ทดลองเล่น Leap Motion

ก่อนอื่นขอแนะนำก่อนว่าไอ้เจ้า Leap Motion นี่มันคืออะไร แต่ขี้เกียจอธิบาย ดูคลิปเอาละกันนะ

พอดีพี่อาท (@chaiyosart) เจ้าคณะแห่งสามย่าน แกซื้อไอ้เครื่องนี้มาตามที่ผมเคยง้องแง้งอยากได้อยากเห็นอยากเล่นอยากจับมาตั้งกะปีที่แล้ว แต่ของมันยังไม่ขายซะที (มีแต่รุ่นสำหรับนักพัฒนา ซึ่งไอ้เราก็ไม่ใช่) คือตอนเห็นครั้งแรกนี่ตื่นเต้นมากครับ เพราะมันดูเจ๋งมากในราคาแค่ประมาณ 2000 บาท (พอๆ กะเมาส์แอปเปิล!) คือถ้ามันผลิตเสร็จพร้อมขาย และเกิดฮิตขึ้นมา หรือแอปเปิลไม่ก็กูเกิลซื้อกิจการเอาไปทำนั่นนี่ต่อ รับรองว่าโลกเราจะไม่เหมือนเดิม และเมาส์ก็จะกลายเป็นไดโนเสาร์ไปเลย (นี่เอามาจากท็อปคอมเมนต์ใต้คลิปนะ)

แล้วอยู่ดีๆ เมื่อเช้า พี่แกก็เดินเอากล่องใส่ของเล่นชิ้นนี้มาวางไว้ แล้วบอกให้เอาไปเล่นให้ที อ้าว ก็เสร็จโจรสิครับ

ทีแรกว่าจะถ่ายตอนแกะกล่องแต่ก็ไม่ได้ถ่าย (แต่ก็มีอวดบน Google+ นะ) ก็เล่นที่ออฟฟิศไปแล้วรอบนึง แล้วพอดีจิ๊กกลับมาลองที่บ้าน (ยังไม่ได้ขออนุญาตด้วย น่ารักจริงๆ) เลยลงโปรแกรมในคอมที่บ้าน แล้วลองต่อเล่นอีกที

เพื่อให้เข้าใจง่ายและขี้เกียจพิมพ์ยาวๆ เพื่ออธิบาย ขอให้พี่น้องทุกท่านจงดูคลิปนี้ครับ เป็นการแกะกล่องออกมาและติดตั้งโปรแกรม รวมถึงการกดๆ ดูว่าใน Airspace (ก็คือ AppStore ของ Leap Motion) เขามีอะไรบ้างคร่าวๆ

และต่อไปนี้จะเป็นการอวดครับ อย่าเรียกว่ารีวิวเลย เรียกว่าอวดดีกว่า

Leap Motion

ตัวเครื่องหน้าตาเป็นงี้ กว้างประมาณยางลบ ยาวเกือบเท่านามบัตร และหนาเท่าการ์ตูนค่ายเนชั่น ด้านหน้าเป็นตัวรับสัญญาณ

เขาว่ามันจะรับสัญญาณเป็น “ทรงกรวย” เหมือนมีโคนไอติมที่มองไม่เห็นคอยดักจับการเคลื่อนไหวของวัตถุที่โฉบไปโฉบมาเหนือเซ็นเซอร์ ซึ่งจับได้ละเอียดยุบยิบโดยเฉพาะวัตถุที่หน้าตาคล้ายมือเราเนี่ยแหละ แต่เท่าที่เล่นๆ นี่ มันรองรับมือได้สองข้าง อย่างละเอียดและไม่มีหน่วงเลยนะ แปลกดี ทำได้ไง กินอะไรถึงได้โตมา

พอลงโปรแกรมเสร็จแล้วมันก็จะมีแนะนำนั่นนี่ ออกมาเป็นกราฟิกง่ายๆ เห็นแล้วเข้าใจเลยว่าแบบนี้

สุดท้ายก็ลองมาดูกันครับว่าจะเล่นมันยังไง ทีแรกว่าจะจับภาพให้ดูเยอะๆ แต่คิดดูอีกทีถ้าอธิบายไปคืนนี้คงไม่ได้อ่านการ์ตูนกันพอดี เลยถ่ายเป็นคลิปแม่งเลยละกัน (ขออภัยที่วันนี้เจมส์จิไม่ค่อยสบายครับ เลยหน้าตาดูอิดโรยนิดนึง)

โดยสรุปคือ มันทำได้อย่างที่คุยจริงๆ ครับ เพียงแต่โปรแกรมที่รองรับยังไม่เยอะ (แถมพอจะกดซื้อแอปนึงในนั้นมันก็ดัน error เลยไม่ได้เสียตังค์) แต่ทั้งนี้เขาก็เปิดให้นักพัฒนาซอฟต์แวร์ได้เข้ามามีส่วนร่วมเยอะๆ เผื่อต่อไปการร่ายรำอยู่หน้าจอจะได้ฮิตติดลมบนกะเขาบ้าง วงการที่ได้ประโยชน์ที่ได้จากการร่ายรำแบบนี้ก็คงเป็นพวกเกม หรือวงการแพทย์ หรือพวกงานอีเวนต์เปิดตัวนั่นนี่ก็น่าจะมีไอ้เจ้านี่ไปให้ผู้ร่วมงานมาเล่น แบบเดียวกับที่ Wii และ Kinect เป็นพระเอกอยู่ในทุกวันนี้

เพียงแต่ระยะทำการมันจะแคบหน่อยนะ อาจจะต้องนั่งเบียดๆ แนบๆ กับน้องพริตตี้นิดนึง

ไม่คิดว่าวันหนึ่งจะมีคนทำรายการเพื่อเรา

ทำไมต้องขยัน?

เมื่อยังเด็กเราคงจะได้ยินคนบอกอยู่เสมอว่­าให้ขยัน เมื่อทำงานบางทีเราขยันไปเองโดยไม่ต้องมีใ­ครมาบอก แต่เราเคยตั้งคำถามกันไหมว่า ‘ทำไมเราต้องขยันกันขนาดนี้ และเรามีสิทธิ์ที่จะขี้เกียจกันบ้างไหม’

วัฒนธรรมชุบแป้งทอดอยากจะชวนคุณผู้ชมไปสำร­วจดูว่า ในสังคมปัจจุบัน ความขยันและความขี้เกียจมีหน้าตาเป็นอย่าง­ไร ความขยันและขี้เกียจเป็นเรื่องส่วนตัวจริง­หรือ ทำไมเราจึงถูกสอนให้ขยันตลอดเวลา คนในสังคมอื่นขยันเหมือนเราหรือไม่ และทำไมคนบางคนถึงไม่มีสิทธิ์ที่จะขี้เกีย­จ

ร่วมทำความเข้าใจ สังคมแห่งความขยันกับ รศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย, คุณ พลอย จริยะเวช นักเขียนผู้เห็นคุณค่าของการหยุดพัก, และคุณจิตร์ ตัณฑเสถียร ศิษย์หมู่บ้านพลัมที่มองเห็นความศักดิ์สิท­ธิ์ของวันขี้เกียจ

ออกอากาศพุธที่ 10 ก.ค.นี้ 20.20 น. ทางไทยพีบีเอส

นี่สินะที่ต้องเรียกว่า “น้ำตาจะไหล ขอแชร์นะคะ”

ป.ล.ถ้างง อ่านย้อนตอนเก่าได้ครับ “งานคือเงิน เงินคืองาน บันดาลสุข

ขอแนะนำเว็บ lorem ภาษาไทย “lorem.in.th”

lorem

จะบอกว่าว่างก็ไม่เชิง แต่ช่วงสัปดาห์สุดท้ายของปี 2555 นี่ ชาวหอชายในออฟฟิศสามย่านแม่งเกิดเบื่องานประจำอันเคร่งเครียดขึ้นมา (หอชาย = ห้อง Production อันประกอบไปด้วยดีไซเนอร์และ Dev ที่เป็นผู้ชายเกือบล้วน .. คือพอดีเขากั้นห้องแยกกันกับสาวๆ เหล่า PM และฝ่ายคอนเทนต์) ก็เลยใช้เวลาว่าง 20% ของเวลางาน ไป.. กินข้าว แล้วอีก 80% ที่เหลือมานั่งทำอีเว็บบ้านี่ขึ้นมาครับ

ใครทำงานออกแบบคงได้เจอเวลาจะทำ Mockup แต่ละครั้งก็ต้องไปเปิดพวกเว็บ Lolem Ipsum Generator ต่างๆ (เจ้าที่ผมชอบคือ CupCakeIpsum เพราะมันน่ารักดี) แต่ยังไงข้อเสียของมันก็คือดันเป็นตัวอักษรภาษาอังกฤษอยู่ดี จนสรุปว่าเอาภาษาไทย เป็นชุดคำที่เรียงกันสะเปะสะปะ สั้นบ้างยาวบ้าง จากพจนานุกรมประเภทต่างๆ กันดีกว่า ก็เลยออกมาเป็นเว็บ โลเร็ม.อิน.ไทย ขึ้นมาครับ

ทั้งหมดนี้ทำจบในเวลาแค่ไม่กี่อึดใจ ด้วยฝีมือการบรรเลงโค้ดของ เบนท์ (@bentino471) / เดี่ยว (@ma_deow) และออกแบบโลโก้ด้วยการใช้ตีนข้างซ้ายปาดโดยอีแบงค์ (@vbanku)

ใช้ดีแล้วก็บอกต่อ หรือถ้ามีข้อเสนออะไรก็ไปบอกอีพวกนี้เอานะครับ (ผมไม่เกี่ยวนะ มีส่วนร่วมแค่ขี้เล็บ ถ้าด่าไปด่าอีพวกนี้เอา จบนะ)

Pixa: (ว่าที่)โปรแกรมดู-จัดการภาพสุดเมพของแมค

ก่อนอื่นต้องยอมรับกันก่อนนะครับ ว่าในแมคที่หลายคนต่างบูชาเนี่ย ไม่มีโปรแกรมดูและจัดการภาพที่เข้าท่าเลย ถ้าเป็นในวินโดวส์ยังยกให้ FastStone Image Viewer และ Picasa (ซึ่งตัวหลังนี่หน้าตาเป็นมิตรต่อผู้ใช้กว่า และมีในแมคเหมือนกันแต่แม่งหน่วงๆ)

จนไปเจอตัวนี้ครับ “Pixa” ซึ่งตอนนี้ยังเป็นรุ่นเบต้าอยู่ เลยโหลดฟรี แต่แลกมาด้วยความสามารถช่วงแรก ที่ยังไม่ค่อยเยอะ (ดูในเว็บแล้วคิดว่าต่อไปคงเยอะแหละ) ซึ่งที่ต่างจากโปรแกรมอื่นๆ ในท้องตลาด รวมถึง iPhoto เองที่คนใช้แมคเขาต้องใช้กัน (เหรอวะ) คือมันคิดเครื่องมือกรุบกริบมาให้คนทำงานออกแบบเอย กราฟิกเอยโดยเฉพาะ

เอาที่เห็นเป็นประจักษ์ตาก่อนนะ


หน้าตาโปรแกรมดูแล้วเข้าใจเลย ข้างบนเป็นแท็บ ยังไม่ยืดหยุ่นเท่าไหร่ เช่นใช้เมาส์ปุ่มกลาง-ที่แอปเปิลไม่มีนี่หว่า-ทำนู่นนี่ไม่ได้ หรือต้องคลิกขวาโอเพ่นนิวแท็บอย่างเดียวไรงี้ ถ้าหล่อและเก่งเท่าโครมได้นี่จะกรี๊ดมาก ส่วนข้างซ้ายก็เป็น Sidebar แบ่งเป็นไลบราลี่ และโปรเจ็กต์ ซึ่งเราจะเพิ่มโฟลเดอร์แบบ Live ได้ (มันก็คือโฟลเดอร์ธรรมดาแต่เฝ้ามองการเปลี่ยนแปลงเวลามีไฟล์ใหม่เข้ามาน่ะ) แล้วก็พวกใส่แท็กป้ายสีแบ่งประเภทให้ภาพคล้ายโปรแกรมอื่นๆ

03-loupe
มีเครื่องมือดูดสี (Loupe Tool) ออกไปเป็นโค้ด RGB / Hex Code / CSS3 / ฯลฯ

02-blank tamplate
อันนี้ของดี ที่บอกว่าเหมาะกะคนทำงานออกแบบ คือมี New Image From Template แล้วก็ให้เลือกเลยว่าจะเอาเทมเพลตอะไรล่ะ

05-PSD Layer
มันก็จะบ้วนถุยออกมาเป็นไฟล์ PSD ที่แบ่งเลเยอร์ไว้แล้วเรียบร้อย อย่างไอแพดนี่มีหมดต้งแต่ 1-2-3 เลย

04-export
และสุดท้าย Export ภาพออกไปเป็นตระกูลต่างๆ ซึ่งก็ตั้ง Preset ไว้ได้ครับ

นอกนั้นก็ จับหน้าจอได้แบบฉลาดๆ (เลือกจับเฉพาะหน้าต่างแอปได้ เช่นภาพข้างบนนี่ไง), อัปโหลดภาพขึ้น Dropbox และ Cloud App ได้ ฯลฯ (ลองเล่นแค่นี้แหละ) และย้ำว่าเขากำลังพัฒนาอยู่ นี่แค่รุ่นเบต้า พวกครอปภาพไรงี้ยังไม่มีเลย เอ๊ะ หรือมีแล้วแต่ยังหาไม่เจอวะ..

ถ้าดูแล้วหลงกลก็เข้าไปโหลดเหอะครับ: Pixa – organizing your images, the easy way

ป.ล.
เขียนห้วนหน่อยนะครับ พอดีอู้งานได้แว้บเดียว

How to ดูด RSS Feed จาก Twitter Timeline ของ Who ก็ได้

อันนี้เพิ่งรู้จริงๆ เป็นความรู้ใหม่หลังจากใช้ทวิตเตอร์มาตั้งหลายปี เลยขอจดไว้หน่อย เนี่ย เป็นลิงก์เอาไว้ดูด RSS Feed ของไทม์ไลน์ทวิตเตอร์เราทั้งหมด รวมถึงที่เมนชั่นตอบชาวบ้านเขาได้ด้วย!

https://twitter.com/statuses/user_timeline/iannnnn.rss

เอาไปเปลี่ยนตรง “iannnnn” เป็นชื่อทวิตเตอร์แอคเคาต์ของใครก็ได้ (ที่ไม่ Protected) เท่านั้นแหละจบเลย อ่านง่าย ดูดคล่อง เอาไปทำอะไรต่อก็ได้ เช่น จะเก็บข้อความที่เราทวีตไว้ทุกอันตลอดกาล (ไม่ใช่ขี้เหนียว หยิบมาแสดงแค่ 3200 ข้อความล่าสุดเท่านั้น)
ทีนี้ก็ค่อยไปหาเครื่องมือแปลง RSS Feed เป็นสิ่งอื่นๆ แทน เช่น เก็บใน Google Spreadsheets หรือ Dropbox หรือ Evernote หรืออะไรอีกล่ะ ที่มันจะไม่เจ๊งง่ายๆ น่ะ ถ้านึกไม่ออก ลองใช้บริการของ IFTTT.com จ้ะ

ป.ล.
เนื่องจากทวิตเตอร์มันขี้เหนียวขึ้นทุกที ทุกที และ API ยิ่งออกใหม่ยิ่งดิ่งเหว ดังนั้นไอ้เจ้า Timeline Feed นี่มันจะลบทิ้งเมื่อไหร่ก็ย่อมได้ (แบบตอนที่ Facebook แม่งลบ Note Feed ตอนนั้นเคืองมาก) ขอภาวนาให้บริษัทมันลืมลบซะทีเถอะ เพี้ยง!

ป.อ.
มีคนบอกว่า RSS Feed ตายแล้ว .. บอกมาห้าหกปีแล้ว แต่วันนี้เราก็ยังใช้มันอยู่นะ แต่อีคนที่บอกนี่ต้องไปไล่ล็อบบี้ชาวบ้านให้เลิกใช้แน่เลย กันตัวเองหน้าแตกงี้

ป.ฮ.
เมื่อวานไปบาร์แคมป์บางเขนมาครับ สนุกดี ถึงจะไปแย่งพิซซ่าตอนเลิกงานไม่ทัน (ซึ่งเคืองมาก โดยเฉพาะตอนเหลือบไปเห็นอีเด็กที่ถือในมือสองชิ้นแล้วยังมาหยิบขนมปังกระเทียมที่เหลือก้นกล่องตัดหน้ากูอีก สรุปว่าเดินไปเทโค้กแก้วนึงแล้วแว้นขี่ฝ่าฝนกลับบ้านเลย) — (เฮ้ย เมื่อกี้วงเล็บแน่เรอะ) — แต่อยู่ดีๆ ก็ได้พูดห้องใหญ่แบบเผาสไลด์โคตรสด (อัปไว้ที่นี่) ก็มันส์ดี ขอบคุณนะครับ