พุทธศาสนาที่ข้าพเจ้ารู้จัก

เขียนก่อนนอน จะได้ไม่มีอะไรค้างคาใจ ตั้งชื่อหัวข้อเหมือนจะกว้างและมีประเด็นเยอะแยะแหลมคม แต่ไม่หรอก แค่บ่นๆ ตื้นๆ เหมือนเดิม

พอดีวันนี้วันอาสาฬหบุชา แม่ยายและครอบครัวเมียพร้อมน้องเมียก็ขับรถพากันไปที่วัดอัมพวัน สิงห์บุรี (เป็นวัดที่สวยและมีหลวงพ่อจรัญเป็นดิ ไอดอล)

แล้วแบบ คึกครับ ไม่ได้เข้าวัดหรอก แต่หยิบจักรยานพับท้ายรถไปปั่นดูบรรยากาศแถวนั้น (แน่นอนว่าขี่ไป จอดไป ถ่ายรูปสลิ่ม และโพสต์ขึ้นบล็อกตีนใหม่หัดปั่นไปด้วย)

บรรยากาศโคตรดีเลยครับ ดีทั้งในวัด และนอกวัด ที่มีแม่น้ำเจ้าพระยาตีคู่กับถนน ทุ่งนา และคันคลอง ปั่นไปชิวไปตลอดทาง แม้จะเป็นช่วงเพลที่ร้อนโคตรๆ

เลยนึกได้ว่า เออ เราแม่งไม่เข้าวัดว่ะ นี่ขนาดวันพระขนาดใหญ่แล้วนะ แถมมาถึงวัดที่เจ๋งระดับนี้แล้ว เลยลองสำรวจอคติที่ตัวเองมีต่อศาสนาพุทธดูว่าทำไม

แน่นอนว่าคงไม่พูดถึงกรณีพระปลอม พระกาก พระเดนที่ทุกคนแม่งรู้กันหมดแล้วว่ามี แต่ทำอะไรได้หรือเปล่า หรือทำแล้วจะส่งผลอะไร ตัดปัญหา แก้ปมมารศาสนาได้ไหม นั่นเป็นเรื่องของคนอื่น ไม่ใช่เรื่องของผม

ไอ้ที่เกี่ยวจริงๆ คือมันส่งผลกระทบต่อผมโดยตรง เช่นเวลามีคนชวนไปทำบุญ ปล่อยนกปล่อยปลาปล่อยหมาแมว ทำไมกับบางคน บางวัด จึงรู้สึกอึดอัด ก็พอจะนึกได้ดังนี้ ว่า

ผมไม่ชอบเลย เวลาคนมาทำบุญแล้วต้อง “ได้” บุญ

ถึงพระเท่ๆ อย่างสายท่านพุทธทาส (ซึ่งผมว่าโอเคสุดๆ แล้ว) จะบอกว่า “ทำดี ดี!” (ไม่มีคำว่าได้) ซึ่งเฮ้ยมันเท่มาก คุณจะไปโยงเหตุโยงผลอะไรแล้วเอามาเหมาเป็นเรื่องของกฎแห่งกรรม ผลบุญ หรือศัพท์แสงอะไรที่จะบอกว่าการเอาตังค์ไปถวายวัดหนึ่งร้อยบาทแล้วจะส่งผลให้เรามีหน้าที่การงานที่ดี หรือชีวิตสุขสบาย ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ อะไรนั่น … ก็บอกเลยว่าไม่เชื่อ

แล้วก็ต้องขอขัดขาไว้ก่อนว่า “ยังงี้มึงก็เลวสิ”

โน้ๆๆๆ

คือมันจะมีระบบความคิดประหลาดๆ ที่ชอบกีดกันคนอื่นที่ไม่ได้เห็นด้วยกับเราให้เป็นคนอื่นเนี่ย คือผมโอเคกับการทำดี ผมเชื่อว่าแต่ละคนมีนิยามความดีแตกต่างกันออกไป จะสมาทานเป็นของตัวเอง หรือพยายามโน้มน้าวคนอื่นให้เชื่อว่าหลักเกณฑ์ความดีของตนนั้นมันถูกต้องสมควร ก็ว่ากันไป

แต่ผมเชื่อว่า “ความดีมันเป็นค่าสัมพัทธ์” (เคยกล่าวไปแล้วในบล็อกเมื่อหลายปีก่อน ซึ่งบล็อกพังไปแล้ว) ที่เกิดจากคนหนึ่งทำกับสิ่งหนึ่ง แล้วแต่ว่าสิ่งนั้นจะเล็กใหญ่ หรือส่งผลกระทบอะไรต่อไป เสียดายคืนนี้ง่วงแล้วเลยไม่ได้อธฺบายซ้ำว่าไอ้ทฤษฎีความดีสัมพัทธ์น่ะมันอะไรยังไง แต่น่าจะพอเดากันออกเนอะ ขี้เกียจเขียนซ้ำ

ฉะนั้นเมื่อผมมีอคติกับนิยามของความดีแบบที่เห็นต่อหน้าต่อตาบ่อยๆ โดยเฉพาะเรื่องการกอบโกยหรือคาดหวัง “ผลตอบแทนจากการทำบุญ” ผมจึงไม่ให้เงินขอทาน ผมจึงไม่ทำบุญกับวัด ผมจึงขี้เกียจนั่งฟังพระเทศน์เป็นภาษาต่างประเทศที่ตัวเองไม่เข้าใจ หรือพิธีกรรมแบบไทยๆ (ไม่ใช้คำว่าพุทธ) ที่ดูไม่เห็นจะจำเป็นเลย รวมถึงพฤติกรรมอื่นๆ ที่ดูแล้วไอ้นี่แม่งมารศาสนาแน่ๆ

แต่ผมเชื่อว่าไอ้การทำแบบนี้มันก็ไม่ได้ชั่วหรอก เพราะเชื่อว่าไอ้ที่ตัวเองทำ และเป็นอยู่ทุกวันนี้ มันก็เป็นความพยายามจะดีอยู่ไม่น้อย เรียกว่าค่อนข้างเนิร์ดเลยด้วยซ้ำ เพราะผมยังเป็นคนหัวเก่าที่คิดอะไรแบบเก่าๆ ยังประทับใจเวลาเห็นคนทำอะไรดีๆ (ที่เป็นนิยามความดีในแบบสากล ฝรังเขามีศัพท์ด้วย แต่จำไม่ได้ ถึงจำได้เอามาเขียนในวงเล็บตรงนี้ก็ไม่ออกสอบ)

เพียงแต่มีอคติที่รุนแรงต่อการโปรโมตเรื่อง “ผลบุญ” ที่ตัวเองไม่เชื่อเอาเสียเลยเท่านั้นแหละ

สำหรับเรื่องวัดวา ผมก็เหมือนหลายๆ คน (ไม่ได้เหมารวม แต่แค่จะบอกว่าตัวเองก็ไม่ได้แนวอะไร) คือเกลียดวัดที่ทำตัวเป็นสถานที่ปลุกเสก เกลียดพระ (อ้าว ไหนบอกจะละไว้) ที่ทำตัวเป็นนักธุรกิจ รู้ว่ามันต้องมี และมันต้องขับเคลื่อนอะไรต่ออะไร แต่ถ้าเลือกได้ก็จะไม่ข้องเกี่ยวเลย ปล่อยให้คนที่เชื่อเขาเชื่อไป เราไม่ได้ไปโดดขวางเขา แต่เราแค่ไม่ร่วมสังฆกรรมด้วยเท่านั้นแหละ

แต่บางทีจะบอกว่าต่างคนต่างอยู่ก็ลำบาก เพราะมันจะมีหลายๆ เคสที่ความเชื่อของแต่ละคนมันจะมีโอกาสมาไฝว้กันบ่อยๆ (แค่นึกภาพช็อตที่มีญาติโยมชวนไปนั่งสมาธิที่วัด X นี่ก็ถือเป็นความอึดอัดแล้วนะ) และเราไม่สามารถใช้ชีวิตแบบหลีกเลี่ยงการโคจรผ่านก้อนความเชื่อของคนอื่นๆ ออกไปได้ อย่างการนับถือสิงศักดิ์สิทธิ์ (ไม่เชื่อโซ้ย) ความเป็นสิริมงคล (ไม่เชื่อโว้ย) ผีสางเทวดา หลวงพ่อศักดิ์สิทธิ์ อิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ (ไม่เชื่อโว้ยยยยย) และป่วยการที่จะมาอธิบายว่าไอ้พวกนี้ไม่ได้เรียกว่าพุทธเลยเหอะ ดังนั้นก็ลำบากน่อย แต่ก็โอเค

ขนาดไปวัดเจ๋งๆ อย่างวัดหลวงพ่อจรัญ แต่ประตูเข้าวัดยังมีพ่อค้าแม่ค้าจับเต่าเผือกมาใส่กะละมังโชว์ให้คนมาทำบุญ หรือมีตาลุงจูงช้างเด็ก (เด็กมาก) มาให้คนจ่ายเงินให้อาหารมันเลย หรือแม้แต่ของวัดเองยังมีท่อนไม้ศักดิ์สิทธิ์ที่มีผ้าเจ็ดสีพันไว้รอบๆ พร้อมชุดนางรำสารพัด ทำเป็นเพิงใหญ่ๆ เลยนะ เห็นแล้วก็เออ หลวงพ่อท่านคงปรามไม่หมดจริงๆ แล้วก็คงเซ็งๆ ด้วยแหละ แต่ก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะเหตุผลคล้ายๆ กับที่ว่าไว้ข้างบน (อันนี้ไม่ได้มโนเอาเอง อ้างอิงจากประวัติรูปปั้นหลวงพ่อโตในวัด ที่เขียนบอกไว้ว่า คนนั้นคนนี้ก็ฝันว่าหลวงพ่อโตมาบอกให้สร้างรูปปั้น แต่หลวงพ่อจรัญไม่เชื่อ แต่ก็ทานไม่ไหว โดนบิ๊วจนยอม อะ สร้างก็สร้าง ในเขียนดุไว้ในแผ่นป้ายด้วยว่าเป็นสมภารที่ดื้อ แต่สรุปก็ต้องยอมๆ ไป)

ในเมื่อศาสนาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ การที่หัวใจจะไปยึดเหนี่ยวกับอะไรทั้งที มันก็ต้องเท่ๆ หน่อย ไม่ใช่แบบ อะไรวะ มึงอีกแล้ว งมงายอีกแล้วงี้

โอ๊ย เขียนแล้วก็ด้น วกวนจับประเด็นไม่ได้เลย แต่ก็เอาเหอะ

มาขนาดนี้แล้วต้องบอกไหมว่าเป็นความคิดเห็น(อคติ)ส่วนตัว

สวัสดีกล้องใหม่ Olympus E-P5

(คำเตือน: นี่คือบล็อกตอนที่ว่าด้วยกิเลสและทุนนิยม)

(เตือนอีกที: นี่ไม่ใช่รีวิวกล้องนะครับ แต่ถ้าใครสนใจจะถามอะไรเชิญที่คอมเมนต์ครับ ถ้าพอตอบได้ก็จะตอบจ้ะ แต่อย่าหวังคำตอบแนวน้าๆ นะ)

สวัสดี E-P5

ผมวางโครงการเปลี่ยนกล้องมาหลายเดือนแล้วครับ ตั้งใจว่าจะเกษียณเจ้า GF1 กล้อง mirrorless สีแดงแปร๊ดที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมายาวนาน คือเรียกว่าเป็น “ของเล่น” ที่ใช้ทำมาหากินควบคู่กันไปด้วย (ใช้ถ่ายแบบแฟชันของร้านนลินฟ้าครับ ทำสตูดิโอถ่ายกันบ้านๆ นี่แหละ แต่ก็ช่วยให้ครอบครัวเรามีตังค์ซื้อข้าวกินทุกวันนี้) ใช้มาจนตรงนั้นขัด ตรงนี้สนิม แต่ยังถ่ายภาพได้ดีอยู่ โดยที่รู้สึกแค่ว่าคุณภาพของภาพถ่ายในระยะสามสี่ปีหลังจากการเกิดมาบนโลกของ GF1 เนี่ย มันน่ามีอะไรพัฒนาขึ้นกว่าเดิมมากๆ แล้ว และเทคโนโลยีที่เคยราคาแพงในสมัยนั้น ก็น่าจะปรับราคาลงจนเราเอื้อมถึงได้ ทำให้การถ่ายรูปเล่นและใช้ทำงานไปด้วยก็คงจะสะดวกมือขึ้นนะ

โจทย์ที่วางเอาไว้ก็คือ กล้องตัวต่อไป ต้องถือแล้วดูหล่อ อวดความเป็นสลิ่มได้เต็มที่ แต่ไม่เอากล้องใหญ่ๆ หนักๆ ที่พกยากนะ คือเลิกคบ DSLR ขายทิ้งหมดตั้งแต่สมัยที่เจอ GF1 แล้วหลงรักนั่นแหละ

ส่วนประเด็นรองคือความเก่งของกล้อง ตามสเป็กที่โอตาคุและน้าๆ เขาชอบเอาตัวเลขนั่นนี่มาข่มกัน คือมีอะไรที่ดูเลขเยอะๆ ได้ก็ดี แต่ไม่ได้สนใจจะเน้นมันเท่ากับประสบการณ์การใช้งานที่ดี (เป็นนิสัยของพวกคนทำงานออกแบบรึเปล่าวะ)

ถ้าให้เรียงลำดับความสำคัญก็จะได้ สวย > นิสัยดี > เก่ง

หลังจากอ่านนู่นนี่อยู่นาน ก็มาชอบ E-PL5 สีขาวขอบน้ำตาล เพราะมันดูตุ๊ดๆ ดี (ผมชอบใช้ของที่มันดูตุ๊ดๆ ครับ) และน่าจะใช้กับเลนส์เก่าของเราได้ด้วย แต่พอไปดูของจริง แม่งไม่สวยอย่างที่เห็นในเว็บเลย บายนะ นี่ยังไม่ได้ดูสเป็กใดๆ ทั้งสิ้น แต่บายไว้ก่อนละ

พอได้ติดตามฟีดข่าวจากเว็บกล้องและวงการภาพถ่ายบ่อยๆ (ของฝรั่งนะ ของไทยไม่รู้เขาดูกันที่ไหน) ก็ได้เห็นการเปิดตัวของกล้องที่เห็นแล้วกรี๊ดเลย คือใช่เลย ดีไซน์นี้แหละ มันคือ Olympus E-P5 ต้องสีเงิน-ดำด้วยนะ ถึงจะดูแคลสสิก ถูกใจมาก บ้าคลั่งมาก ขนาดตอนที่ไปญี่ปุ่นในช่วงเดียวกับที่มันกำลังจะวางขาย (เออ ยังไม่ได้เขียนบล็อกเล่าเลยนี่หว่า) ก็ออกตามหาเพื่อจะหิ้วกลับมาไทย และก็พบว่ามันยังไม่วางขาย เลยกลับบ้านแบบหงอยๆ พร้อมโบร์ชัวร์ภาษาญี่ปุ่นที่มีแต่ข้อมูลและภาพตัวกล้อง ไม่มีของติดมือมาจริงๆ

จนพอเวลาผ่านไปไม่นาน ได้คุยกับคนนั้นคนนี้ ปรึกษาทั้งมนุษย์ตัวเป็นๆ และมนุษย์ที่แปลงสภาพเป็นตัวอักษรในจอคอมพิวเตอร์แล้ว (คุยกับคนนี้ด้วย!) ก็ได้ตัวเลือกระดับสุดยอดมา 2 ตัวที่กินกันไม่ลงจริงๆ นั่นคือ Fujifilm X-E1 และ Olympus OM-D EM5 ซึ่งมีข้อดีข้อด้อยต่างๆ กันออกไป ใครจะมีวิธีตัดสินใจยังไงก็ช่าง แต่สำหรับผมใช้เกณฑ์พิจารณาด้วยรสนิยมส่วนตัวต่อไปนี้
Continue reading สวัสดีกล้องใหม่ Olympus E-P5

P.O.P Era

P.O.P

กลับถึงบ้านจากคอนเสิร์ต P.O.P – Party of the Bakerian สดๆ เลยบันทึกไว้หน่อย ก่อนจะหายฟิน

P.O.P

คือฟินครับ ไม่ได้ดูคอนเสิร์ตแล้วฟินมานาน นานจนมาพินิจดูแล้ว ก็พบว่าผมก็เป็นติ่งเบเกอรี่กะเขาเหมือนกันนี่หว่า

P.O.P

ต้องบอกว่าเป็นเรื่องธรรมดาสามัญมากๆ มากๆๆๆๆ ที่คนวัยเดียวกัน โตมาด้วยกันกับค่ายเพลงค่ายนี้จะต้องนิยมชมชอบอะไรสักอย่าง ไม่มากก็น้อยแหละ เพราะมันคือประวัติศาสตร์หน้าที่มีคุณภาพของวงการเพลงไทยจริงๆ และผมก็เป็นหนึ่งในนั้น ที่ตอนมัธยม เรียนโรงเรียนต่างจังหวัด แต่มีโอกาสได้รู้จักและติดตามฟัง เพราะเหตุผลที่ว่าใครในยุคนั้นที่ฟังเบเกอรี่แล้วจะเท่ จะดูดี สาวชอบ (ไม่ได้นึกเลยว่ามีปัจจัยอื่นมากมายนะที่สาวเขาไม่สนมึง)

Continue reading P.O.P Era

เชียงคลาน

เพิ่งไปเชียงคานมากับเพื่อนมัธยม ถ้ารวมลูกเมียของผมด้วยก็เป็น 10 ชีวิตพอดี

เป็น 10 ชีวิตที่กำลังพอดี พอดีในความหมายที่แปลว่า “พอดี” คือไปกับเพื่อนมัธยม (ไม่ใช่เพื่อนเก่า แต่เป็น “เพื่อนปัจจุบัน” ที่บอกไม่ได้เก่าเพราะว่าไม่ได้ขาดการติดต่อกันขนาดต้องนัดพบปะสังสรรค์กันแบบนานๆ ที แต่กลุ่มนี้คือเจอกันบ่อย จนเป็นเพื่อนปัจจุบัน) ที่คุ้นเคยกัน ไม่ต้องมานั่งเกรงอกเกรงใจอะไรกันนัก ถึงในช่วงหน้าโลว์ซีซัน ที่นักท่องเที่ยวสลิ่มจากกรุงเทพฯ ไม่ค่อยมี จะมีก็แค่เรา กับคนอื่นๆ ที่มาไม่ตรงกับฤดูท่องเที่ยวสุดฮิต เหมือนเป็นสลิ่มหลงฤดู

หลงขนาดที่ว่าพอหันไปถามอีบิ๊ก หัวหน้าทริปนี้ แม่งไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเชียงคานอยู่ตรงไหนของประเทศ และต้องนั่งรถนานขนาดนี้ หรือแม้กระทั่งการสั่งเพื่อนให้ลางานวันจันทร์หนึ่งวัน เพื่อมาเที่ยว แต่ก็ไม่รู้ว่ามาแล้วจะได้เห็นอะไร หรือมีที่เที่ยวอะไร (คำตอบคือไม่มีไง)

ส่วนผมไม่ซีเรียสอะไรเลยสักอย่าง เพราะเชียงคานเป็นสถานที่ที่มาก็ได้ ไม่มาก็ได้ คิดภาพไว้ว่าคงเป็นอารมณ์เหมือนปาย ที่น่าจะมีอะไรๆ คล้ายเมืองเดิมที่มันน่ารักอยู่แล้ว แต่โดนคณะสลิ่มเมืองกรุงมาถล่มจนมันกลายเป็นจริตแบบกรุงเทพๆ ไป จะมากจะน้อยก็แล้วแต่ภูมิต้านทานของสถานที่ว่ารับมือไหวแค่ไหนกับกรเปลี่ยนแปลงที่จะต้องเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ผมเคยเขียนเรื่องปายเอาไว้ในบล็อกนี้ (แต่ระบบเคยพังจนข้อมูลหายหมดแล้ว ช่างมัน) คราวนี้ก็คงไม่ได้รู้สึกต่างจากเดิม ที่คิดว่าถ้าเรามีสถานที่ท่องเที่ยวเจ๋งๆ แนวชิวๆ แบบนี้ เราจะไม่อยากบอกใครเท่าไหร่ ไม่งั้นเกิดมันแมสขึ้นมา แบบปาย แบบอัมพวา แบบเชียงคาน หรือแม้แต่แบบสวนผึ้ง แบบดำเนินสะดวก แบบหัวหิน ฯลฯ

รับรองว่าเราจะไม่ได้เห็นบรรยากาศที่เราเคยหลงรักมัน แต่จะกลายเป็นบรรยากาศจำลองให้ชาวกรุงเทพฯ ที่มาเสพบรรยากาศประดิษฐ์แบบใหม่ๆ ที่สร้างขึ้นมาใหม่ ให้กลายเป็นอัตลักษณ์เฟกๆ เหมือนๆ กันไปหมดทุกที่

เชียงคานก็คงเป็นแบบนั้น… ผมคิดไว้ตั้งแต่อ่านข่าวเห็นนักท่องเที่ยวเมืองกรุงมาถล่มที่นี่ในหน้าหนาวเมื่อสองสามปีก่อน

พอคาดหวังไว้ต่ำมาก การที่รถตู้ไปจอดลงตรงหน้าที่พัก และเราเดินไปถึงชานระเบียงที่พัก ซึ่งอยู่ติดฝั่งโขงพอดี จึงเป็นความรู้สึกที่ เออ เหนือความคาดหมาย

ดีเหลือเกินที่เรามาในช่วงเวลาที่ไม่ตรงเวลากับใคร เพราะตอนนี้กรุงเทพฯ ฝนตกทุกวัน แต่ที่นั่นไม่ (ที่จริงก็ฟ้าครึ้มๆ ทั้งวัน) ดังนั้นเชียงคานในส่วนถนนคนเดินที่ร่ำลือกัน เลยเงียบ สงบ และเหมือนเมืองท่องเที่ยวที่แต่ละบ้านแต่ละร้านก็ปิด ปรับปรุงซ่อมแซมต่อเติม (หรือประกาศขาย) ใเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวในฤดูกาลถัดไป

เคยเจอบรรยากาศแบบที่ว่านี้มาแล้ว ตอนที่ไปเกาะลันตาเมื่อสักสิบปีก่อน เกาะลันตานั้นเงียบ สงบ เรียกว่าสงัดจะถูกกว่า โซนท่องเที่ยวที่มีแต่ภาษาอังกฤษนั้นปิดตาย เพราะเป็นหน้าโลว์ มีเพียงกลิ่นของสถานที่ท่องเที่ยวสุดคึกคักที่รอวันเปิดทำการอีกครั้งในช่วงฤดูร้อน และถุงพลาสติกปลิวไปบนถนนนานๆ ครั้งเมื่อต้องลม

บรรยากาศในคืนวันอาทิตย์ที่เชียงคานในวันที่ผมเพิ่งไปมาแม่งเป็นแบบที่ว่าเลย เพียงแต่เปลี่ยนจากเมืองท่องเที่ยวที่เอาใจฝรั่ง กลายเป็นเมืองท่องเที่ยวที่เอาใจคนกรุงเทพฯ

แต่ได้บรรยากาศของความสงัดเหมือนกัน

โอเค เชียงคาน นายก็ไม่ได้แย่อย่างที่เราคิด ขอโทษที่มองนายเสื่อมไป อย่างอนนะ

ป.ล.
ที่พักผมมีดาดฟ้าชั้นสาม ที่ขึ้นไปยืนมองแม่น้ำโขงได้แบบพาโนรามมา มีช่วงค่ำๆ ขณะที่ลูกเมียหลับแล้ว ผมไปยืนเกาะระเบียงมองผืนน้ำและทิวทัศน์ฝั่งลาวยามราตรี (ที่ไร้แสงไฟและโคตรมืด) อยู่นิ่งๆ คนเดียว หันมามองนาฬิกาในโทรศัพท์ ก็ผ่านไปครึ่งชั่วโมงแล้ว เออ ชิวสัส

ป.อ. (ยาวหน่อย) (มีรูปด้วย)
ยังรู้สึกชอบการแวะดูนั่นนี่ระหว่างทางเหมือนเดิม ถึงจะมีข้อจำกัดนิดนึงคือคนอื่นไม่ได้ชอบด้วย และเรามีลูก แต่ยังไม่ลืมภาพบรรยาากาศของสถานที่เจ๋งๆ ที่เคยค้นพบโดยบังเอิญ เช่นตอนปี 2549 ที่สุพรรณบุรี เคยไปงานแต่ง ขากลับเจอกองทัพเป็ดไล่ทุ่ง (ดูภาพ) จนต้องวิ่งลงไปกรี๊ด แหวกว่ายๆ และถ่ายคลิป (สมัยนั้นกล้องมันถ่ายได้ดีสุดแค่ 240p นะ) หรืออีกครั้งที่ไปเที่ยวสวนผึ้ง ขากลับหันไปเห็นลำธารข้างทาง สวยดี เลยจอดลงไปเดินดูกับภรรยา (ดูภาพ) ปรากฏว่าเป็นสถานที่ที่มีบรรยากาศสุดเจ๋ง เจ๋งจนขออย่าให้มีใครมาเห็นและเอาไปทำรีสอร์ตเลยนะๆๆ ปล่อยให้มันอันซีนอยู่แบบนี้แหละ ชอบ รักเลย

ป.ฮ.
หยุดเที่ยวมาสองเดือนเพราะไปวุ่นกะอะไรอยู่ไม่รู้ ต่อไปนี้จะค่อยๆ เที่ยวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามปณิธานที่วางเอาไว้ รอก่อนนะ กาญจนบุรี ชัยนาท กำแพงเพชร อุดรธานี สกลนคร ชุมพร สุราษฎร์ และยะลา (อันสุดท้ายนี่เป็นโครงการยาวๆ รอให้เมียอนุญาตก่อน)

เริ่มเริม

ผมเป็นเริมครับ
เป็นมาตั้งแต่สมัยเรียนแล้วครับ ตอนนั้นใช้ชีวิตกินนอนอยู่ที่คณะซะมากกว่าหอพักของตัวเอง ที่มีไว้แค่เก็บของและเสื้อผ้า เวลาอยู่คณะก็ทำตัวสกปรกซกมกแบบเด็กถาปัดที่บ้านจนทั่วไปนี่แหละครับ ทำงานจนถึงตีสี่ตีห้า ตื่นมาก็ออกไปกินข้าวท่าช้าง ท่าพระจันทร์ตามเรื่องตามราว เวลาง่วงก็ล้มตัวลงนอนบนโต๊ะบ้าง ใต้โต๊ะบ้าง (พื้นสตูปูกระเบื้องเชียวนะ) ไม่เคยซีเรียสเลย เพราะใครๆ ในยุคนั้นเขาก็ทำแบบนี้กันทั้งนั้น และรู้สึกว่าการใช้ชีวิตแบบนี้มันก็สุขสบายดี จนอยู่มาวันหนึ่ง ผมรู้สึกเหมือนมีสิวขึ้นมาเม็ดนึงตรงมุมปากล่างด้านขวา

ตอนนั้นก็เฉยๆ เพราะตัวเองเป็นสิวเต็มหน้าอยู่แล้ว (คือเป็นคนสกปรกน่ะครับ เจ๋งปะล่ะ) แต่ที่ต่างออกไปคือสิวนี่มันไม่ขุ่นแฮะ มันใส เหมือนตุ่มน้ำ และแสบแปลกๆ เหมือนเป็นแผลอยู่ ยิ่งสงสัยก็ยิ่งบีบ พอบีบมันก็แตกหน่อ กระจายตัวเป็นพุ่มไสว กินพื้นที่กว้างยาวประมาณเล็บนิ้วก้อย

คุณหมอที่อาศัยอยู่ในกูเกิลบอกผมว่า นี่แหละเริม

image

เอ้า เหี้ยแล้วไหมล่ะ เริมเลยเรอะ เริมเลยเรอะะะะะะ

ผมนึกภาพตามบอร์ดให้ความรู้ด้านสาธารณสุขตามโรงพยาบาล ที่ให้เกียรติจัดโรคเริมให้อยู่ในกลุ่มโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ คล้ายๆ หนองใน ซิฟิลิส หูดหงอนไก่อะไรเทือกนั้น พร้อมภาพประกอบสุดสยอง ที่เป็นกระเจี๊ยวมนุษย์ที่เป็นเริมระยะร้ายแรง หนุบหนับหยุบหยับฝีหนองพุพองแดงเถือกไปทั่วทั้งอวัยวะเพศ ใครนึกภาพไม่ออกผมว่าแค่ค้นกูเกิลอิมเมจด้วยคะว่าเริม รับรองภาพสุดคัลต์ที่ว่าน่าจะปรากฏให้เห็นนับร้อยพัน ดูไปกินข้าวไปรับรองอรรถรสมาเต็ม

อะไรทำให้เริมกลายเป็นโรคติดต่อที่น่ารังเกียจขนาดนี้กันนะ ในเมื่อคนที่เป็นเริมนั้นถือเป็นเหยื่อนะ คือโดนกระทำนะ ไม่ใช่เป็นโจรหรือซอมบี้นะ 囧

ไอ้ครั้นจะไปตั้งเพจทวงคืนสิทธิมนุษยเริม ก็มั่นใจว่าคนไทยหกสิบล้านคนแม่งไม่มีใครอยากจะไปกดไล้ให้มีชื่อตัวเองปรากฏอยู่ในนั้นเป็นแน่

แล้วใครล่ะที่จะลุกขึ้นมาปฏิวัติและช่วยปรับทัศนคตินี้ออกไปเสียที

ท่ามกลางความสิ้นหวังและแสงสปอตไลต์ที่ส่องลงมาเพียงลำพัง ผมก็ไปเจอป้ายข้อมูลจากโรงพยาบาลเอกชนที่จัดอาร์ตเวิร์กสะอาดๆ ไม่ดูอี๋แหวะ คงเพราะเขามองคนไข้ว่าเป็นลูกค้า และไม่ได้มาอย่างอนาถาอย่างที่พวกโครงการรณรงค์ต้านเอดส์แบบราชการๆ เขามองกัน

ทำให้สบายใจขึ้นมากครับ ว่าที่จริงแล้วเริมมันก็แค่คล้ายๆ โรคหวัดเหมือนกันนี่หว่า (ตรงไหน) ที่ใครเป็นก็ควรจะเสียเซ้วแค่นิดหน่อยกับร่างกายที่แสดงอาการป่วยออกมา รีบดูแลรักษาตัวเองให้หาย แล้วก็ใช้ชีวิตต่อไปได้อย่างปกติสุข ไม่ใช่ถูกสังคมคว่ำบาตรเพียงเพราะการถูกประทับยี่ห้อ “โรคติดต่อที่สังคมรังเกียจ” และพ่วงด้วยแท็กอัปมงคลมากมายให้หดหู่และเป็นปมด้อยในชีวิตเล่นๆ

ขอเพียงกำลังใจให้มนุษย์เริมทุกท่านได้มีพื้นที่เล็กๆ ไว้ยืนหยัดในสังคม เท่านี้ก็พอครับ กระซิกๆ

เข้าสาระกันสักนิด…

เริมนั้นเป็นโรคติดต่อที่มีตัวการคือเชื้อไวรัสตัวนึงที่ชื่อเฮอร์ปิ๊ด อีไวรัสบ้านี่สำแดงเดชได้ที่ปากและอวัยวะเพศ สำหรับผมนั้นเป็นที่ปาก แน่นอนว่าติดต่อทางอื่นที่ไม่ใช่เพศสัมพันธ์แน่นอน (เพราะตอนนั้นยังไม่มีใครยอมมีเพศสัมพันธ์ด้วย) แต่จากสาเหตุอื่นๆ ก็คือภูมิคุ้มกันของร่างกายซึ่งเปรียบเสมือนรักยมนั้นเกิดงอแงขึ้นมา เพราะเราดันเลี้ยงดูไม่ดี น้ำก็กดกินจากก๊อกแถวประตูมหาลัย (ติดสนามหลวง มีลุงป้าข้างนอกมาใช้บริการกันเยอะจนเดี๋ยวนี้เขาเอาออกไปแล้ว) แถมยังใช้ชีวิตได้ผิดสุขลักษณะอย่างสุดๆ ซะด้วย มันก็ต้องโดนเข้าสักโรคจนได้

ทีนี้อาการของโรคเริมที่ผมเจอก็คือ ระยะแรกปากจะเป็นตุ่มใส แสบ แล้วตุ่มนั้นก็จะเพิ่มดาวน์ไลน์ ขยายสาขาออกมาจนได้พื้นที่ประมาณนึง ถ้าทายารักษาเริม (มีขายตามร้านขายยาทั่วไป ซื้อเลย ไม่ต้องอาย) ก็จะหายเร็ว แต่ถ้าไปบีบให้แตกก็จะเป็นสะเก็ดสีน้ำตาล ชัดกว่าเดิม แสบกว่าเดิม จังไรชีวิตมาก

ผ่านไปสักสิบวัน อาการนี้ก็จะหายไป

แต่อย่าเพิ่งดีใจไปครับ เพราะขึ้นชื่อว่าเป็นไวรัสทั้งที แม่งไม่เคยหายขาดอยู่แล้ว อีเฮอร์ปิ๊ดนรกเนี่ยไม่ได้ตายนะครับ แต่แค่หนำใจแล้ว มันก็จะไปหลบซ่อนตัวอยู่เงียบๆ ในเส้นประสาทปลายสมองสักมุมของเรา จำศีลอยู่อย่างนั้นจนกว่ากุมารทองในร่างกายจะอ่อนแอ มันถึงจะกลับมาสำแดงอิทธิฤทธิ์อีกครั้ง ที่เดิม สเต็ปเดิมเลย

ถ้ามองในแง่ไสยศาสตร์ การเป็นเริมนี่ก็เหมือนมิเตอร์บอกอาการดวงตกเลยครับ ช่วงไหนดวงตก แม่งมาละ ปากเป็นตุ่มละ งดจูบเมียหอมลูกไปสิบวัน และต้องกักขังคัดแยกตัวเองไม่ให้ใช้ภาชนะร่วมกัน มือก็ต้องล้างให้สะอาดตลอดเวลา ตาก็ห้ามขยี้ จนกว่าจะหายจากอาการในอีกสิบวันข้างหน้า

แม่งเป็นช่วงที่เสียเซ้วสุดๆ เลยครับ

แถมตอนนี้ป่วยด้วย เป็นหวัดคัดจมูก ไอ เจ็บคอ แถมยังนอนดึกอีกต่างหาก (นี่คือสาเหตุที่ทำให้รักยมในร่างกายอ่อนแอลง) เลยเขียนบล็อกนี้ขึ้นมาเพื่อบำบัดความเสียเซ้วของตัวเอง ว่าจงรู้ทันโรค และรู้ทันตัวเอง จะได้เตือนตัวเองและคนอื่นด้วย ว่าจงใส่ใจสุขภาพตัวเองให้ดี จะได้ไม่ต้องมาคอยอธิบายให้ใครต่อใครเข้าใจว่าโรคนี้มันไม่ได้เกิดจากการตีกะหรี่อย่างเดียวเว้ยสัส

ป.ล.
เขียนและวาดภาพประกอบบนรถตู้ กำลังไปเชียงคานกับเพื่อน (ถนนคอร์รัปชั่น รถสั่นมาก วาดได้เท่านี้ถือว่าสวรรค์โปรดแล้ว)

ป.อ.
อ่านหนึ่งบทความทางการแพทย์ ที่เขาบอกว่าเริมจะหายขาดถาวรตอนเราอายุ 35 คือไม่กลับมาหลอกหลอนอีกแล้ว ตอนนี้เลยเห็นข้อดีของการแก่เพิ่มขึ้นอีกข้อ

ป.ฮ.
ช่วงนี้สงสารนิทานมากเลยครับ