049 | อวสานลายกนก (จบ)

wc_kanok2

พอดีมีเวลาช่วงบ่าย เลยขอกลับคำ ..เขียนต่อจากตอนที่แล้ว ซะเลย

ขณะนี้ผมสงสัยอยู่อย่างเกี่ยวกับคำว่า “วัฒนธรรมไทย”
(นั่นหมายความว่า พอวัยวุฒิสูงขึ้น ผมอาจจะได้รับคำตอบเข้าสักวัน)
ทำไมเห็นรายการเด็กที่เขาสร้างมาให้เด็กดูเพื่อต้องการปลูกฝังค่านิยมไทย
จะต้องเต็มพรืดไปด้วยเด็กไว้จุกไว้แกละ ต้องมีช้าง ต้องวนเวียนอยู่อ่างในวรรณคดี?
ถ้าคำตอบมันหมายถึงว่า “ก็นั่นมันวัฒนธรรมไทยนี่หว่า (ไอ้เหี้ย)” ละก็
ผมคงเซ็งน่าดูเลย

แปลกใจนะที่เวลาเราไปจัดงานอะไที่ต้องการเชิดชู “ความเป็นไทย” ให้ฝรั่งดู
มันจะต้องมีช้าง มีบ้านไทย ลายไทย ต้มยำกุ้ง วรรณคดี โขน ศิลปะฟ้อนรำ
ทั้งๆ ที่ไอ้สิ่งที่ว่ามานั่นมันไม่สามารถพบเห็นได้แล้วตามท้องถนนในปัจจุบัน
ทำไมนะทำไม ถึงไม่เอาไอ้สิ่งที่เกิดขึ้นอยู่ ณ วันนี้ วินาทีนี้มาแสดงล่ะ
หรือว่ามันไม่ใช่ความเป็นไทย?
(วัฒนธรรมไทยจะต้องเป็นยุคก่อนพุทธศักราช 2xxx เท่านั้นโว้ย!!)

คุณรู้ไหม วันนี้เราตื่นมา แปรงฟัน อาบน้ำ เปิดทีวี ดูสรยุทธ์ อ่านหนังสือพิมพ์
กินมาม่า หรือหยิบโค้กจากตู้เย็นมากระดก อ่านการ์ตูน เปิดคอม เล่นเน็ต
เล่นเกมส์ออนไลน์จากเกาหลี ขึ้นรถเมล์ คุยโทรศัพท์มือถือ ไปตลาด
เข้าเซเว่น ซื้อฟุตลอง แดกชาเขียว (ลุ้นล้าน) ดูหนังโรง ดูละครหลังข่าว
ท่องราตรี ซื้อซีดี ฟังเอ็มพีสาม ดูคอนเสิร์ต ซื้อเสื้อผ้า เครื่องสำอาง ฯลฯ
ทั้งหมดนี่แหละครับ คือวัฒนธรรมไทยที่จริงแท้ที่สุด!!!!!!!!!!!!!

ตอนเรียนปี 1 – ปี 2 ในมหาวิทยาลัย ผมมีคำถามให้ตัวเองมากมาย
เกี่ยวกับคำว่า “สถาปัตยกรรมร่วมสมัยของไทย” ว่าแท้จริงแล้วมันเป็นยังไง
จนกระทั่งได้มารู้เกี่ยวกับสถาปัตยกรรมไทยประยุกต์สวยๆ เช่น

wc_kanok3

(สองภาพบนจาก ม.ขอนแก่น ส่วนภาพล่าง โบสถ์วัดศาลาลอย / ขอบคุณครับ)
เฮ้ย… มันเป็นสถาปัตย์ไทยที่ฉลาดจังเลย
ไม่จำเป็นต้องเอารวงรกลวดลายมาทั้งดุ้นแบบสถาปัตย์ประเพณี
แต่หยิบ “หัวใจ” ของความเป็นไทยมาปรับให้เข้ากับเทคโนโลยีวัสดุปัจจุบัน
ขอปรบมือให้ดังๆ อยู่คนเดียวนี่ละครับ
(จริงๆ แล้วมีอีกเยอะมาก แต่เวลามีจำกัด ผมเลยหามาได้แค่นี้)

วกกลับมาที่นักออกแบบกราฟิกที่ผมอ้างถึงในตอนที่แล้วครับ
ท่านได้ให้สัมภาษณ์ไว้อีกจุดนึงที่น่าสนใจ ก็คือ
ที่วัฒนธรรมไทยเราไม่เติบโตพัฒนาและกลายเป็นของน่าเบื่อโคตรๆ ในทุกวันนี้
ก็เพราะการ “ดอง” ไว้บนหิ้งของรัฐนั่นเอง
ทำให้สังคมค่อยๆ ซึมซับรับรู้ความเป็น “ของสูง” ของมัน
จนไม่กล้าดึงลงมาจากหิ้ง มาเล่น มาปรับแต่งต่อยอดพัฒนา
และกลายเป็นว่า มันต้องคงไว้ซึ่งขนบอันเข้มแข็งจนน่ากลัวว่าจะโดนแล้วคัน
ดังนั้นถ้าใครคิดจะเอามาเล่นก็ต้องเล่นอย่างเคารพ
แม้จะไม่รู้ตัว แต่ก็ทำไปแล้วด้วยความเคยชิน
เช่น มีการ์ตูนขวานฟ้าหน้าดำงี้ (หงะ) มีหนังไทยอนุรักษ์จัดจ๋า (ไม่ยกตัวอย่าง)
ดีหน่อยที่ระยะหลังๆ นี้ นักออกแบบเริ่มกล้าที่จะนำของสูงเหล่านั้น
ลงมาต่อยอดและเล่นกับมันให้ผลิบานขึ้นกว่าเดิม
อาจจะรับไม่ได้ในสายตาของคนอย่าง ส.ว.ท่านนั้น
แต่มันก็เป็นการผสมผสาน “ความใหม่”
ที่เกิดจากการหลอมรวมเอาความเป็นสากลลงไปในงาน
โดยไม่ต้องตะขิดตะขวงใจว่า กูทำไปแล้วกูจะฝีขึ้นตูดไหมนี่

(นักเขียนการ์ตูนไทยค่ายวิบูลย์กิจท่านนึงผมจำชื่อไม่ได้ แต่โคตรเก่ง
บอกไว้ว่า เขาเขียนการ์ตูนแล้วมีคนบอกว่า
เฮ้ย นี่มันการ์ตูนสไตล์ญี่ปุ่นนี่หว่า ไม่เห็นไทยเลย
เขาบอกว่า นี่มันเรียกว่าสไตล์สากลโว้ย .. มันเป็นสากลไปแล้ว
ทำไมวะ จะเขียนการ์ตูนไทยต้องเล่นแต่พระอภัยมณีเหรอ)

ดังนั้น ณ วันนี้
ใครอยากฟังเพลงฝรั่ง ก็ฟังไป
อยากฟังเพลงร็อค ดูหนังฮอลลีวู้ดก็ดูไป
หรือจะเล่นเกมส์ ดูการ์ตูนของชาติเอเชียทางทิศเหนือก็เชิญสิ
แค่คุณรู้ตัวว่า กูยังเป็นคนไทยนะเว้ย กูไม่ได้ลืมรากเหง้าตัวเองนะโว้ย
กูก็รักเมืองไทย แต่แค่ไม่ได้มีอาชีพเป็นนางรำหรือพระเอกลิเกเท่านั้นแหละ

สุดท้ายนี้ก่อนผมจะออกเดินทางไปเชียงราย (ไม่อัพเดทสักห้าวันจะเป็นไรไป)
ผมขอขอบคุณสื่อเหล่านี้ที่ช่วยทำให้คนไทยได้รู้จักตัวเองมากขึ้น อาทิ

  • ภาพยนตร์ แฟนฉัน (ไทยแท้ๆ เลย) และโหมโรง (ไทยแบบเข้าใจรากเหง้า)
  • นิตยสาร a day (เน้น ปกมานีมานะ) ต้าเจียห่าว (หมวยก็ไทยนะ) ฟ้าเดียวกัน ฯลฯ
  • รายการทีวี คุณพระช่วย
  • และขอมอบนิ้วกลางงามๆ :13: ให้แก่ จา มะจ๊ะ จิงจา !!

ป.ล.
ใครจะไปเที่ยวญี่ปุ่นแล้วขึ้นรถลงเรือฟรี ขอให้แต่งกิโมโนหรือยูกาตะครับ
เพราะรายการผู้หญิงถึงผู้หญิงเพิ่งบอกผมเมื่อเช้านี้เอง
ว่ารัฐบาลอยากให้คนหันมาใส่ชุดที่แสดงออกถึงวัฒนธรรมดั้งเดิมของเขา
ก็เลยล่อใจด้วยการให้โปรโมชั่นเที่ยวฟรีดังกล่าว
ในฐานะผู้เขียนที่ได้ฟังมา ผมขอถามผู้อ่านหน่อยครับว่ารู้สึกยังไง
(ดีหรือไม่ดี และน่าจะเอามาประยุกต์ใช้ในบ้านเราไหม — ไม่ต้องส่ง SMS นะ)

ป.อ.
จนถึงตอนนี้ ก็ยังไม่ได้พูดถึงเรื่องลายกนกเลยว่ะ
สงสัยว่าจะอวสานไปแล้วจริงๆ อย่างที่เฮีย X-Saint บอก

ป.ฮ.
อ๊ะ พูดถึงจนได้ แสดงว่ายังไม่อวสานสินะ :52:

คอมเมนต์