เฟดบุ๊ก

ไหนๆ เขียนตอนตะกี้แล้วติดพัน เลยแยกเรื่องออกมาต่อสักหน่อย (หายไปหลายเดือน มีเรื่องอยากเขียนเต็มไปหมดแต่มันเป็นเรื่องใหญ่และต้องใช้สมาธินาน อย่างเช่นสรุปปี 2018 ที่ชาวบ้านเขาเขียนกันจนนี่พ้นปีใหม่มานานแล้วเราก็ยังไม่ได้เขียนสักที จนตกผลึก ปุ๊! กูเขียนเรื่องเล็กๆ สั้นๆ แล้วบ่อยๆ แทนก็ได้นี่หว่า เลยสัญญากับตัวเองว่าเอาแบบนี้ละกันเนอะ คิดถึงบล็อกเหลือเกิน)

เข้าเรื่อง… วันนี้ทวีตไปแบบนี้

มาอ่านทีหลังแล้วรู้สึกว่าห้วนไปหน่อยเหมือนด่วนสรุป ไม่ค่อยได้ใจความเท่าไหร่ แต่ก็นะ มีคนมาแสดงความเห็นในรีพลายด้วย ในโควตด้วย เยอะโคตร ซึ่งถูกแล้วที่พูดเรื่องเลิกเล่นเฟซบุ๊กในทวิตเตอร์ ซึ่งเป็นแหล่งของคนที่เลิกเล่นเฟซบุ๊กอยู่แล้ว 5555

ตามความเข้าใจเดิมของเราและใครหลายๆ คน ต่างก็คิดติดเป็นภาพจำมาตลอด ว่ากลุ่มคนที่เลิกเล่นเฟซบุ๊กนั้น คำตอบคือเป็นกลุ่มเด็กๆ ที่พ่อแม่เข้ามายุ่มย่ามกับชีวิต จนขี้เกียจจะวางตัว เลยหนีมาเป็นบุคคลนิรนามในทวิตเตอร์ ที่ยังรักษาเสรีภาพในการแสดงออกแบบที่ไม่ถูกใจผู้ปกครอง (แต่มันคือชีวิตกูจริงๆ ไง) ได้อยู่

แต่ปรากฏว่าพอเรามาทำงานขายของ โดยติดต่อกับลูกค้าผ่านช่องทางหลักคือเฟซบุ๊กและอีเมล ก็พบเรื่องที่น่าสนใจ โอเคนี่คือผลการวิจัยที่ไม่ถูกต้องเพราะเราอาศัยประสบการณ์ส่วนตัวมาโน้มน้าว แต่ฟังหน่อยจะเป็นไรไป

เรื่องน่าสนใจที่ว่าคือ เมื่อสิบปีที่แล้ว (เราทำร้านสกรีนเสื้อมา 15 ปีได้) การติดต่อผ่านช่องทางหลักคืออีเมล ผู้คนยังใช้คอมพิวเตอร์กันเป็นหลักมากกว่ามือถือแบบในทุกวันนี้ ดังนั้นลิสต์อีเมลที่ใช้คุย ใช้ส่งงานกับลูกค้าจึงมีเยอะ และยังเก็บ archives ไว้จนปัจจุบัน (ขุดดูเจอลูกค้าสมัย 2004 อยู่อีกหลายเจ้า)

ไม่ดักแก่มากละกัน โดดมายุคนี้เลย เราตั้งใจจะไม่ใช้ไลน์ เพราะระบบของไลน์มันเหี้ยเกินไปสำหรับธุรกิจอย่างเรา ที่ต้องคุยกับลูกค้าหลายๆ เจ้า และเก็บความสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง แถมยังต้องแทร็ก (= เก็บลิงก์ของลูกค้าแต่ละคน) แยกไว้ในตารางงานอย่างเป็นระบบ ระบบของเราเอง ชาวบ้านเขาคงมีวิธีที่ไม่เชยแบบนี้

ปรากฏว่าลูกค้าก็โอเคนะ ช่องทางติดต่ออื่นๆ ที่เราเปิดไว้ให้คืออีเมลและเฟซบุ๊ก ซึ่งทั้งสองอย่างตอบโจทย์ของเราพอสมควร (โทรศัพท์เอาไว้ยามจำเป็น เพราะมันแทร็กไม่ได้) แต่ตอบโจทย์ลูกค้าหรือเปล่านี่สิ เวลาคือคำตอบ และเราก็ได้คำตอบมาแล้วว่ามันโอเคอยู่

จนกระทั่งในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมานี้เอง เราเห็นสัญญาณปุแล่มๆ จากลูกค้าหน้าใหม่ที่เข้ามาเรื่อยๆ เป็นบทสนทนาทางโทรศัพท์ที่บอกว่าตัวเอง “ไม่มีเฟซบุ๊ก” อยู่ประปราย มีทั้งที่เป็นเด็ก เป็นวัยรุ่น (ส่วนใหญ่ต่างจังหวัด) ไปยันวัยกลางคนที่พอจะบอกลูกหลานให้ช่วยใช้บัญชีส่วนตัวมาสั่งซื้อและส่งงานกราฟิกทาง Facebook Messenger นั่นก็ไม่ได้ติดขัดอะไร ยังได้อยู่

แต่กับช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา (ก็คือปีใหม่นี้แหละ) มีลูกค้าที่ไม่มีเฟซบุ๊กเลยติดต่อเข้ามาถึง 4 คน ทั้งสั่งสกรีนเสื้อและเช่าสตูดิโอ (ขีดเส้นใต้ทำลิงก์เพื่อ SEO) แน่นอนเราก็เข้าใจแหละว่าคนไทยใช้ไลน์เป็นหลักกันแทบทุกคนเนาะ แต่เอ๊ะทำไมไม่มีเฟซบุ๊กล่ะ เลยเสือกถามเขาไป

ไม่ใช่ไม่มี แต่เคยมี เลิกเล่นแล้ว

เหตุผลต่างกันออกไป บางคนไม่มีเพื่อนเล่นในนั้นแล้ว บางคนไม่มีความจำเป็นจำต้องใช้ บางคนไม่ได้บอกอะไร ก็ไม่ได้เล่น ใช้แต่ไลน์

พอผมทวีตออกมา ปรากฏว่ามีคนมาคุยด้วย หลายคนแชร์เหตุผล (หลายคนผมก็ถามไปด้วยความเสือกเขาอีกนั่นแหละ) ว่าทำไมถึงไม่เล่น หรือเลิกเล่น คำตอบของหลายคนก็น่าสนใจ (กดอ่านในรีพลายเอาเองก็ได้) เช่น

  • ขี้เกียจเสือกเรื่องชาวบ้าน (มาเสือกในทวิตเตอร์แทนเพราะมันเรียลกว่า)
  • ญาติไม่แฮปปี้ที่แสดงความเห็นเป็นตัวเองแต่ไม่ถูกใจท่านๆ อย่างที่พอเดาได้ (ตัวอย่างเช่น #เลื่อนแม่มึงสิ หรือ #ปั่นอุ่น อะไรสักอย่างลืมแล้ว เมื่อเดือนก่อน ที่เห็นได้รึ่มในโลกของนกสีฟ้า)
  • เบื่อการที่ต้องแสดงออกสร้างภาพชีวิตดีๆ
  • เบื่อการ “keep connection”
  • เป็น Social Media ที่ Toxic มาก” คนนี้อธิบายว่าการเห็นคนอื่นมีชีวิตดี มันทำให้เราดาวน์ ซึ่งจริงตามที่เขาวิจัยๆ นั่นแหละ
  • อันนี้เราก็เคยเป็น เห็นเพื่อนที่เราเคยสนิทด้วยคุยกันถูกคอแล้วเหมือนเราหลุดออกมา คุยกันคนละภาษาแล้ว หาทางแทรกไม่ถูก เจ็บปวดแต่ทำใจเหมือนกันนะวัยรุ่น 555
  • ไม่ไว้ใจจากการโดนดักฟัง
  • ไม่ชอบความไม่เรียลไทม์
  • รำคาญโฆษณา (อันนี้ธรรมดามาก แต่ขอเอามาลงให้เห็นรวมๆ)
  • บางคนเกลียดถึงขนาดที่ร้านรวงไหนให้ไปร่วมแคมเปญไลก์แชร์เช็กอิน จะไม่อุดหนุนเลยยังมี
  • โอ๊ยเสียดายทวิตเตอร์มันแทร็กข้อความที่มีคนโควตเราไปคุยต่อไม่ได้ ลืมหมดแล้ว

ความลำบากใจอย่างหนึ่งก็คือตอนนี้งานการที่ทำของผมนั้นยังหากินในทะเลที่มีปลาเยอะๆ อยู่ แล้วเฟซบุ๊กคือสิ่งนั้นโดยไม่มีใครสามารถทาบรัศมีได้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และคงจะเป็นแบบนี้ไปอีกหลายปี (โดยเฉพาะในไทย) ไหนจะไปกดสมัครบริการต่างๆ นั่นนี่ทั้งไทยเทศ ซึ่งการล็อกอินผ่านเฟซบุ๊กมันสะดวกจริงๆ เลยให้ตาย (เมื่อก่อนจะมีกูเกิลกับเฟซบุ๊กมาคู่กัน หลังๆ คงเอาที่คนไทยฮิตก็คืออีผีบ้าสีน้ำเงินนั่นอย่างเดียว) ก็เลยลบแอปออกไปไม่ได้

พอเปิดคอมพ์ทำงาน ตอบลูกค้าทีนึง กดเข้าไปเช็กข้อความ แถมยังต้องสะสมข้อมูลเพื่อเตรียมตัวในงานที่กำลังทำอยู่ (ปีหน้าจะเปิดคาเฟ่) ก็จะเผลอเหลือบตาไปมองไอ้ตุ่มแดงๆ นั่น จึงสะดุดหล่นลงไปในหลุมดำ แล้วก็พบว่าแม่งเสียเวลาชีวิตจนได้ ถึงจะแค่ 5-10 นาที แต่ก็พบว่ามันไม่ใช่ทางของเราเลย เอาเวลามาเสพทวิตเตอร์สบายใจกว่า (อ้าว)

ไหนๆ ก็ไม่ได้สรุปเรื่องของปี 2018 แล้ว ในนันมีพาร์ตนึงตั้งใจจะเขียนเรื่องการเสพติดโซเชียลของตัวเองไว้ด้วย ก็เอามาใส่ตรงนี้แทนละกัน ขอจบตอนนี้ด้วยการจดพฤติกรรมตัวเองในปีที่ผ่านมาละกันว่าถ้าไม่ได้นับเรื่องงาน เราเข้าเฟซบุ๊กไปทำอะไร

  • เข้ากรุ๊ปขายของเก่าแอนทีค, กรุ๊ปต้นไม้, กรุ๊ปสเก็ตช์รูป, Calligraphy, กรุ๊ปการ์ตูนเก่า, กรุ๊ปการเกษตรต่างๆ
  • เข้า Marketplace เฮ้ย เราใช้ฟีเจอร์นี้บ่อยนะ บ่อยได้ไงไม่รู้ ไม่เห็นใครพูดถึงกันเลย 555555 เข้าไปดูเฟอร์นิเจอร์ไม้ ดูต้นไม้ ดูอสังหา ดูของเก่า
  • ส่องโนติที่กดตามเพจไว้ เพจที่ตามจริงจังอยู่ไม่กี่แห่งมั้ง เช่นพี่ยุ้ย โดนไล่มาเล่นในนี้ ไข่แมวX การ์ตูนเดือด แล้วก็เพจพากินพาเที่ยวที่มีเฉพาะในแพลตฟอร์มนี้เท่านั้น (ถ้าใครมีเว็บก็จะไปกดสับตะไคร้ฟีดในเว็บแทน)
  • โนติที่เหลือคือปิดไปหมดแล้ว เปิดไว้แค่ถ้ามีเพื่อนมาเม้นถึงจะเด้ง แล้วเพื่อนก็จะเม้นแต่เรื่องเหี้ยๆ จนคนเข้าใจไปแล้วว่ากูมีคอนโดอยู่ 4 มีเมียอยู่ 8 ลูกอีก 13 ลูกชายคนโตเข้ามัธยมแล้ว
  • ไม่ได้กดหน้าแรก ไม่ได้เสพไทม์ไลน์ เว้นแต่ว่างแบบว่างสัสๆ จริงๆ เช่นขี้อยู่แต่อ่านข่าวใน Feedly หมดแล้ว ทวิตเตอร์ก็หมดแล้ว เว็บตูนก็หมดแล้ว เอาวะส่องหน้าแรกหน่อย (เห็นเราเม้นใครคือขี้อยู่ 100%)
  • นานๆ จะเข้าไปเพื่อไล่อันเฟรนด์คนที่ชีวิตไม่ได้โคจรผ่านกันอีกต่อไปแล้ว… เออ ถ้าเราอันเฟรนด์ใครอาจจะดูเสียมารยาทเนอะ แต่การ “Keep connection” ด้วยการต้องเป็นเฟรนด์กันในเว็บนั้น แม่งไม่ใช่สิ่งที่จริงสำหรับเราเลย เดี๋ยวคุยกัน (จริงๆ) ก็กลับมาเป็นเพื่อนกัน (จริงๆ) เองแหละ เราเกลียดการที่เฟซบุ๊กมันใช้ความสัมพันธ์ของคนเป็นตัวประกัน
  • ที่กล่าวดังนี้ก็คือไม่มีเพื่อนนั่นเอง

ป.ล.
ทีแรกจะแปะทวีตของ Verge เมื่อสองสามวันก่อน ที่ว่าด้วยการเป็น monopoly ของเฟซบุ๊กอย่างไร้เทียมทานไปอีกหลายปีด้วยเทคนิคการไล่ก๊อป ไล่ฆ่า ไล่กลืน คู่แข่ง เพื่อความมั่นคงของรัฐบาล เสียดายทวีตนั้นปลิวไปแล้ว

คอมเมนต์

Vlog

มานึกได้ว่าตัวเองก็เคยทำไอ้สิ่งที่คล้ายๆ กับ Vlog เมื่อสิบกว่าปีก่อนเหมือนกัน สมัยที่ยังใช้กล้องวิดีโออยู่ (ยุคที่เริ่มมีฮาร์ดดิสก์ข้างในกล้องแล้ว แต่ไฟล์ยังออกมาเป็น .mpg = 240p) ลืมไปแล้วว่ายืมใครมา หรือใครให้มาเป็นค่าจ้างทำงาน

ตอนนั้นยังเป็นยุคสังคมเว็บบอร์ด ได้ไปเที่ยวทะเล ไปมีตติ้งกับชาวคณะอยู่บ่อยๆ พอเบื่อๆ ถ่ายภาพนิ่งก็เลยใช้กล้องวิดีโอที่ว่า ถ่าย, ก๊อปลงคอมพ์ ตัดต่อ (ใช้ โปรแกรม Sony Vegas เถื่อน ยุคนั้นยังใช้ของเถื่อนอยู่) เสร็จแล้วก็อัปขึ้น Google Videos! ลืมชื่อนี้ไปกันแล้วหรือยัง! ใครจะไปนึกว่าวันนึงมันจะเจ๊งเพราะกูเกิลเสือกไปดันแพลตฟอร์มใหม่สุดๆ ของโลกอย่างยูทูบล่ะ!

ก็นั่นแหละ พอวันนี้มานั่งย้อนดูต้นฉบับไฟล์ที่เก็บไว้บน Google Drive ก็สนุกดี แต่สัมผัสได้ว่าลักษณะการสื่อสารและการแสดงออกจะเป็นคนละแบบกับ Vlog ในทุกวันนี้ คือเราไม่ได้ทำตัวเหมือนเป็นพิธีกร และเป้าหมายของเราคือคนกลุ่มเล็กๆ ไม่ใช่หวังว่าคุยกับผู้ชมทางบ้านกว่า 8 ล้านคนที่อยู่อีกฝั่งนึงของก้อนเมฆอย่างทุกวันนี้

ที่นึกเรื่องนี้ขึ้นมาได้ก็เพราะวันนี้เพื่อนลูกมาเที่ยวบ้าน เลยได้คุยกับผู้ปกครองของเพื่อนลูก ลามไปถึงเรื่องแชนเนลยูทูบสำหรับเด็กหลายๆ ช่องที่เด็กในนั้นอายุเท่าๆ กับลูกเรา แต่ทำรายได้โคตรเป็นกอบเป็นกำ เรียกว่าทำเป็นอาชีพ กลับมาบ้านก็วางกระเป๋าแล้วเดินเข้าสตูดิโอถ่ายทำรายการ หรือไม่ก็ไปเที่ยวไปกินที่ไหนๆ ฟรีบ้างจ่ายบ้าง แลกกับการรีวิว แสดงกันเป็นครอบครัวโดยมีเด็กเป็นตัวชูโรง และมีพ่อแม่ชักใยกำกับอยู่

แล้วกลุ่มผู้ชมคือเด็ก อันนี้เป็นความลับสวรรค์เฉพาะคนที่มีลูกหรือได้เลี้ยงเด็กมาแล้วเท่านั้นเลยนะ ว่าบ้านใดมีเด็กที่ถูกสะกดวิญญาณโดยยูทูบนั้น เพลย์ลิสต์ในแอปดังกล่าวจะล้ำกว่าใคร เพราะจะมีแต่รายการเด็ก, การ์ตูนเด็ก, Vlog ของช่องเด็ก และอะไรๆ ที่เกี่ยวพันกับเด็ก แม่งก็จะกด next ไปเรื่อยๆ ไล่ไปทีละคลิป ไม่บ่นเรื่องโฆษณา ไม่บ่นอะไรทั้งนั้น เป็นผู้ชมที่ดี ทำได้เพียงเสพติดมัน น้ำลายยืด เซลล์ประสาทถูกเบบี้ชาร์กและผองเพื่อนทำลายลงไปเรื่อยๆ ส่วนฝั่งครีเอเตอร์นั้นน่ะหรือ รวยไม่รู้เรื่องเลยแหละเธอ

ก็เคยเห็นเคสที่เขาทำแล้วเอาตัวเลขมากางให้ดู ในยุคสมัยที่คนทำยูทูบบ่นกันว่าโดนกดรายได้ แต่ขอโทษ คลิปในหมวดครอบครัวนั้นเป็นข้อยกเว้น เราจึงตื่นตาตื่นใจและร่วมแสดงความยินดีด้วย …บอกกงๆ ว่าอิจฉาจังโว้ยยยย

วันนี้เลยได้คุยกันว่า ทำแบบนี้มันโคตรง่ายและรายได้ดี เป็นงานที่แจ๋วมากเลยเธอว่าไหม / ใช่ ฉันก็ว่า / แล้วทำไมเธอไม่ทำล่ะ ฉันว่าเธอทำได้สบาย / ไม่ล่ะ ฉันอยากไปเที่ยวกับครอบครัวมากกว่า ไม่ได้อยากไปเที่ยวแล้วต้องทำการแสดงต่อหน้าคนแปดแสนคนทั่วโลกนั่น

ไม่ใช่แค่คนที่คิดเรื่องการเอามันมาเป็นรายได้หรอก แต่รู้สึกเหมือนกันว่าตอนนี้เทรนด์มันเป็นแบบนี้จริงๆ ยิ่งพอเทคโนโลยีแม่งโคตรง่าย เราตัดต่อรายการสนุกๆ ได้แม้ในมือถือ (วันก่อนโหลดแอปตัดต่อวิดีโอฟรีมา แม่งเง้ย ง่ายจนอยากรีไฟแนนซ์ตัวเองให้มาเกิดใหม่ทันโตยุคนี้) เหล่าเน็ตไอดอล Vlogger จึงถือกำเนิดขึ้นมารัวๆ ทั้งมือใหม่มือเก่าต่างก็แฮปปี้กับการเป็นดาราหน้ากล้อง เป็นซัมวันแห่งกระแสวัฒนธรรมนี้

ดาราจักรมันเคลื่อนย้ายจากทีวี นิตยสาร มาสู่โลกของสื่อใหม่กว่า …ใหม่กว่าเฟซบุ๊กด้วยซ้ำ

กระทั่งการไปเที่ยวกับครอบครัวหลายครั้งเมื่อเร็วๆ นี้ ก็ยังต้องคอยเกรงใจเหล่า Vlogger หนุ่มสาวหลายๆ คณะ ที่ขอยึดสถานที่ท่องเที่ยว ที่พัก หรือคาเฟ่ร้านอาหารที่เราเองก็จ่ายตังค์กินเหมือนกัน แต่กลับต้องคอยหรี่เสียงและเกรงใจเขาและเธอเมื่อยามเดินผ่านกล้อง…

พอคุยถึงตรงนี้แล้วก็พบว่า เอาจริงๆ ถึงแม้ในใจเราจะมีอคติเต็มไปหมด เช่น อะไรวะ เฮ้ยมึงมาเที่ยวกับเพื่อนกับครอบครัวนะ จะมาแสดงทำไม แต่ก็ต้องข่มใจไว้ ไม่ให้มองวิถีนี้เป็นเรื่องประหลาดแปลกปลอม สิ่งที่ควรทำจึงน่าจะเป็นการทำความเข้าใจ จะเห็นด้วยหรือไม่ก็ต้องยอมรับว่าโลกมันหมุนมาทางนี้แล้วจริงๆ ไม่ใช่หลับตาลงแล้วแอนตี้ คนที่วิจารณ์มัน (ถึงแม้จะแค่ในใจอย่างเรา) ต่างหากที่ตกยุค

แบบเดียวกับที่เราเคยรู้สึกสมัยวัยรุ่นว่าพ่อแม่ลุงป้านั้นไหงโบราณเหลือเกินนั่นแหละ

คุยกันจบแล้วก็มองไปยังลูกเต้าของพวกเราที่กำลังค่อยๆ เติบโตขึ้น ไปในโลกใหม่ที่เราไม่รู้จักขึ้นทุกที

สัญญาว่าพ่อจะยังไม่รีบแก่นะ

คอมเมนต์

เล่นกับลูก โปรดระวังเหตุไม่คาดฝัน

เหตุเกิดเมื่อสิบนาทีที่แล้วนี่เองครับ ฝากเตือนผู้ปกครองทุกท่านด้วยว่าอันตรายมากๆ

ป.ล.นิทานเวลานั่งข้างๆ ควบคุมการวาดการ์ตูนนี้ ด้วยเสียงหัวเราะสะใจสุดขีด

คอมเมนต์

อธิบายปรากฏการณ์น้ำท่วมเพชรบุรี (เวอร์ชันเข้าใจง่าย)

สวัสดีครับ บล็อกนี้ขออธิบายเรื่องเกี่ยวกับปรากฏการณ์น้ำท่วมจังหวัดเพชรบุรีแบบคร่าวๆ ให้คนต่างจังหวัด หรือคนเพชรเหมือนกันแต่ไม่เก็ตว่าทำไมน้ำท่วมถึงได้เกิดถี่ขึ้นเรื่อยๆ ในระยะหลัง ได้พอเห็นภาพรวมเบื้องต้นจากมุมมองของผมเองในฐานะที่ตัวเองเป็นชาวบ้านคนนึงที่สนใจ และเบื่อดราม่าจากความไม่รู้ 5555

ออกตัวไว้ก่อนว่า ข้อมูลบางส่วนเป็นข้อเท็จจริง (Fact) บางส่วนเป็นเพียงความคิดเห็น หรือประสบการณ์ส่วนตัว ดังนั้นถ้ามีจุดไหนอ่านแล้วมีข้อเท็จจริงมาหักล้าง หรือไม่เห็นด้วยตรงไหน รบกวนชี้แนะหรือคอมเมนต์แก้ไขได้เลยครับ ไม่ต้องเกรงใจนะครับ (กลับกัน ผมจะขอบคุณมากๆ ด้วยครับ)

เริ่มเลยนะ

ลักษณะภูมิประเทศของจังหวัดเพชรบุรี

ผมวาดแผนที่ทางภูมิศาสตร์ให้ดูง่ายๆ แบบไม่ตรงสเกลเป๊ะให้ดูครับ ว่าคอนเซปต์ของเพชรบุรีจะเป็นแบบนี้นะ คืออยู่ตรงโคนสุดของด้ามขวาน ด้านบนชนราชบุรี, สมุทรสงคราม ด้านขวาชนอ่าวไทย ด้านล่างชนหัวหินประจวบฯ ส่วนด้านซ้ายมีเทือกเขาตะนาวศรีกั้นพรมแดนระหว่างไทยกับพม่า

แต่ถ้าเราลบเส้นสมมติที่มนุษย์กำหนดขึ้นมาทั้งหมดออกไป เราจะเห็นว่าดินแดนแถบนี้เป็นแผ่นดินเอียงๆ มีภูเขาและป่าไม้ผืนใหญ่อยู่ครึ่งนึง ที่เหลือเป็นที่ราบ มีแม่น้ำสั้นๆ สายหลักอยู่สายนึงครับ นั่นคือแม่น้ำเพชรบุรี

แม่น้ำเพชรบุรีมีต้นน้ำอยู่ในป่าเทือกเขาตะนาวศรีครับ ไหลผ่านป่าผืนใหญ่มากๆ แล้วแตะระดับพื้นราบ รวมกับห้วยแม่ประจันต์ที่ไหลมาจากป่าทางเหนือ โป๊ะ กลายเป็นแม่น้ำเพชรบุรีที่เมื่อก่อนเขาภูมิใจกันว่าน้ำเนี่ยอร่อยเด็ดจนในหลวงรัชกาลที่ 5 ทรงออเดอร์ไปเสวยโดยเฉพาะ (อ่านเรื่องแม่น้ำเพชรบุรีแบบมีข้อมูลตัวเลข มีเกร็ดตำนานอะไรต่ออะไรได้ที่วิกิพีเดียครับ)

เสร็จแล้วพอแตะพื้นราบ ก็ไหลย้อนขึ้นทางทิศเหนือ จากแก่งกระจาน ผ่านท่ายาง บ้านลาด เมืองเพขร ไปลงอ่าวไทยที่บ้านแหลม ตรงนั้นก็จะมีแขนงที่เรียกว่าแม่น้ำบางตะบูนอีกหน่อย

ทีนี้พอประเทศเราเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ ก็มีการพัฒนาระบบชลประทานและสร้างไฟฟ้า ในปี พ.ศ.2509 เขื่อนแก่งกระจานก็เลยถือกำเนิดขึ้นมากั้นแม่น้ำเพชรในหุบเขาช่วงที่จะแตะพื้นราบ กลายเป็นทะเลสาบขนาดใหญ่ พอไล่ลงมาช่วงกลางแม่น้ำเพชรก็สร้างเขื่อนเพชรขึ้นมาอีกต่อนนึง เพื่อเอาไว้คอนโทรลน้ำเข้าสู่คลองชลประทาน 3 สายหลัก ส่วนฝั่งเหนือ (หนองหญ้าปล้อง) ก็ทำอ่างเก็บน้ำแม่ประจันต์ขึ้นมาอยู่ช่วงต้นของสายลำห้วยแม่ประจันต์อีกที (ในภาพลืมวาดไว้) นอกจากนั้นก็ยังมีโครงการพระราชดำริของในหลวง ร.9 อีก เช่นอ่างเก็บน้ำห้วยผาก ซึ่งคอนเซปต์คล้ายอ่างแม่ประจันต์ คือเก็บน้ำไว้ใช้ยามแล้ง

โอเค ทีนี้มาดูเรื่องน้ำท่วม

Continue reading อธิบายปรากฏการณ์น้ำท่วมเพชรบุรี (เวอร์ชันเข้าใจง่าย)
คอมเมนต์