#หนีกรุง Day 5: ทะเล/จีน/ต๊าย

image

และแล้วการเดินทางรอนแรมของบ้านเราในวันนี้ก็เปลี่ยนโหมดแบบหลังตีนเป็นหน้ามือ

ก่อนหน้านี้จะเป็นการด้อมดูสถานที่ที่ไม่คุ้นเคยในเชิงธรรมชาติและวัฒนธรรมหน่อยๆ ซึ่งเป็นของถนัดของผม แต่นับจากวันนี้ไป เมียคือผู้คุมเกม …เป็นการหนีกรุงที่หนีจากความสลิ่มมาพบความสลิ่มกว่า เป็นสลิ่มแบบเอ็กโซติก

เที่ยวทะเล! เดินห้าง! นอนโรงแรม! กินหรู! อะไรแบบนี้

เริ่มต้นวันนี้ด้วยการมาที่นี่ ที่ที่มีสระว่ายน้ำขนาดใหญ่เกินจินตนาการ แถมยังมีสระเด็ก สระเหลี่ยม สระย่อย สระเลี้ยวลดคดเคี้ยวเลื้อยไปตามห้องพักต่างๆ มากมาย ยาวเลยไปถึงชายหาดของโรงแรมที่เป็นสระเบ้งๆ แบบ โอ้โห พี่ฮะ

ตัดภาพกลับไปหลายวันก่อน ตอนที่ประชุมกับเมียเรื่องแบบบ้าน เมียบอกว่าอยากได้สระว่ายน้ำ เล็กๆ ก็พอ อย่าง 4-5 เมตรคูณ 10 เมตรงี้ ถ้าไม่แพงอย่างที่เขาว่ากัน ก็จะเอา เลยปรึกษาคนนั้นคนนี้ จนได้ข้อสรุปว่าแม่งแพงกว่าที่เขาว่ากันว่าแพงซะอีก โอเค พับ

ทีนี้วันนี้ครับ มันเป็นวันธรรมดา

การเที่ยววันธรรมดา ถ้าเป็นสถานที่อันซีนหน่อย อย่างแก่งกระจานเมื่อเช้าที่ผมปั่นลุยไปดูหลายๆ รีสอร์ตริมน้ำเพชร ก็พบว่า มันคือเมืองร้างชัดๆ ไม่มีนักท่องเที่ยวมาพักเลยครับ

อ่านใหม่นะครับ ไม่มี ≠ แทบไม่มี

อันนี้อยู่ในโหมด “ไม่มี” นี่หมายถึง แม่งไม่มีคนจริงๆ ผมปั่นผ่านถนนลูกรัง เจอวัว เจอควาย เจอหมามากมาย เอ้าเจอม้าที่เขาปล่อยมากินหญ้าข้างถนนก็มี… แต่ ไม่ มี คน

ผิดกับที่นี่ มันเป็นเมืองท่องเที่ยววิถีสลิ่มที่ใกล้กรุงเทพฯ ที่สุดเท่าที่จะนึกออก ดังนั้นวันธรรมดาก็ยังอุดมไปด้วยทัวร์ทั้งไทยเทศ โดยเฉพาะเทศ

ตอนติดต่อล็อบบี้ ผมเห็นทัวร์จีนมาจอด หนึ่งคันรถทัวร์

ไม่หรอกครับ ไอ้ผมน่ะเคยแต่อ่านในเน็ต ว่านักท่องเที่ยวจีนแย่งั้นงี้ ทุกคนที่เคยผ่านประสบการณ์ต่างก็พากันสาปส่งอะไรก็ว่าไป แต่ผมไม่ใช่พวกเหมารวมครับ ไม่ได้แบบหญิงสาวที่โดนผู้ชายเลวหักอกหนึ่งคนแล้วพาลเกลียดผู้ชายและบอกว่าแม่งก็เลวเหมือนกันทั้งโลก

ทัวร์จีนก็เช่นกัน

ให้นึกภาพว่าอย่างน้อยอาหมวยที่เดินลงรถทัวร์มา เดี๋ยวก็จะได้ใช้บริการสระว่ายน้ำยักษ์นี่ คงจัดบิกินีสีส้มสด มีเชือกเส้นจิ๋วๆ รัดแค่ขอบเอว เตรียมมาในกระเป๋าเดินทางเรียบร้อย นี่แหละภาพลักษณ์ของทัวร์จีนในสายตาข้าพเจ้า

พลัน เมื่อหันไปทางสระเด็ก (ที่เตรียมการไว้ว่าเดี๋ยวพรุ่งนี้จะให้ลูกสาวลงไปเล่น) ก็เจอน้องสาวชาวจีนคนนึง คงประมาณประถมปลายหรือ ม.ต้นนี่แหละ ใส่ชุดว่ายน้ำแบบเต็มตัวเหมือนนักประดาน้ำ เดินใส่รองเท้าข้ามจากสนามหญ้า พอดีหญ้ามันชื้น รองเท้าเลยสกปรก

น้องก็เลยเดินไปแกว่งๆ ล้างรองเท้าในสระว่ายน้ำ

ยังไม่สะอาดพอ น้องถอดรองเท้าแล้วแกว่งๆๆ ให้ขี้ดินหลุดออกให้หมด (ก็หลุดกระจายลงในสระนั่นแหละ) พอตีนน้องสะอาดดีแล้วก็เดินออกมาหาแม่มัน เอ๊ยแม่น้อง

เท่านั้นแหละผมก็สรุปได้แล้วว่า กูเกลียดทัวร์จีน

#หนีกรุง Day 4: ดินสอน

ภารกิจหลังกินข้าวเช้า (ไส้กรอก ไข่ดาว แฮม น้ำส้มน้ำสับปะรด นม ชากาแฟ ขนมปัง เนยแจม สลัดผักผลไม้และข้าวต้มอีกนิดหน่อย ทั้งหมดนี้ในวงการเรียกอเมริกันเบรกฟาสต์ได้อย่างไรล่ะหือ) ลูกคนเล็กอายุสิบเอ็ดเดือนก็ง่วงพอดี แม่ของลูกจึงนำไปชาร์จพลังงาน

ส่วนตัวพี่ซึ่งอายุสามขวบสี่เดือนกว่าๆ กลับพลังงานล้นปรี่ ถ้าให้มันอยู่ด้วยกันพี่น้อง รับรองว่าจะไม่เกิดการนอนในเช้าวันนี้ชัวร์ ผมจึงรับหน้าที่พานิทานไปเดินเล่นฆ่าเวลา (ไม่ได้แปลว่าฆ่าเวลา แต่หมายถึงฆ่าเวลาน่ะเข้าใจไหม) โดยมีย่า (เย้ ผมพาแม่มาด้วยน่ะครับ) เดินตามไปคอยแลกเปลี่ยนความรู้เรื่องต้นไม้ใบหญ้า โชคดีที่ทางรีสอร์ตเขาปลูกต้นไม้เก่ง เก่งจริงๆ เนี่ยเมื่อคืนวานเขียนเรื่องต้นไม้ได้เป็นคุ้งเป็นแควก็เพราะรู้สึกขอบคุณในความร่มรื่นนี้แหละ
image

ความรู้ใหม่สำหรับเด็กสามชวบในหนึ่งชั่วโมงช่วงเช้าวันนี้ก็คือ อุโมงค์มด / นางพญามดหัวโต / วิธีกระโดดข้ามมด ไม่ต้องกลัว / รู้จักต้นมะเฟือง / ต้นส้มโอ / ต้นกระท้อน / ต้นตีนเป็ด / ลูกตีนเป็ดเอามาทำงานหัตถกรรมได้ / ต้นมะเดื่อ (เคยสอนให้รู้จักทีนึงแล้วแต่ลืม) / หูกระจงยักษ์ / มอสชอบขึ้นที่ชื้น / กิ้งกือขดตัว / ผีเสื้อไม่ยอมให้คนจับ / ใบบัวเนี่ยเขาเอามาห่อข้าวกินได้ หอมอร่อยด้วย / ไม้ไผ่แข็งแรง ลื่น เคาะดังโป๊กๆ / ต้นไผ่เอามาทำเป็นกระบอกน้ำได้ / ต้นไม้บางต้นขรุขระ / การล่าของแมลงช้าง (เดินไปนั่งดูการเชือดมดสดๆ ทีแรกผมว่าจะหยอดมดลงไปในหลุมอเวจีเอง แต่เผอิญมีมดตะนอยชะตาขาดเดินลงไปพอดี โอเคเลย เอ็งซวยเองนะ ข้าไม่บาป) / สัตว์ใหญ่กินสัตว์เล็ก / น้ำเชี่ยว น้ำนิ่ง น้ำไหล / ผักตบ / จิงโจ้น้ำ / แมลงปริศนาสีแดงที่พ่อก็ไม่รู้จักชื่อ / ลำธารแห้งกับลำธารเปียก / ทดลองวิชาฟิสิกส์ด้วยการการปาลูกอะไรสักอย่างคล้ายๆ มะเดื่อลงน้ำรัวๆ กว่า 20 ลูก / หมาขึ้นสะพานอย่างไร / ต้นกระถินไม่ใช่ไมยราพ / กระรอกไม่ชอบให้คนเข้าใกล้ / ศาลาหน้าตาเป็นแบบนี้ / ธรรมชาติคืออะไร (อธิบายศัพท์คำนี้ด้วยการยกตัวอย่างนานมาก) / ไม้สำรวจ (กิ่งไม้ยาวประมาณเมตรครึ่ง ทรงสวยมากๆ เอาให้นิทานถือจนผูกพันมาก จะเอากลับบ้านด้วย) / การหยั่งความลึกของแม่น้ำด้วยกิ่งไม้ / วิธีการเดินบนสะพานไม้ / ความเสื่อมของโครงสร้างไม้ / การทรงตัวในที่แคบ / อากาศดีๆ พอดมแล้วสบายจมูก / อุโมงค์ต้นไม้ / ถ้าจับมือพ่อไว้แล้วจะไม่ตกน้ำ / ฯลฯ

ส่วนความรู้ใหม่สำหรับผมผู้เป็นพ่อ ก็คือ “เด็กควรโดนดินบ่อยๆ” ยิ่งบ่อยยิ่งดี เหมือนเป็นสารอาหารประเภทหนึ่งที่คนกรุงเทพฯ (อย่างลูก) แทบไม่เคยได้กิน อันนี้คงไม่ต้องอธิบายกันแล้วเนอะว่าทำไม :D

คือไอ้พ่อน่ะเล่นดิน อยู่กับดินมาตั้งแต่เกิด เลยรู้สึกอยากครอบงำความคิดนี้ให้ลูกเสียบ้าง ถึงแม่เราจะเจออะไรมาต่างกัน แต่อยากให้ได้สัมผัสความมันส์แบบที่พ่อเคยเจอตอนอายุเท่าเจ้าเสียหน่อย และยินดียิ่งนักเมื่อได้รู้ว่าเจ้าก็โคตรแฮปปี้เลย

ส่วนแม่… ช่างแม่ แม่ชอบกระเป๋ารองเท้าและเงินทองต่อไปนั่นแหละดีแล้ว จะได้ถ่วงดุล

#หนีกรุง Day 3: ถ้ายาง

image

บล็อกตอนนี้ขอแหกธรรมเนียมของสองวันที่ผ่านมาหน่อย พอดีที่พักวันนี้มันมีห้องสลัวๆ ให้พอใช้มือถือได้ ไม่ต้องแอบเขียนในห้องน้ำอย่างเคย

ด้วยความงูปลา ผมเริ่มสนใจต้นไม้ใหญ่ๆ บ่อยขึ้น เริ่มขับรถและชื่นชมความเจ๋งของต้นไม้ข้างทางให้เมียฟังถี่ขึ้นในระยะหลังๆ

มันคงเริ่มมาจากการอยากครอบครองต้นไม้ทรงสวยๆ เมื่อหลายปีก่อน ซึ่งต้นหูกระจงนั้นตอบโจทย์ ขออนุญาตเอ่ยชื่อ-ผมทวีตคุยกระหนุงกระหนิงกะพี่หนุ่ยอำพลในฐานะที่เป็นคนชอบไม้ยืนต้นเหมือนกัน (สมัยนั้นยังฟอลโลวกัน ทำไมเดี๋ยวนี้ไม่แล้วก็ไม่รู้ 555)

แน่นอน พอรากหูกระจงหน้าบ้านที่สูงเท่าตึกสามชั้นเริ่มออกอาการระรานโครงสร้าง นั่นก็ทำให้ความรักที่มีต่อมันน้อยลงไปหน่อย คือรู้ว่ามันเป็นต้นไม้ใหม่ ที่คนไทยรู้จักมาแค่ไม่กี่ปี ดังนั้นการที่สถาปนิกเลือกระบุชื่อมันให้เป็นไม้ประดับหน้าบ้านที่เป็นตึกแถว นี่ถ้าพูดว่าคงเป็นความผิดพลาดก็ไม่เกินไปนัก

โอเค ประสบการณ์สอนให้เรารู้แล้วว่าปลูกชิดโครงสร้างแล้วไม่ดี จะให้ดีควรเผื่อที่ให้มันแผ่บารมีเยอะๆ

ดังนั้นในโปรเจกต์หนองแฟบของผม (ทำลิงก์ย้อนไปบอกตอนนู้นไม่ถนัด) เลยปลูกมันลงไปเป็นหูกระจงคู่ ให้ห่างกัน 4 เมตร …ระยะผูกเปลน่ะ ไม่ได้มีภูมิความรู้อะไรหรอก เดี๋ยวค่อยว่ากันว่าพอโตมาแล้วจะยังไงต่อกับมัน แต่ที่แน่ๆ คงไม่ปลูกบ้านไว้ใกล้นัก

นี่ล่าสุดสองต้นนั้นก็สูงเกือบสามเมตรเรียบร้อย ไชโย!

เนื่องจากมันยังใหม่ในไทย ดังนั้นเราจึงไม่เคยเห็นหูกระจงที่โตเต็มที่ แบบที่จงโตไปให้เท่าที่พระเจ้าจะอนุญาต ดังนั้นความสุขเล็กๆ ของผมคือการตามล่า ไม่สิๆ ตามเก็บสถิติส่วนตัวว่าที่ไหนหนอ ที่ปลูกหูกระจงได้ยิ่งใหญ่ที่สุด

ในกรุงเทพฯ เคยเห็นที่โชคชัยสี่ ซอยห้าสิบ ต่อมาก็โดนล้มสถิติโดยอีกต้นที่ใหญ่กว่า และแผ่กิ่งก้านอลังระดับก้ามปูที่ร้านส้มตำลาดปลาเค้าซอย 72 (คุณลุงเจ้าของบอกว่าปลูกมา 15 ปี ไม่เคยตัดเลย โอเคครับ ผมก๊อปสูตรนี้นะ)

แต่สถิติก็มีไว้ทำลาย เมื่อไปเที่ยวจันท์แล้วเจอต้นที่อยู่ริมถนนแถวท่าใหม่ โอ้โห สูงอลังการจนต้องเหลียวหลังตอนขับรถ

และล่าสุด ตอนนี้ผมก็นั่งเขียนบล็อกใต้ร่มสถิติโลก(ส่วนตัว)ล่าสุด อยู่ที่เพชรวารินทร์รีสอร์ต แก่งกระจานนี่เอง พี่เป็นหูกระจงที่เกิดริมแม่น้ำเพชร เลยโตแบบไม้ป่า คือกูต้องชะลูดแข่งกับต้นอื่นๆ ที่สูงสุดแหงนมาก่อน ดังนั้นพี่จึงไม่เน้นแผ่บารมีออกข้าง แต่นี่ออกแนวสูงอย่างเดียว แข่งกับตีนเป็ดที่กลายเป็นไม้ชะลูดได้ไงไม่รู้ เสียดายที่ไม่ได้ถ่ายรูปมาเพราะขนาดกล้องโกโปรยังเก็บไม่หมด!

image

แถมแถวนี้ยังมีแบบที่เน้นแผ่ฯ ตามคอนเซปต์อีก คือต้นที่ยืนอยู่ริมแม่น้ำ นี่ถ่ายมาให้ดูด้วย เสียดายในรูปไม่เห็นคนยืน จะได้เทียบสเกลให้รู้ว่ามันใหญ่มาก

หลังจากรู้จักหูกระจง ก็เริ่มสนใจไม้ยืนต้นอื่นๆ เริ่มตั้งแต่มะขามหวาน ที่เป็นต้นไม้ต้นแรกที่ตัวเองปลูกในวัยเด็ก เอ้อ จะพูดว่าปลูกก็คงไม่ใช่ แค่พ่อแม่ซื้อมาแล้วเรากินเสร็จ ถุยเม็ดมันลงดินในตำแหน่งที่ตั้งใจจะให้มันงอกเงย แล้วสิบกว่าปีต่อมามันจึงเป็นต้นไม้ใหญ่ประจำบ้าน ระบบนิเวศสวยงามร่มรื่น เสียดายที่มีดราม่าบางประการ มะขามหวานที่รักต้องมีอันโดนโค่นทิ้งไป …เล่าย้อนให้รู้ว่ามันเป็นพืชที่ปลูกง่ายและสนิทสนมคุ้นเคยกันดีมาแล้ว นี่จึงยังเป็นต้นไม้ที่เป็นตัวเลือกแรกๆ เสมอเวลาอยากผูกเปล

มะม่วงล่ะ ไม่เอา ไม่ปลูกเพิ่มแล้ว โตมากับมัน มีเยอะไปหมด มดแดงเอย กิ่งเอย ยางเอย งูเอย!

ก้ามปู ชอบมาก แต่ไม่ชอบความเปราะของมัน ถ้าวันไหนมีตังค์พอจะเลือกซื้อที่ดินใหญ่ๆ ได้ คงพิจารณาจากการมีก้ามปูเก๋ๆ สักต้นนี่แหละ 5555

แล้วก็มาถึงยางนา (เข้าเรื่องซะที)

ใครมาจากกรุงเทพฯ ก่อนถึงตัวอำเภอท่ายาง จะเห็นว่าอยู่ดีๆ สองข้างทางก็กลายเป็นป่า มีไม้ยืนต้นต้นสูงลิบเท่าตึกสิบยี่สิบชั้นยืนเรียงกันเต็มไปหมด เป็นต้นที่เน้นสูง ลำต้นตั้งตรง กิ่งก้านไม่เยอะ เห็นแล้วน่าหั่นแนวยาวมาทำโต๊ะยักษ์ตามงานเฟอร์นิเจอร์แฟร์

นั่นแหละครับ ต้นยางนา

มีตำนาน (ที่เป็นเรื่องจริง) อยู่ว่า สมัยก่อนในหลวงเคยเสด็จผ่านแล้วเห็นว่ามันเจ๋งมาก ทรงโปรด อนุรักษ์ไว้นะ ไม่ใช่แค่โปรดเปล่าๆ ทรงเอาไปเพาะในแล็บเกษตรส่วนพระองค์อีกด้วย นั่นคงเป็นเหตุให้ป่ายางแถวนี้ยังไม่โดนตัด และอำเภอท่ายางที่มีต้นยางอยู่เต็มไปหมดโดยเฉพาะริมน้ำหรือตามวัดวา ก็เลยยังแฮปปี้กันดี

พออยากได้อยากมี ก็เลยหาอ่านข้อมูลจนรู้ว่าต้นไม้ชนิดนี้มีชะตากรรมแสนอาภัพ คือมี พ.ร.บ. สมัยปี 2484 ระบุไว้ว่ามันเป็นพืชที่ต้องอนุรักษ์ ใครจะปลูก ปลูกได้ แต่ถ้าจะโค่นจะตัดมาแปรรูป ต้องขออนุญาตป่าไม้ก่อนแม้จะอยู่ในที่ดินตัวเองก็ตาม เช่นเดียวกับสักและพะยูง ไม่งั้นโดนโทษหนักไม่รู้ตัว (เป็นแสนนะครับ) และในทางปฏิบัติ เห็นมีแต่เกษตรกรบ่นกันว่าการขออนุญาตกับทางการนั้นยุ่งยากเชื่องช้า จนบางทีโค่นลงมา 2-3 ปีแล้วยังทำเรื่องไม่เสร็จ จะเอามาสร้างบ้านก็ไม่ได้ พร้อมแนบภาพประกอบ

นั่นจึงทำให้ครั้งหนึ่งที่คันนาของเกษตรกรไทยที่เคยปลูกยางนากันเขียวไสวสวยงาม ต้องโดนแอบตัดทิ้งก่อนที่มันจะโต ก็เพราะกลัวซวยนี่เอง หลายคนเรียกว่าเป็นต้นอัปรีย์เลยด้วยซ้ำ เศร้าเนอะ น้ำตากามเทพเลย

แต่เท่าที่อ่านความเห็นของคนรักต้นไม้เขาคุยกัน ทางออกที่ดีก็คือพอจะปลูกก็ไปขึ้นทะเบียนกับป่าไม้จังหวัดไว้ก่อน หรือทำเป็นสวนป่า ต่อไปเวลาจะตัดจะอะไรจะได้ง่าย อันนี้เลยจดเอาไว้เพื่อเตรียมทำเรื่องขอเมีย (เมียอยากได้ลั่นทมมากกว่า)

เออ แล้วเลยได้ข้อคิดจากคุณลุงที่เป็นติ่งยางนา (จำชื่อลุงไม่ได้ครับ ขออภัย) แกบอกว่ามันคือพืชมหัศจรรย์ ปลูกทิ้งขว้างไว้เถอะ หนึ่งต้นช่วยลดอุณหภูมิรอบๆ ได้ถึง 1-2 องศา

โอ้โห เท่านี้ก็พอแล้วครับเหตุผล นึกภาพออกเลยว่าแค่ปลูกทิ้งไว้โดยลงทุนค่ากล้ายางแค่ 10 บาท สิบปีต่อมามันก็กลายเป็นเสมือนแอร์ขนาดใหญ่ (การนอนอยู่บ้านทั้งวันโดยไม่ต้องเปิดแอร์นั้นยังเป็นจริงในโลกนอกกรุงเทพฯ นะครับ)

นอกนั้นเขายังมีสูตรเพาะเห็ดไม่อั้นตรงรากต้นยาง, การนำน้ำยางมาทำเชื้อเพลิงหรือพลังงานทดแทน (อันนี้ล้ำมาก) และถ้าวันนึงจะหั่นมาทำบ้านอะไรก็ทำได้เลย เออดี คุ้มดี แต่ขอเวลาสัก 20 ปีนะ

ต้นไม้ใหญ่ในความคิดของผมคือมันเลยเรื่องเท่ เรื่องความหล่อถ้าพูดถึงอะไรอนุรักษ์ๆ รักษ์โลกๆ ไปไกลแล้ว แต่นี่เราพูดถึงฟังก์ชันล้วนๆ – ครับ ต้นไม้นี่แหละคือสุดยอดฟังก์ชันที่บรรพบุรุษเรารู้กันมาเป็นหมื่นปีแล้ว

เห็นไหมว่าตอนนี้เริ่มพูดเรื่องอะไร 10 ปี 20 ปีบ่อยขึ้นเรื่อยๆ นั่นคงเป็นนิสัยของคนที่สนใจต้นไม้ใหญ่ล่ะมั้ง คือไม่รีบ เรื่อยๆ นะ จะรอดู ตอนเราแก่ๆ คงได้นั่งเก้าอี้โยกดูความร่มรื่นจากพวกแก ถ้าแกไม่โตแบบเท่ๆ ก่อน เราก็ตายก่อน

ก็เท่านี้เอง

ป.ล.
ภาพประกอบบล็อกบนสุด ถ่ายแถวๆ คอชะออม ริมน้ำเพชรอีกแล้ว มีนายแบบตัวน้อยเป็นลูกชายคนรู้จักของแม่ กำลังช่วยผู้ปกครองเข็นรถเข็น เอาใบไม้แห้งไปกองรอเผา และต้นไม้ยักษ์ลิบๆ ข้างหลังนั่นแหละครับ ยางนา

#หนีกรุง Day 2: เพชรบุรีดีเหมือนกัน

image

“มาจากไหนกันคะ”
พนักงานเกสต์เฮาส์ถาม เราตอบไปด้วยความเคยชินว่ากรุงเทพฯ พลันนึกขึ้นได้ระหว่างคำถามถัดมา

“เคยมาเพชรบุรีไหมคะพี่”
ผมเลยตอบไปว่าเป็นคนเพชรบุรี แบบเขินๆ หน่อย เพราะเอาเข้าจริงแทบไม่มีความรู้อะไรเลยกับโซนเกสต์เฮาส์ย่านริมแม่น้ำเพชรอันเป็นที่ขึ้นชื่อในหมู่ฝรั่งแบ็กแพ็ก (ที่เป็นคนละกลุ่มกับที่เข้าใจว่าไทยแลนด์คือพัฒน์พงศ์ พัทยา หรืออีกประเภทก็เข้าใจว่าประเทศนี้มีแต่ช้าง วัด และจาพนม)

พูดก็พูดเถอะ นี่ถ้าไม่เห็นฝรั่งแววตาอินดี้หลายๆ คนที่เช่าจักรยานปั่นไปมาในซอยแถวนี้ ก็คงนึกไม่ออกว่าเมื่อยี่สิบปีก่อน สมัยมัธยมต้น ผมก็เคยแว้นมาทำกิจกรรมที่โรงเรียน และนึกสนุกเมื่อเห็นแหม่มสาว (น่ารักแหละ) แบกเป้ขนาดควายท้องแก่ เดินงงๆ อยู่แถวหน้าโรงเรียน เดาว่าคงเพิ่งมาจากท่ารถประจำทาง

ไอ้หนุ่มคนนั้นรวบรวมความกล้า เลียบๆ จอดรถข้างๆ และถามแหม่มสาวด้วยภาษาอังกฤษแบบเกร็งแกรมม่าร์ที่สุดเท่าที่จะคิดออก ว่า จะไปไหนครับ ผมไปส่งให้เอาไหม

แหม่มสาวงง (ก็สมควร) แต่เห็นว่าคู่กรณีช่างดูเนิร์ดและตัวเล็กกว่าขนาดนี้ ถ้ามันจะปล้ำก็คงทุ่มกระเป๋าใส่ น่าจะเกิดการไส้แตกกันบ้าง

เหยื่อตกลง “ฉันจะไปเกสต์เฮาส์ริมแม่น้ำ”

แน่นอน ผมฟังไม่รู้เรื่อง (อีห่า ด่าตัวเอง) เลยขอแผนที่ของแหม่มมาดู ได้ความว่า เธอจะเดินมาแถวนี้แหละ …แถวที่พักของผมในอีกยี่สิบปีถัดมานี่แหละ

นั่นเป็นการคุยกับฝรั่งครั้งแรกในชีวิต แล้วก็ลืมไปแล้วว่าแถวนี้มีที่พักราคาหลักร้อยบาทที่มีไว้สำหรับคนสนใจมาเสพวัฒนธรรมแบบง่ายๆ ไม่มีภูเขาทะเลผับบาร์ร้านเหล้าหรืออะไรที่เอ็กโซติกๆ สักอย่าง มีแค่ซอยเล็กๆ ที่มีแต่รั้ววัด อีกฝั่งของแม่น้ำก็เป็นตลาดสด ก็เท่านั้นเอง

เผอิญว่ามันเป็นสถานที่ที่วัฒนธรรมรากเหง้าพื้นถิ่นแข็งปั๋ง แบบที่ไม่ได้ทำมาอวดนักท่องเที่ยวจนเสียความเป็นตัวเอง แต่กลับเป็นแนวที่ชาวบ้านในย่านนี้ต่างก็รู้ว่าตัวเองมีของ มีกลุ่มคนที่มีภูมิปัญญาท้องถิ่นระดับสูงปรี๊ดมาช่วยกันบิ๊วผู้คนให้ตื่นรู้ (นึกภาพว่า อ.ล้อม เพ็งแก้ว แกก็ป้วนเปี้ยนแถวนี้) นั่นทำให้บรรยากาศแห่งวัฒนธรรมที่นี่มันไม่ฉาบฉวยแบบหลอกฟันนักท่องเที่ยว และไม่เสื่อมสลายเพราะไม่มีคนรักษาเป็น

การมานอนกลางเมืองเพชรบุรีในคราวนี้จึงต่างจากทุกครั้งที่เคย

ป.ล.
เคยเขียนเรื่องงานเพชรบุรีดีจัง ซึ่งเป็นงานของคนหัวสมัยใหม่ที่รู้ว่าควรพรีเซนต์อะไรในจังหวัดนี้มาแล้ว (พอดีบล็อกตอนอยู่เขียนในมือถือตอนอุ๊จ เลยทำลิงก์ไปไม่ถนัด) เอาเป็นว่าอวยไส้แตกครับ คนที่ลุกขึ้นมาทำอะไรแบบนี้และทำได้ถึงจริงๆ ผมกราบครับ