[คุยกันท้ายเล่ม] แซลมอนบุ๊คส์กับข้าพเจ้า

งานหนังสือผ่านไปครึ่งทางแล้ว ยังไม่ได้เขียนถึง “ศิลป์ซิตี้” เลย ถ้าเป็นคนรู้จักวางแผนและขายของเก่งๆ มึงควรเขียนให้เสร็จตั้งแต่ก่อนงานนะ 5555

พอดีเรื่องเล่ามันเยอะจนตัดสินใจไม่ลงว่าจะหยิบเม็ดไหนมาพูดถึงก่อนดี แต่ไหนๆ พอเขียนช้าแล้ว ก็ตั้งใจเขียนไปเลยละกัน จึงขอใช้ย่อหน้าถัดจากนี้ไป เล่าย้อนถึงชีวิตตัวเองที่ได้มีโอกาสโคจรเข้ามาเจอสำนักพิมพ์แซลมอน (ที่กดลิงก์เว็บหลักตอนนี้เจอแต่รายการหนังสือระลอกก่อน ส่วนของใหม่คงพร้อมโชว์หลังงานฯ) และได้เป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน (พูดแล้วรู้สึกเหมือนตัวเองได้กับ บ.ก.) แต่ยาวนะ บอกไว้ก่อนเลย เอาเลยนะ โอเคนะ

salmonbooks / iannnnn

นับถึงตอนนี้ผมทำหนังสือร่วมกับสำนักพิมพ์แซลมอนมา 3+1 เล่มแล้วครับ (+1 คือเล่มเหลืองๆ ข้างบนที่ออกในนามเฟลาธิการ ส่วนเล่มอื่นใช้ชื่อ iannnnn) โดยสามารถไล่เรียงไทม์ไลน์ และเล่าเรื่องที่หลังเล่มที่ผ่านมาในมุมมองของคนเขียนได้ดังนี้…

Continue reading [คุยกันท้ายเล่ม] แซลมอนบุ๊คส์กับข้าพเจ้า

พรุ่งนี้ก็สายอีกแล้ว

พูดไว้ซะดิบดีว่าเขียนหนังสือเล่มใหม่ของตัวเองเสร็จแล้ว หมดภาระหนักอึ้งแล้ว เลยเกิดฮึกเหิมขึ้นมา ประกาศกร้าวว่า “อยากเขียนเล่าเรื่องเบื้องหลังการทำหนังสือของตัวเองที่ผ่านมาแบบละเอียดๆ วันละเล่ม เขียนติดกันสี่วันก็ครบสี่เล่มพอดี” ช่างแสนโรแมนติกอะไรเช่นนี้

แล้วไงล่ะ ติดเลี้ยงลูก ติดพาเมียไปห้าง ติดหอบครอบครัวไปตรังเพิ่งกลับมา พอบวกลบดูด้วยเหตุผลและอารมณ์ทุกประการแล้วก็พบว่า ทุกอย่างที่กล่าวมานั้นสำคัญต่อชีวิตมากกว่าการเขียนบล็อกทั้งนั้นเลยว่ะ 5555

ผ่านไปสิบวันหลังจากวันนั้นจนถึงวันนี้ นี่เข้าสู่วันที่ 27 มีนาคม เข้าสู่งานหนังสือครั้งแรกแห่งปี 2558 แล้ว ตามกำหนดการที่เคยวางไว้ (ตอนที่ยังฟิตๆ) คือวันนี้จะโพสต์ลงบล็อกว่า “พรุ่งนี้ (28 มีนาคม) เวลา 14:00 น.เป็นต้นไป ผมไปเฝ้าบูธแซลมอน X-07 เพื่อเซ็นหนังสือ เจอกันนะคร้าบบบบ” อะไรแบบนี้

แต่หนังสือก็เพิ่งเสร็จจากโรงพิมพ์สดๆ เมื่อกี้ 55555 เดดไลน์ก็เดดไลน์เถอะ ลองมาเจอประสิทธิภาพการผลิตของวงการสิ่งพิมพ์ในช่วงก่อนงานหนังสือ ที่หมุนฟันเฟืองกันไม่หยุดหย่อนตลอด 28 ชั่วโมงต่อวันแบบนี้

งงไหมครับ ถ้างง เอาใหม่อีกที Continue reading พรุ่งนี้ก็สายอีกแล้ว

LINE WebToons / ยุคใหม่ของวงการการ์ตูนและเว็บในบ้านเรา

หลังๆ มานี้ไม่ค่อยได้เขียนอะไรเนิร์ดๆ เพราะลาออกจากวงการเว็บและแอปแล้ว งานอดิเรกที่ชอบคุ้ยหาแอปเจ๋งๆ หรือเครื่องมือพัฒนาเว็บดีๆ ก็เลยจางหายไปด้วย แต่ปริมาณการอ่านการ์ตูนก็ยังคงเส้นคงวา คือไม่ได้เยอะเหมือนนักอ่านสายจริงจัง แต่เรียกว่าอ่านแทบทุกครั้งที่มีเวลาว่าง(อันน้อยนิด)จากการเลี้ยงลูก

แต่ส่วนตัวเป็นคนไม่อ่านการ์ตูนละเมิดลิขสิทธิ์ เพราะอะไรไม่รู้ รู้สึกว่าจะเป็นศักดิ์ศรีค้ำคอของคนทำงานสายสร้างสรรค์ (ก็เป็นข้ออ้างที่น่าจะฟังขึ้น)

ที่สำคัญคือการอ่านการ์ตูนที่สร้างมาเพื่อให้ได้อรรถรสเต็มเปี่ยมเมื่ออยู่บนกระดาษ แต่แม่งดันมาเลื่อนๆ ดูในจอ มันไม่ใช่อะ กระดาษมันต้องพลิกอ่านสิวะ

webtoons

แอป LINE WebToons นี่ ผมรู้จักครั้งแรกก็ตอนที่เล่นไลน์ตามปกติ แล้วพอดีมันอยู่ในหน้าแจกเหรียญฟรี ด้วยความโลภอยากเก็บเล็กผสมน้อยเพื่อโหลดสติกเกอร์ฟรี ก็เลยโหลดมา ลองเปิดดู พบว่ามันเจ๋ง เลยกลายเป็นแอปที่เปิดเสพเป็นอันดับแรกๆ ของทุกๆ วันไปแล้ว (สารภาพว่าเพิ่งรู้ว่ามันมีเว็บก็เมื่อกี้ตอนค้นกูเกิลว่าชื่อมันเขียนยังไงนี่แหละครับ แล้วเวอร์ชันเว็บกฌเสือกครบกว่าในแอปมือถือที่ทำมาดีมากๆ อยู่แล้วอีกด้วย)

การได้เจอแอปดังกล่าว ความคิดที่ว่า “อ่านการ์ตูนมันก็ต้องสัมผัสกับกระดาษสิวะ ถึงจะได้อารมณ์” ก็เปลี่ยนไปตลอดกาล

เปล่าหรอก ไม่ได้บอกว่าการจับกระดาษ สูดกลิ่นน้ำหมึก และพลิกหน้าไปนิ้วดำไปอย่างที่ทำในทุกวันนี้มันไม่ดี แต่วัฒนธรรมรากฐานการผลิตงานการ์ตูนในรูปแบบของ “หนังสือเล่ม” นั้น เขามีกรอบที่เป็นกติกาอยู่

คือเวลาอ่าน มันต้องพลิก / เสพภาพรวม / แล้วค่อยเก็บรายละเอียดด้วยการกวาดสายตา มองซ้าย มองขวา (หรือกลับกันถ้าเป็นการ์ตูนที่อ่านจากขวามาซ้าย) แล้วพลิก / แล้วเสพ / ทำแบบนี้วนไปเรื่อยๆ จนจบเล่ม (ฟินไหม ฟินเนอะ) ซึ่งสิ่งนี้ดันทำได้ไม่ดีเมื่อมาอยู่ในจอคอมหรือมือถือซะยังงั้น เช่นเดียวกับพวกอีแม็กกาซีนต่างๆ ที่ดูยังไงก็ยังยึดติดกับภาพเก่าๆ ว่ามันต้องมีหน้าขวา หน้าซ้าย — หรือแม้แต่จะต้องมีแนวคิดแบบ “หน้า” อยู่เสมอ

ผมเองไม่ชอบเลย เวลาเห็นนิตยสารที่จัดเลย์เอาต์เป็นหน้าๆ เรียบร้อยเหมาะสำหรับการอ่านในเล่ม แต่นี่คือสแกนมาเป็น PDF แล้วเอามาให้อ่านบนจอ คือมันไม่ใช่อะตึ๋ง

ซึ่งพอมาอ่านการ์ตูนในแอปเว็บตูนส์นี่ แม่งเปลี่ยนความคิดเลย

การ์ตูนแต่ละเรื่อง (มีมาจากหลายสัญชาติ รวมถึงไทยด้วย แบ่งแนวเรื่องไว้เรียบร้อย) ใช้วิธีการดำเนินเรื่องแบบที่เหมาะกับการอ่านผ่านหน้าจอมือถือโดยเฉพาะ เพราะมันเป็นภาพนิ่งยาวๆ ต่อๆ กัน (ส่วนมากจะเขียนสวยมากๆ จนชักอยากรู้ค่าต้นฉบับ)

เวลาอ่านก็คืออ่าน หรือกวาดสายตาเสพภาพที่ปรากฏในหน้าจอมือถือ พอเสพจนจืด ก็รูด เลื่อนไปยังจอถัดไป หรือบางโอกาสอาจจะเลื่อนนิดเดียวก็ได้ หรือบางโอกาสก็ต้องเลื่อนลงไปยาวมากๆ ก็มี แต่ละภาพไม่มีกฎเกณฑ์ ไม่มีจำกัดว่าตอนนึงจะต้องมีจำนวนหน้าเท่าไหร่ เพราะบางทีก็เจอทั้งสั้นบ้างยาวบ้าง ขาวบ้างดำบ้าง และสีบ้าง แต่หนึ่งตอนคือเหมือนเราดูซีรี่ส์จบหนึ่งเฮือกพอดี

จะเห็นประสิทธิภาพของการออกแบบประสบการณ์การอ่านนี้ได้ชัดกว่าปกติในการ์ตูนแนวระทึกขวัญครับ เพราะบางทีผู้เขียนก็เว้นจังหวะภาพด้วยการทิ้งที่ว่างไว้มืดๆ ยาวๆ ให้รูดปื้ด ปื้ด ปื้ดดดดดด ไล่ลงมา อึดใจที่รูดก็มีช่วงเวลาที่เราอินไปกับเนื้อเรื่องไปด้วย นั่นก็เป็นอารมณ์หนึ่ง

บางทีก็มีภาพที่เขียนไว้ภาพเดียวยาวๆ แบบพาโนรามาแนวตั้ง เช่นเรื่องวันสิ้นโลกหรืออะไรแนวนี้ (จำชื่อไม่ได้ ขี้เกียจหยิบมือถือมาดู) เวลารูดดูยาวๆ นอกจากจะตื่นตาตื่นใจกับงานภาพแล้ว มันยังทำให้เราจมไปกับเนื้อเรื่องเหมือนเป็นผู้แพนมุมกล้องด้วยตัวเองอีกด้วย

เหี้ย มันเจ๋งมากครับ ประสบการณ์อ่านแบบนี้ ตอนนี้เลยติดหนึบหนับอยู่หลายเรื่องเลย

แถมการ์ตูนก็มีหลายเรื่อง อัปเดตทุกวัน ตื่นมาปั๊บ เอาละ เห็นโนติของเรื่องที่ fav ไว้เด้งขึ้นมา ก็อ่านไปขี้ไป เพลินมากครับ ปริมาณ 1-2 เรื่อง/ตอน มันกำลังเหมาะกับการขี้อย่างพอดิบพอดี คือมึงคิดมาจบมาก

เข้าใจว่าวิธีการผลิตสื่อแบบนี้ในญี่ปุ่นหรือเกาหลีคงมีมานานแล้ว เพราะเขาเป็นสังคมมือถือมาก่อนบ้านเรา การรูดอ่าน และการออกแบบ UX ของแอปแนวๆ นี้คงมีให้เห็นอีกหลายเจ้า (แต่ผมเคยเห็นแค่ไม่กี่อัน นอกนั้นจะเป็นพวก Manga Reader ซึ่งยังไงก็ยังเป็นการพลิกแบบ “หน้ากระดาษ” อยู่)

แต่ของบ้านเรานี่ สถิติการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตผ่านมือถือเอาชนะการเข้าผ่านหน้าจอคอมไปตั้งแต่ปีก่อน (เมื่อก่อนพูดเรื่องนี้จะตกใจและนึกภาพกันไม่ออก แต่ทุกวันนี้มันคือเรื่องธรรมดาแล้ว) ดังนั้นนโยบาย mobile-first นี่คือปัจจุบันแล้ว “มึง ทำเว็บให้มือถือก่อนสิโว้ย” ได้ตั้งนานแล้ว

เพราะต้นทุนการผลิตนิตยสารมันแพงมากๆ แถมผู้อ่านกลุ่มสำคัญยังเลิกอ่านกระดาษ หันไปอ่านผ่านจอ(เถื่อน)แทน นั่นเลยทำให้บูมเจ๊ง และนิตยสารการ์ตูนไทยเกิดมาทีไรก็เจ๊งกันแทบทุกเจ้า เจ้าที่ยังเหลืออยู่ก็ร่อแร่กันทั้งนั้น

ดังนั้นถ้าใครเห็นจุดพลิกผันเมื่อปีที่แล้วนี้ (คนอ่านมือถือ (ไม่ใช่จากคอมนะ) มากกว่าอ่านจากกระดาษ) นั่นคือโอกาสอย่างดีของค่ายนิตยสาร ไม่ว่าจะเป็นแนวการ์ตูนหรือไม่ก็ตาม

คีย์เวิร์ดสำคัญคือทุกคนมีมือถือ มีหน้าจอส่วนตัวกันเรียบร้อยแล้วนะครับ – เฮ้ย โคตรน่าสนุกกกก

ป.ล.
ในเว็บตูนส์นี่ ที่ชอบมีหลายเรื่องนะ ชอบสุดตอนนี้คือเรื่องลูกเต๋า กับเรื่องเซียนเกม ส่วนเรื่องที่เหี้ยมาก แนะนำสำหรับส่งให้เพื่อนที่เกลียด (นี่คือคำชม) คือเรื่องเทพบุตรมิติที่ 10 อะไรสักอย่าง แม่งอุมาก อุจนอยากปามือถือทิ้ง (แต่ก็กด fav และรอคอยการอัปเดตของมันอย่างเหนียวแน่น) ลองโหลดดูครับ อ่านดูสักเรื่อง

ป.อ.
สมัยผมเลิกทำเว็บเฟล ตอนนั้นเป็นช่วงที่เฟซบุ๊กกำลังเริ่มเข้ามามีอิทธิพล และกลืนกินเว็บใหญ่ๆ ตายห่าตายเหี้ยน เว็บเฟลก็โดนผลกระทบพอสมควร (ตอนที่เพิ่งเริ่มทำเฟล นั่นคือแค่มีปุ่มแชร์ขึ้นเฟซบุ๊กทวิตเตอร์ก็โคตรเจ๋งแล้ว) แต่พอมาถึงวินาทีนี้ อยู่ดีๆ ก็มีเว็บ “นอกเฟซบุ๊ก” ผุดขึ้มาเป็นปริมาณมหาศาล โอเคมันมีหลายเว็บที่ “ลอก” BuzzFeed มา แต่ก็ต้องไม่ปฏิเสธว่าการมีอยู่ของเว็บพวกนี้ มันทำแล้วโคตรประสบความสำเร็จเลย โมเดลการหารายได้มันเลี้ยงชีพได้จริงๆ จนน่าเอามาประยุกต์ใช้กับเว็บที่มีเนื้อหา “เป็นของตัวเอง” (อย่างสำนักพิมพ์ที่มีนักเขียนในสังกัด) และใช้โซเชียลต่างๆ ที่ตอนนี้เบ่งบานและสำแดงพลังกันเต็มที่ในขณะนี้ มาช่วยรับรองความสำเร็จ คือถ้าคนทำมีกึ๋นพอ มีเนื้อหาสักตอนสองตอนที่มันดังเปรี้ยงขึ้นมาจนยี่ห้อของตัวเองติดลมบน เท่านี้ก็สนุกสุดๆ ไปเลยนะครับ

ป.ฮ.
เออๆ ให้นึกถึงเว็บดราม่าก็ได้ เพราะอยู่มาตั้งแต่ยุคก่อนเฟซบุ๊กครองประเทศ จนตอนนี้มาถึงยุคมือถือสดๆ ร้อนๆ แล้ว จุดแข็งสำคัญยังคงเป็นการใช้ประโยชน์จากทั้งโซเชียลเองมาเป็นแขนขาเสริมกำลังให้กับเว็บ และใช้กระแสของเนื้อหาที่คัดมาแล้วว่าเป็นของขายได้ตลอด ทำให้มันอยู่ได้ …ไม่ใช่อยู่ได้ธรรมดา แต่อย่างแข็งแรงล่ำซำ มีแฟนคลับและเหล่าสาวกเหนียวแน่นมากๆ ด้วย (ที่จริงไม่ได้ตามอ่านดราม่ากันหรอก แต่คือคอยดูจ่าพิชิตว่าจ่ามันจะซื้ออะไร จะได้รอสักพักให้ลดราคางี้ โคตรศักดิ์สิทธิ์)

ฮิคารุ เซียนโกะ

ผมเป็นคนที่อ่านการ์ตูนช้ามาก

ที่จริงก็ไม่ได้แปลว่าทำอะไรอย่างอื่นเร็วหรอกนะ ส่วนมากจะโดนเมียด่าเรื่องช้านี่แหละ เรียกทีกว่าจะขยับตัวก็ต้องสักพัก แต่กับการ์ตูนนี่ไม่เหมือนกัน เป็นความช้าที่ตัวเองพอใจจะละเลียดไปกับมัน

การ์ตูนเล่มไหนที่ยิ่งชอบมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งพยายามอ่านให้ช้าลงเรื่อยๆ และยิ่งดื่มด่ำกับทั้งภาพทั้งเนื้อหาหนักข้อขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะภาพนี่ ถึงจะการ์ตูนวาดห่วยขนาดไหน แต่ถ้าภาพมันน่าสนใจก็จะยิ่งตั้งใจดูทีละช่องๆ ว่าเขาวาดยังไง (ไม่รู้คนอื่นเป็นรึเปล่านะ แต่ผมเสียเวลากับสิ่งเหล่านี้มากๆ)

สำหรับฮิคารุ เซียนโกะ ผมอ่านในบูม (นิตยสารผู้ล่วงลับ) ในสมัยที่มันเป็นรายสัปดาห์ มันตีพิมพ์ในยุคที่ผมอยู่มหาลัยพอดี จำได้ว่าช่วงนั้นกระแสโกะบูมขึ้นเต็มประเทศจริงๆ ดั่งชื่อนิตยสาร หันไปทางไหนก็มีแต่คนตอบรับกระแส การ์ตูนฉบับรวมเล่มก็มีคนรอบกายซื้อหากันเฉกเช่นการ์ตูนฮิตที่ควรสะสมทั่วไป (ยุคนั้นไม่มีสปอยล์ตามเน็ต–เอาเป็นว่ายุคนี้ผมก็ไม่อ่านสปอยล์ มันไม่ใช่น่ะเข้าใจมะ) ขนาดระดับผู้ใหญ่เองก็ยังมีหนังสือและตำราโกะวางอยู่บนแผงหนังสือขายดีตามร้านอยู่ไม่น้อย แถมยังมีการจัดแข่งขันอะไรต่อมิอะไรเป็นที่คึกคักในบ้านเรา นั่นแปลว่ากระแสมันจุดติด

เป็นความบัดซบของตัวเองในยุคนั้น ที่อยู่ในช่วงอายุที่ไม่ชอบทำตามกระแส (สมัยนั้นคงรู้สึกว่าเท่ แต่พอมองย้อนกลับไปในสายตาลุงอายุ 30 กว่าๆ มึงนี่ปัญญาอ่อนมาก) ผมเลยเลิกติดตามการ์ตูนเรื่องนี้และสารพัดเรื่องเกี่ยวกับโกะอย่างสิ้นเชิง ทั้งที่รู้ว่ามันน่าสนุกมาก และตั้งใจไว้ว่า วันหนึ่งมันเลิกฮิตเมื่อไหร่จะกลับมาอ่าน

จ้ะ เท่มาก

แล้ววันหนึ่งมันก็เลิกฮิตจริงๆ แบบเดียวกับสายลมแห่งกระแสอื่นๆ ที่พัดมาแล้วก็ผ่านไป เป็นอนิจจัง

จนกระทั่งที่ญี่ปุ่นเขามีโครงการเอาการ์ตูนดังๆ มาพิมพ์ซ้ำด้วยขนาดใหม่ ปกสวยขึ้น เก็บงานเนี้ยบขึ้น เล่มใหญ่ขึ้น ..และราคาแพงขึ้น แล้วเรียกมันว่า Ultimate Edition เพื่อหลอกขายผู้ใหญ่ที่ยังมีหัวใจเป็นเด็ก ไล่จากเรื่องนั้นเรื่องนี้ ตีเมืองกระหนาบเข้ามาเรื่อยๆ จนในที่สุดก็มาถึงคิวของฮิคารุ

hikaru

ผมนั้นลืมความรู้สึกของตัวเองเมื่อสิบปีก่อนไปแล้วครับว่าเคยไปกร้าวเกรียนอะไรเอาไว้ แต่พอมาเห็นรวมเล่มใหญ่รู้สึกแค่ว่า เออ เรื่องนี้จัดอยู่ในลิสต์ “ไว้ว่างๆ จะอ่าน” ต่อตูดนิตยสารและหนังสือเล่มอื่นๆ ที่กองหนาเป็นเมตรๆ สมเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการซื้อมาดองไว้แล้วไม่อ่านแห่งลาดปลาเค้า

แต่เรื่องฮิคารุนี่ยังไม่ซื้อนะ เพราะการลงทุนซื้อความสุขเล่มละ 130 บาท คูณ 20 เล่มจบก็ปาเข้าไป 2,600 บาทเข้าไปแล้ว (แต่เอาจริงๆ ไปซื้อตามงานหนังสือที่รวมห่อขายก็ได้ลดกว่านี้อีกหลายบาท) ดังนั้นอารมณ์ที่ว่าไว้เดี๋ยวจะอ่าน ก็จืดจางลงไปทุกที

โชคดีที่มีเพื่อนอย่างไอ้ปิง

ปิงเป็นมนุษย์การ์ตูน นิตยสารบูมที่ผมเคยอ่านสมัยเรียนก็ไม่ได้ซื้อเอง ยืมมันทั้งนั้นแหละ ไหนจะเรื่องอื่นๆ ที่ยังไม่รู้จัก หรือไม่แน่ใจว่าสนุกสมควรซื้อเก็บไว้เองไหม ผมก็อาศัยยืมมันอ่าน เพราะบ้านมันรวยไง (เพื่อนแบบนี้ควรคบไว้นะครับ ดี) จนกระทั่งฮิคารุเล่มใหญ่ตีพิมพ์ออกมา ไอ้ปิงก็ซื้อมาอ่านและเก็บไว้บนหิ้งเรียบร้อย … อันที่จริงต้องบอกว่าไม่ค่อยเรียบร้อยเท่าไหร่ และพอครบ 20 เล่มปล่อยให้ฝุ่นเกาะอยู่บนชั้นรกๆ ของมันอยู่แบบนั้น

ดีที่มีเพื่อนอย่างเราที่เห็นค่าของการ์ตูน ไม่อยากให้การ์ตูนมันเสื่อมสภาพเพราะถูกทิ้งไว้ ก็เลยไปขโมยมันมา (ถ้ามันอ่านบล็อกนี้คงรู้แล้วแหละว่าการ์ตูนหาย)

ของร้อนนั้นเร้าใจเสมอ ผมเลยเลือกลัดคิวอ่านฮิคารุก่อนหนังสือดองเล่มอืนๆ ที่งอนอยู่บนชั้น

ฮิคารุเป็นการ์ตูนสะอาดครับ คือเด็กๆ อ่านได้ (เรต ท. คือไม่มีพิษภัย ไม่มีฉากที่ยั่วยุให้อ่านแล้ววาบหวิวหิวกระหายเพศสัมพันธ์) พอจะสปอยล์แบบไม่เสียอรรถรสคร่าวๆ ได้ดังนี้ครับ มันเป็นเรื่องของเด็กประถมคนนึงที่เป็นมนุษย์ปกตินี่แหละ แต่วันดีคืนดีก็ไปซนเจอกระดานโกะ (หมากล้อม) ที่วางไว้ในห้องเก็บของ แล้วเผอิญว่าข้างในมีวิญญาณที่เป็นเทพแห่งโกะสิงสถิตอยู่

วิญญาณนั้นชื่อซาอิ สมัยที่ยังไม่ตายนั้นเขาเป็นครูสอนโกะให้กับเจ้าในสมัยพันปีก่อน ดังนั้นในเรื่องก็จะใส่เครื่องแบบเหมือนผีญี่ปุ่นชั้นสูงตลอดเวลา แล้วมาวันหนึ่ง นักเล่นโกะที่น่าจะเก่งที่สุด หรือไม่ก็เก่งอันดับต้นๆ ของโลกคนนี้ก็ตายลงด้วยความช้ำใจ ความผูกพันกับสิ่งที่ยังไม่ได้สะสางก็เหมือนกับผีญี่ปุ่นทั่วไป ประมาณว่า กูอยากเล่น อยากเล่นให้มากกว่านี้อีก … สิงอีเด็กห่านี่ซะเลย

ถ้าเป็นพล็อตการ์ตูนเรื่องอื่นๆ อาจจะนำพาให้เด็กฮิคารุนี่โดนสิงแล้วไปทำนั่นนี่เป็นซูเปอร์ฮีโร่แห่งวงการไปแล้ว แต่เรื่องนี้ไม่อย่างนั้นครับ ผู้แต่ง (Yumi Hotta) วางโครงเรื่องไว้ให้ฮิคารุเลือกที่จะเป็นเด็กที่เป็นเด็กน่ะ คือยังเป็นตัวของตัวเอง จากที่ไม่เคยสนใจโกะเลย และเฉยๆ จนเริ่มใจอ่อน เอาวะ กูสานฝันให้ผีซะหน่อย ยอมเล่นตามใจมันหน่อย จนจับพลัดจับผลูเข้าไปสู่วงการหมากล้อมจนได้ เพราะผีผลักนี่แหละ

พวกการ์ตูนในวงการอะไรแปลกๆ สักอย่างนี่ดีนะครับ ก่อนเริ่มลงมืออ่าน เราจะไม่รู้เลยว่าวงการนี้มันคืออะไร โกะมันเล่นยังไง แต่พออ่านๆ ไป มันจะค่อยๆ สอนเราทีละหน่อยอย่างแนบเนียนครับ ไม่ใช่แบบการ์ตูนฟุตบอลที่ลงลึกในเทคนิคของการแข่งขันแต่ละครั้ง (ไม่งั้นแปลงเป็นหมากล้อมนี่คงน่าเบื่อตายชัก) แต่เขาจะมีวิธีนำเสนอให้เรารู้สึกสนุกไปกับมันด้วย โดยที่ไม่ต้องเล่นเป็นก็ได้ หรือถ้าเกิดเล่นเป็นขึ้นมาก็ยิ่งสนุกใหญ่ แบบเดียวกะอีเด็กพระเอกของเรื่องที่แต่เดิมก็โง่ๆ นี่แหละ จับหมากแบบเท่ๆ ยังไม่เป็นเลย แต่พอสนองนี้ดผีในการสิงร่างให้ไปนั่งเล่นกับชาวบ้านจนเขาแตกตื่นกันปั๊บ ฮิคารุเองก็เริ่มค่อยๆ ซึมซับความสามารถในการเล่นโกะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ที่เจ๋งก็คือ อิทธิพลของผีไม่ได้มีส่วนในการเอาชนะใครเท่าไหร่ ความเจ๋งมันอยู่ที่พรสวรรค์และทัศนคติของตัวเด็กเองต่างหาก ว่าเขาค่อยๆ เติบโต ก้าวผ่านความเป็นเด็กธรรมดาๆ ใส่ชุดนักเรียนปะปนกับเพื่อนๆ ที่วันหนึ่งก็ต้องเรียนต่อ จบไปหางานทำ แต่เขากลับเลือกทางเดินอีกแบบด้วยวิธีของตัวเอง ที่มีวิญญาณคอยเป็นผู้สนับสนุน โดยที่พ่อกับแม่ไม่ได้รู้เรื่องอะไรเลย เป็นตัวน่าสงสารที่มองตามลูกที่โตขึ้นพรวดพราด รู้ตัวอีกทีก็ไปถึงไหนต่อไหนแล้วน่ะครับ

มันมีคำศัพท์ที่เรียกว่า Coming of age ที่เอาไว้อธิบายปรากฏการณ์ของเด็กวัยรุ่นเห่อหมอยธรรมดาๆ ที่ไปเจอจุดเปลี่ยนของชีวิตสักอย่างที่ส่งผลอย่างรุนแรงกับเส้นทางที่จะต้องเลือกเดินต่อจากนี้ไปทั้งชีวิต และตัวเอกก็ต้องมุ่งไปสักทาง เพื่อข้ามกำแพงนี้ให้ได้ อารมณ์แบบนี้แหละครับที่สร้างความประทับใจมากๆ (ยกตัวอย่างเป็นหนังก็เรื่องเด็กหอ หรือ Stand by Me หรือการ์ตูนก็ BECK ได้ไหมหว่า?)

และเนื้อเรื่องของฮิคารุก็พัฒนาไปเรื่อยๆ ผู้เขียนก็เขียนไปหาข้อมูลไป ได้เห็นภาพในมุมกว้างขึ้นเรื่อยๆ ผู้วาด (Takeshi Obata) ก็วาดสวยขึ้นเรื่อยๆ (ผมชอบลายเส้นและขนาดช่องการ์ตูนในช่วงท้ายๆ ของเรื่องฮิคารุนี่มากกว่าความอัดแน่นเกินไปในช่วงหลังๆ อย่างเรื่อง Death Note หรือแม่แต่ BAKUMAN อีกนะ มันอ่านสบายตากว่า แถมวาดผู้หญิงดูสวยน่ารัก ถูกจริตกว่า)

จาก 20 เล่ม ผมอดหลับอดนอนละเลียดอ่าน (งงไหม คืออ่านช้าไง แต่ติดหนึบ) จนตอนนี้อ่านไปได้ 15 เล่มแล้ว เนื้อเรื่องแข็งแรงมาก ทุกอย่างบิ๊วมาให้เป็นหนึ่งในการ์ตูนระดับตำนานอย่างสวยงาม คือตอนนี้อ่านไปขี้ไปอย่างสมองโล่งเลยครับ ชอบโมเมนต์เวลาอ่านการ์ตูนที่ประทับใจจนต้องรีบเอามาเขียนอะไรแบบนี้

แต่ก็ต้องมาหยุดชะงักเมื่อพบว่าเล่ม 16 ไม่มี ไอ้ปิงมันเอาไปเก็บไว้ไหนวะ แย่จริงๆ ต้องรีบไปขโมยมาซะแล้ว

จึงตัดจบด้วยประการฉะนี้

เปลี่ยนอ่าน

feeds

หัวข้อคราวนี้ยังคงจมปลักอยู่กับพฤติกรรมการอ่านของตัวเอง ซึ่งช่วงนี้ก็จะบ่นสลับกับพฤติกรรมการเขียน เพราะกำลังพยายามเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างอยู่ ก็เลยเอามาบันทึกไว้ซะหน่อย

คงเพราะผมก็เป็นหนึ่งในมนุษย์อ่านเหมือนกัน แต่ไม่ได้อ่านไอ้แบบที่คนเขาชื่นชมกันนัก (เช่นอ่านวรรณกรรม บทกวี หรือบทวิเคราะห์ลึกซึ้งปรัชญาสิงห์โตอะไรนี่ยิ่งไม่ได้สนใจใหญ่) เพราะนอกจากอ่านการ์ตูนไปวันๆ แล้ว สิ่งที่ชอบมากก็คือการอ่านฟีดจากเว็บที่ subscrie ไว้

การอ่านทุกวันนี้คือการหยิบอะไรที่มีตัวอักษรขึ้นมา พูดง่ายๆ ก็คือโทรศัพท์มือถือ เปิดแอปอ่านฟีด แล้วก็จมอยู่กับมันเป็นห้วงๆ เพื่อเป็นการถมเวลาว่าง (ก็ฆ่าเวลานั่นแหละ) ไม่ว่าจะระหว่างขี้ ระหว่างอาบน้ำ ระหว่างรอนั่นนี่ เพราะพบว่ามันเข้ากับจริตเราอย่างยิ่ง อ่านซิว่าวันนี้มีอะไรใหม่บ้าง ข่าวหนังใหม่จากเว็บหนังที่ตาม ข่าวการเมืองนิดหน่อย ข่าวงานออกแบบ ข่าวไอที บล็อกของเพื่อนฝูง บล็อกของนักเขียนที่ชอบ ดูรูปโป๊ที่สับตะไคร้ไว้ ฯลฯ วนเวียนอยู่แบบนี้ ทำมานานมากจนติดเป็นนิสัย … เป็นนิสัยที่ถูกเปลี่ยนไปเยอะจากยุคก่อนมือถือ ถ้าเป็นตอนนั้นผมจะเป็นคนติดการอ่านอะไรที่แบบ “แป๊บๆ ก็จบ” เช่นหนังสือพิมพ์ตามร้านก๋วยเตี๋ยว หรือนิตยสารที่ซื้อประจำ ซึ่งดูๆ แล้วก็ไม่ใช่พฤติกรรมที่ต่างกันเท่าไหร่หรอกนะ แต่ไอ้ความที่เป็นมือถือ มันดันง่าย และทำให้เราเสพติดกับความสนุกเวลากด เวลาลบ เวลาโหลดใหม่ หรือเวลาที่ข่าวใหม่มันงอกไล่ตามเวลามาให้เราเก็บแต้มมันให้ครบ (โดยนานๆ ทีจะกด Mark all as read เพื่อตัดใจจากกองข่าวที่สะสมมานานเวลาที่ทำงานยุ่งๆ)

นี่ยังไม่นับพวกสังคมออนไลน์ต่างๆ ที่พอเปลี่ยนอาชีพมาทำงานบนเฟซบุ๊กปั๊บ (พยายามหัดใช้ตั้งนานจนเพิ่งใช้เป็น) อีพวกบรรดาโนติรบกวนสมาธิต่างๆ ก็จะมา นี่ขนาดบล็อกสิ่งกวนใจทุกอย่างที่คิดว่าไม่ทำให้หลุดวงโคจรของเพื่อนออกไปหมดแล้วนะ แล้วไหนจะทวิตเตอร์อีก แม้ช่วงไม่กี่วันมานี้ผมเล่นน้อยลงอย่างสังเกตตัวเองได้ชัด ไอ้เสพก็เสพอยู่นะ มีความสุขเวลานั่งอ่านมัน แต่ตอนนี้อยู่ในช่วงบำบัดไง โชคดีที่แอปทวิตเตอร์ในมือถือมันห่วยลงทุกวันๆ เลยไม่ค่อยได้อัปเดตเรียลไทม์แบบเมื่อก่อน (แต่ก็ยังติดอยู่แบบไม่คิดจะเลิกหรอกทวิตเตอร์เนี่ย)

กลับมาเรื่องการอ่าน เนี่ยพอมีมือถือปั๊บ พฤติกรรมการอ่านเดิมๆ ของผมก็ถูกบิดไป วันๆ ก็กวาดสายตาแค่ในหน้าจอที่เอานิ้วรูดได้ ส่วนบรรดาหนังสือที่รักกลับถูกปล่อยให้ฝุ่นเกาะ แม้จะเป็นผลงานของนักเขียน (หรือนักวาด) ที่ชอบมากๆ ที่ซื้อมาจากงานหนังสือเมื่อสองสามปีก่อน อยู่มาวันหนึ่งก็เหลือบไปเห็นว่าเฮ้ย เล่มนี้วางกองอยู่ในหมวด “ว่างๆ ค่อยอ่าน” มาตั้งนานแล้วได้ไงวะ

มันจะไป “ว่างๆ” ได้ยังไง ในเมื่อเวลาว่างของเราถูกถมด้วยการก้มหน้าใส่มือถือขนาดนี้

วันก่อนที่ไปซื้อหนังสือกองใหญ่จากงานหนังสือมา เลยเป็นการประกาศสงครามกับพฤติกรรมการอ่าน “ข้อมูลล้นเกิน” ในรูปดิจิทัล ให้ตัวเองได้เปลี่ยนมาจับกระดาษอย่างมีความสุขอีกครั้ง เพราะส่วนตัวแล้วเชื่อในความพิถีพิถันของสื่อที่ทำจากกระดาษ เนื่องจากเวลาพิมพ์ออกมาขายทีต้นทุนมันแพงกว่าแบบดิจิทัลไง เป็นเราเราก็ต้องตั้งใจ ใส่ใจให้หนังสือมันดีหน่อยใช่มะ อืม โอเค (นี่คิดเองเออเองจนเห็นด้วยไปแล้ว)

แต่การซื้อหนังสือกองใหญ่มาเติมกองเดิมที่ใหญ่อยู่แล้วนั้นจะช่วยอะไร ก็คงช่วยมั้ง เพราะตอนนี้แม้กระทั่งที่พิมพ์อยู่นี่ผมก็รู้สึกละอายอยู่ในใจตลอดเวลาว่า นิตยสารอายุห้าเดิอนที่เรายังอ่านไม่จบ วางกองอยู่ข้างหน้า ส่วนฝั่งซ้ายมือคือการ์ตูนที่ซื้อมาว่าจะอ่าน และบนชั้นหนังสือซึ่งมีหมวดรออ่านวางเรียงอย่างอลังการอยู่แล้ว ก็ดันมีสมาชิกใหม่มาอีกหลายเล่ม วิธีที่จะทำให้สิ่งเหล่านี้หมดไป ถ้าไม่นับว่าเอาไปเผา ก็คือต้องอ่านแม่งเท่านั้น

ส่วนเหล่าฟีดข่าวที่ดูดมาจากเว็บ เมื่อก่อนนึ่นับได้หลักพัน! (ยุค Google Reader นี่ตัวเลขข่าวใหม่ขึ้น 1000+ ทุกวัน เสียเวลาฉิบหายเหอะ) จนปลดเว็บหรือบล็อกที่ไม่คอยอัปเดตออกไปครั้งใหญ่เมื่อสักปีก่อนหนนึง ในช่วงที่ Google Reader ปิดตัวลง และเพื่อนๆ ที่ผมนับถือในความคิดผ่านตัวอักษรต่างทยอยเลิกเขียนบล็อกและหันไปโพสต์สเตตัสกันเกือบหมด ก็ถือว่าหลุดวงโคจรจากกันไปเลยหลายคน) จนช่วงสังคายนาเมื่อสองสามวันนี้เอง ก็เปิด Feedly นั่งไล่ unsubscribe และกรองเว็บที่เข้าข่าย “ไม่ต้องอ่านก็ได้วะ” กับประเภทที่ว่า “แม่งข่าวแปลเหมือนกันเด๊ะ งั้นเลือกเอาเว็บเดียวพอ” คัดจนเหลือแหล่งที่ยังติดตามอยู่จริงๆ แค่หลักร้อยต้นๆ (ในภาพประกอบข้างบน ก็ยังเยอะนะ) ที่ดีขึ้นคือผมเกษียณตัวเองจากวงการดิจิทัลเอเจนซี่แล้ว เลยลดละเลิกการไล่กวาดข้อมูลเกี่ยวกับเทคโนโลยีหลายๆ หมวดซึ่งมองวันนี้ก็กลายเป็นเพียงข้อมูลล้นสมองออกไป นี่ทำให้รู้สึกเสียเวลากับมันน้อยลงเยอะ

ถึงจะเพิ่งเริ่มต้น แต่หลังจากวัดผลมา 4 วัน ก็พบว่าการ์ตูนและนิตยสารค้างปีที่วางกองไว้ถูกกวาดต้อนไปได้หลายเล่มอยู่ (อ่านจากใหม่ไปเก่า จะได้ไม่รู้สึกตกรุ่นตลอด) และเริ่มเปลี่ยนจากความรู้สึกที่ว่าต้องอ่านเพราะรู้สึกผิดที่ซื้อมาดอง กลายเป็น “เฮ้ย ใช่เลยว่ะ นี่แหละความสุข” ขึ้นเรื่อยๆ แล้ว

หวังว่านี่จะไม่ใช่การหลอกตัวเองหรือวอนนาบี