นิทานสิบช่อง ตอน น้องไม่ยอมช่วย

เมื่อวานนิทานวิ่งไปฟ้องแม่ว่าน้องไม่ยอมช่วยงาน พอถามก็ได้ความดังการ์ตูนต่อไปนี้

ป.ล.คนระบายสีสี่ช่องแรกคือนิทานนี่แหละ พอถึงช่องที่ห้าก็บอกว่าเหนื่อยแล้ว ทำไมมันเยอะจัง พ่อทำเองละกัน

นิทานเล่านิทาน เรื่อง สัตว์ประหลาด

วันนี้นิทานมาเห็นไมค์หน้าคอมพ์ของพ่อ (ที่ปกติเอาไว้อัดพอดแคสต์) เลยอยากเล่นบ้าง พ่อเลยจัดให้มานั่งเล่านิทานซะเลย แล้วก็เลยออกมาเป็นคลิปนี้ครับ

ยิ้มสู้

ยิ้มสู้
ทำนอง: พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช
คำร้อง: พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ


โลกจะสุขสบายนั้นเป็นได้หลายทาง
ต้องหลบสิ่งกีดขวางหนทางให้พ้นไป
จะสบความสุขสันต์สำคัญที่ใจ
สุขและทุกข์อย่างไรเพราะใจตนเอง

ฝ่าลู่ทางชีวิตต้องคิดเฝ้าย้อมใจ
โลกมืดมนเพียงใดหัวใจอย่าคร้ามเกรง
ตั้งหน้าชื่นเอาไว้ย้อมใจด้วยเพลง
ไยนึกกลัวหวาดเกรงยิ้มสู้

คนเป็นคนจะจนหรือมี
ร้ายหรือดีคงมีหวังอยู่
ยามปวงมารมาพาลลบหลู่
ยิ้มละไมใจสู้หมู่มวลเภทภัย

ใฝ่กระทำความดีให้มีจิตโสภา
สร้างแต่ความเมตตาหาความสุขสันต์ไป
จะสบความสุขสันต์สำคัญที่ใจ
เฝ้าแต่ยิ้มสู้ไปแล้วใจชื่นบาน

คืนวันที่ 13 ตุลาคมที่ผ่านมา เชื่อว่าหลายคนคงมีวิธีรับมือ หรือไม่รับมือ กับเหตุการณ์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของประเทศเราจ่างๆ กันออกไป ส่วนผมเลือกฟังเพลงนี้วนเวียนหลายครั้ง หลายครั้งมากๆ

‘ยิ้มสู้’ เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ที่ผมเองก็จำเนื้อร้องไม่ได้ (ที่แปะไว้ข้างบนก็มาจากกูเกิล) แต่จำทำนองได้ดี ที่คุ้นๆ คือเนื้อเพลงจะให้ความหมายคล้ายๆ ‘แสงสุดท้าย’ ที่พี่ตูนร้อง หรือ ‘ฤดูที่แตกต่าง’ ของพี่บอย … อ้อ ถ้าจะให้ตรงเป๊ะๆ กับอารมณ์ตัวเองขณะนั้น ก็น่าจะเป็นเพลง ‘โลกยังสวย’ ของเฉลียง (แต่ผมชอบเวอร์ชันทีโบน)

แต่จะขอเปลี่ยนเรื่องแบบไม่มีปี่มีขลุ่ยตามสไตล์บล็อกนี้ — คือ ช่วง 3-4 วันที่ผ่านมานี้ ผมผ่านการยิ้มสู้มาเหมือนกันครับ

20161010_184616

12 ตุลาคม 2559

เราตื่นกันทั้งบ้านตั้งแต่เช้ามืด ตัวเล็กฝากยายไว้ ส่วนตัวใหญ่ตื่นมาดูการ์ตูน และกินอะไรรองท้องก่อนที่จะถึงกำหนดการที่หมอสั่งว่า “ห้ามกินอาหารก่อนผ่านตัด 6 ชั่วโมง”

ขับรถไปถึงโรงพยาบาลตั้งแต่เจ็ดโมง เพื่อจัดแจงธุระต่างๆ เกี่ยวกับการผ่าตัดและพักฟื้นให้ลูก

ถึงมันจะเป็นการผ่าตัดเล็กๆ อย่างผ่าต่อมทอนซิล (ที่มันเสียไปแล้ว และกลายเป็นตัวที่ทำให้ร่างกายแย่ ไม่มีดีกว่ามี) ออก แต่สำหรับเด็กสี่ขวบ การผ่าจะอะไร เล็กหรือใหญ่ มันก็เรื่องใหญ่ทั้งนั้นแหละ

หลังจากการเจ็บป่วยออดๆ แอดๆ ตลอดสองปีที่ผ่านมา นิทานกลายเป็นเด็กอนุบาลที่ขาดเรียนถึงหนึ่งในสามของทุกเทอมตั้งแต่ อ.หนึ่งยัน อ.สอง แน่นแนว่าส่งผลโดยตรงกับพัฒนาการของลูก ทั้งด้านการเรียนรู้ (ไม่ใช่แค่เรียนหนังสือนะ – เราใช้คำว่าการเรียนรู้) พัฒนาการด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม ฯลฯ ของเด็กช่วงปฐมวัย ที่ใครๆ ก็รู้กันว่ามันสำคัญมากเนอะ

เคยอ่านมาว่าการที่เด็กป่วยนั้น ตัวเด็กน่ะโอเค เพราะไม่จำเป็นต้องรู้เรื่องใดๆ ที่เป็นอนาคตของตัวเอง ถึงขนาดที่มีเด็กเป็นมะเร็งร้ายในเคสหายากที่รักษาไม่หาย และนับถอยหลังชีวิตไปอีกแค่ไม่กี่วัน แต่พอถามว่าโตขึ้นหนูอยากเป็นอะไร หนูก็ตอบว่าอยากเป็นเชฟทำอาหาร พ่อแม่เลยจับส่งไปเรียน(ฟรี) กับอาจารย์สอนทำอาหารที่โด่งดัง (อาจารย์สอนให้ฟรีด้วย) ก่อนที่แสงเทียนของน้องจะดับวูบลง น้องก็แฮปปี้ที่สุดแล้ว

แต่เฮ้ย ลูกเราไม่ได้เป็นอะไรหนักขนาดนั้น นี่แค่ทอนซิลพังเองงงง

ถึงกระนั้น ความวิตกกังวลก็ได้ก่อตัวขึ้นเรื่อยๆ กับเมียผม พออาการป่วยมันเริ่มบ่งชี้ชัดว่าแบบนี้ไม่ค่อยไหวแฮะ และนับวันก็ยิ่งหนักหนาขึ้นๆ จนแทบจะกลายเป็นมนุษย์แม่คนหนึ่งที่เราเห็นกันทั่วไปบนโลกออนไลน์ นั่นคือวิตกจริตกับทุกความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับลูก ไอทีนึงก็สะดุ้ง ร้องทีนึงก็นอนไม่หลับ ได้แต่นับถอยหลังถึงเกณฑ์อันตราย

ไม่คิดว่าพอมาเป็นพ่อคนแม่คน เราจะได้มองโลกและมองลูกด้วยสายตาคนเป็นพ่อและแม่ ตัวพ่อน่ะโอเค เป็นมนุษย์เหตุผลอยู่แล้ว แต่กับแม่นั้นหนักหนาสาหัส คือนอนโรงพยาบาลแต่ละครั้งจะให้กินยา ฉีดยา ดมยา รักษาตัวยังไงก็ได้ ปรึกษาหมอสารพัดทั้งหมอเด็ก หมอภูมิแพ้ เพื่อนหมอ พี่สาวเพื่อนที่เป็นหมอ คนโน้นคนนี้ที่เป็นหมอ ทำทุกทางเพื่อหวังว่าจะได้รับคำตอบอื่นๆ ที่ไม่ใช่ “ต้องผ่าตัด”

แต่การไปหาหมอเพื่อรักษาอาการแต่ละครั้งก็ยิ่งบีบรีดให้ได้คำตอบออกมาเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น “ต้องผ่าตัด”

ผมเองเคยผ่าฟันคุด และรักษารากฟันมาแล้วหลายซี่ จนเรียกได้ว่าในปากนี่อมเงินหลักแสนอยู่นะ โคตรเข้าใจสถานการณ์นี้เลย คืออวัยวะบางอย่างของเราเนี่ย ถ้าอะไรที่ผุพัง ที่เก็บเอาไว้มีแต่เสีย ก็ไปเอาออกซะก็สิ้นเรื่อง

แต่กับแม่ของเด็ก ไอ้คำว่าเอาออกซะก็สิ้นเรื่องเนี่ยแม่งยากสัสๆ แล้ว

คนเป็นพ่อจึงต้องเป็นแผนกถ่วงน้ำหนัก ดึงสติกลับมานะทุกคน ลูกเป็นคนป่วย แม่เป็นคนให้กำลังใจคนป่วย ส่วนพ่อคือผู้ให้กำลังใจผู้ให้กำลังใจคนป่วยอีกที

พอ 11 โมง ลูกก็หลับไปในมือหมอ ตื่นมาอีกที ก็กลายเป็นเด็กที่ไม่มีอีต่อมเน่าที่ว่านี้แล้ว แน่นอนว่าร้องไห้แหกปากแบบเจ็บๆ จนต้องปลอบเบอร์แรงสุด และหลอกไว้ว่าถ้าไม่โก่งคอร้องไห้แบบนี้ คอหนูจะหายเร็วนะ

คืนวันแรกผ่านไปอย่างยากลำบาก แม้จะโล่งใจ (นี่พูดถึงแม่) แต่ก็ยังไม่เคลียร์ ยังรอดูอาการของลูกอย่างใกล้ชิดแบบนาทีต่อนาที

เย็นวันนั้น เราได้รับข่าวลือแปลกๆ ไม่สิ ไม่ใช่ข่าวลือสิ จดหมายอย่างเป็นทางการแบบไม่ต้องตีความอะไรเลยจากทีมแพทย์ที่ถวายการรักษาในหลวงอยู่ในอีกโรงพยาบาล

เรารู้ เชื่อแหละว่าทุกคนรู้ แต่เราอยู่ในประเทศที่ห้ามพูดสิ่งที่อยู่ในใจ ไม่ว่าจะเป็นความกังวล หรือพูดให้เรารับมือกับแรงกระแทกที่ยิ่งใหญ่แค่ไหน ก็ห้ามพูด

13 ตุลาคม 2559

ลูกสาวดูการ์ตูนทั้งวัน ในชีวิตนี้จะมีก็ไม่กี่ครั้งหรอกที่ยอมเปิดการ์ตูนให้ดูเยอะๆ แบบนี้ ด้วยหวังจะเปลี่ยนสภาพจิตใจและอารมณ์ของลูกให้เป็นบวก ซึ่งคืนนี้จะเป็นคืนสุดท้ายที่นอนโรงพยาบาล วันรุ่งขึ้นพ่อและแม่มีงานที่เลี่ยงไม่ได้ ตอนนั้นยังไม่รู้ว่า อีกเดี๋ยวทุกอย่างจะประเดประดังเข้ามาอย่างใหญ่หลวง

ลูกนอนดูการ์ตูนอยู่บนเตียง แม่นั่งทำงานสลับกับนั่งอ่านนิยายเช่าในห้อง ส่วนพ่อที่เพิ่งกลับจากจตุจักร (โรงพยาบาลมันอยู่ใกล้ เลยได้ไปเดินตลาดต้นไม้มาจนขาลากและผิวไหม้) พอมาถึงก็เปิดไทม์ไลน์ดู เฟซบุ๊กปกติดีอย่างที่พอจะนึกออก ส่วนทวิตเตอร์(ที่ได้ชื่อว่าไวต่อบรรยากาศแปลกๆ)นั้นเป็นคนละเรื่อง

ตามข่าวที่ไม่อยากให้เกิด จนทุกอย่างบ่งชี้ว่าใช่

จนใช่…

แล้วทุกอย่างในโลกก็ทลายลง

ผมถ่ายคลิป “แสงสุดท้าย” ของเย็นถึงค่ำวันนั้นเอาไว้ (เป็น time-lapse) ทีแรกก็สงสัยว่าทำไมถ่ายอกมาแล้วมันดูไม่ค่อยชัดเหมือนเป็นหมอกๆ อ้อ ที่ไหนได้ เป็นหมอกในตำนานที่ใครหลายคนก็ได้เห็นและร่ำลือกัน

คืนนั้นนอนดึกมาก เอาจริงๆ คือนอนเกือบไม่หลับเลยแหละ ภาพที่เห็นผ่านจอมือถือ เริ่มเปลี่ยนจากภาพสีเป็นภาพขาวดำ มีบทสนทนา มีคำถาม มีการแสดงความคิดเห็นมากมายชนิดที่ @icez บอกว่า log ของทวิตเตอร์เมืองไทยถูกถล่มด้วยก้อนข้อมูลก้อนยักษณ์ระดับปรากฏการณ์

บรรทัดนี้ผมไม่รู้จะเขียนอะไรจริงๆ ทีแรกมีอะไรจะเขียนเยอะแยะไปหมด แต่พอเอาเข้าจริงกลับรู้สึกว่าเราเรียบเรียงความคิดตัวเองไม่จบจริงๆ

อ่านสิ่งที่เกิดขึ้น ณ​ วันนี้จากทุกๆ คนเถอะ ทุกคนได้เขียนบันทึกประวัติศาสตร์หน้านี้ของประเทศเราไว้ให้หมดแล้ว

ตื่นมาพรุ่งนี้ ทุกอย่างจะไม่มีอะไรเหมือนเดิมอีกต่อไป

14 ตุลาคม 2559

เช้านี้แหละ เป็นเช้าที่ทุกอย่างไม่เหมือนเดิมเลยสักนิด หนังสือพิมพ์ ทีวี สารพัดเว็บไซต์ต่างนำเสนอทุกรายละเอียด โดยเฉพาะบรรยากาศแห่งความเศร้าโศกอันทรงพลังนั้นได้แผ่ขยายปกคลุมไปทั้งประเทศ

นิทานออกจากโรงพยาบาล เห็นว่าอาการเจ็บแผลไม่น่าห่วงนัก ที่เหลือก็แค่การประคับประคองจิตใจกัน ไม่ต่างจากใครๆ ในประเทศเราตอนนี้ ที่ต้องผลัดกันประคับประคองกันและกันทั้งนั้น

เมียผมปรับตัวอย่างรวดเร็ว เข้าสู่โหมดทำงานทำการและโหมดแม่ของลูกอย่างจริงจังอีกครั้ง ส่วนผมพอทุกอย่างดูเรียบร้อยดี ก็ผละออกมางานสัปดาห์หนังสือ ซึ่งวันนี้มีนัดพบปะผู้อ่าน และเซ็นชื่อลงในหนังสือ #เน็ตเมื่อวานซืน

ระหว่างเดินทางก็ได้พบกับบรรยากาศแห่งความอาลัยจากทุกคนรอบกาย เนื่องจากบ่ายวันนี้มีพระราชพิธีเคลื่อนพระบรมศพฯ ไง ดังนั้นหลายๆ คนบนรถไฟฟ้าที่เห็น ก็ต่างเดินทางไปสถานีปลายทางเพื่อต่อรถต่อเรือกันตามสะดวก เพื่อไปร่วมพิธีฯ

พอเสร็จจากงานหนังสือ ก็มานึกได้ว่าวันนี้เป็นวันที่เราไม่ตลกเลย (ปกติก็ไม่ตลกนะครับ ผมเดินทางสายเท่มาตลอด)

กลับถึงบ้านก็ดึกดื่น ลูกเมียหลับแล้ว เหนื่อยและเพลียกันมากๆ ทั้งคู่

15 ตุลาคม 2559

สังเกตว่าพอถึงวันนี้ โดยเฉพาะในโลกออนไลน์ หลายๆ คนเริ่มทำใจได้ และกลับมาทะเลาะกันเหมือนที่เคยเป็นมา (เวรแท้ๆ)

บรรยากาศความหน่วงรอบๆ ตัว ยังทำ ‘หน้าที่’ ของมันได้อย่างแข็งขัน แล้วทำไมเราจะทำบ้างไม่ได้

ยิ้มสู้และทำหน้าที่ของตัวเองต่อไปให้ดี ก็เท่านี้เอง

นิทานก่อนนอน (13 ส.ค.59)

เมื่อคืนตอนนอน ลูกขอให้ผมเล่านิทานให้ฟัง

ปกติผมนอนดึก เมียเลยมีหน้าที่เป็นคนเล่า หลายเรื่องก็เล่าซ้ำจากหนังสือที่กองไว้ท่วมบ้าน แต่พอระยะหลังๆ ลูกคงเบื่อที่เรื่องซ้ำบ่อย จนแม่โบว์ต้องคิดเรื่อง ผูกเรื่องเองหลายครั้ง บางเรื่องก็เพลิดเพลิน บางเรื่องก็กริบ แล้วแต่อารมณ์คนเล่าตอนนั้นแหละมั้ง

แต่เมื่อคืนนี้เป็นคิวของผม พอปิดไฟคุยนั่นนี่จนหมดเรื่อง ได้เวลานอนแล้ว ก็เลยถามนิทานว่าคืนนี้จะส่งท้ายด้วยเรื่องอะไรดี ให้บอกชื่อเรื่องมาเดี๋ยวพ่อแต่งนิทานให้นิทานฟังเอง

จึงได้นิทานก่อนนอนเรื่องนี้มาครับ ทีนี้รู้สึกว่าพล็อตมันใช้ได้ กลัวว่าเดี๋ยวจะลืม เลยเอามาวาดเป็นการ์ตูนแปะบล็อกไว้ อีกสิบปีจะเรียกลูกมาดูใหม่

(ชื่อเรื่องอยู่ตอนท้าย)

เริ่มล่ะนะ

01 Continue reading นิทานก่อนนอน (13 ส.ค.59)

มืออาชีพ

มืออาชีพ

ช่วงนี้เวลาขับรถรับลูกกลับจากโรงเรียน ผมชอบทดลองสอนให้รู้จักคำศัพท์ใหม่ๆ ยากๆ ที่จำเป็นต้องใช้บริบทรอบข้าง (แบบที่ไม่ได้เป็นไดอะล็อกปกติสำหรับเด็กเล็ก) ด้วยถึงจะเข้าใจ อันนี้เป็นการท้าทายตัวเองด้วยว่าจะอธิบายคำที่เราเก็ตกันทุกวันทุกวี่ให้เด็กที่เพิ่งเคยได้ยินคำนี้เข้าใจได้ไหม ซึ่งส่วนใหญ่ก็เก็ตนะ

คำศัพท์ใหม่ในวันนี้ คือคำว่า “มืออาชีพ”

มืออาชีพที่หมายถึง คนที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน สามารถทำงานบางอย่างได้เก่งกว่าใครๆ

หลังจากอธิบายความหมายเรียบร้อยแล้ว ก็ได้เวลาทดสอบความเข้าใจ
ผม: เห็นคุณลุงคนขับแท็กซี่นั่นไหม คุณลุงเป็นมืออาชีพเรื่องอะไร
นิทาน: น่าจะ… (คิดแป๊บนึง) เรื่องการขับรถนะ
ผม: ช่ายยย แล้วคุณลุง ร.ป.ภ.ล่ะ
นิทาน: … (คิดนาน)
ผม: คุณลุงคอยดูแลหมู่บ้านไม่ให้มีขโมยเข้ามาใช่ไหม
นิทาน: ใช่ๆๆ มืออาชีพด้านการดูแลหมู่บ้านเรา
ผม: ถูกต้องงง อะแล้วคุณยายล่ะมืออาชีพด้านไหน
นิทาน: คุณยายเย็บผ้าเก่ง มืออาชีพด้าน… เย็บผ้า!
ผม: เจ๋ง แล้วแม่ล่ะ
นิทาน: มืออาชีพด้าน… (นึกอีกแป๊บ) ขายของ!
ผม: ใช่เลยยยย เก่งนะเนี่ย
นิทาน: แฮ่ (ยิ้ม)
ผม: อะ แล้ว… แล้วพ่อล่ะ มืออาชีพด้านอะไร
นิทาน: … (นึก)
ผม: …
นิทาน: นึกออกแล้วๆ
ผม: ว่ามาเลย!
นิทาน: มืออาชีพ…! ด้านการตากผ้า!