พรปีใหม่ ๒๕๖๓

ดึกแล้ว มาอวยพรปีใหม่กัน!
ปีใหม่นี้ขอให้คุณมีความสุข
สนุกสนาน
ไม่เซ็ง
ไม่เศร้า
ไม่ซวย
ไม่รมณ์เสีย
ไม่ๆๆๆๆๆ
ม้ายยยยยยยย
ว่าแต่คนเราจะต้องการอะไรกันเยอะแยะนะ
ความสุขมันอยู่ที่ได้กิน
ได้ขี้
ได้ปี้
ได้นอน
ที่เหลือก็พยายามเอาเองละกัน
(โคตรเปลืองเน็ต)

พระพุทธจ็อบส์ : Buddha Jobs

พออ่านข่าวแล้วก็คิดขึ้นมาได้ว่า เราจะอยู่กับความกลัวนี้ไปทำไม? เลยวาดรูปนี้ขึ้นมาแจกครับ

ผมทำเป็นขนาด 1280 x 1920 พิกเซลเอาไว้ ดาวน์โหลดใช้งานได้ฟรี ไม่ต้องขออนุญาต แค่ให้เครดิตกันก็พอ (Creative Commons : CC-BY 4.0) แต่ถ้าต้องการใช้ไฟล์ละเอียดๆ ก็ทักมาได้ทางทวิตเตอร์ครับ

มาฟังพอดแคสต์ มาฟังพอดแคสต์

ภาพจาก #CTC2019 ขโมยมาจากแซม

เมื่อวานนี้ได้มีโอกาสไปร่วมแจมวงเสวนาในงาน Creative Talk Conference 2019 (#CTC2019) ที่มีแม่งานคือพี่เก่ง @sittipong แห่ง rgb72 ในเรื่องพอดแคสต์ (ตั้งชื่อหัวข้อเรียกแขกซะอลังการเลยว่า Podcast is the next big wave?)

บรรยากาศหนุกหนานอย่างที่คิด เหมือนเป็นการรวมรุ่นคนในวงการเว็บที่เราเคยอยู่เมื่อหลายปีก่อน แล้วเจอพี่ๆที่รู้จักเคารพรัก และน้องๆ รุ่นใหม่อีกเพียบ ใครที่พลาดงานนี้น่าเสียดายมากจริงๆ แต่ได้ข่าวว่ากดซื้อบัตรยากมาก ขนาดยากนะ ยังอุตส่าห์ไปถล่มศูนย์สิริกิติ์กันตั้ง 1,500 คน

สำหรับเซสชันพอดแคสต์ มีผู้ร่วมเสวนา 4 คนคือ (ก๊อปมาจากอีเมลเชิญ)

  • คุณปรัชญา สิงห์โต – GetTalks Podcast
  • คุณพลสัน นกน่วม – GetTalks Podcast
  • คุณภูมิชาย บุญสินสุข – Executive Director for Podcast ,THE STANDARD
  • คุณรวิศ หาญอุตสาหะ – บริษัท ศรีจันทร์สหโอสถ จำกัด

ดำเนินรายการโดยคุณสิทธิพงศ์ ศิริมาศเกษม (พี่เก่ง) ซึ่งเวลาจริงมันคร่อมกับอีกเวที พี่โจ้เลยโดดมาเป็นผู้ชงคำถามแทน

และเสียดายที่เวลาบนเวทีมีแค่ 40 นาที มันเลยไม่พอกับที่อยากพูด (มีโอกาสตอบเร็วๆ ประมาณครึ่งเดียว 5555) เลยขอเขียนบล็อกนี้เพื่อทบทวนเพิ่มเติมสักหน่อย อย่างน้อยก็เอาไว้อ่านย้อนหลังว่ากรอบเวลาปัจจุบันนี้ (ต้นปี 2019) นี้มันเกิดอะไรขึ้นกับวงการพอดแคสต์ไทยบ้าง จากมุมมองของเรา เริ่ม!

พอดแคสต์คืออะไร?

อธิบายอย่างง่ายที่สุดสำหรับคนขี้เกียจอ่าน พอดแคสต์คือยูทูบที่มีแต่เสียงน่ะครับ

ถ้ายาวขึ้นอีกหน่อย พอดแคสต์ (Podcast) มาจากคำว่า iPod + Broadcast แปลความหมายตรงตัวก็คือเป็นการพกเสียงไปฟังตามที่ต่างๆ เหมือนกับฟังเพลงนี่แหละ แต่อันนี้ไม่ใช่เพลง อาจเป็นรายการวิทยุแบบออนดีมานด์ คือเลือกเปิดฟังต่อนไหนที่ไหนก็ได้ เหมือนเรามีไฟล์ MP3 ธรรมะที่โหลดติดตัวไว้ฟัง

โดยพอดแคสต์นั้นเกิดขึ้นในโลกมาช่วงปี 2000 นิดๆ โดยผู้จัดรายการก็ทำตัวเหมือนดีเจวิทยุนั่นแหละครับ จัดเสร็จก็เก็บไฟล์เสียงไว้ให้โหลดไปฟังกัน ยังไม่มีแพลตฟอร์มอะไรรองรับ

จนเริ่มเป็นที่รู้จักในยุคที่แอปเปิลและไอโฟนเริ่มเรืองรอง เพราะมือถือค่ายนี้ทุกเครื่องจะมีแอปนึงที่เป็นไอคอนสีม่วงๆ รูปเสาอากาศติดมาอยู่แล้ว แล้วเคยกดฟังกันไหม ก็ไม่…

แต่ในต่างประเทศนั้น ความนิยมมันเริ่มก่อตัวขึ้นอย่างเงียบเชียบ จนทำไปทำมาเฮ้ยมันจุดติดเฉยเลยว่ะ (เดี๋ยวจะเล่าอีกที) ตอนนี้มีแพลตฟอร์มรองรับ มีระบบเอาไว้ค้นหา กระจายข้อมูล มีแอปฟังพอดแคสต์อื่นๆ ทั้ง iOS และแอนดรอยด์โผล่มาไม่ซ้ำหน้า รวมถึงเจ้าใหญ่ๆ อย่างกูเกิลหรือ Spotify ด้วย!

ส่วนของไทยนั้น กลุ่มคนที่รู้จักพอดแคสต์ (อย่าว่าแต่เป็นผู้ผลิตหรือผู้ฟังเลย เอาแค่คนรู้จักมันก็พอ) ยังน้อยมาก ซึ่งจะว่าไปมันก็เป็นเรื่องเกร๋ๆ นะคะคุณ เหมือนเพลงอินดี้ หนังอินดี้ ช่วงนี้มันยังไม่ได้เมนสตรีม

แต่ คุณ… เทรนด์มันกำลังมาว่ะ

เราชอบฟังพอดแคสต์

เราทำงานดึก งานที่ทำก็พวกกราฟิกเอย งานเอกสารเอย

เราใช้เวลาขับรถและเดินทางนาน เราเบื่อเพลย์ลิสต์เพลงซ้ำๆ

เราไม่มีเวลาอ่านหนังสือเล่มหนาที่ซื้อมากองรออยู่เต็มบ้าน ขนาดการ์ตูนยังไม่มีเวลา

นานๆ ทีเราจะปั่นจักรยานออกไปเที่ยวเล่นนอกบ้าน

และหูเราว่าง แต่สมองบอกว่าอยากรับอะไรเข้ามาเติมอีกหน่อย

ใครก็ตามที่มีคุณสมบัติข้อใดข้อหนึ่งแบบเดียวกับที่ว่ามาข้างบนนี้ โดยเฉพาะ “ความหูว่าง” อันน่าเสียดาย จนหลายคนเลือกเปิดเพลงเป็นเพื่อน หรือฟังวิทยุเป็นเพื่อน หรือฟังเดอะช็อกเป็นเพื่อนขณะทำกิจกรรมอื่นๆ

พอดแคสต์จึงเกิดมาเพื่ออุดรูรั่วตรงนี้ คือทำให้หูคุณหายว่าง ในขณะที่คุณเองก็จดจ่อกับสิ่งที่กำลังทำอยู่ต่อไป ผ้าก็ซักต่อไป น้ำก็อาบต่อไปได้โดยแทบไม่เสียสมาธิ ส่วนครั้นจะมีประโยชน์ในแง่อื่น เช่นเติมเต็มความรู้คู่ชีวิต หรือเพื่อความบันเทิงเริงหู อันนี้ก็แล้วแต่รายการที่จะฟัง

เชื่อเถอะว่ามันตอบโจทย์บางอย่างโดยที่คุณไม่รู้มาก่อน ว่าเฮ้ย ได้นี่หว่า

ฟังได้ที่ไหนยังไง

ถ้าใช้ไอโฟน มองหาแอปชื่อ Podcast เลยครับ จิ้มเข้าไปค้นชื่อรายการดูได้เลย (รายชื่อรายการจะกล่าวถึงต่อไป) พอกดสับตะไคร้ปั๊บ มันก็จะโหลดมาตุนไว้ในเครื่องเพื่อรอเราเปิดฟังได้เลย ดีเนอะ

ส่วนใครที่ใช้แอนดรอยด์ หรือระบบอื่นๆ แนะนำ SoundCloud ที่เอาไว้ฟังก็ได้ อัปโหลดรายการตัวเองก็ดี หรือแอปอื่นๆ เช่น Castbox (ผมใช้อยู่), Podcast Addict, Google Podcasts และ Spotify ที่เพิ่งมา

ความดีของการฟังก็คือเราสามารถกดเร่งสปีดได้นะ ถ้าชินแล้วจะเสียเวลาชีวิตน้อยลงอีก (ตอนนี้ผมตั้ง default ไว้ที่ 1.4x ครับ กำลังสบายหู เสียงไม่เพี้ยนมาก แต่เมียบ่นว่าฟังไม่ทัน)

มีอะไรให้ฟังบ้าง

ของต่างประเทศไม่รู้นะครับ มีโคตรหลากหลายแนว เป็นแสนๆ ช่อง และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ผมแนะนำเฉพาะของไทยละกัน ในอดีตเคยมีรายการรุ่นพี่อย่างช่างคุย, We Slide Radio, ดีไซน์ไปบ่นไป อะไรงี้มาพักนึง ซึ่งโปรดักชันและเนื้อหาดี แต่อาจจะมาก่อนกาล (ก็คือยังไม่มีโซเชียลไว้เป็นโทรโข่งแบบทุกวันนี้ เป็นรายการที่อัดกันเป็นไฟล์แล้วอัปขึ้นเว็บตัวเองให้โหลด) ตอนนี้เลยไม่มีแล้ว

แต่ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานี้เอง ก็มีรายการหน้าใหม่เกิดขึ้น แม้ช่วงแรกจะยังอยู่ในวงไม่กว้างนัก แต่ก็ค่อยๆ คึกคักขึ้นเรื่อยๆ โดยมีทั้งสื่ออย่าง VoiceTV, a day, The MATTER  กระโดดลงมาร่วมแจมด้วย และมีผู้จัดรายการมือสมัครเล่นอีกจำนวนหนึ่งที่นึกสนุกลองทำดูบ้าง แน่นอนว่ามีบ้างที่ล้มหายตายจากไปเพราะความไม่แมสของมันทำให้ยอดฟังไม่ได้หวือหวาเหมือนการเอาไปไลฟ์หรือทำคลิปลงเฟซบุ๊กยูทูบ แต่ไอ้ความเป็นดินแดนใหม่รอการบุกเบิกนี่แหละสนุก อยากให้มาลอง

ลิสต์รายชื่อรายการต่อไปนี้ผมเคยจดไว้เมื่อปี 2017-2018 ดราฟต์ไว้ว่าจะเขียนบล็อก แต่ก็ไม่ได้เขียนซะที งั้นขอเอามาปัดฝุ่นใหม่ตรงนี้เลยละกัน โดยจะแนะนำเน้นตามรสนิยมการฟังของตัวเองนะครับ ถ้าพลาดช่องไหนไปขออภัย รบกวนช่วยเขียนเพิ่มเติมในคอมเมนต์ด้านล่างครับ

WiTcast

รายการคุยวิทย์ติดตลก พกไว้ฟังยามเปลี่ยวสมอง ดำเนินรายการโดยนักสื่อสารวิทยาศาสตร์อย่างแทนไท ประเสริฐกุล, ป๋องแป๋ง และอาบัน

ใครที่ไม่รู้จัก พอมาเห็นว่าเป็นรายการวิทยาศาสตร์ น่าจะเนิร์ดๆ อี๋ๆ ทื่อๆ ขอบอกว่าคุณคิดผิด! เพราะมันสนุกมากๆ ตลกสัสๆ ฟังเพลินโคตรๆ และได้ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ตั้งแต่ง่ายสุดยันโคตรซับซ้อน แบบที่ไม่รู้สึกเลยว่าถูกยัดเยียดเลยสักนิด รายการแทบไม่หลุดคำหยาบเลย จึงปลอดภัยสำหรับผู้ฟังทุกเพศทุกวัย ที่สำคัญคือจัดมาตั้งแต่ปี 2012 แน่ะ! กลุ่มผู้ฟังจึงผูกพันรักใคร่ชื่นชม และบอกต่อกันมาโดยตลอด (ติ่งเยอะนั่นเอง …ผมก็คนนึง) ขอแสดงความนับถือทีมงานมา ณ ที่นี้ครับ

นอกนั้นยังมีรายการอื่นๆ ในเครือ เช่น Long Take (เรื่องหนังคุยยาว), WiTThai (สัมภาษณ์นักวิจัยไทย) ที่สนุกเหมือนกัน

แถมนิดนึง ขอบอกว่ารายการนี้แหละที่เป็นต้นแบบที่ทำให้ผมอยากลองจัดพอดแคสต์ดูบ้าง เพราะพี่แกคุยอะไรก็ได้เลย เรอก็ได้ รายการปล่อยยาวตอนนึงชั่วโมงๆ ยังได้ เอ้าถ้าแบบนี้ได้ ก็ได้วะ

GetTalks

ขอไฮไลต์เพราะนี่เป็นช่องที่ผมจัดเอง 2 รายการ (ยูธูป+เสาเสาเสา) ฮิ้วว~

ช่องพอดแคสต์สุดฮิตจากทีมงานมือสมัครเล่น ที่ใช้เวลาว่างจากงานประจำมาขยันทำรายการกันอย่างตั้งใจยังกะได้ตังค์ ไอ้ความเป็นเป็นงานอดิเรกนี่แหละครับเลยทำให้ผลิตเนื้อหาออกมาได้อย่างเพลิดเพลินและเป็นกันเอง มีคนให้นิยามของช่องนี้ว่า “เหมือนนั่งล้อมวงฟังเพื่อนคุยกัน” ซึ่งเออ ก็จริงแหละ

เนื่องจากเป็นช่องที่มีอายุ 3-4 ปีแล้ว จึงมีทั้งรายการใหม่ รายการเก่า รายการเฉพาะกิจเยอะมาก เลือกฟังเอาได้เลยดังนี้

  • GetTalks รายการเริ่มต้นที่แซมกับยู เพื่อนซี้นั่งคุยกันหรือสัมภาษณ์คนนั้นคนนี้ในยุคแรก จัดกันไปมา ก็เจออีกรายการนึงมาขอเนียนใช้พื้นที่ด้วย จึงขยายจักรวาลกลายเป็นช่องเลย รายการนั้นคือ…
  • ยูธูป น่าจะเป็นรายการพอดแคสต์ที่จัดต่อเนื่องสม่ำเสมอและเปลืองเวลาฟังที่สุดในไทยแล้วมั้งตอนนี้ เพราะจัดมา 3 ปี ร้อยกว่าอีพี ตอนนึงล่อไป 3 ชั่วโมง เป็นรายการเล่าเรื่องผีก็จริง แต่กินขนมกัน 2 ชั่วโมง ที่เหลือคือนินทาและบูลลี่ผี ใช่แล้ว มันคือรายการผีแบบที่มีคนโทรมา เขียนมาให้อ่านออกรายการ แต่บรรยากาศจะไม่เหมือนรายการผีที่บิ๊วให้น่ากลัว เพราะเราอยากให้บรรยากาศเหมือนเพื่อนตั้งวงเล่า มันก็เลยเป็นรายการผีที่เป็นมิตรกับคนที่กลัวผี และคนไม่เชื่อเรื่องผีในคราวเดียวกัน มีคนฟังเยอะอยู่ (ทวิตเตอร์ @youtoopna มันรีเยอะมาก แนะนำให้กดปิด retweets กันไทม์ไลน์ระเบิด)
  • เสาเสาเสา รายการสนทนาสถาปัตย์ที่คุยเรื่องอื่นเยอะกว่าสถาปัตย์ แถมดำเนินรายการโดยคนที่ไม่ใช่สถาปนิก (ตัวสถาปนิกจริงนานๆ จะมาที) แต่คือสนใจไง พอสนใจก็อยากคุย แล้วเอาความรู้มาแบ่งกันฟัง

กลัวว่าบล็อกนี้จะยาวไป งั้นรายการอื่นๆ ในช่องนี้ผมขอสรุปย่อๆ นะ ได้แก่  พักกอง (รายการในวงการช่างภาพที่เจ้าของรายการขี้อายแต่กล้าไปสัมภาษณ์ตากล้องเก่งๆ มาเป็นพอดแคสต์ได้เฉยเลย), สลัดผัก (รายการน้องๆ นักเรียนนอก คุยเรื่องเนิร์ดๆ กันข้ามโลก),  Death & Berries (รายการโรคจิต เม้าเรื่องฆาตกรต่อเนื่อง แล้วบอกว่าฟังก่อนนอนได้ บ้าเหรอ),  MidLife ไก่ตอน (พุฒิภูมิจิตเข้าสู่วัยกลางคน เลยใช้ธีมนี้ไปไล่คุยกับคนแก่ๆ เพื่อหาความหมายของชีวิต), นอกนั้นก็ยังมีรายการใหม่ที่เปิดตัวในปีนี้เช่น Her Interview และอีกรายการที่ยังไม่รู้จะใช้ชื่ออะไร นี่ยังไม่นับรายการที่หยุดหรือพักไปแล้วด้วยนะ อย่างเย้อะ เห็นไหมแม่งเป็นจักรวาลจริงด้วย

Infinity Podcast

อีกจักรวาลหนึ่งที่จริงจังมากขึ้นในแง่เนื้อหา แต่โปรดักชันก็ง่ายๆ สบายๆ อัดด้วยมือถืออะไรแบบนี้ โฮสต์โดยอาจารย์ลูกหมี ที่มีรายการในเครืออย่าง Infinity Podcast  (หลายๆ เรื่องเหมือนอ่านบทความ), Movies Delight Club (เรื่องหนัง), คน ติด Cook (เรื่องคุก เอ๊ยกุ๊ก),​ ครูไวแคส (ครูบ้านนอกไฟแรงสูงมาเล่าเรื่องการศึกษาอย่างโคตรเฟี้ยว), Indie India (นินทาอินเดีย), Countdown นับถอยหลังวันเลือกตั้ง (ถ้ามี) (เชื่อรายการก็สุ่มเสี่ยงอยู่แล้ว แต่สนุกและกล้าหาญ), ฯลฯ เยอะไม่แพ้กัน!

The Standard Podcast

เป็นเวอร์ชันเสียงของสื่อออนไลน์ยักษ์ใหญ่ของไทย มีพี่บิ๊กบุญเป็นหัวเรือ มีรายการเยอะมาก และโปรดักชันมาตรฐานสมชื่อช่อง รายการส่วนใหญ่ผลิตเป็นซีซันส์ๆ ไป เนื่องจากเนื้อหาส่วนใหญ่เหมาะกับมนุษย์ออฟฟิศในเมือง เราเลยขอเลือกหยิบเฉพาะที่ตัวเอง (ที่ไม่ได้อยู่ในเมืองและไม่ได้เป็นมนุษย์ออฟฟิศ) ติดตามจริงจังละกัน ได้แก่ คำนี้ดี (สอนภาษาอังกฤษแบบสนุกมากๆๆๆ), R U OK (สำรวจสุขภาพจิต), TOMORROW IS NOW (รายการไอทีที่เคลิ้มตั้งแต่ได้ยินเสียงซู่ชิงแล้ว), THE SECRET SAUCE (คุยกับเหล่าเจ้าของกิจการ), ฯลฯ มีอีกเยอะมาก ไปตามกันเอาเอง

CREATIVE TALK podcast

ช่องรายการโดยพี่เก่ง แม่งาน CTC นี่แหละครับ คุยเรื่องที่คนทำงาน หรือเจ้าของกิจการที่เริ่มแก่แล้วอยากรู้อยากฟัง ช่องนี้ฟังเพลินถูกจริตมากครับ มีรายการอย่าง Creative Wisdom (เหมือนฟังบทความแนวนี้), Morning Call (พี่แกอัดรายการสั้นๆ ปลุกตอนเช้า ซึ่งดี), FounderCast (สัมฯ เจ้าของกิจการต่างๆ ให้หูลุกวาว)

โลกไปไกลแล้ว

ช่องรายการสำหรับวัยทำงาน (อีกแล้ว!) มีผู้ติดตามเยอะอยู่ เพราะนำโดยเซเล็บออนไลน์หลายท่าน เช่นพรี่หนอม TAXBugnoms (ความรู้ภาษี), OHMYFRIEND (สัมภาษณ์เพื่อนเก่า เราอยากทำรายการแบบนี้มานาน ก็ได้อาศัยฟังรายการนี้แหละ), ออฟฟิศ 0.4 (เรื่องของคนเมืองเนาะ ถึงเราไม่ได้ฟัง แต่คนฟังกันเยอะ) แต่ที่ชอบที่สุดคือรายการคนตกสีที่อยู่อีกฝั่งหนึ่ง ที่ทำไมไม่ทำเพลย์ลิสต์แยกเนี่ย

สัพเพHEYไรว้าาา

แตกตัวออกมาจากจักรวาล GetTalks เพื่อให้ผองเพื่อนแก๊งนี้ได้อาละวาดกันเต็มที่ เป็นช่องที่เนื้อหาเบาๆ ฟังเพื่อนด่ากันครับ มีรายการอย่าง สัพเพHEYไรว้าาา, อังรีดูหนัง, เตะปาก, แมนๆคุยกัน, เพลงเตะหู (แนะนำรายการเตะปาก ที่คนไม่ดูบอลอย่างผมยังชอบฟังมันด่ากันเลย พอเริ่มเข้าเรื่องบอลก็ปิด)

GUlaxy Podcast

ช่องนี้คล้ายๆ ช่องตะกี้ คือเน้นเรื่องเพื่อนนั่งคุยกัน แล้วคนฟังไปเสือกอะไรด้วย คุณบอลลงทุนทำห้องอัด ซื้ออุปกรณ์มาเพื่อให้โปรดักชันรายการดีกว่าอัดกลางร้านข้าวต้มแบบช่องอื่น รายการที่ผมชอบก็คือ คุยไม่ได้ศัพท์

(คุยเรื่องโซเชียลมีเดีย โดยคนในวงการก็คือบอลนั่นเอง เนื้อหาลงลึกแบบที่ไม่ฉาบฉวย เพลิน), นอกนั้นก็มี เข้าหูซ้ายทะลุหูขวา (รีวิวเพลงเป็นอัลบั้ม), HangOver (รายการจากวงเหล้า), เที่ยวที่แล้ว (อวดว่าไปเที่ยวมา)

โปรดใช้วิจารณญาณในการฟัง

เหมือนเป็นอีกอวตารหนึ่งของวิทย์แคสต์ แต่มาเป็นกลุ่มเพื่อนที่คุยเรื่องอื่นนอกจากวิทยาศาสตร์ด้วย (เรื่องไอดอลยังมีเลย) ชอบในความแน่นของแต่ละท่านที่หมั่นเช็กข้อมูล เช็กตรรกะวิบัติกันอยู่ตลอดเวลา ถือเป็นพอดแคสต์ที่มีความน่าเชื่อถือสูง แต่ก็ฮาและฟังเพลิน

The 101.World

อีกหนึ่งสำนักคอนเทนต์ออนไลน์ที่ตามอ่านเหนียวแน่นตลอดมา เมื่อก่อนทำเป็นช่องยูทูบ แต่ผมไม่ถนัดดูไปทำงานไป จนมารู้ว่ามีพอดแคสต์เลยตามได้ถนัดหน่อย รายการมีทั้งแนววิชาการ สังคม การเมือง สัมภาษณ์หนักๆ และรายการเพื่อนเหล่า บ.ก.มานั่งคุยกันด่ากัน ขับรถไปฟังไปเพลินมาก

Room 508 Podcast

พอดแคสต์สายบันเทิงที่นำโดยคนสายดนตรี รายการมันจะแมนๆ หน่อย คือคุยเรื่องดนตรี เรื่องหนัง เรื่องบอล เรื่องซีรีส์ เป็นช่องใหม่ที่มีคนพูดถึงกันเยอะนะทำเป็นเล่นไป

ToShare Podcast

พอดแคสต์แนวนักเรียนนอกอีกแล้ว นักเรียนนอกนี่ว่างกันนักใช่ไหม! ในทีมมีอยู่สองคนครับ จัดรายการกันเองบ้าง คุยกะคนอื่นบ้าง โดยเริ่มต้นจากการอยากทำรายการก่อน แล้วค่อยลุยหาแนวทางของตัวเอง จนตอนนี้เจอแล้ว และก็เป็นแนวทางท่ีเราชอบด้วย

Omnivore

โดยพี่หนุ่มโตมรแชมป์ทีปกร สองนักคิดนักเขียนชื่อดัง เนื้อหารายการเลยเป็นสิ่งที่สองคนนี้สนใจ (ยากๆ ทั้งนั้น) อ่านฟังดูแล้วเอามาย่อยให้เราฟัง ซึ่งสนุกและเนี้ยบ ขนาดที่สามารถเอาเนื้อหามาพิมพ์รวมเล่มได้เลยเหอะคิดดู ปัจจุบันนี้รายการนี้หยุดไปในซีซันส์ที่ 3 แต่ก็หาฟังย้อนหลังได้เสมอ

ไหนๆ ก็ขอแถมช่องและรายการที่หยุดพักหรือเลิกไปแล้ว หรือนานน้านนานจะมาที ถ้ามีลิงก์ก็น่าจะขุดหาฟังได้อยู่

  • Brand Inside Podcast รายการของ Brand Inside ที่คุยกันเรื่องสื่อ เรื่องธุรกิจ ไอที จัดช่วงกลางๆ ปีที่แล้วแล้วรัวๆ สนุกดี แต่ยังไม่มีตอนใหม่ออกมา
  • เต็กตีบวก รายการสถาปนิกอื่มแอลแล้วคุยกันเรื่องสถาปัตย์ เฮ้ยดีมากเลยเธ้อ นานๆ จะมาสักตอนครับ แต่ฟังเพลินมาก
  • ข่าวโลกโบราณคดี รายการวิทยุคนตาบอด (ซึ่งคนตาดีก็ฟังได้) เกี่ยวกับโบาณคดี อัปเดตข่าวการขุดค้นหรือเจอหลักฐานนั่นนี่ ชอบสำเนียงชัดถ้อยชัดคำ
  • The Momentum พอดแคสต์จากทีมเก่าของ a day ตั้งใจทำอย่างจริงจัง น่าจะเป็นที่แรกของไทยเลยแหละที่ทำโดยสำนักข่าวออนไลน์โดยเฉพาะ และโปรดักชันก็ได้คุณภาพมาตรฐาน มีรายการ EARGASM, HOLLYWOOD INSIDER, WHAT DO YOU SAY, THE MONEY COACH, CARPE DIEM ไปลองหาย้อนฟังตอนเก่าๆ ได้ มีคุณค่าน่าฟังหนอ
  • Life caster อีกรายการที่คุยกัน 2 คน แต่เนื้อหาพาลงลึกและแตะนั่นนี่อย่างกล้าหาญ
  • TomaYard กับ RadioMANGA คุยเรื่องการ์ตูน
  • THIRD CLASS CITIZEN รายการในวงการหนังที่เปลี่ยนคนจัดไปเรื่อยๆ มาเป็นสิบปีแล้ว! ต้องติดตามเลยเพราะนานๆ (มาก) จะมาที มาแล้วก็ลบตอนเก่าออกจากซาวด์คลาวด์ อินดี้ไป๊
  • Nerd Loyalty เด็กวิทย์คุยกันแบบเนิร์ดๆ เพลินอยู่นา ทำไมหยุดซะล่ะ
  • BATCast = ช่องนี้จัดเป็น “คร้างคราว” (มุกเล่นคำแบบนี้จากชาวแซลมอน) ช่องนี้เกิดในยุคเดียวกับ GetTalks แต่คร้างคราวจนหายไปไหนแล้ว
  • นอกนั้นก็มี CUPCAST, หมูป่าออนแอร์, Movie Tree house, Talk Tour Thai, World Y, ทำไมมันช่างเบาะบางเหลือเกิน
  • ฯลฯ เอาแค่นี้ก่อน นึกได้เท่านี้ เดี๋ยวจะยาวเกิน

อยากจัดพอดแคสต์

จัดเลยครับ!

ใครถามก็บอกแบบนี้แหละครับ จัดเลย

หลักการของการจัดก็คือ อัดเสียง > หาที่ฝากไฟล์เสียง > เผยแพร่

อัดเสียงนี่ง่ายมาก แบบที่ง่ายที่สุดคือใช้มือถือเครื่องเดียว กดอัดเสียงได้เลย เสร็จปั๊บก็ได้ไฟล์เสียงมาแล้ว หรือถ้ามีงบมีทุนก็ซื้อไมค์ดีๆ ซื้อห้องอัด เช่าสตูจัดเลยยังได้ถ้ารวยส์พอ

เปรียบเทียบเหมือนกับเราเขียนบล็อกครับ เขียนดีก็มีคนอ่าน ถ้าไม่แคร์คนอ่านก็เขียนไว้อ่านคนเดียวก็ได้ (ผมเคยติดตามฟังไดอารี่ของน้องคนนึงที่จัดในแนวไดอารี่รายวันมาเป็นปีๆ คุยคนเดียว เล่าว่าวันนี้ไปเจออะไรที่ร้านชาบู หรือกรี๊ดดาราอะไรงี้ เออเพลินดีว่ะ เสียดายน้องเลิกจัดไปแล้ว)

ที่ฝากไฟล์เสียง ที่ตอนนี้ในบ้านเราฮิตกันก็คือ SoundCloud รองลงมาก็ PodBean (ที่เอาจริงๆ แล้วเหมาะกว่า แต่คนยังไม่เยอะ) ขอไม่สอนใช้นะ มันง่ายไป๊ หลักการเหมือนยูทูบเป๊ะๆ

ส่วนการเผยแพร่ พออัปโหลดแล้วอยากให้ฟังที่ไหนก็ได้ไม่ต้องเข้าสองเว็บนั้น ก็ทำได้ด้วยการ Publish ลงสองแหล่งหลักๆ ตอนนี้คือ Apple Podcasts directory (แอปอื่นๆ ตอนนี้ใช้ไอ้เจ้านี่แหละเป็นสารบัญ) กับ Spotify กดลิงก์ที่ทำไว้ไปดูได้เลยจ้า

เสร็จแล้วก็เอาไปทวีต ไปโพสต์ในเพจอะไรก็ว่าไปครับ เสร็จแล้ว

ในเฟซบุ๊กมีกรุ๊ปที่เป็นคอมมูนิตี้เล็กๆ แนะนำให้ผู้ฟังและผู้จัดได้เข้ามาโอภาปราศรัยกัน (ส่วนใหญ่จะเป็นมือสมัครเล่นที่อยากจัดก็จัดเลย ไม่ได้ทำเป็นอาชีพนะครับ) เชิญเข้าไปชมได้ที่ Podcasts and Podcasters Thailand ครับ

สำหรับจำนวนผู้ฟังตอนนี้ บอกเลยว่าไม่เยอะครับ! อีพีนึงถ้าคนฟังถึง 1,000 ครั้งก็ถือว่าประสบความสำเร็จมากแล้ว (ถ้าเป็นปีก่อนก็ 500 ครั้ง) อาจจะตกใจว่าตัวเลขมันน้อยจังเลยวะ ยูทูบเบอร์เขาดูกันเป็นแสนๆ วิว

ที่จริงนอกจากเรื่องคนฟังในบ้านเรายังไม่เยอะแล้ว ยังต้องบอกว่าจำนวนผู้ฟังไม่เยอะนี่แหละคือตัวเลขคุณภาพครับ เดี๋ยวรอฟังจากบันทึกจากเสวนาอีกที พี่บิ๊กแกอธิบายไว้ดีเลย

เทรนด์พอดแคสต์ 2019

มิอาจฟันธงนะครับ เนื่องจากเป็นคนที่ไม่ได้อยู่กับสถิติข้อมูลตัวเลขอย่างคนที่คร่ำหวอดหรือลงมือศึกษา แต่ถ้าดูตามกรอบเวลาของปี 2018 ที่ผ่านมานั้นเห็นเลยว่าวงการพอดแคสต์ทั่วโลกตื่นตัวกันมาก อาจเป็นเพราะความลงตัวของกลุ่มผู้ฟังที่หลากหลาย มีรายการหลากหลายขึ้นมากๆ และเทคโนโลยี แพลตฟอร์มต่างๆ ที่เริ่มโดดเข้ามาเล่น หลังจากการขาดเจ้าภาพมานาน (ไอโฟนเองก็ไม่ได้ใส่ใจจะดัน)

จนเริ่มเห็นทิศทางจากกูเกิลที่เปิดตัว Google Podcasts (ที่เหมือนเปิดมาลองตลาดก่อน ยังไม่เห็นใครใช้เท่าไหร่เพราะแอปอื่นดีกว่า), เฟซบุ๊กที่ริทำ Facebook Live Audio ขึ้นมา แต่เกิดหรือเปล่ายังไม่รู้ ในไทยมีคนทดลองเล่นแล้วก็เลิกไป ไล้สดเอาดีฝ่า, Spotify ที่เปิดโหมดรองรับพอดแคสต์ปั๊บมีคนหันมาใช้เพียบ! และประกาศเมื่อ 3 วันก่อนนี้เอง ว่าจะเอาจริงแล้วนะปีนี้!, และอีกสัญญาณนึงคือกูเกิลก็เพิ่งเพิ่มโหมดพอดแคสต์ลงใน Android Auto ด้วย! (ตอบโจทย์การรถติดแล้วหาอะไรฟังนอกจากรายการอาจารย์วีระมาก!)

เดี๋ยวนะ อัปเดตล่าสุดคือ

นั่นแหละครับ ในระดับโลก มันมาแล้ว ส่วนในไทย มันกำลังมา มาทีเถอะ อยากฟัง 5555

บันทึกเซสชันนี้ย้อนหลัง จากงาน #CTC2019 ครับ

เฟดบุ๊ก

ไหนๆ เขียนตอนตะกี้แล้วติดพัน เลยแยกเรื่องออกมาต่อสักหน่อย (หายไปหลายเดือน มีเรื่องอยากเขียนเต็มไปหมดแต่มันเป็นเรื่องใหญ่และต้องใช้สมาธินาน อย่างเช่นสรุปปี 2018 ที่ชาวบ้านเขาเขียนกันจนนี่พ้นปีใหม่มานานแล้วเราก็ยังไม่ได้เขียนสักที จนตกผลึก ปุ๊! กูเขียนเรื่องเล็กๆ สั้นๆ แล้วบ่อยๆ แทนก็ได้นี่หว่า เลยสัญญากับตัวเองว่าเอาแบบนี้ละกันเนอะ คิดถึงบล็อกเหลือเกิน)

เข้าเรื่อง… วันนี้ทวีตไปแบบนี้

มาอ่านทีหลังแล้วรู้สึกว่าห้วนไปหน่อยเหมือนด่วนสรุป ไม่ค่อยได้ใจความเท่าไหร่ แต่ก็นะ มีคนมาแสดงความเห็นในรีพลายด้วย ในโควตด้วย เยอะโคตร ซึ่งถูกแล้วที่พูดเรื่องเลิกเล่นเฟซบุ๊กในทวิตเตอร์ ซึ่งเป็นแหล่งของคนที่เลิกเล่นเฟซบุ๊กอยู่แล้ว 5555

ตามความเข้าใจเดิมของเราและใครหลายๆ คน ต่างก็คิดติดเป็นภาพจำมาตลอด ว่ากลุ่มคนที่เลิกเล่นเฟซบุ๊กนั้น คำตอบคือเป็นกลุ่มเด็กๆ ที่พ่อแม่เข้ามายุ่มย่ามกับชีวิต จนขี้เกียจจะวางตัว เลยหนีมาเป็นบุคคลนิรนามในทวิตเตอร์ ที่ยังรักษาเสรีภาพในการแสดงออกแบบที่ไม่ถูกใจผู้ปกครอง (แต่มันคือชีวิตกูจริงๆ ไง) ได้อยู่

แต่ปรากฏว่าพอเรามาทำงานขายของ โดยติดต่อกับลูกค้าผ่านช่องทางหลักคือเฟซบุ๊กและอีเมล ก็พบเรื่องที่น่าสนใจ โอเคนี่คือผลการวิจัยที่ไม่ถูกต้องเพราะเราอาศัยประสบการณ์ส่วนตัวมาโน้มน้าว แต่ฟังหน่อยจะเป็นไรไป

เรื่องน่าสนใจที่ว่าคือ เมื่อสิบปีที่แล้ว (เราทำร้านสกรีนเสื้อมา 15 ปีได้) การติดต่อผ่านช่องทางหลักคืออีเมล ผู้คนยังใช้คอมพิวเตอร์กันเป็นหลักมากกว่ามือถือแบบในทุกวันนี้ ดังนั้นลิสต์อีเมลที่ใช้คุย ใช้ส่งงานกับลูกค้าจึงมีเยอะ และยังเก็บ archives ไว้จนปัจจุบัน (ขุดดูเจอลูกค้าสมัย 2004 อยู่อีกหลายเจ้า)

ไม่ดักแก่มากละกัน โดดมายุคนี้เลย เราตั้งใจจะไม่ใช้ไลน์ เพราะระบบของไลน์มันเหี้ยเกินไปสำหรับธุรกิจอย่างเรา ที่ต้องคุยกับลูกค้าหลายๆ เจ้า และเก็บความสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง แถมยังต้องแทร็ก (= เก็บลิงก์ของลูกค้าแต่ละคน) แยกไว้ในตารางงานอย่างเป็นระบบ ระบบของเราเอง ชาวบ้านเขาคงมีวิธีที่ไม่เชยแบบนี้

ปรากฏว่าลูกค้าก็โอเคนะ ช่องทางติดต่ออื่นๆ ที่เราเปิดไว้ให้คืออีเมลและเฟซบุ๊ก ซึ่งทั้งสองอย่างตอบโจทย์ของเราพอสมควร (โทรศัพท์เอาไว้ยามจำเป็น เพราะมันแทร็กไม่ได้) แต่ตอบโจทย์ลูกค้าหรือเปล่านี่สิ เวลาคือคำตอบ และเราก็ได้คำตอบมาแล้วว่ามันโอเคอยู่

จนกระทั่งในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมานี้เอง เราเห็นสัญญาณปุแล่มๆ จากลูกค้าหน้าใหม่ที่เข้ามาเรื่อยๆ เป็นบทสนทนาทางโทรศัพท์ที่บอกว่าตัวเอง “ไม่มีเฟซบุ๊ก” อยู่ประปราย มีทั้งที่เป็นเด็ก เป็นวัยรุ่น (ส่วนใหญ่ต่างจังหวัด) ไปยันวัยกลางคนที่พอจะบอกลูกหลานให้ช่วยใช้บัญชีส่วนตัวมาสั่งซื้อและส่งงานกราฟิกทาง Facebook Messenger นั่นก็ไม่ได้ติดขัดอะไร ยังได้อยู่

แต่กับช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา (ก็คือปีใหม่นี้แหละ) มีลูกค้าที่ไม่มีเฟซบุ๊กเลยติดต่อเข้ามาถึง 4 คน ทั้งสั่งสกรีนเสื้อและเช่าสตูดิโอ (ขีดเส้นใต้ทำลิงก์เพื่อ SEO) แน่นอนเราก็เข้าใจแหละว่าคนไทยใช้ไลน์เป็นหลักกันแทบทุกคนเนาะ แต่เอ๊ะทำไมไม่มีเฟซบุ๊กล่ะ เลยเสือกถามเขาไป

ไม่ใช่ไม่มี แต่เคยมี เลิกเล่นแล้ว

เหตุผลต่างกันออกไป บางคนไม่มีเพื่อนเล่นในนั้นแล้ว บางคนไม่มีความจำเป็นจำต้องใช้ บางคนไม่ได้บอกอะไร ก็ไม่ได้เล่น ใช้แต่ไลน์

พอผมทวีตออกมา ปรากฏว่ามีคนมาคุยด้วย หลายคนแชร์เหตุผล (หลายคนผมก็ถามไปด้วยความเสือกเขาอีกนั่นแหละ) ว่าทำไมถึงไม่เล่น หรือเลิกเล่น คำตอบของหลายคนก็น่าสนใจ (กดอ่านในรีพลายเอาเองก็ได้) เช่น

  • ขี้เกียจเสือกเรื่องชาวบ้าน (มาเสือกในทวิตเตอร์แทนเพราะมันเรียลกว่า)
  • ญาติไม่แฮปปี้ที่แสดงความเห็นเป็นตัวเองแต่ไม่ถูกใจท่านๆ อย่างที่พอเดาได้ (ตัวอย่างเช่น #เลื่อนแม่มึงสิ หรือ #ปั่นอุ่น อะไรสักอย่างลืมแล้ว เมื่อเดือนก่อน ที่เห็นได้รึ่มในโลกของนกสีฟ้า)
  • เบื่อการที่ต้องแสดงออกสร้างภาพชีวิตดีๆ
  • เบื่อการ “keep connection”
  • เป็น Social Media ที่ Toxic มาก” คนนี้อธิบายว่าการเห็นคนอื่นมีชีวิตดี มันทำให้เราดาวน์ ซึ่งจริงตามที่เขาวิจัยๆ นั่นแหละ
  • อันนี้เราก็เคยเป็น เห็นเพื่อนที่เราเคยสนิทด้วยคุยกันถูกคอแล้วเหมือนเราหลุดออกมา คุยกันคนละภาษาแล้ว หาทางแทรกไม่ถูก เจ็บปวดแต่ทำใจเหมือนกันนะวัยรุ่น 555
  • ไม่ไว้ใจจากการโดนดักฟัง
  • ไม่ชอบความไม่เรียลไทม์
  • รำคาญโฆษณา (อันนี้ธรรมดามาก แต่ขอเอามาลงให้เห็นรวมๆ)
  • บางคนเกลียดถึงขนาดที่ร้านรวงไหนให้ไปร่วมแคมเปญไลก์แชร์เช็กอิน จะไม่อุดหนุนเลยยังมี
  • โอ๊ยเสียดายทวิตเตอร์มันแทร็กข้อความที่มีคนโควตเราไปคุยต่อไม่ได้ ลืมหมดแล้ว

ความลำบากใจอย่างหนึ่งก็คือตอนนี้งานการที่ทำของผมนั้นยังหากินในทะเลที่มีปลาเยอะๆ อยู่ แล้วเฟซบุ๊กคือสิ่งนั้นโดยไม่มีใครสามารถทาบรัศมีได้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และคงจะเป็นแบบนี้ไปอีกหลายปี (โดยเฉพาะในไทย) ไหนจะไปกดสมัครบริการต่างๆ นั่นนี่ทั้งไทยเทศ ซึ่งการล็อกอินผ่านเฟซบุ๊กมันสะดวกจริงๆ เลยให้ตาย (เมื่อก่อนจะมีกูเกิลกับเฟซบุ๊กมาคู่กัน หลังๆ คงเอาที่คนไทยฮิตก็คืออีผีบ้าสีน้ำเงินนั่นอย่างเดียว) ก็เลยลบแอปออกไปไม่ได้

พอเปิดคอมพ์ทำงาน ตอบลูกค้าทีนึง กดเข้าไปเช็กข้อความ แถมยังต้องสะสมข้อมูลเพื่อเตรียมตัวในงานที่กำลังทำอยู่ (ปีหน้าจะเปิดคาเฟ่) ก็จะเผลอเหลือบตาไปมองไอ้ตุ่มแดงๆ นั่น จึงสะดุดหล่นลงไปในหลุมดำ แล้วก็พบว่าแม่งเสียเวลาชีวิตจนได้ ถึงจะแค่ 5-10 นาที แต่ก็พบว่ามันไม่ใช่ทางของเราเลย เอาเวลามาเสพทวิตเตอร์สบายใจกว่า (อ้าว)

ไหนๆ ก็ไม่ได้สรุปเรื่องของปี 2018 แล้ว ในนันมีพาร์ตนึงตั้งใจจะเขียนเรื่องการเสพติดโซเชียลของตัวเองไว้ด้วย ก็เอามาใส่ตรงนี้แทนละกัน ขอจบตอนนี้ด้วยการจดพฤติกรรมตัวเองในปีที่ผ่านมาละกันว่าถ้าไม่ได้นับเรื่องงาน เราเข้าเฟซบุ๊กไปทำอะไร

  • เข้ากรุ๊ปขายของเก่าแอนทีค, กรุ๊ปต้นไม้, กรุ๊ปสเก็ตช์รูป, Calligraphy, กรุ๊ปการ์ตูนเก่า, กรุ๊ปการเกษตรต่างๆ
  • เข้า Marketplace เฮ้ย เราใช้ฟีเจอร์นี้บ่อยนะ บ่อยได้ไงไม่รู้ ไม่เห็นใครพูดถึงกันเลย 555555 เข้าไปดูเฟอร์นิเจอร์ไม้ ดูต้นไม้ ดูอสังหา ดูของเก่า
  • ส่องโนติที่กดตามเพจไว้ เพจที่ตามจริงจังอยู่ไม่กี่แห่งมั้ง เช่นพี่ยุ้ย โดนไล่มาเล่นในนี้ ไข่แมวX การ์ตูนเดือด แล้วก็เพจพากินพาเที่ยวที่มีเฉพาะในแพลตฟอร์มนี้เท่านั้น (ถ้าใครมีเว็บก็จะไปกดสับตะไคร้ฟีดในเว็บแทน)
  • โนติที่เหลือคือปิดไปหมดแล้ว เปิดไว้แค่ถ้ามีเพื่อนมาเม้นถึงจะเด้ง แล้วเพื่อนก็จะเม้นแต่เรื่องเหี้ยๆ จนคนเข้าใจไปแล้วว่ากูมีคอนโดอยู่ 4 มีเมียอยู่ 8 ลูกอีก 13 ลูกชายคนโตเข้ามัธยมแล้ว
  • ไม่ได้กดหน้าแรก ไม่ได้เสพไทม์ไลน์ เว้นแต่ว่างแบบว่างสัสๆ จริงๆ เช่นขี้อยู่แต่อ่านข่าวใน Feedly หมดแล้ว ทวิตเตอร์ก็หมดแล้ว เว็บตูนก็หมดแล้ว เอาวะส่องหน้าแรกหน่อย (เห็นเราเม้นใครคือขี้อยู่ 100%)
  • นานๆ จะเข้าไปเพื่อไล่อันเฟรนด์คนที่ชีวิตไม่ได้โคจรผ่านกันอีกต่อไปแล้ว… เออ ถ้าเราอันเฟรนด์ใครอาจจะดูเสียมารยาทเนอะ แต่การ “Keep connection” ด้วยการต้องเป็นเฟรนด์กันในเว็บนั้น แม่งไม่ใช่สิ่งที่จริงสำหรับเราเลย เดี๋ยวคุยกัน (จริงๆ) ก็กลับมาเป็นเพื่อนกัน (จริงๆ) เองแหละ เราเกลียดการที่เฟซบุ๊กมันใช้ความสัมพันธ์ของคนเป็นตัวประกัน
  • ที่กล่าวดังนี้ก็คือไม่มีเพื่อนนั่นเอง

ป.ล.
ทีแรกจะแปะทวีตของ Verge เมื่อสองสามวันก่อน ที่ว่าด้วยการเป็น monopoly ของเฟซบุ๊กอย่างไร้เทียมทานไปอีกหลายปีด้วยเทคนิคการไล่ก๊อป ไล่ฆ่า ไล่กลืน คู่แข่ง เพื่อความมั่นคงของรัฐบาล เสียดายทวีตนั้นปลิวไปแล้ว

Vlog

มานึกได้ว่าตัวเองก็เคยทำไอ้สิ่งที่คล้ายๆ กับ Vlog เมื่อสิบกว่าปีก่อนเหมือนกัน สมัยที่ยังใช้กล้องวิดีโออยู่ (ยุคที่เริ่มมีฮาร์ดดิสก์ข้างในกล้องแล้ว แต่ไฟล์ยังออกมาเป็น .mpg = 240p) ลืมไปแล้วว่ายืมใครมา หรือใครให้มาเป็นค่าจ้างทำงาน

ตอนนั้นยังเป็นยุคสังคมเว็บบอร์ด ได้ไปเที่ยวทะเล ไปมีตติ้งกับชาวคณะอยู่บ่อยๆ พอเบื่อๆ ถ่ายภาพนิ่งก็เลยใช้กล้องวิดีโอที่ว่า ถ่าย, ก๊อปลงคอมพ์ ตัดต่อ (ใช้ โปรแกรม Sony Vegas เถื่อน ยุคนั้นยังใช้ของเถื่อนอยู่) เสร็จแล้วก็อัปขึ้น Google Videos! ลืมชื่อนี้ไปกันแล้วหรือยัง! ใครจะไปนึกว่าวันนึงมันจะเจ๊งเพราะกูเกิลเสือกไปดันแพลตฟอร์มใหม่สุดๆ ของโลกอย่างยูทูบล่ะ!

ก็นั่นแหละ พอวันนี้มานั่งย้อนดูต้นฉบับไฟล์ที่เก็บไว้บน Google Drive ก็สนุกดี แต่สัมผัสได้ว่าลักษณะการสื่อสารและการแสดงออกจะเป็นคนละแบบกับ Vlog ในทุกวันนี้ คือเราไม่ได้ทำตัวเหมือนเป็นพิธีกร และเป้าหมายของเราคือคนกลุ่มเล็กๆ ไม่ใช่หวังว่าคุยกับผู้ชมทางบ้านกว่า 8 ล้านคนที่อยู่อีกฝั่งนึงของก้อนเมฆอย่างทุกวันนี้

ที่นึกเรื่องนี้ขึ้นมาได้ก็เพราะวันนี้เพื่อนลูกมาเที่ยวบ้าน เลยได้คุยกับผู้ปกครองของเพื่อนลูก ลามไปถึงเรื่องแชนเนลยูทูบสำหรับเด็กหลายๆ ช่องที่เด็กในนั้นอายุเท่าๆ กับลูกเรา แต่ทำรายได้โคตรเป็นกอบเป็นกำ เรียกว่าทำเป็นอาชีพ กลับมาบ้านก็วางกระเป๋าแล้วเดินเข้าสตูดิโอถ่ายทำรายการ หรือไม่ก็ไปเที่ยวไปกินที่ไหนๆ ฟรีบ้างจ่ายบ้าง แลกกับการรีวิว แสดงกันเป็นครอบครัวโดยมีเด็กเป็นตัวชูโรง และมีพ่อแม่ชักใยกำกับอยู่

แล้วกลุ่มผู้ชมคือเด็ก อันนี้เป็นความลับสวรรค์เฉพาะคนที่มีลูกหรือได้เลี้ยงเด็กมาแล้วเท่านั้นเลยนะ ว่าบ้านใดมีเด็กที่ถูกสะกดวิญญาณโดยยูทูบนั้น เพลย์ลิสต์ในแอปดังกล่าวจะล้ำกว่าใคร เพราะจะมีแต่รายการเด็ก, การ์ตูนเด็ก, Vlog ของช่องเด็ก และอะไรๆ ที่เกี่ยวพันกับเด็ก แม่งก็จะกด next ไปเรื่อยๆ ไล่ไปทีละคลิป ไม่บ่นเรื่องโฆษณา ไม่บ่นอะไรทั้งนั้น เป็นผู้ชมที่ดี ทำได้เพียงเสพติดมัน น้ำลายยืด เซลล์ประสาทถูกเบบี้ชาร์กและผองเพื่อนทำลายลงไปเรื่อยๆ ส่วนฝั่งครีเอเตอร์นั้นน่ะหรือ รวยไม่รู้เรื่องเลยแหละเธอ

ก็เคยเห็นเคสที่เขาทำแล้วเอาตัวเลขมากางให้ดู ในยุคสมัยที่คนทำยูทูบบ่นกันว่าโดนกดรายได้ แต่ขอโทษ คลิปในหมวดครอบครัวนั้นเป็นข้อยกเว้น เราจึงตื่นตาตื่นใจและร่วมแสดงความยินดีด้วย …บอกกงๆ ว่าอิจฉาจังโว้ยยยย

วันนี้เลยได้คุยกันว่า ทำแบบนี้มันโคตรง่ายและรายได้ดี เป็นงานที่แจ๋วมากเลยเธอว่าไหม / ใช่ ฉันก็ว่า / แล้วทำไมเธอไม่ทำล่ะ ฉันว่าเธอทำได้สบาย / ไม่ล่ะ ฉันอยากไปเที่ยวกับครอบครัวมากกว่า ไม่ได้อยากไปเที่ยวแล้วต้องทำการแสดงต่อหน้าคนแปดแสนคนทั่วโลกนั่น

ไม่ใช่แค่คนที่คิดเรื่องการเอามันมาเป็นรายได้หรอก แต่รู้สึกเหมือนกันว่าตอนนี้เทรนด์มันเป็นแบบนี้จริงๆ ยิ่งพอเทคโนโลยีแม่งโคตรง่าย เราตัดต่อรายการสนุกๆ ได้แม้ในมือถือ (วันก่อนโหลดแอปตัดต่อวิดีโอฟรีมา แม่งเง้ย ง่ายจนอยากรีไฟแนนซ์ตัวเองให้มาเกิดใหม่ทันโตยุคนี้) เหล่าเน็ตไอดอล Vlogger จึงถือกำเนิดขึ้นมารัวๆ ทั้งมือใหม่มือเก่าต่างก็แฮปปี้กับการเป็นดาราหน้ากล้อง เป็นซัมวันแห่งกระแสวัฒนธรรมนี้

ดาราจักรมันเคลื่อนย้ายจากทีวี นิตยสาร มาสู่โลกของสื่อใหม่กว่า …ใหม่กว่าเฟซบุ๊กด้วยซ้ำ

กระทั่งการไปเที่ยวกับครอบครัวหลายครั้งเมื่อเร็วๆ นี้ ก็ยังต้องคอยเกรงใจเหล่า Vlogger หนุ่มสาวหลายๆ คณะ ที่ขอยึดสถานที่ท่องเที่ยว ที่พัก หรือคาเฟ่ร้านอาหารที่เราเองก็จ่ายตังค์กินเหมือนกัน แต่กลับต้องคอยหรี่เสียงและเกรงใจเขาและเธอเมื่อยามเดินผ่านกล้อง…

พอคุยถึงตรงนี้แล้วก็พบว่า เอาจริงๆ ถึงแม้ในใจเราจะมีอคติเต็มไปหมด เช่น อะไรวะ เฮ้ยมึงมาเที่ยวกับเพื่อนกับครอบครัวนะ จะมาแสดงทำไม แต่ก็ต้องข่มใจไว้ ไม่ให้มองวิถีนี้เป็นเรื่องประหลาดแปลกปลอม สิ่งที่ควรทำจึงน่าจะเป็นการทำความเข้าใจ จะเห็นด้วยหรือไม่ก็ต้องยอมรับว่าโลกมันหมุนมาทางนี้แล้วจริงๆ ไม่ใช่หลับตาลงแล้วแอนตี้ คนที่วิจารณ์มัน (ถึงแม้จะแค่ในใจอย่างเรา) ต่างหากที่ตกยุค

แบบเดียวกับที่เราเคยรู้สึกสมัยวัยรุ่นว่าพ่อแม่ลุงป้านั้นไหงโบราณเหลือเกินนั่นแหละ

คุยกันจบแล้วก็มองไปยังลูกเต้าของพวกเราที่กำลังค่อยๆ เติบโตขึ้น ไปในโลกใหม่ที่เราไม่รู้จักขึ้นทุกที

สัญญาว่าพ่อจะยังไม่รีบแก่นะ