่งข่าวที่ทวีตอะไรขึ้นมา แล้วมีคน RT
ทุกๆ ข่าวก็จะมีการส่งต่อเพียงระดับชั้นเดียวเท่านั้น ไม่มีการ FWD จนสืบหาต้นตอไม่ได้เหมือนเจ้าอื่นๆ
ในกรณีน้ำท่วม ถ้าเจ้าของทวีตแรกเป็น ศปภ เองก็จะน่าเชื่อถือที่สุด (อันนี้ผมประชดครับ)

ทีนี้ปัญหาก็คือ ที่ผ่านมาเราไม่ค่อยเรียนรู้การใช้งานทวิตเตอร์ที่ถูกต้อง เพราะเห็นว่าไม่จำเป็น
คุณครับ ในยามปกติคุณจะใช้อะไรก็ใช้ไปเถอะ จะตอบทวีตด้วยการ RT แล้วเติมข้อความให้รกๆ ก็ทำไป
แต่ในสถานการณ์ไม่ปกติ และการข่าวมีความสำคัญนาทีต่อนาที และส่งผลต่อการตัดสินใจของคนขนาดนี้
ผมขอความร่วมมือช่วยกันเผยแพร่ “วิธีใช้ทวิตเตอร์แบบปกติ” ให้ช่วยกันหน่อยเถอะครับ
(หลายคนเห็นหัวข้อบล็อกก็อาจจะสงสัยว่าทำไมต้องมีคำว่า “แบบปกติ” ด้วย เดี๋ยวจะอธิบายให้อ่านนะ)

01 ใช้ #Hashtag แบบปกติ

ใครที่รู้แล้วอ่านข้ามไปเลยครับ ส่วนใครรู้แล้วแต่แกล้งทำเป็นไม่รู้ ลองแวะอ่านดูหน่อย
คือทวิตเตอร์ (และ Google+) เนี่ย พอเราใส่ข้อความภาษาอังกฤษใดๆ ที่นำด้วย # มันจะคลิกได้
เท่านั้นยังไม่พอ ระบบมันจะกรองไอ้ที่คลิกๆ ไปมาแสดงเฉพาะได้ มีประโยชน์มากในสถานการณ์แบบนี้
ทีนี้ในสถานการณ์แบบนี้เราตกลงกันหลวมๆ ว่า “เรามาใช้ #thaiflood กันเถอะ”
โอเคครับ แท็กนี้มันเกี่ยวข้องโดยตรงกับเว็บ thaiflood ที่กดไปแต่ละข่าวก็ยิงเข้าเว็บ kapook กันทั้งนั้น
ทั้งที่จริงแยกระบบให้ขาดจากกันมันไม่ยากอะไร.. แต่เอาไงดีล่ะ สถานการณ์แบบนี้ จะยอมไหม?
ผมยอมครับ สิ่งที่ thaiflood ทำนั้นมีประโยชน์มาก ถือเป็นเว็บจิตอาสาที่เห็นผลชัดเจนที่สุดแห่งหนึ่งเลยล่ะ
แต่ติดแค่นิดเดียวตรงที่พอโยนเข้า kapook แล้วมันดูไม่สง่างามเท่านั้นเอง อันนี้ก็วิจารณ์กันตรงๆ ชัดเจน
(เพิ่งแสดงความเห็นวิจารณ์กับ @suppakij และ @yokekung ไปเมื่อกี้นี้เอง ใครจะแตกหน่อก็ได้นะครับ)

ทีนี้เรายังเห็นการใช้แท็กที่กระจัดกระจายประมาณว่าเราจะสร้างแท็กใหม่ที่มันอินดี้กว่า
เช่น #rangsitflood หรือ #pathumflood หรือ #floodthailand อะไรแบบนี้ขึ้นมา
อยากบอกว่าถ้าใช้คู่กันกับแท็กหลักผมว่าโอเคนะ แต่ถ้าต้องการฉีกออกไปเพราะอินดี้อันนี้ไม่เห็นด้วย
เพราะผู้สนใจและบุคคลที่เกี่ยวข้องต่างก็ใช้ #thaiflood กันจนเรียกว่าเป็นทางการไปแล้ว ตามๆ เขาเหอะ
(ธรรมชาติของมนุษย์โลกออนไลน์คือไม่ชอบให้ใครมาชี้นิ้วสั่ง หรือตั้งเป็นกฎครับ แต่นั่นมันยามปกติ)

02 ใช้ Reply แบบปกติ

อันนี้สำคัญมาก! โดยเฉพาะพวกดาราทีวีที่นอกจากตัวเองจะใช้ผิดแล้วยังชักพาให้แฟนๆ ใช้ผิดไปด้วย
(ผมไม่ดูทีวีรายการบันเทิง ดังนั้นดาราทีวีก็คือมนุษย์ธรรมดา ไม่ได้เป็นอำมาตย์เหนือใคร ..ยกเว้นน้องเต้ย)
เวลาคุยกัน การกดปุ่ม Reply แปลว่าตอบ ..ครับ ง่ายๆ แค่นี้เอง
ทวิตเตอร์มันใช้ง่ายเพราะเขาออกแบบมาแบบนี้ อย่าไปกระแดะอยากให้ข้อความเดิมแสดงในทวีตเราด้วย
แล้วกลายเป็นการ “RT ตอบ” (ใครกันนะแปล RT ว่า Reply To .. โธ่ อีกรวยไต)

แล้วมันเกี่ยวอะไรกะเวลาวิกฤต?

  • การตอบทวิตเตอร์แบบธรรมดา ถ้าใครไม่ได้ follow ทั้งคู่ มันจะไม่ไปแสดงเกะกะใน Timeline
    (สารภาพว่าผมเพิ่งรู้ข้อนี้แหละ ถึงว่าสิพอกดไปดูใน Profile แต่ละคนทำไมมันมีไอ้ที่เราไม่เห็นเยอะจัง)
    การ “RT ตอบ” นั้น ทำให้เกิดขยะที่ผู้อ่านไม่ได้ต้องการจะรู้มากมายงอกขึ้นมา
    เวลากวาดสายตาอ่านจะเอาสาระ ความเข้มข้นของข้อมูลก็จะลดลง มีแต่ผักบุ้งครับ
  • ไม่ว่าจะใช้โปรแกรมอะไรเล่นทวิตเตอร์ เราสามารถกดที่ข้อความเพื่ออ่านบทสนทนาย้อนหลังได้ครับ
    ซึ่งดีกว่าอ่านไม่รู้เรื่อง >> RT a:เป็นไง // RT b: a: เป็นไง/ยังไม่ท่วม แกล่ะ // RT a: แต่ชั้น.. (ที่ไม่พอ)
    ที่สำคัญและผมเน้นมากๆ คือเรื่องการ Track ดูบทสนทนาย้อนหลัง..
  • การ Track บทสนทนาย้อนหลังมีประโยชน์มาก!
    เช่นถ้าเป็นข้อความเชิงแจ้งเหตุหรือขอร้องใดๆ เราสามารถสืบย้อนดูได้ “ตามเวลาจริง”
    โดยต้นฉบับของข้อความไม่ถูกตัดขั้วบิดเบือน ลองนึกภาพน้ำกำลังมา.. เวลาจริงนี้จะสำคัญมากครับ
    หรือในกรณีที่มีการโต้เถียงวิพากษ์วิจารณ์อะไร เราสามารถอ่านย้อนเป็นลำดับขั้นได้ เวิร์กเช่นกัน

03 ใช้ RT แบบปกติ

เหตุผลหนึ่งที่คุณ @Physics_Lek บอกไว้ ทำให้ผมต้องมาเขียนบล็อกนี้ให้จบหลังจากดองมาเป็นอาทิตย์
(ตอนนั้นที่เขียน น้ำเพิ่งจะโจมตีอยุธยาเอง แล้วข่าวลือมันเยอะเหลือเกิน แต่ป่วยซะก่อนเลยเพิ่งหายมาเขียนต่อ)
นั่นเพราะข่าวลือมันเยอะเหลือเกิน แล้วใครเป็นต้นตอก็ยากเสียด้วย เพราะเราทำลายหลักฐานกันหมดแล้ว
ด้วยการ “RT แบบไม่ปกติ” นี่แหละครับ แต่จะเป็นไปด้วยความหวังดีหรือประสงค์ร้ายก็ไม่รู้สินะ..

พูดปากเปียกปากแฉะซ้ำซากและกระแนะกระแหนเซเล็บ (=ความหมายในเชิงประชดประชัน) ไม่รู้กี่รอบแล้ว
แต่เราก็ยังเห็นหลักสูตรนักการตลาดชอบเอาไปเปิดอบรมสอนสั่งกันว่า “การทวีตที่ดี ต้องเว้นที่เผื่อให้คน RT ต่อ”
เฮ้ย จะเว้นทำไมครับ ในเมื่อทุกโปรแกรมที่ใช้เล่นทวิตเตอร์นั้น พอกด RT ปั๊บ มันก็บอกต่อข้อความต้นฉบับได้เลย
ลองเลื่อนหน้าจอขึ้นไปดูข้างบนครับ จะเห็นแผนภาพอุดมคติที่ทวิตเตอร์ควรเป็น
คือข้อความลำดับชั้นที่ 1 โดยผู้ส่งสาร ส่งถึงผู้รับในวงกว้างได้เลยโดยไม่ถูกดัดแปลงข้อความและ “เวลา”

แต่การไปกด RT ตามด้วยการกด Edit  ข้อความ ตามด้วย.. (เหนื่อยนะ) เนี่ย มันคือการ “ตัดขั้ว” ข้อมูลนะครับ
ข้อมูลด้านเวลาที่ฝังไปกับข้อความจะหายฉัวะไปทันที ดังนั้นเราไม่สามารถยืนยันได้เลยว่าต้นฉบับมันมาตอนไหน
ที่สำคัญคือไม่มีทางรู้ได้เลยว่าต้นตอเขาทวีตจริงหรือมีการแอบอ้างให้เกิดการเสียหาย
(ไม่ตลกนะครับ เคยมีคนดังที่เถียงกับคนไม่ดัง แล้วใช้การ RT ปลอมๆ ทำร้ายรคู่แข่งมาแล้วจริงๆ ในไทยนี่แหละ)

สำหรับกรณีนี้เราจะพบเวลามีข้อมูลสำคัญมากๆ แล้วเกิดการบอกต่อเป็นร้อยๆ พันๆ ครั้ง
เช่นการประกาศอย่างเป็นทางการ หรือข้อมูลฉุกเฉิน ซีเรียส เข้มงวด หรือมาคุ หรือแม้แต่ฮาโคตรๆ
มันจะมีบางคนที่เก๋าๆ หน่อยที่ชอบ “ตัดขั้วทวีต” โดยกด Edit (และหรือตัดแต่งข้อความให้มันไม่ล้น 140 ตัวอักษร)
ทำให้ส่งข้อความปั๊บ จะโชว์หน้าอวตารตัวเองติดไปด้วยเสมอ ทำให้มีคนที่เห็นกด follow เพิ่มขึ้นพรวดพราด
และโกยแต้มตามเว็บวัดค่าอิทธิพลออนไลน์ต่างๆ (เฮ้ย! ดูเหมือนเป็นเรื่องตลก แต่มีคนเป็นแบบนี้จริงๆ นะครับ)
แต่นั่นไม่ค่อยเป็นประเด็นที่จะพูดถึงในยามวิกฤตเท่าไหร่ เพราะยามนี้เราจะเห็นหลายๆ สำนัก
ต่างรณรงค์ให้ใส่ “เวลา” ลงไปด้วยเพื่อความไม่สับสน ที่จริง “เวลา” มันฝังอยู่บนข้อความแล้วครับ
ขอแค่คนที่เอาไปบอกต่อนั้น ใช้วิธี RT แบบปกติ ไม่ต้องพิสดารตัดขั้วให้มันเสียความบริสุทธิ์ไป ก็เท่านั้นเอง
และคนที่เขาจะเอาไปเขียนโปรแกรมแจ้งเตือนอะไรต่อ ก็ใช้ข้อมูลตรงนี้แหละได้เลย ไม่ต้องไปกรองเพิ่ม
ที่สำคัญคือ ในยามวิกฤตและต้องการขอความช่วยเหลีอเนี่ย พื้นที่ 140 ตัวอักษรมันมีค่ามากๆ ครับ 

แล้วคนที่อยากให้มันไปโผล่ใน Facebook ล่ะ?
เห็นหลายคนติดตั้งตัวเชื่อมอะไรๆ ให้ไปโผล่ในเฟซบุ๊ก แต่ถ้า RT ปกติจะไม่โผล่
อันนี้ก็ต้องอนุโลมแหละครับ แต่ทางที่ดี อยากให้เขียนแก้ไขเป็นสำนวนตัวเองไปเลย
(แล้วใส่ที่มาเป็นเครดิตผู้ทวีตต้นฉบับก็เป็นที่เข้าใจได้ อย่างน้อยก็ให้เกียรติกันนี่เนอะ)
ดีกว่าไปตัดทอนข้อความของต้นฉบับซึ่งเจอมาหลายทีละว่าความหมายมันเพี้ยนไปเลยครับ

แนะนำทวิตเตอร์ที่ RT แบบปกติได้เป็นปกติอย่างมืออาชีพครับ: @paipibat, @SpringNews_TV

.

ในฐานะที่ตัวเองก็เป็นคนหนึ่งที่เสพติดและคลุกคลีกับทวิตเตอร์มากๆ คนนึง เลยอยากให้มันดีขึ้นๆ
ก็อยากให้เข้าใจว่าทำไมหลายคนถึงต้องจ้ำจี้จำไชว่าเฮ้ย มึงอย่า RT ตอบสิ มันรำคาญตา ฯลฯ
ซึ่งที่จริง แค่เราใช้มันให้ “เป็นปกติ” ไม่ต้องไปคิดวิธีพิสดารสวมลงไป เท่านี้ก็เกิดประโยชน์สูงสุดแล้วครับ

ป.ล.
ปกติผมใช้คำว่า วิกฤติ มากกว่า วิกฤต (เขียนได้สองแบบ) คราวนี้ลองเขียนอีกแบบดู
เออ ดีเหมือนกัน ประหยัดตัวอักษรไปหนึ่ง สมเป็นเรื่องเกี่ยวกะทวิตเตอร์เสียจริง

ป.อ.
ผมเขียนด้วยสำนวนที่ไม่น่าอ่านเท่าไหร่ อัดความเห็นของตัวเองด้วยอคติเต็มที่ แถมพาดพิงคนนั้นคนนี้
แต่ทั้งหมดนี้เพราะหวังจะให้ทวิตเตอร์เป็นเครื่องมือที่สร้างประโยชน์สูงสุดในยามคับขันครับ
ยังไงก็ฝากพิจารณาก่อนบอกต่อนะครับ เดี๋ยวดราม่าอีก แค่นี้ไทม์ไลน์ก็รกพออยู่แล้ว  :30:
หรือถ้าอยากเสนอไอเดียอะไรก็เชิญที่ด้านล่างได้เลย ถือว่านี่เป็นหนึ่งในหลายเรื่องที่ต้องช่วยกันครับ