ประชาธิปไตยและการเมืองไทยในทรรศนะของข้าพเจ้า

democrazy

เมื่อเย็นวานเป็นวันแห่งการเป่านกหวีดสำหรับม็อบใหญ่ เป็นม็อบที่ท่าทางจะจุดติด และน่าสนใจที่สุดในรอบปีที่ผ่านมา เพราะประเด็นที่ฝ่ายรัฐบาล “เชิญแขก” มานั้นแข็งแรงมากๆ คือมีเหตุผลเข้าท่า หากจะนำไปสู่การล่มสลายของรัฐบาลได้เลย ..หรือที่จริง การมีม็อบรณรงค์อย่างบริสุทธิ์ใจนั้นไม่เคยมีครั้งไหนที่สามารถล้มรัฐบาลได้เลย …จนกว่าจะมีคนตาย – เอาจริงๆ แกนนำม็อบเลยยิ้มที่มุมปากเสมอเวลามีคนตายไงล่ะ เป็นตำรายุทธพิชัย :(

เดี๋ยวๆ ก่อนที่จะเข้าเรื่องม็อบ มาเข้าเรื่องการเมืองก่อน

ไหนๆ เคยเขียนบล็อกบันทึกเรื่องทรรศนะส่วนตัวด้านพุทธศาสนาแล้ว ก็ขอบันทึกทัศนคติทางการเมืองหน่อย จะได้รู้ว่า ณ วันนี้ เราคิดแบบนี้ แล้ววันข้างหน้าจะเปลี่ยนไปแค่ไหน รวมถึงไม่รู้อีกกี่ปีข้างหน้าพอมาย้อนดู จะจำได้ไหม

ทีแรกกลัวว่าเสนอความเห็นแล้วจะดูโง่ แต่วันหนึ่งก็นึกได้ว่า ที่จริงประชาธิปไตยนั้นเป็นระบอบที่ถูกออกแบบมาเพื่อทุกคน ไม่ว่าจะโง่หรือฉลาด ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ชอบการถกเถียงและแสงความคิดเห็นก็ตาม เมื่อคิดได้ดังนั้น เลยรู้สึกอุ่นใจขึ้นมานิดนึงว่า นอกจากเราแล้วก็ยังมีคนที่โง่ (และโง่กว่าเรา) อยู่เยอะแยะไป ก็ไม่เป็นไรนี่นา ทำไมต้องฉลาดก่อนแล้วค่อยมีสิทธิ์พูดล่ะ?

ประชาธิปไตยนั้นอนุญาตให้คนไม่สนใจการเมืองเลย สามารถอยู่ด้วยได้อย่างแฮปปี้พอๆ กะพวกหายใจเป็นการเมืองมิใช่หรือ

แต่อีกแว้บนึงก็รู้สึกว่า อุณหภูมิการเมืองในช่วงเกือบสิบปีที่ผ่านมามันเซนซิทีฟเกินไปนะ คืออยู่ดีๆ ใครก็ตามดันแสดงความคิดเห็นทางการเมืองขึ้นมา คนคนนั้นจะต้องถูกดึงเข้าวังวนดราม่า และถูกแปะป้ายอะไรสักอย่างลงบนตัวไปตลอดกาลทันที ช่างเป็นบรรยากาศที่ผลักไส และไม่เป็นมิตรต่อการแลกเปลี่ยนความเห็นโดยสันติเอาซะเลย

บรรยากาศในอุดมคติคือเรามานั่งพูดคุยเรื่องการเมืองกันเหมือนพอดูหนังจบเราคุยเรื่องหนัง พอออกไปกินข้าวแถวบ้าน เราคุยกันว่ามันอร่อยไหม แพงไปปะ คราวหน้ามากินอีกไหม ไม่ใช่แบบติ่งใต้น้ำหรือสาวกหน้ามืด ที่ทะเลาะกันแบบขาดสติ คือไม่รู้จะไปอินอะไรกันนักกันหนากับค่ายที่ตัวเองเชียร์ โอเค มันเกี่ยวพันกับชีวิตเรา แล้วข้าวร้านที่เราไปกินก็เกี่ยวกับชีวิตเราไม่ต่างกันไม่ใช่หรือ?

เริ่มยังไงดีหว่า นึกเป็นข้อๆ ไปละกัน

1.
ระบอบประชาธิปไตยต้องเป็นโอเพนซอร์ส
กติกาใดๆ ที่เลือกคนมาถืออำนาจนั้น “มันมีรูรั่วอยู่เสมอ” ไม่มีทางสมบูรณ์ได้เลย เพราะนี่เรากำลังเล่นเกมอยู่กับมนุษย์ที่มีขีดความสามารถในการดิ้นได้เสมอ และเพราะอำนาจคือผลประโยชน์ก้อนใหญ่พอที่จะลงทุนกับมัน ดังนั้น “ที่มาของอำนาจ” ที่ยังมีข้อบกพร่อง จึงไม่ใช่สิ่งพิสูจน์ความขาวสะอาดของผู้ชนะที่มีสกิลศรีธนญชัยได้นะครับ แต่ประชาธิปไตยคือระบอบที่ออกแบบมาให้ค่อยๆ คลำหาข้อบกพร่องนั้น และปรับแก้กันไปจนมันดีขึ้น แต่ก็ต้องอย่าลืมแยกกันให้ออกระหว่าง “การได้มาซึ่งอำนาจ” กับ “การใช้อำนาจ” นั่นแปลว่า ถ้าคนจะเหี้ย ก็สามารถใช้ช่องโหว่ของกติกาที่ดีไซน์ไว้ไม่รัดกุมพอ มาตักตวงผลประโยชน์เข้าตัวได้อยู่ดี กรณีศึกษามีเป็นร้อยเป็นพันให้เห็น (หันไปมองวงการฟุตบอล)
ในทางกลับกัน ถ้าเกิดจะไม่เอาละ ประชาธิปไตย กูอยากได้ระบบอื่นที่มั่นใจว่าได้ “คนดี” ชัวร์ (คนดีเนี่ย เป็นคำที่เขาประชดกัน และประโยคถัดมาก็จะตามมาด้วยพฤติกรรมลับๆ ที่เหี้ยๆ แล้วถามเย้ยๆ ว่า ไงล่ะ คนดีของมึง?) ก็ต้องบอกว่าอย่าเลย ขนาดประชาธิปไตยที่เป็นระบบที่ออกแบบให้มีการยืดหยุ่นและปรับปรุงนั่นนี่ได้เสมอ ยังเจอรูรั่วขนาดนี้ แล้ว “ระบบปิด” อย่างอื่นมันจะไปเหลืออะไร
นี่จึงเป็นหลักฐานที่ชี้ว่าอย่างไรก็ตาม ประชาธิปไตยเป็นกติการ่วมกันทางสังคมที่โอเคที่สุด ที่เปิดโอกาสให้ลองผิดลองถูกไปอีกชั่วลูกชั่วหลานจนกว่าจะได้ระบบที่ลงตัวขึ้นเรื่อยๆ ไม่มีหรอกที่สมบูรณ์ 100%
แต่ก็ใช่ว่าจะไปสรรเสริญไม่ลืมหูลืมตา ถ้าเจอข้อพกพร้อง ก็ต้องช่วยๆ กันแก้ ในหลายเวอร์ชันที่ผ่านมา เมื่อใดก็ตามที่มีการปรับแก้กติกา ไม่ว่าจะโดยประชาชนเอง หรือโดยกลุ่มผลอำนาจ กลุ่มประโยชน์ไม่กี่คนก็ตาม เราจะเห็นได้ว่ามันแอบยัดดอกจันตัวเล็กๆ ไว้เสมอ เช่น อยู่ดีๆ มาเร่งแก้ประเด็นจำนวน ส.ส.ในแต่ละเขตไรงี้ ซึ่งคนเสนอแก้ก็คือ ส.ส.เองที่กำลังถืออำนาจในการปรับกติกาอยู่ ไรงี้ (ซึ่งกติกาเราออกแบบให้พวกเขานั้นอำนาจเพื่อการนี้เองนี่หว่า) มันเลยเป็นโดมิโน่ไปสู่สิ่งอื่นๆ

2.
เชื่อในระบบการโวยวายของคนอย่างเราๆ เพื่อถ่วงดุล ตรวจสอบ (และประจาน) การกระทำผิดของผู้มีอำนาจในทุกวงการ ยิ่งเป็นยุคนี้ที่ทุกอย่างไฮเทคและโซเชียลพอ เรื่องอะไรแบบนี้มันทำได้ไม่ยากอยู่แล้ว เลยไม่ค่อยเห็นด้วยกับการบอกว่าถ้าไม่ชอบรัฐบาลทุจริต ก็ให้นั่งเฉยๆ อดทนสี่ปี แล้วค่อยเลือกพรรคอื่น เพราะกติกาออกแบบไว้ให้ประชาชนมีช่องทางเล่นงาน(ในกติกา) และรัฐบาลก็ต้องเงี่ยหูฟังว่าเขาด่าเรื่องอะไร
แต่การตรวจสอบที่ว่า พอมาใช้กับระบบราชการ ถ้าผิดจริงกลับถูกทำโทษด้วยการแค่ “ย้าย” ไปที่อื่น…

3.
ย้ำว่าการได้มาซึ่งอำนาจกับความสง่างามบนเก้าอี้มันคนละเรื่องกัน ทีแรกก็ไม่ค่อยเคลียร์เท่าไหร่นะข้อนี้ แต่พอเห็นตัวอย่างจากหนังสารคดี “ประชาธิปไทย” ของเป็นเอก ก็พบว่าพอใครก็ตาม (เอาตั้งแต่คณะราษฎรเลยเหอะ) ที่ลงทุนกับการเปลี่ยนแปลงมากๆ เมื่อขึ้นไปอยู่บนเก้าอี้ปั๊บ ก็จะยิ่งกอดแน่น เพื่อพยายามรักษาความมั่นใจของตัวเองว่าสิ่งที่กูทำมาตลอดนั้นถูก ถึงกูจะต้องเปลี่ยนคอนเซปต์นิดนึง แต่กูจะล้มลงไปแบบไม่สวยไม่ได้ บทเรียนนี้มีมาตลอด ใครยังไม่ได้ดูสารคดีเรื่องที่ว่า ลองหาดูนะ เขาเปิดฉายเรื่อยๆ

4.
หัวใจของระบอบประชาธิปไตยควรอยู่ที่สิทธิและเสรีภาพของประชาชน มากกว่าการโฟกัสไปที่ “กระบวนการการเลือกตั้ง” ซึ่งก็แค่ปากทาง คือการได้มาซึ่งผู้ปกครอง (ที่จริงต้องใช้คำว่า “ผู้บริหาร” มากกว่าผู้ปกครอง เห็นมะ ย้อนแย้งมะ) ดังนั้นนิยามของประชาธิปไตยมันจึงไม่ได้มีแค่การเลือกตั้ง (พูดแบบนี้นี่สลิ่มเลยนะ) แต่ต้องกลืนเป็นธรรมชาติกับการดำเนินชีวิตประจำวันของเรา เช่น การใช้ชีวิตเป็นมนุษย์เงินเดือน ทำงานอยู่ในออฟฟิศ การใช้ชีวิตเป็นนักเรียนนักศึกษา เรามีสิทธิอะไรอย่างที่สมควรหรือเปล่า การขึ้นรถตู้ รถเมล์ รถไฟฟ้าล่ะ สิทธิของเราถูกเบียดเบียน หรือไปเบียดเบียนใครหรือเปล่า เราได้ทำอะไรที่อยากทำมากแค่ไหน อะไรที่เขาห้ามทำแล้วแต่เรารู้สึกว่ามันละเมิด เราลุกขึ้นพูด หรือแสดงออกอะไรบางอย่างเพื่อหาทางแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ไหม ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นตลอดเวลาแม้กระทั่งในหน่วยย่อยๆ อย่างครอบครัว ท้องถนน โรงเรียน ออฟฟิศ เว็บบอร์ด กรุ๊ปเฟซบุ๊ก ฯลฯ เลยนะครับ ไม่เห็นต้องไปเปิดช่องการเมืองแต่อย่างใด อยู่ที่เราจะสนใจมันหรือเปล่า แค่ไหนเท่านั้นเอง
จะเห็นว่าทั้งหมดที่ว่ามานี้มันใหญ่กว่าแค่เรื่องการเลือกนักการเมืองเยอะเลย

5.
ดราม่ากองเชียร์กีฬาสีในรอบหลายปีที่ผ่านมา ฝ่ายหนึ่งบอกว่าอยากได้การเมืองใสสะอาด ไม่ทุจริต ไม่คอร์รัปชัน อีกฝ่ายบอกว่าอยากได้สิทธิ หลักประชาธิปไตย แล้วสองฝ่ายก็ตีกัน บาดเจ็บล้มตาย คำถามคือ อีสองอย่างมันก็ไปด้วยกันได้ไม่ใช่เรอะ ทำไมฝ่ายหลังถึงไม่พูดเรื่องทุจริต และฝ่ายแรกมองข้ามเรื่องสิทธิหว่า หรือที่จริงก็มี แต่มันดึงอารมณ์ร่วมของมวลชนที่เป็นมุษย์คนละประเภทกันให้คล้อยตามได้ยาก ก็เลยเล่นผลิตวาทกรรมซ้ำๆ มันซะประเด็นเดียว ซึ่งก็ทำให้สงสัยว่าที่มวลชนเป็นแบบนี้เพราะการวางคอนเซปต์เพื่อแยกเขาแยกเราที่ว่านี่รึเปล่า เช่นฝั่งนึงก็จะตะโกนแต่ว่า เราต้องการคนดี คนเลวออกไป (อ้าวแล้วกติกาล่ะ) กับอีกฝั่ง แกนนำก็สะกดจิตมวลชน จนรู้สึกว่าเรามีพลังแค่การกากบาทเลือกตั้งเท่านั้น พลังการตรวจสอบหายไปจากพจนานุกรมเลย

6.
โตพอจะเข้าใจเรื่องการรัฐประหารก็เมื่อครั้งล่าสุดตอนปี 2549 ที่ผ่านมานี้เอง และเห็นข้อดีข้อเดียวของรัฐประหารครั้งนั้น คือทำแล้วคนเดือดร้อน ด่ากันฉิบหายวายวอดตั้งแต่ระดับชาวบ้านยันระดับนานาชาติ จนยากที่จะมีใครคิดลงทุนกับมันอีก เพราะพอถึงวินาทีนี้แล้ว คนส่วนใหญ่ในสังคม “ไม่เอา” รัฐประหาร ดังนั้นใครคิดจะ รปห ก็ลำบากหน่อย เดิมพันสูงกว่าเดิมมากๆ เผลอๆ จะมากจนผมชักจะกลัวว่า ถ้าเกิดมีขึ้นจริงมันจะยิ่งน่ากลัว และพาสู่สังคมโกลาหลได้อีกหลายปี แต่ไม่เคยเห็นคนรอบข้างทั้งออนไลน์และออฟไลน์ที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล มาเชียร์ให้ทหารออกมารัฐประหารเลยนะ เห็นแต่บทความของฝ่ายเชียร์รัฐบาลนี่แหละที่พูดแต่ “กลิ่นรัฐประหาร” กันบ่อย และพูดมาตลอด เข้าใจว่าน่าจะมีไอ้บ้าสักตัวที่จะใช้กำลังแบบนี้จริงๆ

7.
สมเพชคนทะเลาะกันแล้วด่า “กด” ฝ่ายตรงข้ามว่าโง่ โดยใช้คำว่า “สลิ่ม” หรือ “ชนชั้นกลาง” หรือ “คนดี” เป็นนัยแฝง ในขณะที่อีกฝ่ายด่ากันตรงๆ ว่า “ควายแดง” เอาเป็นว่าไม่ว่าจะด่ากันด้วยอะไรถ้ามันคิดเผื่อไว้ว่าฝ่ายตรงข้ามอ่านแล้วจะรู้สึกถูกเหยียดหยาม แม่งก็ไม่ดีทั้งนั้นแหละ … เขาเรียกรวมๆ กันว่า Hate speech ใช่มะ

8.
เวทนาคนเสียเพื่อนเพราะกีฬาสี

9.
เชื่อว่าทุกเรื่อง แม้กระทั่งเรื่องต้องห้ามอย่างเรื่องเจ้าเรื่องวัง ควรพูดคุยกันได้ ในเจตนาแห่งความสุภาพ มีเหตุผล (แน่นอนว่าต้องออกแบบกติกาให้รองรับการพูดคุยนี้ได้) คือ ตอนดูหนังประชาธิปไทยรอบสุดท้าย (ตอนนั้นคนดูแน่นโรงที่เอสพละนาดเลยนะ) จุดที่ฮาที่สุดคือตอนที่ผู้ถูกสัมภาษณ์ในหนังพูดถึงเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์แล้วโดนดูดเสียง (ใช่ หนังโดนกองเซ็นเซอร์สั่ง) คือปากขยับนะ แต่ไม่มีเสียง ปล่อยเงียบๆ แบบนั้น ยิ่งเงียบนาน เสียงคนดูหัวเราะยิ่งดัง เป็นตลกร้ายสุดๆ เลยครับ

10.
เห็นด้วยกับการเสนอให้แก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยเฉพาะปริมาณโทษ และกระบวนการดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด หรือผู้ต้องสงสัย คนที่ฟ้องไม่ควรเป็นใครก็ได้ (ที่มันมั่วๆ มาจนทุกวันนี้ก็เพราะการเป็นใครก็ได้นี่แหละ) แต่ควรมีหน่วยงานที่เหมือนอัยการสำหรับคดีแบบนี้ อาจเป็นหน่วยงานในสำนักพระราชวังก็ได้ — แต่ไม่เห็นด้วยกับการยกเลิกกฎหมายมาตรานี้

11.
ที่จริงข้อนี้เขียนไว้นานมากแล้ว แต่เพิ่งมารวมกันลงในบล็อกเดียว — ผมไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมแบบเหมาเข่ง (ตอนนั้นยังไม่มีคำว่าสุดซอย) ผมเห็นด้วยกับพรรคประชาธิปัตย์ในเรื่องการเคลียร์ความจริงให้เสร็จก่อนดัน พ.ร.บ. นิรโทษกรรม คือความจริงทั้งหลายมันยังไม่ปรากฏ ก็เชื่อว่าไม่มีทางที่จะปรองดองกันได้ จะอ้างเหตุผลว่าอยากให้อุณหภูมิการเมืองสงบลงด้วยความปรองดอง แต่การจะได้มาซึ่งคำว่าปรองดอง (ที่ถูกนำมาใช้จนช้ำเละเนี่ย) มันต้องเคลียร์ปัญหาที่อยู่บนพรมและใต้พรมก่อน ไม่ใช่โบกปูนทับไปเลย
ส่วนเรื่องใหม่ที่เกิดขึ้นในไม่กี่วันที่ผ่านมา จนดัน พ.ร.บ.อย่างเรื่องที่จะขอกด undo การตัดสินของศาล ลามไปถึงปี 2547 นั้น อันนี้เหี้ยครับ ผมไม่ยอมรับครับ โอเค มันเป็นการผลิตซ้ำ และตอกย้ำข้อมูลที่ดิสเครดิตทักษิณจากฝั่งตรงข้าม ที่ทุกวันนี้ชิงชังกันจนถอยกลับไปไม่ได้อีกแล้ว แต่ในฐานะผู้ฟังข้อมูล เราเห็นด้วยกับเรื่องที่เขาประท้วงขึ้นมา มันเสียงดังพอที่คนเสื้อแดงจำนวนมากจะรู้สึกว่า เหี้ยแล้วไหมล่ะ

12.
ผมรังเกียจพรรคประชาธิปัตย์ แต่อาจจะน้อยกว่าเพื่อไทยที่มีข้อครหาเรื่องความไม่โปร่งใส เช่น ตัวเลขขาดทุนของการจำนำข้าว, เหตุผลในการสร้างเขื่อนแม่วงก์, ที่มาของพระราชบัญญัติเงินกู้ 2 ล้านล้าน รวมถึงเรื่องใหม่ที่เรียกแขกมาร่วมม็อบฝ่ายตรงข้ามได้เยอะมากจนน่าจะจุดติดแล้วแหละ อย่างเรื่อง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม… พอทั้งสองพรรคมันมีอะไรแปลกๆ ผมเองเลยคงเป็นพวกแกว่งๆ มากกว่าจะจม หรืออินอยู่กับพรรคใด (พี่ @malimali พูดไว้น่าสนใจว่าการเมืองเนี่ย ใครอินก่อนแพ้) คือถ้ามีอะไรน่าสนใจก็พร้อมฟัง
และขณะเดียวกัน เรากลับเห็นว่าการด่าว่านายกโง่ พากันไปขย่มที่จุดด้อย นอกจากความสะใจที่ได้พ่นความเกลียดชังแล้ว มันไม่ส่งผลดีอะไรกับฝ่ายตัวเองเลย คือถ้าแน่จริงมึงลองสู้แล้วเอาชนะฝ่ายตรงข้ามที่ฉลาดให้ได้สิ

13.
พอพูดถึงประชาธิปัตย์แล้ว ก็นึกขึ้นได้อีกข้อนึงว่า ในบรรดา ส.ส.ทั้งหมดนี่ ผมเชียร์แค่คุณอลงกรณ์นะครับ

ทักษิณและประชาธิปัตย์

ผมรับฟีดเพจของคุณโตมร ศุขปรีชา เลยได้อ่านบทความนี้ แล้วรู้สึกชอบมาก ชอบจนทั้งแชร์ ทั้งทวีต ทั้งโพสต์ลงบอร์ดไปหมดแล้ว เหลือแค่แปะในบล็อกนี่แหละครับ เลยขออนุญาตคัดสำเนามาลงอีกรอบ ไว้เผื่อเตือนใจตัวเองและเหล่าสาวกเดนตาย (ที่จริงไม่มีใครควรตายเพือคนอื่นเลย) ทั้งหลาย

ต้นฉบับอยู่ที่นี่ และต้นตอมาจากนี่อีกที

อยากให้อานความเห็นของคุณ ‘ประภากร’ ที่อยู่ในกระทู้นี้ ดังต่อไปนี้ครับ :

ดิฉันมีความเห็นว่า ความกังวลของอจ.สุลักษณ์ ที่มีต่อพรรคของทักษิณหรือความที่อจ.เห็นว่าพรรคของทักษิณนั้นน่ากลัวกว่าพรรคประชาธิปัตย์ก็คือ “ความอ่อนแอของพรรคประชาธิปัตย์” นั่นเองค่ะ เหตุผลที่การเมืองไทยยังก้าวข้ามทักษิณไม่ได้ ก็เพราะ เรายังไม่มีพรรคการเมืองที่เข้มแข็งพอที่จะเป็นคู่แข่งของพรรคทักษิณ

การที่ประชาธิปัตย์ยังหลงวนเวียนอยู่ในเขาวงกตของการปลุกปั่นอารมณ์ผู้คนให้เกลียดชังทักษิณ ด้วยข้อหาเผาบ้านเผาเมือง หรือล้มเจ้า จึงทำให้พวกเขาไม่สามารถพัฒนาตนเองเพื่อค้นหาสูตรนำทางสู่ความสำเร็จที่จะพิชิตอำนาจของทักษิณ ได้โดยมิต้องอิงแอบวิธีการสกปรกเหล่านั้น นั่นแหละคือความน่ากลัวของทักษิณ

วันนี้เสื้อแดงส่วนใหญ่เลือกสนับสนุนทักษิณ ก็เพราะ”รังเกียจ” พฤติกรรมที่ว่ามาของพรรคประชาธิปัตย์ โดยอาจเลือกที่จะมองข้าม ความเป็นนักธุรกิจ นักกลยุทธ์การตลาด ในคราบนักการเมืองของทักษิณที่ถือโอกาสช่วงชิงอำนาจทางการเมืองโดยวิธีการทางการตลาดที่ทันสมัย การใช้จิตวิทยามวลชนการตลาดเพื่อสร้างความนิยมจากประชาชนที่รักความชอบธรรม รักมนุษยธรรม รักประชาธิปไตย และที่ขาดไม่ได้คือทักษิณได้ความนิยมจากกลุ่มคนไม่เอาเจ้า

ทักษิณใช้ประโยชน์จากพฤติกรรมดังกล่าวของประชาธิปัตย์เองในการสร้างความนิยมจากมวลชน ทักษิณอิงแอบผลของการรัฐประหาร ผลของการอิงแอบเจ้าของประชาธิปัตย์ เพื่อปลุกปั่นมวลชน ไม่ต่างกับประชาธิปัตย์ อาจเลวร้ายกว่าอย่างที่อจ.สุลักษณ์ว่า อันนี้คนเสื้อแดงที่แอบไม่เอาเจ้าคงจะรู้ดี ว่าในเวทีเสื้อแดงต่างๆ นั้น รักเจ้าหรือเกลียดเจ้ากันแน่ และอะไรเป็นปัจจัยหลักทีทำให้คนเสื้อแดงเกลียดเจ้า ถ้าทักษิณรักเจ้าจริง ทำไมทักษิณไม่ดำเนินการใดๆ ที่จะขจัดปัจจัยนั้น ทั้งๆ ที่มีอำนาจเต็มอยู่ในมือ

ความคลั่งไคล้ในความเป็นผู้นำของทักษิณของคนเสื้อแดง หรือแม้กระทั่งเผื่อแผ่ไปถึงถึงยิ่งลักษณ์ นั้น มิได้มาจากคุณงามความดีหรือความเก่งฉกาจในตัวของคุณทักษิณและคุณยิ่งลักษณ์ล้วนๆ แต่มันเกิดขึ้นมาจากการตลาดการเมืองเชิงจิตวิทยา ที่บังเอิญเหลือเกินที่คู่แข่งแบบประชาธิปัตย์และกองทัพ ได้เล่นเกมพลาดติดต่อกันอย่างต่อเนื่องมาหลายครั้งแล้ว

วันนี้คุณทักษิณ หยิบยืมกลยุทธ์ที่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมเคยใช้คุณอภิสิทธิ์ มาเป็นเครื่องมือในการสร้างความนิยมให้กับพรรคของตัวเองหลายอย่าง ดราม่าทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นภาพลักษณ์ที่ดีของคุณยิ่งลักษณ์กับผู้นำต่างประเทศ-ความสวยประหนึ่งดารา นางแบบ-สิ่งที่ประชาชนทั่วไปมองเห็นและชื่นชมคุณยิ่งลักษณ์ ก็คือภาพผู้นำที่คล้ายกับเป็นตัวแสดงนำที่ตีบทแตกในละครเรื่องต่างๆ ยิ่งสลิ่มทุบตีคุณยิ่งลักษณ์ เสื้อแดงก็ยิ่งรักยิ่งสงสารนางเอกแบบยิ่งลักษณ์ รวมไปถึง ภาพของคุณพงศพัศ ที่ถอดแบบของคุณอภิสิทธิ์ ในแบบที่ผู้ดีมีการศึกษานิยมชมชอบกัน นี่ยังไม่นับเรื่องประชาธิปัตย์คอยหาเรื่องจะเอาทักษิณมาลงโทษเพียงเพราะเซ็นชื่อรับรองว่าคุณหญิงพจมานเป็นเมีย ในกรณีที่ดินรัชดาอีก ยิ่งทำให้เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ คนเสื้อแดงที่รักความเป็นธรรม เค้ายิ่งสนับสนุนทักษิณ

ถ้าลองสังเกต คำวิจารณ์ที่ฝ่ายเสื้อแดงติติงคุณสุขุมพันธ์ก็จะเห็นว่า คำวิจารณ์เหล่านั้นแทบไม่แตกต่างกับคำวิจารณ์ที่ฝ่ายสลิ่มติติงคุณยิ่งลักษณฺ์ และฝ่ายประชาธิปัตย์เองที่เคยเรียกร้องภาวะผู้นำจากคุณยิ่งลักษณ์ ในเรื่องของความสามารถในการพูดในที่สาธารณะ หรือความมีประสบการณ์ทางการเมือง วันนี้คุณพงศพัศ มีคุณสมบัติเกือบทุกอย่างที่คล้ายคลึงกับคุณอภิสิทธิ์

นี่แหละคือ “ความน่ากลัว” ที่พรรคของทักษิณมีมากกว่าพรรคประชาธิปัตย์ เพราะมีจำนวนคนที่คลั่งทักษิณมากกว่าคลั่งอภิสิทธิ์ ที่สำคัญคือคนกลุ่มนี้ ไม่รู้ตัวว่ากำลังคลั่งในสิ่งที่ทักษิณใช้เป็นเครื่องมือ แต่กลับเชื่อว่าตัวเองกำลังต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยอยู่

ประชาชนที่ตัดสินใจเลือกข้างแล้ว ไม่ว่าจะเลือกประชาธิปัตย์หรือเลือกเพื่อไทย มัวแต่ดราม่ากับการเชียร์ข้างตัวเอง และขยายขอบเขตความเกลียดชังฝ่ายตรงกันข้าม จนละเลยที่จะเรียกร้องให้ฝ่ายที่ตัวเองสนับสนุนอยู่ ให้ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงพัฒนาตัวเอง หรือร่วมกันตรวจสอบพรรคการเมืองที่ทำหน้าที่บริหารประเทศ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมและเพื่อนร่วมชาติที่ยากไร้

ทุกวันนี้ พอมีคนออกมาวิจารณ์การทำงานของเพื่อไทย เสื้อแดงกลุ่มหนึ่งก็จะร่วมกันผลักไส ด่าทอ ให้เขาไปอยู่ฝั่งอำมาตย์ โดยไม่ได้สนใจเนื้อหาของคำวิจารณ์ ว่าในความเป็นจริงเพื่อไทย ทำงานบกพร่องแบบที่พวกเขาวิจารณ์หรือไม่ เช่นเดียวกันกับเวลาที่มีคนออกมาสนับสนุนประชาธิปัตย์ เสื้อแดงก็จะประนามกล่าวหาว่าคนพวกนี้สนับสนุนรัฐประหาร สนับสนุนเผด็จการ ทั้งๆ ที่เสื้อแดงเองก็อ้างว่าตัวเองกำลังต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย แต่กลับไม่รับฟังเหตุผลของคนที่ไม่อยากเลือกเพื่อไทย

สถานการณ์การเมืองไทยคงก้าวข้ามทักษิณไปไม่ได้ง่ายๆ อย่างที่หลายๆ คนคาดหวัง หากพรรคทางเลือกแบบประชาธิปัตย์ ยังทำตัวเหลวไหล ยึดอัตตาของตัวเองเป็นหลัก มีผู้นำที่เอาแต่โอ้อวดว่าตัวเองเก่ง เจ๋งกว่าทักษิณ แต่ไร้ความสามารถในการพัฒนากลยุทธ์ที่ที่จะเอาชนะพรรคของทักษิณได้

ถ้าผู้นำประชาธิปัตย์ ยังมองไม่เห็นจุดอ่อนของตัวเอง และเอาแต่โทษทักษิณ โดยไม่ปรับปรุงตัวเอง หรือปรับปรุงทัศนคติทางการเมืองให้ยืนอยู่เคียงข้างประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ ถ้าผู้นำประชาธปัตย์ยังเลือกมองชาวเสื้อแดงเป็นศัตรู แทนที่จะมองว่าพวกเขาเป็นประชาชนชาวไทยที่นักการเมืองมีหน้าที่ต้องรับใช้ ดูแลทุกข์สุข ให้พวกเขามีเสรีภาพและมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นตามระบอบประชาธิปไตย ในแบบที่ประเทศพัฒนาแล้วหลายๆ ประเทศเค้าทำกันอยู่ ทักษิณก็คงจะอยู่ในใจของชาวเสื้อแดงไปอีกนาน

สำหรับประชาชนชาวเสื้อแดง ก็ลองถามตัวเองดีๆ อีกครั้งหนึ่งนะคะ ว่า พวกคุณชื่นชมยินดีและเชื่อใจฝ่ายบริหารที่พวกคุณเลือกมาแบบพรรคเพื่อไทย ที่แต่งตั้งคนของตัวเองเข้าไปดำรงตำแหน่งโน่นนี่ในรัฐวิสาหกิจกันพรึบพรับ โดยมีข่าวคราวเรื่องคอรัปชั่นของโครงการใหญ่ๆ ที่พวกเขาอ้างกันว่า จะต้องมีเพื่อพัฒนาระบบโลจิสติกส์ ระบบสาธารณูปโภค หรือ รายจ่ายอื่นๆ ของภาครัฐฯ พวกคุณรู้สึกกันแบบนี้จริงๆ หรือคะ?? นี่หรือคะ ประชาธิปไตย ที่เพื่อนๆ ของพวกคุณยอมเสียสละเลือดเนื้อชีวิตและอิสรภาพไปประท้วงกันมา?? แค่ขอให้นิรโทษกรรมนักโทษการเมืองพวกเขายังไม่กระตือรือร้นที่จะทำให้เลย อ้างว่ากลัวเสถียรภาพรัฐบาลจะสั่นคลอน แต่แท้ที่จริงแล้ว ยังถอนทุนคืนไม่ครบกันหรือเปล่า??

ความสัมพันธ์ระหว่างพรรคเพื่อไทยและชาวเสื้อแดงในวันนี้ คล้ายกับคนลงทุนทำธุรกิจร่วมกัน ถ้าเสื้อแดงยังไว้ใจให้เพื่อไทยบริหารประเทศแต่ ขาดความรู้ในการตรวจสอบและรู้เท่าทันอย่างเพียงพอ โดยสันดานนักธุรกิจมีฐานันดรเป็นอำมาตย์แบบไทยๆ ทักษิณและเพื่อไทยเค้าก็ต้องกอบโกยประโยชน์ให้กับพรรคพวกของเค้าก่อนที่จะคิดถึงประชาชนที่ซื่อสัตย์ มีอุดมการณ์อยู่วันยังค่ำ
คนเป็นเพื่อนกันมาทำธุรกิจร่วมกัน ยิ่งต้องตรวจสอบกันให้หนัก เรียกร้องให้เพื่อนทำเพื่อส่วนรวมอย่างตรงไปตรงมาและหนักแน่น จะได้รักษามิตรภาพเอาไว้ให้ยืนยาว

ภาคประชาชนควรจะรวมพลังกันและคอยตรวจสอบนักการเมืองทุกฝ่ายจะดีกว่าที่จะคอยผลักไสคนที่วิพากษ์วิจารณ์ไม่ถูกใจตัวเองให้ไปอยู่อีกฝั่งหนึ่งค่ะ ยิ่งไม่ชอบพฤติกรรมของประชาธิปัตย์ก็ต้องเรียกร้องให้เพื่อไทยทำเพื่อประชาชนให้มากขึ้น ไม่ใช่แค่โฆษณาไปวันๆ
วันนี้ประชาชนไม่มีทางเลือกมากนัก ตัวเล่นหลักก็มีแค่สองพรรคใหญ่ ประชาชนควรพัฒนาตัวเองให้มีกำลังต่อรองกับนักการเมือง ให้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นนักการเมืองฝ่ายไหน ก็ควรจะทำงานเพื่อประชาชน แต่จะพัฒนาความสามารถในการต่อรองได้ ประชาชนจะต้องศึกษาหาความรู้และเข้าใจในสิทธิของตัวเองโดยมองข้ามความเป็นพวกเค้าพวกเราให้ได้

ถ้ายังอยากจะคงวาทกรรม “ไพร่และอำมาตย์” ไว้ ก็ควรจะรวมนักการเมืองของเพื่อไทยและทักษิณไว้ในกลุ่มอำมาตย์ด้วย แม้ว่าทักษิณจะได้สิทธิ์เป็นรัฐบาลจากการเลือกตั้ง แต่ก็มีพฤติกรรมอำมาตย์เพราะเขามีชีวิตแบบอำมาตย์มานานแล้ว นักการเมืองแบบทักษิณหรือแบบประชาธิปัตย์หรือกลุ่มอำมาตย์ในสังคมไทยจะไม่มีทางทำอะไรให้ประชาชนฟรีๆ ถ้าเขาและพวกพ้องไม่ได้รับส่วนแบ่งจากการทำงานนั้น

ข้อคิดเห็นทั้งหมดที่แชร์มานี้ มาจากคนที่เคยหย่อนบัตรเลือกคุณยิ่งลักษณ์ให้เป็นนายกรัฐมนตรีมาก่อนค่ะและเคยนิยมชมชอบวิธีการพัฒนาประเทศของคุณทักษิณในสมัยไทยรักไทยด้วย

เอาจริงๆ นะ เวลามีการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองแต่ละครั้ง เวลามีคนกัดกันเนี่ยผมชอบดูนะครับ รู้สึกเหมือนดูข่าวเด็กช่างกลตีกันเลยนะ คือไม่รู้ว่าที่จริงแล้วสาระของชีวิตมึงคืออะไร ทำไปเพื่ออะไร โลกจะดีขึ้นได้ยังไง แต่ก็หน้ามืดตีกันไปแล้ว เหตุผลอย่าเพิ่งถามได้ไหม

ก่อนหน้านี้ก็ไม่ค่อยได้เจอครับ เพราะตัวเองไม่ได้ไปอยู่ตามสังคมที่ทะเลาะกันแรงๆ เท่าไหร่ ที่เจอก็มีแต่เห็นต่างกันสุดขั้ว แต่คุยกันด้วยภาษาปกติ ไม่มีเหน็บแนมหรือถากถางคู่สนทนา จะคุยกันเรื่องล้มจ้งล้มเจ้าอะไรก็ยังมีเหตุผลที่ถ้าไม่เห็นด้วยก็ถกเถียงและรับฟังกันได้ แต่พอเมื่อเช้าเจอมาคนนึงเลยรู้สึกสนใจ ว่าทำไมเดี๋ยวนี้เสื้อแดงด่าคนเลือกประชาธิปัตย์ว่า “ควาย” ฉิบแล้ว เฮ้ย โลกแม่งซับซ้อน

หรือแบบนี้วะ ที่ทำให้มนุษย์เป็นมนุษย์ 5555

ขนมหน้าโรงเรียน

เห็นด้วยกับอะไรแบบนี้ไหมครับ

ผมเห็นด้วยนะ (ที่จริงต้องบอกว่าเห็นแบบนี้มานานแล้ว) และคิดว่านี่คือปัญหาของนโยบายประชานิยมอย่างแร็งเลย

อารมณ์เหมือนตอนนี้เรามีสูตรสำเร็จการเลือกตั้ง (ซึ่งเขาว่ามันคือการได้มาซึ่งประชาธิปไตยอันศักดิ์สิทธิ์ และใครดูถูกจะถูกตราหน้าว่าไร้อารยะ) แบบแจกขนมหน้าโรงเรียน พอถึงฤดูทีไรก็เอารถมาตั้งแจก ครูก็ปล่อยเด็กๆ ก็กรูกันไปกิน กินฟรีทุกวันๆ โดยที่ไม่ได้มีใครเป็นห่วงเรื่องสุขภาพและการพัฒนาความคิดของเด็กในระยะยาว แม่งโตมาถือไหแบบในคุนิมิตสึกันหมด

ในขณะที่บริษัทใดที่ไม่ได้ใช้กลยุทธ์ซื้อใจแบบนี้ ก็ไม่มีวันขายขนมได้หรอก แถมกลับมีเสียงเรียกร้องให้ต้องปรับวิธีมาแจกขนมบ้าง เผื่อยอดปีนี้จะได้ชนะ คู่แข่งหน่อย และอ้างว่ามันคือความชอบธรรม

(หมายเหตุ: ย่อหน้าสุดท้าย ทีแรกจะพูดถึงประชาธิปัตย์ แต่ก็ไม่ตรงนัก เพราะ ปชป ก็แจกขนมเหมือนกัน แต่มันซื้อใจเด็กไม่ได้แล้วไง ขนมคุณไม่อร่อยนี่หว่า และเด็กมันเสพติดขนมของบริษัทคู่แข่งไปแล้ว งั้นก็รอเงกไปเหอะ)

หวั่นซ้ำรอยคดีอากง

ลองเขียนบล็อกและการ์ตูนให้จบในมือถือครับ (กำลังเห่อ Galaxy Note)
ปรากฏว่าแอป WordPress ดันใส่โค้ดภาพจาก Flickr ไม่ได้ กากจริง!
เลยต้องเอามาใส่ในเบราว์เซอร์อีกที

โปรดตรวจสอบทรัพย์สินในการดูแลของท่าน