บันทึกเบื้องหลังหนังสือ #เน็ตเมื่อวานซืน

ว่าจะเขียนถึงหนังสือเล่มนี้ตั้งแต่ที่ได้วางแผงอย่างเป็นทางการในงานหนังสือที่ผ่านมา แต่ด้วยสถานการณ์บ้านเมืองที่พาให้เขียนอะไรไม่ออก (ถ้าเอาอันนี้เป็นข้ออ้างจะบาปไหม …บาป) จนบัดนี้สิ้นสุดงานหนังสือลงแล้ว ถามว่าช้าไปไหมที่จะมาเขียนเอาตอนนี้ ในทางการขายของถือว่าช้าไปครับ

แต่ในแง่ความประทับใจนั้นไม่มีอะไรสาย …มึงจะคมทำไม

ผมคงไม่เล่าเนื้อหาของหนังสือเล่มนี้มากนะครับ ถ้าสนใจ ลองกดไปอ่านตัวอย่างฟรีและสั่งซื้อออนไลน์ได้เลย (#ขายของ) หรืออ่านบทความเกี่ยวกับที่มาที่ไปของหนังสือเล่มนี้ก่อนได้ หรือหนักข้อกว่านั้นก็ไปอ่านฟีดแบ็ก (เฉพาะจากทวิตเตอร์นะครับ ไม่ได้เก็บจากแหล่งอื่นๆ) ที่พูดถึงเน็ตเมื่อวานซืนคร่าวๆ ได้ในนี้: รวมทวีตเกี่ยวกับหนังสือเน็ตเมื่อวานซืน

ส่วนบล็อกนี้จะขอเก็บบันทึกเรื่องราวที่ตัวเองในฐานะผู้แต่งเรื่องและวาดภาพรู้สึกว่า เออ เก็บความประทับใจไว้หน่อย เดี๋ยวผ่านไปนานๆ แล้วลืม (ถ้าอ่านแล้วไม่อินไม่เก็ตก็ ก็ช่างละกันครับ 555)

แน่นอนครับ ยาว…

เน็ตเมื่อวานซืน

1.
‘เน็ตเมื่อวานซืน’ เป็นโปรเจกต์ร่วมระหว่างผมกับเว็บพันทิป.คอม (ที่จริงตรงนี้จะต้องทำลิงก์ไปที่เว็บปลายทางด้วย แต่อันนี้ไม่ต้องก็ได้มั้ง หวังว่าคงรู้จักกันนะ) เอาเข้าจริงว่ากันตรงๆ พันทิปเขามีอีเวนต์ฉลองครบรอบ 20 ปีของเว็บ หนึ่งในการฉลองนั้น เขาตั้งใจทำพงศาวดารออกมาเป็นรูปเล่มจับต้องได้ โดยไม่รู้น้าๆ แกคิดอะไรอยู่ ถึงได้ตั้งใจจะนำเสนอเป็นการ์ตูนเว้ย

2.
ตัดภาพมาที่ผมซึ่งยังไม่รู้เรื่องราวที่เกิดขึ้นในข้อ 1.ข้างบน พักหลังๆ มานี้ผมประกาศตัวชัดว่ากูขี้เกียจเขียนหนังสือจังเลยว่ะ ถึงมันจะเป็นงานที่สนุกมาก และประทับใจมากทุกครั้งที่เห็นหนังสือตัวเองงอกออกมา แต่ในขณะเดียวกัน มันดันใช้เวลาและพลังงานชีวิตสูงมาก ยิ่งกับครอบครัวที่มีลูกเล็กๆ สองคน ที่ต้องการความเอาใจใส่อย่างแรงตลอด 24 ชั่วโมงต่อวันแบบนี้ การปลีกวิเวกฉีกตัวเองไปจำศีล นั่งเขียนหนังสือคนเดียวนานๆ นั้น มันให้ความรู้สึกผิดฐานกัดกินความสัมพันธ์ของครอบครัวอย่างร้ายกาจ ผมเลยประกาศตัวว่าขอยังไม่เขียนอะไรไปพักใหญ่

3.
จนวันหนึ่ง อีกายผู้หายไปนานก็ติดต่อมาทางกล่องข้อความ บอกว่า (…ขออนุญาตแคปจอมาเลยละกัน)
เน็ตเมื่อวานซืน
เนี่ยครับ บทจะโดนมันก็โดนภายใน 3 นาทีแบบนี้เลย

4.
และแล้วโปรเจ็กต์เน็ตเมื่อวานซืน (ซึ่งตอนแรกยังไม่มีชื่อนี้ แต่เป็นที่รู้กันและเรียกขานกันตอนทำงานไปคิดชื่อเรื่องไปว่า ‘หนังสือพันทิป’) ก็เริ่มต้นขึ้น โดยเป็นลักษณะของงานร่วมกันสร้างระหว่างพันทิป (ที่เป็นเจ้าของตังค์ เปรียบเสมือนเสี่ยเจียง) กับอีกาย (ผู้เป็นดั่งโปรดิวเซอร์) และผม (กูเป็นพี่ตูนละกัน) คือถ้าจะนับว่านี่เป็นผลงานที่ผมทำกับแซลมอน นี่ก็เป็นเล่มที่ 5 แล้ว นับรวม ‘เฟลออฟเดอะสองเยียร์ส‘ (ที่ออกในนามเฟลาธิการ),​ ‘คือปะป๊าครองพิภพ‘, ‘Sloth Machine‘, ‘ศิลป์ซิตี้’ (เล่มนี้เสียดายมาก มัวทำอะไรอยู่ก็ไม่รู้ไม่ยอมมาเขียนบล็อก), และเล่มล่าสุด ‘เน็ตเมื่อวานซืน’ นี้ ไม่ได้ออกในนามแซลมอนบุ๊คส์นะ แต่เป็น Pantip.com เลย ประสบการณ์แปลกใหม่สุด

5.
วันที่ไปประชุมบรีฟงานกับพันทิปนั้น ผมไปสายครับ สายแบบ 15 นาทีเลย ซึ่งถือว่าบัดซบมากอย่างไม่น่าให้อภัยไม่ว่าจะเป็นการนัดกับลูกค้าหรือนัดกับแฟนก็ตาม นี่คือภาพบรรยากาศขณะที่ห้องประชุมนั่งรอไอ้บ้านี่


พอไปถึงปั๊บ ก็เริ่มคุยกัน (เขาคุยกันมาแป๊บนึงแล้วแหละ) ว่าทิศทางของหนังสือจะไปทางไหน ซึ่งผมเหวอมากที่ทางบอสใหญ่บอกว่า อยากได้เป็นแบบการ์ตูน ลายเส้นเราเลย เอาแบบที่เราวาดเลย แล้วเล่าเรื่องความเป็นมาของโลกออนไลน์ในประเทศไทย โดยไม่ต้องมาเล่าเรื่องพันทิปทั้งเล่มนะ เดี๋ยวจะน่าเบื่อไป (ซึ่งอันนี้ถือว่าเฮ้ยมาก เพิ่งเคยเจอลูกค้าที่พูดเองแบบนี้เลยวุ้ย) ก็เป็นการคุยงานที่เปลี่ยนความคิดที่ผมมีต่อเว็บเก๋ากึ้กขนาดนี้ไปโดยสิ้นเชิง คือพี่วัยรุ่นมาก มากกว่าวัยรุ่นที่ผมเคยดีลงานด้วยเยอะเลย

6.
ระหว่างที่คุยกันก็จะมีคำถามเกี่ยวกับเกร็ดต่างๆ ของเว็บที่ทีมงานแซลมอนและผมคอนตะล่อมหลอกถามเผื่อเป็นข้อมูลในหนังสือ บางอย่างก็เป็นความอยากรู้ของอีแบงค์เอง ก็จดๆ ใส่สมุดไว้ (ขอไม่เอามาเล่าในนี้ทั้งหมดเนอะ) มีหลายประเด็นที่ทำให้ผมเซอร์ไพรส์มาก เพราะคนเบื้องหลังพันทิปแต่ละท่านนั้นได้เป็นเจ้าของตำนานมากมายแบบที่ไม่เคยบอกใครมาก่อน เช่น การส่งสแปมเมลครั้งแรกของไทยนั้นเกิดจากทั่นผู้บริหารสูงสุด การรับทำงานผ่านอินเทอร์เน็ตครั้งแรกน่าจะเป็นที่นี่ มีเกรียนคีย์บอร์ดเกิดขึ้นครั้งแรกก็ที่นี่ แถมการตบเกรียนครั้งแรกก็ที่นี่เช่นกัน! ฯลฯ (คือถ้ามีเวลานั่งสัมภาษณ์สักสามวันน่าจะได้รวมเล่มว่าด้วยการบุกเบิกต่างๆ อีกเล่มแน่นอน)

7.
ไหนๆ ก็ขอลงรายละเอียดขั้นตอนการทำงานอีกหน่อยละกัน สเต็ปใหญ่ๆ จะเป็น 1.คิดโครงเรื่องและวิธีการเล่าเรื่อง 2.เปลี่ยนจากโครงเรื่องเป็นลายเส้นแบบร่าง 3.วาดภาพจริง โดยทุกขั้นตอนเมื่อคิดเสร็จแล้วผมจะเอามาคุยกับคุณผู้ดูแล (นึกภาพกองบอกอจั๊มป์นั่นแหละ) ว่าไปในแนวทางนี้เวิร์กไหม ถ้าเวิร์กก็ไปต่อ ถ้าไม่เวิร์กก็แก้ใหม่ ถ้าไม่เวิร์กเลยก็ขยำทิ้ง แล้วเริ่มใหม่หมด พอเกลาเสร็จแล้วก็เอาไปให้เสี่ยเจียงอ่านและพิจารณา

เน็ตเมื่อวานซืน

8.
ซึ่งฟีดแบ็กที่ได้รับมานั้นดันเวิร์กหมด (อะ ไม่หมดก็ได้ แต่สอบผ่านประมาณ 99.72% บริสุทธิ์กว่าทองคำแท่งเยาวราชอีก) ผมนี่งงมาก เฮ้ย นี่พี่ได้อ่านแบบร่างที่ผมเขียนให้หรือเปล่าครับ หรือว่าพี่งานยุ่งกัน หรือยังไง อะไร บอกหน่อยสิ ไม่ใช่มาโอเคทั้งหมดง่ายๆ แบบนี้ (มารู้ทีหลังตอนที่เจอทั่นบอสใหญ่ แกบอกว่ามันโอเคหมดเลยจริงๆ) นั่นทำให้การทำงานหนังสือเล่มนี้ทั้งส่วนงานเนื้อเรื่องและงานภาพผ่านฉลุยตั้งแต่เริ่มจนจบ

9.
ขั้นตอนการค้นคว้าหาข้อมูลของเล่มนี้สนุกมาก และดักแก่มากๆ ในทุกวิถีทาง ได้รู้ประโยชน์ของการบ้าสะสมนิตยสารคอมพิวเตอร์เก่าๆ และการเซฟ การจดบันทึกนั่นนี่เก็บไว้ (บล็อกอายุสิบกว่าปีนี้ก็เช่นกัน!) รวมถึงการได้ไปเดินห้างพันธุ์ทิพย์อีกครั้งในรอบเท่าไหร่วะ เป็นสิบปีได้มั้ง ตั้งแต่สมัยมหาลัยที่เด็กเนิร์ด(จนด้วย แต่ดันใฝ่ทางนี้)คนนึงชอบนั่งรถเมล์ไปเดินตากแอร์ อัปเดตราคาอุปกรณ์คอมพิวเตอร์และถือโบชัวร์กลับหอทีละเยอะๆ ไม่รู้จะสะสมไปทำไม

10.
แล้วนึกย้อนไปถึงสมัย ม.1 ที่พ่อผมผู้เป็นข้าราชการก็จริง แต่ดันมีวิสัยทัศน์อะไรไม่รู้ กัดก้อนเกลือซื้อคอมพ์มาให้เครื่องนึง เป็นรุ่นที่มีฮาร์ดดิสก์ด้วย! แล้วส่งพี่ผมไปเรียนจนผมได้อานิสงส์เป็นโปรโมชันแถมฟรี ด้วยการไปนั่งเรียนโปรแกรม Lotus 1-2-3, dBase, DB Form สามตัว ซึ่งดีมากๆ และใช้มาจนถึงทุกวันนี้ ทุ้ย ที่ไหนล่ะ ไม่เคยใช้เลย แล้วทำให้รู้จักกับ ‘พวกเล่นคอมพ์’ (หมายถึงพวกแกะเครื่องซ่อมเครื่องประกอบเครื่องเป็นทุกอย่าง ลงโปรแกรม แก้นั่นขยำนี่เขียนนู่นสารพัด) แบบตัวเป็นๆ แลกเปลี่ยนวิชาทั้งซอฟต์แวร์ฮาร์ดแวร์ ทั้งเกมเกิมกันสนุกสนาน ในสมัยนั้นยังไม่มีเน็ตใช้เนอะ แต่ว่าหลายๆ คนก็อายุรุ่นราวคราวเดียวกัน ผมเลยไม่แปลกใจที่พอมาถึงยุคที่ตัวเองทำเว็บฟอนต์.คอม แล้วมีน้องคนนึงที่ทำฟอนต์ได้ตั้งแต่อายุ 11 ขวบ (แถมยังเป็นคนวางรากฐานระบบภาษาไทยให้กับฟอนต์ส่วนใหญ่ในเว็บด้วย!) ก็นั่นแหละครับ ถ้าให้เล่าก็ยาว เอาเป็นว่าประสบการณ์ใน ‘ยุคออฟไลน์’ ของหนังสือเล่มนี้ มันก็กูนี่แหละ แต่โกงอายุไปห้าปีเท่านั้นเอง

11.
การดำเนินเรื่องในเน็ตเมื่อวานซืนนั้นถูกเล่าผ่านตัวละคนสามวัย (อายุ 40 / 30 / 20) ซึ่งแต่ละคนรับรู้ประสบการณ์ผ่านโลกออนไลน์มาต่างยุคต่างสมัยกัน ทีแรกกะว่าจะวาดให้น้องอายุ 20 เป็นสาวแว่น (เป็นตัณหาส่วนตัวมากๆ) แต่พอวาดจริงก็พบว่าพอใส่แว่นแล้วมันระบายสีให้ดูเป็นสาวน่ารักลำบาก โอเคคนอื่นที่วาดเก่งๆ อาจจะไม่ลำบากหรอกครับ แต่กูนี่แหละลำบาก มีปัญญาแค่นี้
เน็ตเมื่อวานซืน
ส่วนทรงผมของน้องก็ลองนั่งๆ ส่องเด็กสาวมหาลัย (ด้วยใจบริสุทธิ์นะ…) แล้วพบว่าทรงแบบในเรื่องมันน่ารักดี ชอบเป็นการส่วนตัวด้วย เอามาผูกผมให้ลูกสาวแล้ววาดแบบตาม ก็เออ ดี เอานิสัยกวนตีนของลูกสาวมาใช้ด้วย (ซึ่งลูกสาวอายุ 4 ขวบ)
ทั้งนี้เนือ้หาที่หยิบนำมาเล่านั้นก็ based on สังคมออนไลน์ไทยเนอะ จะเป็นภาพรวมแบบ overall อันไหนที่แตะเยอะๆ ได้ก็จะแตะ อันไหนที่บวกลบดูแล้วจะพาเนื้อเรื่องหลุดออกไปไกลก็จะตัดออกด้วยความเสียดาย แต่บางเรื่องเราก็ขอไม่เล่าละกัน อย่างเช่นดราม่าเว็บพันทิปเงี้ยะ แกจะให้เล่าจริงๆ เหรอ! รวมถึงบอร์ดประมูล หลุดโลก ซังกะบ๊วย ฯลฯ ที่เป็นส่วนหนึ่งของตำนานเหมือนกัน แต่ที่จริงมันเป็นเรื่องเฉพาะกลุ่มแหละ เดี๋ยวพาไถลออกไปเยอะเกิน 5555 (เว็บเฟลก็ไม่ได้เล่านะ!)

12.
อุปสรรคใหญ่หลวงในการทำงานเล่มนี้คือ มือเน่าครับ นิ้วพังเพราะภูมิแพ้ มีบางช่วงที่ร่างต้นฉบับไปก็ต้องพันนิ้วไปแบบนี้
เน็ตเมื่อวานซืน
ซึ่งทรมานมาก ข้างใต้กระดาษทิชชู่คือหนองเยิ้มๆ ทั้งสองนิ้ว พังมาก ถามหมออิม หมออิมบอกว่ายุ่นต้องนอนแต่หัวค่ำนะ ซึ่งยุ่นบอก กูทำไม่ได้ (จนถึงบัดนี้เสร็จงานหนังสือแล้ว ยุ่นเพิ่งเริ่มหัดนอนก่อนเที่ยงคืนอยู่เนี่ย)

13.
เล่มนี้ทำให้ผมได้รู้ว่าจริงๆ แล้วคำว่าคอม ต้องสะกดว่า ‘คอมพ์’ ซึ่งนำความไม่ชินอย่างแรงมาสู่ตัวเอง แน่นอนว่าทุกๆ เล่มที่ได้เขียนหนังสือ ก็จะได้ความรู้ด้านการสะกดแบบนี้เพิ่มขึ้นฉบับละคำสองคำ นับเป็นกำไรชีวิตอย่างมากที่ได้ความรู้ใหม่ในวัยที่น้ำเริ่มเต็มแก้วแบบนี้ แต่ส่วนมากเราเห็นดีเห็นงามกับน้องภัทรผู้เป็นพิสูจน์อักษรในตำนานของแซลมอนมาตลอดเลยนะ ด้วยความที่เป็นมนุษย์ที่รักการพิสูจน์อักษรเหมือนกัน (ถึงกูจะผิมพิดบ่อยมากก็ตาม) (และน้องภัทรจะติ่งนวพลจนยอมให้หนังสือของบักตี๋นั่นเขียนตัวโตๆ บนปกเป็นชื่อหนังสือที่ผิดหลักแบบมึงยอมได้ยังไงวะภัทร ว่า ‘เวิร์ค แอนด์ ทราเวล’)

14.
อ้อ ระบบการทำงานในฉบับนี้พัฒนาเป็นเวอร์ชันนี้ครับ
– ก่อนอื่นร่างในกระดาษ (บทกลางๆ พอเริ่มนิ้วพัง ก็เปลี่ยนมาร่างในคอมพ์แทน)
– เก็บไฟล์แยกโฟลเดอร์ 1.บรีฟ 2.ร่าง 3.เอาจริง(PSD)
– ซึ่งก็มีเวอร์ชันย่อยแบ่งเป็น v1,v2,v3 ไปเรื่อยๆ (ไม่มีคำว่าไฟนอล)
ทุกอย่างซิงก์สดๆ ไว้บนกูเกิลไดรฟ์ วิธีนี้จะช่วยแก้ปัญหาการดองงานและการอู้ได้อย่างชะงัด เพราะบอกอจะเห็นความคืบหน้าแบบเรียลไทม์ ต่างจากฉบับที่ผ่านๆ มา ที่เราสามารถหมกเม็ดได้ คือเล่มนี้เราเองก็อยากทำให้เสร็จด้วย เพราะทำไปแล้วรู้สึกว่ากูต้องมืออาชีพหน่อยเพราะมีคนจ้างมา ไม่เหมือนเล่มก่อนๆ ที่จะเอ้อระเหยยังไงก็ได้ เห็นเดดไลน์งานหนังสืออยู่ก็เท่านั้น แต่เล่มนี้ทำแบบนั้นไม่ได้ ลูกค้าด่าตายห่า งี้
ดังนั้นนี่จึงเป็นหนังสือไม่กี่เล่มที่ไม่ค่อยเห็นอีกายทวงงานผมในโซเชียลต่างๆ! เออ ดีจริง (หรือไม่ดีวะ เพราะมันทวงจนเป็นยี่ห้อไปแล้ว พอไม่ทวงเลยรู้สึกเหงาๆ หว่องๆ หน่อย)
เน็ตเมื่อวานซืน
อันนี้ภาพร้านกาแฟที่ออกแบบไว้เป็นฉากในหนังสือ (เพิ่งมาทำเอาทีหลัง ไม่งั้นได้เขียนฉากเล่นทั้งเล่มแน่)

15.
wallpaper
อันนี้วอลเปเปอร์ช่วงที่รู้สึกว่าต้องเร่งละ เลยเอา schedule มาทำเป็นพื้นหลังคอมพ์ซะเลย (ขอเบลอไว้นิดนึงเผื่อเซ้นสิทีฟ) ส่วนช่วงหลังสุดก่อนส่งงานไฟนอลปิดเล่ม ผมเปลี่ยนเป็นอันที่โหดกว่าคือ The Final Countdown (ทำแจกด้วยเหอะ)

16.
ความงึดในบางอารมณ์ของการผลิตงานก็คือ บอกอของเราอายุเพียงเบญจเพส หรือยังไม่ถึงก็ไม่รู้ ซึ่งแน่นอน มันห่างจากเราเป็นสิบปี ถึงมันจะเป็นคนทันสมัย แต่ประสบการณ์การเจอนั่นนี่มาก็ต่างจากเรา แล้วแต่ละวันต้องเสียน้ำตาให้กับการอธิบายความแก่ของเราให้มันฟังบ่อยๆ เช่น มันไม่รู้ว่าห้างพันธุ์ทิพย์ ประตูน้ำ เป็นแหล่งพระเครื่อง, มันไม่เข้าใจว่าโลกยุคก่อนซีดีเอ็มพีสามประเทืองนี่มีจริงด้วยเหรอ (ถ้าถามเด็กยุคนี้คือ ประเทืองคืออะไร ไม่สิ เผลอๆ ยุคอนาคตอันใกล้อาจจะถามว่าซีดีคืออะไร) หรือคอมพ์ยุคเรามันไม่มีไดรฟ์ซีดีเหรอ แล้วอยู่กันได้ยังไง (เช่นเดียวกัน เด็กยุคนี้เกิดมาก็ไม่เจออีไดรฟ์ที่ว่านี่แล้ว อย่าว่าไปถึงพวกฟล็อปปี้ดิสก์อะไรนั่นเลย อันนั้นชินแล้ว) เออใช่ เลยนึกได้ ณ ตอนนี้ว่ายุค 2016 กับยุค 1996 อาจจะเหมือนกันตรงที่ซื้อคอมพ์มาแล้วไม่มีไดรฟ์ซีดีเหมือนกันก็เป็นได้

17.
ที่จริงอยากจะเขียนกิตติกรรมประกาศให้กับเมีย แต่เล่มก่อนก็เขียนไปแล้วทีนึง คืออย่างที่บอกแหละครับว่าการเขียนงานทีนึงเนี่ยมันใช้พลังงาน สมาธิ และเวลามากๆ เราต้องการสมาธิเป็นก้อน เวลาเป็นก้อน และพลังงานเป็นก้อน ไม่ใช่ทำ 30 นาที เมียเรียกไปเก็บผ้า กลับมาทำต่อ หรือลูกมาร้องไห้ระหว่างทำงาน สิ่งเหล่านี้คนที่เก่งๆ เขาอาจจะสามารถรับมือได้ แต่ผมไม่ใช่น่ะสิ ผมต้องการทำงานแบบเงียบๆ (เปิดพอดแคสต์ฟังไปด้วยนี่โอเคมาก) และใช้เวลาทั้งวันทั้งคืนอยู่คนเดียว จนผลิตงานเสร็จได้ด้วยดี สิ่งเหล่านี้ผมหันไปถามเมียตั้งแต่แรก (ถ้าเป็นข้างบนก็ประมาณข้อ 2-3) แล้วว่าโอเคไหม เมียบอกว่าโอเค อยากเห็นเตงเขียนหนังสือ พอออกมาเป็นเล่มแล้วเจ๋งดี รู้สึกว่าผัวเท่ อะไรแบบนี้
แน่นอนว่าระหว่างทางมันไม่ได้ง่าย หลายครั้งเกือบมีปากเสียงกัน แต่พอหันไปมองหน้าเมีย ผมก็จะเป็นฝ่ายยอมแพ้ เพราะผมนั้นเขียนหนังสือคนเดียว ทำงานคนเดียวเพื่อให้ได้งานมาสนองความอยากของตัวเอง (อันนี้พูดยากมากเพราะค่าตัวค่าแรงอะไรนี่ผมเฉยๆ เป็นคนเฉยๆ กับเงิน (แต่เอานะไม่ใช่ไม่เอา) แต่ความภูมิใจเมื่องานเสร็จออกมาเป็นอันๆ นั้นสำคัญกว่ากัน 38 ล้านเท่า) ในขณะที่เมียนั้นต้องรับภาระทุกอย่างที่เคยช่วยกัน โดยเฉพาะลูกสองคนที่อยู่ในวัยที่ต้องการความดูแลจากพ่อแม่แบบสุดๆ ซึ่งช่วงที่ทำงานนั้นผมให้ไม่ได้ บอกเลยเป็นพ่อที่แย่จนบางทีก็นึกเสียใจ แต่ แม่งไม่ได้ว่ะ ต้องสะบัดหัวแล้วสวมวิญญาณซามูไร หันกลับมาปั่นงานต่อ เพราะถ้าเสร็จก่อนกำหนดการ นั่นหมายถึงเราจะมีเวลาเล่นกับลูกได้นานขึ้น เหี้ย แฟมิลี่แมนยังไงวะ
เน็ตเมื่อวานซืน
มีอยู่วันหนึ่งที่ผมนอนเกือบเช้าเพื่อปิดงานให้จบบท พอตื่นมาบ่ายๆ ก็พบว่าลูกเมียหอบข้าวของหนีไปแล้ว ไปอยู่บ้านตายาย และทิ้งโน้ตใบนี้ไว้ให้พร้อมของกินเล่นแก้ง่วงตามภาพ ผมนี่แม่ง … พูดไม่ออก รู้แต่ซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณจนอยากจะตีลังกากราบแล้วซักผ้าล้างจานให้ตลอดชีวิต (แต่รอดเว้ย นิ้วเน่า เป็นภูมิแพ้ หมออิมบอกว่าห้ามล้างจาน)

18.
พอเนื้องานใกล้เสร็จ เหลือแค่ตัดเส้นลงสี เราก็มาคุยกันเรื่องการตั้งชื่อเรื่อง ซึ่งเหมือนเป็นประเพณีอันโคตรสนุกและเป็นรางวัลโบนัสสำหรับการเขียนหนังสือแต่ละเล่ม ที่ผ่านมานั้นส่วนใหญ่ผมจะคิดชื่อหนังสือขึ้นมาเอง คือถ้าแว้บมาเป็นชื่อปั๊บ ทีนี้แหละคาแรกเตอร์ของหนังสือมันจะมาอย่างเด่นชัด แต่กับบางเล่มที่นึกไม่ออกจริงๆ ว่าจะตั้งชื่อยังไงดีให้มัน ‘ใช่’ ที่สุด เช่นศิลป์ซิตี้ ที่คิดกันนานมาก สรุปว่ามาเคาะเอาในคืนที่มานั่งทำปกกันที่แซลมอนเลยมั้ง ซึ่งสรุปมติองค์ประชุม (ไม่ได้เป็นโต๊ะเต๊อะอะไรหรอก ยืนคุยกันธรรมดาแต่พลังงานพวยพุ่ง)ในครั้งนั้น คนที่คิอชื่อนี้คืออีกาย เอ๊ะหรืออีแบงค์วะ เออนั่นแหละสักคน) คือมันเป็นศาสตร์และศิลป์-และการตลาดด้วยเอ้า-ที่ยากมากเลยนะ แต่ยากแล้วสนุกไง เป็นบทสนทนาที่นึกกี่ทีก็ขำ บางชื่อก็ไม่สามารถออกอากาศได้จริงๆ
สำหรับชื่อที่ส่งเข้าประกวดก่อนที่จะออกมาเป็นเน็ตเมื่อวานซืนนั้นมีเยอะมาก ที่พอนึกออกก็ได้แก่
– ชีวิตดีขึ้นทุกด้าน ด้วยการต่อเน็ตเพียงครั้งเดียว
– ชาวเน็ตจวกยับ (ใครจะเอามึงวะชื่อนี้)
– เกมออฟไลน์ (ทีแรกว่าจะล้อเกมออฟโทรน แต่แม่งเก็ตยากไป๊)
– คหสต.
– หนังสือนี้ถูกระงับเพื่อรักษาบรรยากาศในการสนทนา
– Pantip first class
– เข้ามาดู
– โลกสวยมายี่สิบปีแล้ว (ชื่อนี้ลูกค้ามาเห็นได้ริบเงินคืนแน่) (แต่ก็บันทึกไว้นะ)
– 20 ปีแห่งการปูเสื่อรอ
– Internet Explorer
– 20th century boys (แปลกใหม่มากๆ)
– โซเชี่ยวเน็ตเวิร์ก
– วัตถุ Wi-Fi (เฮ้ย ซ้ำกะของคันฉัตร)
– Back to the future park
– โซเดมาคอมพ์
– แบไต๋โซเชียล (อีกายคิดนะอันนี้ ผมเปล่า…)
– คอมพิวเตอร์เยสเทอร์เดย์
– เจาะเวลาหาไออี
– 56K แห่งความหลัง
– เน็ตเมื่อวานซืน (อีกายพิมพ์มาในสงครามชื่อ แล้วผมว่าแม่งโคตรใช่ ก็เลยเบรกมัน เอาอันนี้เลย!)
– 20 Years Ago Kilo Bit
ฯลฯ
เน็ตเมื่อวานซืน
ก็นั่นแหละครับ พอมันใช่ปั๊บ มันก็โคตรใช่ แล้วเน็ตเมื่อวานซืนก็กลายเป็นชื่อจริง พร้อมปกทื่ไหลมาทันทีในหัว วาดปาดๆ ให้ดูทันที (แน่นอนว่าส่งให้พันทิปดู ดันผ่านอีก!)

19.
ช่วงโค้งสุดท้ายก่อนปิดเล่ม ผมขอความช่วยเหลือจากทวิตเตอร์ (ที่จริงก็เด้งไปในเฟซบุ๊กด้วยแหละ เพิ่งมาเห็นทีหลังจากส่งงานไปแล้ว ขออภัยที่ให้เครดิตแต่ทวิตเตอร์น้า) ให้ช่วยกันนึกชื่อเว็บไทยยุคก่อนเฟซบุ๊กให้หน่อย และก็ได้มาร้อยกว่าชื่อ! เนี่ยแค่เข้าไปอ่านก็เพลินแล้ว มีคุณค่ามากๆ ขอบคุณครับ!


ซึ่งทั้งหมดนี้ถูกบรรจุลงในหน้านึงของหนังสือหน้าเดียวนะ เลยต้องคัดเอาเฉพาะเว็บบางประเภท แน่นอนว่าพวกเว็บเรื่องเสียวนี่ไม่ได้ลง เพราะหนังสือเขาจะเอาไปบริจาคห้องสมุดให้เด็กอ่านด้วยเว้ย มันเลยต้องเรต PG นะ

20.
เน็ตเมื่อวานซืน
และแล้วก็เสร็จออกมาเป็นเล่มก่อนงานหนังสือประมาณ 10 วัน (ทันกำหนดการที่พันทิปเขามีงานครบรอบเว็บในวันที่ 7 ตุลาคม) พอถึงงานหนังสือก็ได้รับการต้อนรับอย่างดีจากมิตรรักนักอ่านและชุมชนชาวทวิตเตอร์ที่ขยันหาอะไรมาแซว คือคราวนี้ยอมรับเลยว่ากระแสแม่งมาเยอะมากจนแท็ก #เน็ตเมื่อวานซืน ไปติดเทรนด์ตอนไหนนี่แหละ 55555 งงเหมือนกัน แต่ก็ดี มีคนบอกว่าเป็นการตลาดที่น่าสนใจ การตลาดห่าอะไรล่ะ 555555


พอถึงงานหนังสือ ผมไปนั่งประจำอยู่ที่แซลมอน 2-3 วัน ก็มีคุณผู้อ่านที่ทักทายเข้ามาอย่างอบอุ่น และต่างประกวดมุกการเอาหนังสือพี่ไปทำนั่นนี่ให้เจ็บช้ำอุรานัก (เอาเถอะ ถึงขนาดผสมอาหารหมาหรือเอาไปเผาให้ความอบอุ่นก็เล่นมาแล้ว) ที่น่าสนใจคือมีบูทพันทิป(ที่มีหนังสือของเราเล่มเดียว) ด้วย!!! มีแถล่งข่งแถลงข่าวบนเวทีใหญ่ในงานหนังสือด้วย! ต้องใส่สูทด้วย! (เครียดมาก ไม่ได้เครียดเรื่องการขึ้นเวทีอะไรนะ แต่เครียดเรื่องใส่สูท นี่เลยต้องยืมของแบงค์มา แบงค์ก็ส่งค้นท้องผู้เป็นเมีย เอาสูทมายื่นให้กันความอุจาด อ้อ มีการต้องแต่งตัวส่งให้เฟิร์นพีอาร์ เพื่อตรวจเช็กด้วยว่าชุดผ่านไหม ถ้าไม่ผ่านก็ไม่ได้ขึ้นเวทีงี้…)

แต่ดีใจมากๆ ที่พอมีคนอ่าน (แบบอ่านจริงๆ ไม่ได้เอาไว้รองขาโต๊ะรองเมาส์อย่างเดียว) แล้วติดกับ ตกเป็นเหยื่อของการโหยหาอดีต ละล่ำละลักเกี่ยวกับเน็ตเมื่อวานซืนอันเป็นประสบการณ์ของตัวเอง ผมไปส่องไทม์ไลน์ของแต่ละคนแล้วก็ยิ้ม ว่าเออ เราก็ต่างผ่านโลกในยุคดิจิทัลโรแมนติกมาด้วยกันทั้งนั้นเลยเนอะ ไม่รู้เหมือนกันว่าเน็ตเมื่อวานซืนในอีก 20 ปีข้างหน้ามันจะเป็นแบบไหน เผลอๆ ถ้ามีคนเขียนมาแล้วรำลึกถึงทวิตเตอร์เฟซบุ๊ก (ที่ตายไปแล้ว) ก็น่าจะน่าสนุกมากๆ และผมขอพรีออเดอร์เลยเล่มนึง!

ทั้งหมดนี้เป็นประสบการณ์ร่วมหกเดือนที่สนุกมากๆ ขอบคุณทุกคนเหลือเกิน ทั้งที่โดนเมนชัน และไม่โดน ทั้งที่มีส่วนร่วมและไม่มี แต่ก็นึกออกตลอดแหละ ขอบคุณครับ!

#ปิดเล่มแล้วจะเขียนอะไรก็ได้ ตอน The Final Countdown

ดูสิ กะว่าปิดเล่มเสร็จแล้วจะเขียนบล็อกถี่ๆ วันละตอนให้ได้เลย แต่พอเอาเข้าจริง ดันมีงานนู่นนี่ที่อั้นไว้ตอนยังเขียนต้นฉบับไม่เสร็จ จนต้องผัดงานนู้นงานนี้ไปต่อท้าย

แล้วกรรมก็สนองออกมาเป็นความไม่ว่างอย่างแรงด้วยงานที่พอกไว้อีกหลายวันต่อเนื่อง โครงการเขียนบล็อกวันละตอนก็เลยเป็นหมันไป

ช่างมัน เอาเป็นว่าคราวนี้ขอเขียนสั้นๆ เช่นเคย (เคยตอนไหนวะ) ว่าตอนใกล้ปิดเล่มนั้น ผมพบว่าวิธีการทำงานให้มีสมาธิและเพลิดเพลินมากๆ นั่นคือการเปิดอะไรฟังไปเป็นเพื่อนด้วย รับรองว่าอยู่ได้ทั้งคืนไม่มีง่วง และ พ.ศ.นี้ “อะไร” ที่ว่านั้น หวยมาออกที่พอดแคสต์ครับ… ซึ่งเรื่องพอดแคสต์นี่มีอะไรจะเล่าเยอะมาก ขอยกยอดไปครั้งถัดไป เดี๋ยวยาว

และอีกอย่างที่ทำให้ไม่เถลไถลไม่แวะไปนั่งทวีตเล่นหรือนั่งอ่านนู่นอ่านนี่ให้เสียเวลา นั่นคือการเปลี่ยนวอลเปเปอร์แบบโหดๆ ให้ทุกครั้งที่เปิดเครื่อง หรือสลับหน้าจอโปรแกรม ต้องเห็นภาพบาดตานี้

ทีแรกผมใช้เป็นภาพตารางเวลา ปฏิทินเส้นตายที่ได้มาจากบอกอกาย กะว่านี่โหดแล้ว เปิดมาทีไรก็เห็นเดดไลน์ต่อหน้าต่อตา

แล้วก็พบว่า เฮ้ย มันยิบไปว่ะ มันไม่ตูมใส่สมองในเสี้ยววินาทีแรกที่เห็น

จน 2-3 วันสุดท้ายที่ตั้งเวลาไว้กับตัวเองว่ากูต้องทำต้นฉบับให้เสร็จให้ได้ ก็เลยต้องผลิตนวัตกรรมอีกแบบขึ้นมา และมันได้ผลว่ะ

นั่นคือวอลเปเปอร์อันนี้

final-countdown

เท่านั้นยังไม่พอ ในหน้าโฮมของโครม อันเป็นโปรแกรมที่พาเราเข้าสู่โลกแห่งความเถลไถล ผมเปลี่ยนให้เป็นลิงก์คลิปยูทูบนี่

เปิดมาให้เล่นเพลงเลยครับ! คือเพลงนี้แม่งเป็นเพลงที่เคยใช้เปิดวนทั้งคืนเพื่อปลุกใจสมัยทำธีสิสตอนเรียนในช่วงท้ายๆ ดังนั้นจึงผูกพันกับมัน และเป็นเพลงที่ฟังยังไงก็ไม่เบื่อ ไม่เอียน หลอนอยู่ในหัวเท่าไหร่ก็ไม่เอียน แต่กลับกระตุ้นว่าเฮ้ย มึง ชีวิตมงอีกแค่นิดเดียวก็จะผ่านมันไปได้แล้วนะ!

ทั้งหมดนี้เลยเป็นอีกสูตรนึงที่ผมทำมาแล้วได้ผล เลยเอามาบอกต่อสำหรับคนที่อย่ในภาวะ Final Countdown เหมือนกันครับ

ทั้งนี้ขอแจกไฟล์วอลเปเปอร์นี้ขนาดเบิ้มๆ ไปให้ใช้กันด้วย เอ้าโหลด

อันนี้โฆษณา

อันนี้รีวิวจากผู้ใช้

อันนี้มีการดัดแปลงไปใช้ตามใจชอบ

ขอให้ทุกท่านผ่านพ้นวิกฤตการณ์ Final Countdown ไปได้ด้วยดี
สวัสดี.

แต่เอ๊ะ มัวแต่มาอ่านบล็อก งานมึงจะเสร็จไหมล่ะ

// แถมๆๆ
เดี๋ยวพอเล่มจริงเสร็จแล้วจะมาอวดอีกที ที่นี่แหละ (เล่มศิลป์ซิตี้ลืมเขียนถึงเฉยเลย แง)

นิทานก่อนนอน (13 ส.ค.59)

เมื่อคืนตอนนอน ลูกขอให้ผมเล่านิทานให้ฟัง

ปกติผมนอนดึก เมียเลยมีหน้าที่เป็นคนเล่า หลายเรื่องก็เล่าซ้ำจากหนังสือที่กองไว้ท่วมบ้าน แต่พอระยะหลังๆ ลูกคงเบื่อที่เรื่องซ้ำบ่อย จนแม่โบว์ต้องคิดเรื่อง ผูกเรื่องเองหลายครั้ง บางเรื่องก็เพลิดเพลิน บางเรื่องก็กริบ แล้วแต่อารมณ์คนเล่าตอนนั้นแหละมั้ง

แต่เมื่อคืนนี้เป็นคิวของผม พอปิดไฟคุยนั่นนี่จนหมดเรื่อง ได้เวลานอนแล้ว ก็เลยถามนิทานว่าคืนนี้จะส่งท้ายด้วยเรื่องอะไรดี ให้บอกชื่อเรื่องมาเดี๋ยวพ่อแต่งนิทานให้นิทานฟังเอง

จึงได้นิทานก่อนนอนเรื่องนี้มาครับ ทีนี้รู้สึกว่าพล็อตมันใช้ได้ กลัวว่าเดี๋ยวจะลืม เลยเอามาวาดเป็นการ์ตูนแปะบล็อกไว้ อีกสิบปีจะเรียกลูกมาดูใหม่

(ชื่อเรื่องอยู่ตอนท้าย)

เริ่มล่ะนะ

01 Continue reading นิทานก่อนนอน (13 ส.ค.59)

ถ้าชอบคุยไลน์ตอนขี้ “นี่คือสติกเกอร์ของคุณ”

20160609-Banner

ไม่คิดว่าการที่ตัวเองจะทวีตเรื่องขี้บ่อยๆ จนเป็นนิสัย มันจะสร้างช่องทางทำกินได้แบบนี้…

วันนั้นคุณบัฟโฟ่ @buffotoon แห่งบันลือสาส์น ได้ติดต่อมาถามว่าอยากทำสติกเกอร์ไหม–โอเค (ตอบกลับไปในเสี้ยววินาที) ก็เลยได้ทำในนามของ Vithita by Banlue Publications ซะเลย (ให้มืออาชีพเขาขายให้ดีกว่า สำหรับคนขยันอย่างเรา แฮ่)

พอเสร็จออกมาเป็นอันๆ แล้วก็ตื่นเต้น ส่งสแปมไปแม่งทุกกรุ๊ป นี่ยังเหลือกรุ๊ปผู้ปกครองโรงเรียนอนุบาลลูกอีกอันที่ยังไม่กล้า เดี๋ยวเขาตกใจ 555555

"Happy Toilet" Line Sticker

สำหรับคอนเซปต์เอยอะไรเอยของผลงานนั้น ขอก๊อปมาจากที่คุยกับบัฟโฟ่เลย

บฟ:
แอนครับ การตลาดอยากให้แอนตอบคำถาม 2 ข้อ
เอาไปประกอบข่าวครับผม รบกวนหน่อย
1.คอนเซปต์ในการวาดสติกเกอร์ชุดนี้คืออะไรครับ
2.แรงบันดาลใจในการทำสติกเกอร์ชุดนี้มาจากไหนครับ

อ: ช่างแบบว่า…
บฟ: อ่านคำถามแล้ว…

อ:
1. คอนเซปต์คือภาพเขียนจิตรกรรมฝาผนัง
ที่เราพบเห็นกันได้บ่อยๆ ตามห้องน้ำสาธารณะ
เป็นการระเบิดพลังแห่งความอัดอั้นตันใจสู่แดนสุขาวดี
2. จากส้วมครับ

ก็นั่นแหละครับ…

เอ้าขายของสิ โหลดเลยครับ! สามสิบบาทเท่านั้น หรือใครเป็น #ทีมเหรียญฟรี สะสมเหรียญเหริญแต้มเติ้มได้มากพอ ก็ไปจิ้มโหลดกันเลยยย

Happy Toilet (ชื่อไทย: สุขาสุขี)
http://line.me/R/shop/detail/1278212

ขอบคุณครับ

ป.ล.
ถ้าสังเกตดีๆ ในสติกเกอร์ชุดนี้ไม่มีคำว่าขี้เลยครับ ทำไมน่ะรึ เพราะไลน์ไม่ให้ผ่านไงล่ะ!

#30DaysdrawingTH (Part 1/3)

จากทวีตของหมูมะนาว

มีแปลเป็นไทยด้วย

ตามที่ช่วงนี้มีนโยบายว่าอยากทำอะไรสักอย่างให้แต่ละวันมีความหมาย พอมีสิ่งนี้ขึ้นมา ผมเลยเอาด้วย Continue reading #30DaysdrawingTH (Part 1/3)