เขียนความหวัง

เนี่ย พอมันประทับใจแล้วก็เลยลำดับเรื่องไม่ถูกจนได้… งั้นเริ่มเลยนะ

เอาเป็นว่า เมื่อวานนี้ (15 กุมภาพันธ์ 2025) เราไปนิทรรศการของสะอาดมา มีชื่อยาวๆ ว่า 2475 Graphic Novel Exhibition: เขียน • ความ • หวัง – รายละเอียดกดดูจากลิงก์ต้นทางที่ก๊อปชื่อมา

เราเป็นแฟนการ์ตูนของสะอาดมายาวนานมากๆ เอาแค่ที่เคยเขียนลงบล็อกนี้ (ซึ่งไม่ค่อยได้เขียน) ก็ 2012.1 เสียดายภาพหายหมดแล้ว / 2012.2 / 2014 / ฯลฯ ไม่รวมในยุคหนังสือทำมือและบล็อก Exteen ที่เราเซฟภาพเก็บไว้จนถึงทุกวันนี้ (ไม่รู้เจ้าของภาพจะเก็บไว้ไหม หรือหายไปพร้อมเว็บแล้ว 55555) ยืนยันเสมอมาว่าเป็นนักเขียนการ์ตูนสัญชาติไทยที่เราชอบที่สุด

นิทรรศการนี้โฆษณาไว้ว่าด้วยการทำหนังสือ 2475 นักเขียนผีแห่งสยาม คือไม่ได้ะูดแค่เรื่องหนังสือ แต่พูดเรื่องการ “ทำ” ด้วย ซึ่งหนังสือดังกล่าวเป็นงานที่เราเองมองด้วย(สายตาติ่งคนหนึ่งแหละ)ว่ามันจะมาสเตอร์พีซไปไหนวะ ตอนสั่งจองแบบเขาให้รอ 2-3 ปี เราก็รอ หนังสือบ้าอะไรซื้อวันนี้ อีก 2-3 ปีค่อยเสร็จ พอมาก็ประดับดอกไม้ถ่ายทำคอนเทนต์ ทิ้งไว้ครึ่งเดือนจนได้ที่แล้วค่อยหยิบมาละเลียดอ่าน และก็ฟิน มันดีอย่างที่รอคอย มันดีอย่างที่ตั้งใจ และจุใจมากๆ

พอตัดสลับกับโพสต์ระบายอารมณ์หลายครั้ง ได้เห็นการเล่าถึงความเครียด ความกังวลที่โผล่ในเพจและโพสต์ส่วนตัวของนักเขียน และตามบทความที่สำนักต่างๆ ที่ไปสัมภาษณ์ (เออ เราก็ไปไล่อ่านหมดแหละ) ซึ่งนั่นน่าจะเป็นแค่เสี้ยวเดียวของความโหดหิน คงมีอีกหลายอย่างที่มันน่าท้อมากๆ ในการทำงานยากระดับนี้ และเขาจะเอาเรื่องนั้นมาเป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการ! แล้วทำไมเราจะพลาดล่ะ

อ้อ เราเองมีส่วนร่วมกับงานเล่มนี้ด้วยนิดหน่อย คือได้มีโอกาสทำฟอนต์ลายมือของสะอาด พอเห็นผลการดัดเส้นตรงเส้นโค้ง แอบซ่อมนู่นปะนี่ และใส่โค้ดให้มันแสดงผลได้อย่างถูกต้อง (ถึงจะไม่ใช่ลายมือเรา แต่เอาวะ ขอเนียนภูมิใจหน่อย) ไปปรากฏในเล่มหนังสือจริงๆ แถมยังเป็นหนังสือที่ทรงคุณค่ามากๆ ด้วยไม่ว่าจะมองมันในหมวดหนังสือการ์ตูน หมวดงานศิลปะ หรือหมวดวรรณกรรม ระดับที่จะอยู่ไปเป็นตำนานคู่บ้านคู่เมืองเราไปอีกแสนนานแล้ว มันฟินแบบไม่รู้จะบรรยายยังไง

ตัดภาพมา เราก็มายืนอยู่หน้า Kinjai contemporary อยู่ใกล้ MRT สิรินธรเลย เดินทางง่ายมาก แต่เราอยู่บ้านนอกก็ขับรถไปจอดในซอยข้างหลังแล้วเดินนิดนึงก็ถึง เรามาถึงก่อนงานเริ่มประมาณครึ่งชั่วโมง ยืนถ่ายรูปสักพักก็เจอมิตรสหายที่ไม่รู้จักกัน แต่มองตากันก็เข้าใจว่ามางานเดียวกันนี้แหละ เก้ๆ กังๆ ใส่กันสักพัก ก็พยักหน้าและตัดสินใจเปิดประตูเข้าไปในนั้น (แอร์เย็นฉ่ำ) อ้าว ไม่มีคนเฝ้านี่นา ขโมยของกลับบ้านดีกว่า ก็เริ่มทยอยดูงาน

พยายามไม่สปอยล์ลงทวิตเตอร์ แต่พอเป็นบล็อกแล้วอดใจไม่ไหว ขอเล่าไว้เผื่อใครสนใจละกันนะครับว่างานนี้คุณจะได้เจออะไรบ้าง

ชั้นล่าง มีธงผ้าใหญ่ๆ ปลิวๆ (จำคีย์เวิร์ดปลิวไว้นะครับ จะมีให้เห็นตลอดงาน ทั้งแบบ 3D และ 2D) เหมือนปกหนังสือ ที่เชิญชวนเราเข้าไป

ด้านหลังมีวิดีโอชวนเชื่อ และคำนำ-เครดิตของงานนี้ ดูเป็นนิทรรศการที่ดูขึงขังกว่าที่คิดแฮะ เรานั่งรอสักพักก็ไม่รู้ว่าต้องทำไงต่อ มันน่าจะใกล้ห้าโมงตามเวลาเปิดแล้ว แต่ยังไม่เห็นใคร งั้นแอบขึ้นบันไดตามพี่คนนั้นที่เพิ่งถูพื้นเสร็จไปชั้นสองดีกว่า

ชั้นสอง (ที่จริงคือชั้นลอย) เพดานเตี้ย เกือบหัวโขกแล้ว แต่ถ้าใครโขก ก็จะเป็นความประทับใจแรกที่ได้เห็นป้ายสีดำทะมึน มีรูปนิภาที่ทำสีหน้าดุดัน เป็นป้ายเกริ่นนำเข้าสู่ตัวเล่มหนังสือ

ขึ้นบันไดไปอีกนิดก็เจอชั้นที่บอกเล่าว่าไอเดียของโครงการนี้มาจากไหน เป็นยังไง แรงบันดาลใจมาจากอะไรบ้าง หนึ่งในนั้นมีเสา 1 ต้น สูงจากพื้นจดเพดาน เสานี้ทำจากหนังสือ reference ที่ผู้เขียนได้เสพและย่อยมันเข้าไป อยู่ในหมวด #สะอาดอ่าน ล่ะ และฝั่งตรงข้ามมีอีกบางเล่มที่เขาจัดวางไว้บนหิ้งพร้อมคำอธิบาย

พออ่านคำอธิบายเท่านั้นแหละ ก็รู้สึกซี้ดขึ้นมาทันที …เข้เห้ นี่มันไม่ใช่นิทรรศการเครียดๆ แบบต้องยืนหลังตรงดูแล้วนี่หว่า แต่มันรอให้คุณส่อง สังเกต แล้วจะพบมวลแห่งความเปรี้ยวตีน(แบบสะอาด)ที่แฝงซ่อนไว้ตามจุดต่างๆ แถมเยอะซะด้วย

ผมขอเอามาสปอยล์แค่นิดหน่อยนะครับ เพราะความเซอร์ไพรส์มันต้องไปดูเองเท่านั้นเลย แต่มีมวลนี้อยู่เยอะแบบจุใจ นี่แค่ชั้น (ชั้นอะไรแล้ววะ สองครึ่งมั้ง บันไดเขาหลายชั้นจัด)

พอเดินขึ้นมาอีกชั้น บนบันไดไม้ขัดมันปลาบ แต่มีเสียงเอี๊ยดอ๊าดเบาๆ ด้วยความคลาสสิกของสถานที่จัดงานที่บิลด์อารมณ์กันเต็มที่ เราก็มาถึงชั้นนี้ที่เด็ดดวงสุดยอดครับ (เราใช้เวลาอยู่ชั้นนี้นานมากๆๆๆ)

ห้องแรกคือโน้ต สเก็ตช์ ดราฟต์ บันทึกต่างๆ ของผู้เขียน ทั้งแบบที่เป็นภาพร่างตัวละคร และแบบไดอารี่ ที่เป็นไอเดียที่ดีมาก คนที่นั่งทำงานเงียบๆ หมกมุ่นอยู่กับงาน และตัวเอง เพื่อจะไม่ให้เขาบ้าไปเสียก่อน ก็ต้องมีสักทางให้ระบายมันออกมา

สะอาดเลือกใช้วิธีเขียนบันทึกคุยกับตัวเอง ระบายความกดดัน ความสับสน ความกังวลใจออกมาทุกระยะที่งานเจออุปสรรค หรือไม่เจอในงาน แต่เจอกับตัวเขาเอง ตลอดระยะเวลาที่ตื่นเต้น ประหม่า เริ่มเขียน แก้งาน ท้อใจ สิ้นหวัง หมกมุ่น กลับมาฮึด วนลูปไปจนงานเสร็จ ยืนอ่านไดอารี่นี่นานเลย ชอบที่ได้เห็นความฉิบหายของคนอื่นแบบไม่เซ็นเซอร์ งานระดับนี้มันก็ต้องกดดันขนาดนี้สินะ พอรู้แล้วมันก็ช่วยสร้างเสริมพลังใจให้ตัวเองได้ดีมากๆ (นิสัย)

และห้องที่เป็นไฮไลต์ (รึเปล่าไม่รู้ แต่เราชอบสัสๆ) คือ ห้องรวมต้นฉบับ

ในห้องนี้มีงานต้นฉบับขนาด A4 ที่ร่างด้วยดินสอสีฟ้า และตัดเส้นด้วยปากกา หมึกวาวๆ (เราไม่รู้เรียกว่าอะไร) เห็นการวาดเส้นทุกเส้น มีความหนาและนูนออกมาจากเนื้อกระดาษ มีรอยขูดขีด โน้ตต่างๆ ในกระบวนการผลิต และตบท้ายด้วยลายมือสะอาดที่เขียนคอมเมนต์ด้วยปากกาดำเพิ่มลงบนแผ่นกระจกปิดหน้า เพื่อจัดแสดงในงานนี้

ต้นฉบับและเกร็ดต่างๆ ที่จัดแสดงในห้องนี้นั้นโคตรทรงคุณค่าเลย คือในฐานะผู้อ่านแล้ว มันเหมือนเพิ่มมิติการอ่านได้อีกชั้นนึง บางหน้าที่เราอ่านเร็วไป พอได้เห็นเบื้องหลังการถ่ายทำ ก็อยากจะพุ่งกลับบ้านไปอ่านแบบละเลียดอีกรอบ ด้วยสายตาที่ต่างจากเดิม (คือปกติก็อ่านช้าอยู่แล้วนะ แต่นี่พอเห็นความละเอียดของงานแล้วอยากเสพแบบเสพภาพเลย) แต่เดี๋ยวก่อน ยังไม่กลับ เราจะมาซื้อเล่มพิเศษในงานนี้ด้วย! เดี๋ยวว่ากัน

เออ แปลกใจนิดนึงที่ว่าห้องนี้เขาห้ามถ่ายหรือห้ามสัมผัสชิ้นงานเนอะ แต่เห็นคนถ่ายเต็มเลย ทั้งๆ ที่ป้ายห้ามก็มีเยอะแยะ T-T ไม่ใช่ไร อิจฉา อยากถ่ายมั่ง จะฟ้องครูก็ไม่รู้ครูอยู่ไหน เขาให้เดินอิสระดีจัง

บอกเลยครับว่าตอนนี้ฟินแล้ว สามารถกลับถึงบ้านนอนหลับฝันดีได้เลย เขาลำดับการนำเสนองานได้ดีมากๆ

แต่ยังไม่จบเท่านั้น! ยังไม่เจอเจ้าของงานเลยนี่!

พอเดินขึ้นไปถึงชั้นบนซึ่งเป็นแกลเลอรี่และดาดฟ้าเท่านั้นแหละ

บรรยากาศโคตตตตตรรรรดีเลยครับ! ชั้นนี้เป็นแกลเลอรี่ มีภาพวาดเท่ๆ มีโต๊ะวาดรูปของสะอาดอยู่ที่มุมห้องนึง อีกมุมก็เป็นโต๊ะพิมพ์ดีดของนิภา ผมเดินชมงานแล้วก็พบว่าคนมากันเยอะขึ้นเรื่อยๆ

ด้านนอกห้องฝั่งที่เป็นดาดฟ้าก็บรรยากาศชิลสุดขีด เห็นว่ามีเบียร์ขายด้วยมั้ง แต่เราไม่ได้แงะไปโซนนั้นเพราะไม่สันทัดปาร์ตี้ ขอวนกลับมาในห้องอีกครั้ง เพื่อจัดเล่มนี้

หนังสือ 2475 นักเขียนผีแห่งสยาม ฉบับเขียนความหวัง 🖋️✨ เป็นเล่มพิเศษฉลองล้านตลับ เปลี่ยนปก เพิ่มเพลง ทำเป็นเล่มแข็งๆ นอนหงายอ่านยากกว่าเดิม ต้องนอนคว่ำ ไม่งั้นมีฟันบิ่นแน่

เรียบร้อยครับ ฟิน กลับบ้านได้ แต่เดี๋ยวก่อน

เจ้าของนิทรรศการมากล่าวเปิดงานครับ ดูจะเขินๆ หน่อย แต่ก็บรรยากาศครึกครื้นดีจัง

งานนี้เป็นงานของคุณ เป็นผลผลิตที่เกิดจากความคิดสร้างสรรค์และวินัยที่เข้มข้น จากมันสมอง หยาดเหงื่อ คราบน้ำตา และด้วยมือของคุณเองนั่นแหละที่พาคุณเดินทางไปทั่วโลก และตอนนี้คงสิ้นสงสัยกับทุกคำถามแล้วเนอะ

เราในฐานะของคนที่ตามผลงาน และอาจได้ร่วมงานกันหชนิดๆ ก็โคตรภูมิใจแทนภูมิเป็นอย่างมาก เห็นพ่อแม่พี่และภรรยามาเดินยิ้มแฉ่งในงานก็ยิ้มตามไปด้วย

เออ ดีง่ะ

พอจบพิธีการก็มีการวาดรูปสดๆ ให้ดู คนยืนมุงกันเยอะมาก แต่ไม่มีใครกล้าเข้าไปใกล้ๆ นะ กลัวจะรบกวน นี่เดาว่าตัวของสะอาดเองก็คงรู้สึกไม่ธรรมดาเท่าไหร่ เพราะปกติคือนั่งปั่นงานอยู่ในถ้ำคนเดียว พูดกับตัวเองคนเดียวมาตลอด แต่คราวนี้อยู่ดีๆ ก็กลายเป็นหมูเด้ง

ซึ่งก็จะมีน้องคนนั้น ที่เป็นแฟนคลับรุ่นเยาว์ แหวกวงล้อมของผู้ชมคนอื่นๆ ไปยืนเกาะโต๊ะดูแบบชิดต้นฉบับเลย นี่เป็นภาพที่โคตรดีเลยว่ะ

เห็นเลยว่าแรงบันดาลใจที่คุณรับมาในวัยเด็ก(แบบนี้) มันถูกส่งต่อไปยังคนรุ่นถัดไปแล้ว

ขอบคุณที่เขียนความหวังขึ้นมาครับ

.

หมายเหตุ : นิทรรศการมีถึงวันที่ 16 มีนาคมนี้ อยากให้ไปดูครับ

คอมเมนต์

ทำเว็บแปลงค่าเงินเยนเป็นบาทแบบง่ายๆ

เสร็จละ เว็บแปลงค่าเงินเยนเป็นเงินบาทแบบเร็วๆ ง่ายๆ โง่ๆ เผื่อคนไปญี่ปุ่น แล้วจะได้ไม่เสียเวลายืนนับนิ้วคำนวณค่าเงินอยู่หน้าร้านตอนจะซื้อของ เลยทำมาใช้เองแบบง่ายๆ เลยทำมาแชร์ด้วย

  • โจทย์คือ ออกแบบให้ใช้ง่ายที่สุดในมือถือ ไม่เน้นสวย
  • และเล็ก เราเลย optimize โค้ดเหลือขนาดจิ๋ว แค่ 1KB นิดๆ เอง
  • เออ ถ้าจะให้ง่ายขึ้นอีก มันกดทำ shortcut ได้นะ เวลาเข้าเว็บก็เหมือนเปิดแอปเลย

เชิญจ้ะ

คราวนี้ใช้ Gemini ช่วยเขียนโค้ด เพราะเราลืมวิธีไปหมดแล้ว บรีฟด้วยภาษาไทยแบบลูกค้าเรื่องมาก ใช้เวลาทำแป๊บเดียว ลวกๆ เลย นานแค่ตอนพยายามปรับ UX ให้มันง่ายที่สุดขนาดที่เอาไปให้เมียใช้แล้วไม่บ่น

ป.ล. คราวก่อนที่ทำเว็บค้นคอร์ดอูคูเลเล่ เราใช้ DeepSeek ถึงน้องจะช้า แต่ก็เก่งเรื่องโค้ดสุดๆ ส่วนคราวนี้ถือว่าเป็นโอกาสดีที่ซื้อมือถือแล้วมันแถมน้องเจมตัวแพงมาด้วย เลยใช้ดู พบว่าโหลดเร็วและไม่บ่นเรานัก แต่น้องขี้ลืม สู้น้องวาฬไม่ได้

อัปเดต 1 : คุณ Pikaboyz Pikaz เสนอว่าให้ดึง API ค่าเงินเยนปัจจุบันมาใช้ เออดีเหมือนกัน เลยปรับมาใช้ตามนี้ครับ (ทำเองไม่เป็นหรอก ให้น้องเจมช่วยเขียน) ตอนนี้ไฟล์ใหญ่ขึ้นเป็น 1.71KB

อัปเดต 2 : สรุปว่าถ้ากด enter แล้วจะเป็นการเคลียร์ input เลย แล้วเพิ่ม input history ข้างล่าง เผื่อเปรียบเทียบราคาของหลายๆ ชิ้นไง ขนาดไฟล์ใหญ่ขึ้นจึ๋งนึง ช่างมัน ยังไม่เกิน 3KB ไม่น่าเปลืองเน็ตมั้ง…

คอมเมนต์

ลองใช้ AI เขียนเว็บค้นคอร์ดเพลง

ผมหัดเล่นอูคูเลเล่ เกาๆ ง้องแง้งที่บ้านมา 2-3 ปีแล้วครับ เล่นได้แต่คอร์ดง่ายๆ และรู้จักแค่เพลงไทย โดยเฉพาะเพลงรุ่นน้าๆ ลุงๆ เล่นไปทำไมก็ไม่รู้ ลูกเมียก็ไม่ได้อินด้วย ใช้เวลาหลังกินข้าว หยิบอู๊คกระป๋อง (มันทำจากกระป๋องคุกกี้กล่องแดง) มานั่งดีดๆ เปิดเพลงจากเว็บต่างๆ แล้วทยอยเซฟภาพคอร์ดที่เล่นแล้วรอดไว้ในเครื่อง บางทีอันไหนดีดยากก็เขียนๆ แก้ๆ เป็นคอร์ดที่เราเล่นเป็นเท่านั้น

แต่หลังๆ เพลงมันเริ่มเยอะ ก็ย้ายไฟล์ทั้งหมดไปบน Google Drive พอนับดูได้ 500 กว่าไฟล์แล้วก็พบว่า พอไฟล์เยอะ การเปิดแท็บเล็ตหรือมือถือแล้วไถหาเพลงที่ต้องการที่เซฟไว้ มันยาก

แต่ก็ใช้วิธีนี้มาเรื่อยๆ ไม่ได้หืออืออะไร แต่ในใจก็คิดว่า มันน่าจะมีแอปหรือเว็บที่ช่วยเราเรื่องนี้นะ คือค้นเร็วๆ ได้ แล้วก็สุ่มๆ เพลงขึ้นมาได้เผื่อเกิดเบื่อขึ้นมา ที่สำคัญขอแค่มันเร็วหน่อย

แล้วเมื่อวานก็ได้ลองเล่น DeepSeek ที่เป็น AI ตัวใหม่จากแดนมังกร หลังจากกลั่นแกล้งน้องไปพอสมควรแล้ว ก็นึกได้ว่า เอ๊ะ ถ้าจะบอกน้องให้ลองทำเว็บที่ตอบโจทย์นี้จะได้แค่ไหนกันนะ

บ่ายวันนี้ก่อนไปรับลูกกลับจากโรงเรียน เลยลองพิมพ์บรีฟไปคร่าวๆ เหมือนเป็นลูกค้าที่สั่งคนทำเว็บ

ต้องการโค้ด HTML+ inline JavaScript เพื่อสร้างเว็บ 1 page HTML ง่ายๆ 1 หน้า โดยมีฟีเจอร์ดังนี้
– หน้าเว็บโล่งๆ
– ด้านบนเป็นช่อง text input
– ถัดมา เป็นรายชื่อไฟล์รูปภาพทั้งหมดใน sub folder ชื่อ song ขึ้นมาแสดงเรียงกันตามตัวอักษร แสดงเฉพาะชื่อไฟล์ ไม่ต้องแสดงนามสกุล เมื่อคลิกแล้วจะลิงก์เปิดไฟล์นั้นขึ้นมา
– ช่อง text input ด้านบน เมื่อพิมพ์ตัวอักษรลงไป ให้เหมือนเป็นการ filter search แสดงเฉพาะชื่อไฟล์ที่มี text ที่พิมพ์ลงไปเท่านั้น, update on every input changed
– หากช่อง input ว่าง ให้แสดงชื่อไฟล์ทั้งหมดเหมือนเดิม
– ใต้ช่อง input ให้มีลิงก์ 1 อันเขียนว่า clear, เมื่อกดแล้วจะเคลียร์ text input ด้านบน
– ทั้งหมดนี้ให้เขียนออกมาในไฟล์เดียว

เนี่ย เบื้องต้นต้องการแค่นี้แหละ แล้วน้องก็พ่นออกมายาวเหยียด และน่าหนุกมาก! จนเราที่เกษียณจากการทำเว็บมาเป็นสิบปีแล้วถึงกับตาลุกวาว แต่ต้องออกไปรับลูก งั้นมโนไปก่อนละกันว่ามันจะดีไหม

หลังจากเสร็จทุกธุระในวันนี้แล้วก็เลยมานั่งกดๆ พิมพ์ๆ โต้ตอบกับน้องอีกพักใหญ่ พบว่าน้อง DeepSeek ตอบโจทย์ความต้องการของเราดีมาก ใส่ใจรายละเอียดและชี้ทางแก้ปัญหาต่างๆ

แต่น้องก็ค้าง…

น่าจะเกี่ยวกับที่ขึ้นประกาศวันนี้ว่าโดน attack ครั้งใหญ่จนล่ม (ไม่รู้จะเกี่ยวกับที่เหล่าชาวโลกร่วมใจกันบูลลี่น้องหรือเปล่า) เราก็เลยเอาโค้ดไปคุยต่อกับเพื่อนสนิทอย่าง Gemini

ซึ่งอีนี่ก็พูดมากเหลือเกิน ไม่รู้สินะ เราใช้แบบคร่าวๆ เป็นรุ่น 2.0 (แต่ฟรี) ก็พบว่าความคล่องตัวยังสู้น้องหลามจีนไม่ได้ แต่แกพูดมากจนเราต้องบอกว่าเอาแต่พอดีๆ นะ ซึ่งการที่น้องไม่ล่มนี่ก็ช่วยให้คืบหน้าไปได้ด้วยดี

ด้วยความที่เราก็ไม่ได้เชี่ยวชาญ (เราเขียนโค้ดเองไม่เป็นเลย) ก็เลยนั่งปรับๆ แก้ๆ ไปเรื่อยๆ ถามๆ ตอบๆ ปรับจูนกันจนดึกดื่น คือดีไซน์น้องนี่สั่งให้สวยได้นะ แต่มันจะสวยแบบแปลกๆ นิดนึง ส่วนงาน UX/UI จึงค่อนข้างเป็นงานทำมือ แต่ทำเสร็จก็ส่งให้น้อง optimize ได้อีกต่อ

จนในที่สุดก็ได้เว็บนี้มา 5555555 สนุกง่ะ ขอแนะนำำำำำ

เว็บไซต์นี้เป็นเว็บทดลอง โดยใช้ AI คือ DeepSeek และ Gemini ทำขึ้นมาใช้เองส่วนตัว เอาไว้รวบรวมคอร์ดเพลงไว้ฝึกซ้อมอูคูเลเล่ มีฟีเจอร์หลัก ๆ ดังนี้

(ทีแรกจะบรรยายฟีเจอร์เอง แต่นี่ง่วงแล้ว นึกได้ว่าน้องก็อยู่กับเรามาทั้งคืน เลยขอโยนให้ จมน แนะนำแทน)

  • ค้นหาคอร์ดเพลง: ผู้ใช้สามารถค้นหาคอร์ดเพลงที่ต้องการได้โดยการพิมพ์ชื่อเพลง ชื่อศิลปิน หรือบางส่วนของเนื้อเพลงในช่องค้นหา
  • แสดงผลรายการคอร์ดเพลง: เว็บไซต์จะแสดงผลรายการคอร์ดเพลงที่ตรงกับการค้นหาของผู้ใช้ โดยจะแสดงเป็นรายการลิงก์
  • แสดงคอร์ดเพลง: เมื่อผู้ใช้คลิกที่ลิงก์คอร์ดเพลง เว็บไซต์จะแสดงเนื้อหาคอร์ดเพลงนั้น ๆ
  • สุ่มเพลง: มีปุ่มสำหรับสุ่มเพลง หากผู้ใช้ต้องการฟังเพลงใหม่ ๆ หรือไม่รู้จะฟังเพลงอะไร
  • เพลงทั้งหมด: มีปุ่มสำหรับแสดงเพลงทั้งหมดในเว็บไซต์ ทำให้ผู้ใช้สามารถเลือกดูคอร์ดเพลงทั้งหมดได้
  • ค้นหาใน Google: ถ้าเพลงที่หาไม่มีในสต็อก จะมีปุ่มให้กดไปค้นต่อในเว็บคอร์ดเพลงที่เป็นที่นิยมผ่าน Google
  • รีเซ็ต: มีปุ่มสำหรับรีเซ็ตการค้นหาและ cache ของเว็บไซต์

เออ มีทิปนิดนึงคือ

  • เว็บจะแสดง 50 เพลงแบบสุ่ม ยกเว้นถ้าเราพิมพ์ “all” หรือ “*” หรือไม่ก็ไปกดลิงก์ด้านล่างก็ได้ มันจะโชว์ทั้งหมดเรียงตามตัวอักษร
  • เพลงไหนเคยเล่นแล้ว ปุ่มมันจะมืดๆ ไป 1 วัน ยกเว้นจะกดรีเซ็ต (เป็นการล้างแคช) – ระยะเวลา 1 วันนี่ลองใส่ไว้ก่อน เดี๋ยวใช้ไปเรื่อยๆ อาจจะปรับเป็น 7 วันหรืออะไรก็แล้วแต่
  • ถ้าพิมพ์เพลงที่ไม่มี มันจะไม่เจอใช่มะ ให้ลองกดหาในกูเกิล มันจะเอาคำที่เราพิมพ์นั่นแหละ ไปค้นในเว็บค้นหาคอร์ดเว็บอื่นๆ
  • ถ้าเปิดในมือถือหรือแท็บเล็ต จะมีตัวเลือกให้ลองติดตั้งเป็นแอป (progressive webapp) ได้เลย ดังนั้นนี่ก็เหมือนเป็นแอปแอปนึงละ กด add to home / install ได้เลย จะได้จิ้มง่ายๆ

พอมาถึงตอนนี้ก็พบว่า ถึงจะเขียนโค้ดไม่เป็น แต่การสั่งๆๆ บรีฟๆๆ ใส่เอไอ แล้วให้น้องบ้วนออกมาเป็นของที่เราอยากได้มานานนี่ มันสนุกจัง!

คอมเมนต์

เราไม่ใช่คนทันสมัยอีกต่อไปแล้ว

ช่วงหนึ่งของชีวิต ที่ตรงกับช่วงหนึ่งของยุคสมัยที่เทคโนโลยียังไม่ใช่สำหรับทุกคน แต่เป็นคนที่เจอมันก่อน มีโอกาส และเข้าถึงเท่านั้น

เราเป็นหนึ่งในคนแบบนั้น ถึงที่บ้านจะไม่ได้มีฐานะทางการเงินที่ดี แต่ด้วยวิสัยทัศน์ของพ่อ ที่บังคับไปเรียน Lotus , D-Base, DBFORM ที่โรงเรียนสอนคอมพิวเตอร์และบัญชีใกล้บ้าน (โรงเรียนคอมพิวเตอร์ท้องถิ่นนะเว้ย) ตอน ป.6 และซื้อคอมพิวเตอร์ 486 DX-II แรม 4MB มาให้หัดเล่นหัดแงะตั้งแต่ ม.1 ด้วยแกเห็นอะไรบางอย่างที่น่าจะเป็นอนาคตที่เด็กเนิร์ดอย่างเราอาจจะคว้าไว้ได้

และเราก็คว้าไว้ ล้วงแคะแกะเกาอย่างสนุกจัดๆ หัดโน่นซนนี่ เท่าที่เทคโนโลยีจะอำนวย แงะเกม โมรอม (ในยุค 90s) ทำเว็บ (ในยุคที่บังมีเน็ตให้เล่นอยู่ที่เดียวในจังหวัดคือราชภัฏ) ไม่นับพวกงานประกอบคอมพ์ ซึ่งเป็นสูตรมาตรฐานของคนประเภทนี้ ที่ทำจนสร้างรายได้จากเหล่าเพื่อนพ่อที่โดนเราหลอกพามาเดินพันธุ์ทิพย์เพื่ออัปเดตว่ากรุงเทพฯ เขาไปถึงไหนกันแล้ว

ในยุคก่อนอินเทอร์เน็ตนั้น การเรียนรู้ระบบไอทีอะไรที่เข้าถึงได้โดยไม่ต้องเสียเงิน ก็น่าจะเล่นมาจนปรุ

แต่แบบเสียเงิน เช่นเรียนเขียนโปรแกรม PASCAL ตอน ม.3 ที่ต้องจ่ายเพิ่มเทอมละ 400 บาท ไม่กล้าขอเงินพ่อแม่ไปเรียน นี่เป็นสิ่งที่นึกย้อนไปแล้วเสียดายจนทุกวันนี้ ถ้ารากฐานตอนนั้นดี มันคงเปลี่ยนเราไปจากนี้เยอะเลย แต่ช่างมัน

ชีวิตในวัยมัธยมของเราจึงโคตรฟินกับอะไรใหม่ๆ กระโดดขึ้นรถไฟขบวนแรกอยู่เสมอ ถึงจะเป็นรถไฟต่างจังหวัดที่เป็นเพียงกะลาเล็กๆ สู้เด็กในเมืองไม่ได้หรอก แต่มันก็ถูกพิสูจน์ชัดตอนเข้ามหาลัย

เราเข้าเรียนคณะสายออกแบบ อีคณะนี้เรียกว่าไม่มีอะไรเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ที่เราถนัดเลย แต่นั่นเลยกลายเป็นคนนอกระบบการศึกษาด้านเทคโนโลยี ที่ดันต้องแถกไถหาวิธีเล่นเอง มันเลยกลายเป็นสายประยุกต์ที่น่าสนุกดีนะ อย่างพวกวิชากราฟิก วิชาทำฟอนต์ ทำเว็บ วิชาแฟลช (ภูมิใจมาก แต่ตอนนี้ลืมหมดแล้ว) แล้วก็ SketchUp (ที่น่าจะเคลมได้ว่าหัดเองเป็นคนแรกๆ ของประเทศเรา เพราะโหลดเถื่อนตรงจากเว็บฝรั่ง แล้วเอามาสอนอาจารย์ที่คณะอีกที แถมเอามาทำ Thesis คนแรกของไทย 5555)

ที่อวดเก่งมาทั้งหมดนี่เพียงเพื่อจะบอกว่ามันเป็นเรื่องเล่าเก่าแก่ในอดีตของคนที่เคยมั่นใจในความนำสมัยของตัวเองว่า ถึงจะด้อยโอกาสอยู่หน่อยๆ แต่เรื่องสู้ชีวิตเพื่อให้ได้เป็นโปรยูสเซอร์นี่ เราก็ไม่แพ้ใครนะ

เป็นแค่ในตอนนั้น

ถัดมาแค่สิบปี พอเราอิ่มตัวจัดๆ และหมดไฟในการใช้ชีวิตในเมืองกรุง ถึงขั้นตัดสินใจเด็ดขาดว่าขอลาออกจากกรุงเทพฯ แม้จะเป็นการเปลี่ยนงานเปลี่ยนอาชีพ โดดลงจากรถไฟสายเทคโนโลยีที่รู้ดีว่ามันเร็ว และไม่มีทางหยุด

แต่กูเหนื่อยไง

พอโจทย์ในชีวิตเปลี่ยน มันก็เหมือนสับสวิตช์ปิดฉับเลย วางมือจากทุกงานที่เกี่ยวกับงานออกแบบสร้างสรรค์หรือดิจิทัลเอเจนซีใดๆ ที่ใช้เทคโนโลยีเป็นพาหนะ หันมาคุยกับต้นไม้ คุยกับแมว ถ่ายรูป ช่วยเมียขายเสื้อผ้า ฯลฯ

แล้วก็ได้พบว่าอีกเพียงไม่นานหลังจากนั้น สิ่งที่เราโม้ เราภูมิใจที่ผ่านมาทั้งหมด มันเป็นขยะ

โอเค เราสามารถอวดได้แหละว่าพี่มาก่อน พี่ทำก่อน พี่รู้ก่อน แต่มันยังไงต่อนะ เพราะทุกวันนี้ไอ้ทักษะที่เราอวด มันคือสิ่งปกติสามัญธรรมดามากๆ ประเภทที่เด็กประถมก็เกิดมากับการทำเป็นกันหมดแล้ว

วิทยาการมันพัฒนาไปจนคลื่นลูกที่ตามมามันทับถมตะกอนทราย เป็นพื้นฐานและต่อยอดทบทับขึ้นไปเรื่อยๆ ไม่รอ และแน่นอน ไม่หยุด

เราจึงเป็นเพียงเศษซากความภูมิใจในอดีต ที่จดไว้ฟินเองในบันทึกส่วนตัวเท่านั้น ตอนนี้จะตัดคลิปติ๊กต็อกแบบที่เขาเล่นกันท้ายตลาด ยังทำไม่เป็นเลย

และทั้งหมดนี้ไม่ได้รู้สึกว่าเสียใจหรือชอกช้ำระกำทรวงอะไรนะ แต่รู้สึกว่ามันเป็นภาพใกล้เคียงกับที่จินตนาการไว้ตอนโดดลงจากรถไฟ ว่ายังไงถ้าทุกปัจจัยมันลงตัวพอดี ไอ้สิ่งที่เราเคยเบ่งบารมีว่าเคยทำ ทุกคนก็ต้องทำได้เป็นปกติ และดีกว่า

เราจึงแฮปปี้ที่ได้อยู่ในโลกที่เทคโนโลยี (ซึ่งเป็นสิ่งที่เราชอบ) มันดีขึ้นเรื่อยๆ แม้ตัวเองจะชราลงทุกวัน และตกยุคหล่นสมัยไปแล้ว

แต่ก็จะพยายามไม่ให้ตกไปไกลมากนะ เดี๋ยวคุยสคิบิดี้ซิกมากับเจนอัลฟาที่บ้านไม่รู้เรื่อง

คอมเมนต์

ยืมหนังสือดีๆ มาอ่านฟรีจากห้องสมุดออนไลน์ โครงการอ่านเปลี่ยนโลก

ผมดูรายการสัมภาษณ์คุณช่อสักรายการ จำไม่ได้แล้ว ตอนจบรายการ คุณช่อโฆษณาโครงการนึงของคณะก้าวหน้า ชื่อว่า Reading Revolution อ่านเปลี่ยนโลก

ใจความของโครงการที่ทำให้สนใจก็คือ เขาเป็นห้องสมุดออนไลน์ที่คัดหนังสือดีน่าอ่านมาให้เราได้ อันฟรีถึงบ้านเพียงกดยืมในเว็บให้เวลาอ่านหลายวันมากด้วยนะเสร็จปั๊บก็ส่งคืนทางไปรษณีย์ไทยซึ่งเขาแนบซองติดแสตมป์มาให้ด้วยเท่ากับเราอ่านฟรีไม่ต้องเสียตังค์อะไรเลยสักบาทเดียว

นี่พิมพ์ด้วยเสียง ลูกสาวได้ยินเข้าเลยหันมาถามว่า “แล้วเขาจะมีรายได้ยังไง”

คำตอบคือเขาเปิดรับบริจาคจากประชาชนทั่วไปแล้วมีสปอนเซอร์ใหญ่ที่ให้ทุนเยอะก็คือโก๋แก่ (ลูกถามว่าคือใครเหรอ) — เป็นขนมถั่วๆ น่ะ หนูเคยเห็นไหมที่เคยขายในเซเว่นน่ะ / ใช่ที่เป็นรูปลุงมีผมยาวๆ ปะ / ใช่ๆ (นี่ประทับใจเลยขอชื่นชมเขาหน่อย)

ผมไม่แน่ใจว่าโครงการนี้มีที่มาที่ไปยังไงเพราะไม่ได้ติดตามมาก่อน แต่พอรู้ว่ามีหนังสือดีๆ ให้อ่านฟรี เรามันชอบของฟรี ก็เลยกดเข้าไปดูในเว็บทันทีที่คุณช่อพูดว่า เอ่อ

ปรากฏว่าหนังสือที่ลิสต์ไว้ในหน้าเว็บ มีแต่หนังสือที่น่าอ่านทั้งนั้นเลยจริงๆ ด้วย! (ตัวอย่างหนังสือดี 21 เล่ม) ก็เลยลองจิ้มๆ จัดมาก่อน 1 เล่มโดยการกรอกแบบฟอร์มในเว็บ

สักพักก็มีอีเมลมายืนยัน แล้วไม่นานก็มีหนังสือมาส่งถึงบ้านจริงๆ!

แน่นอนว่ามีซองและแสตมป์แถมมาให้ด้วย แถมยังมีโปสการ์ดแถมมาอีกแผ่น

ประทับใจจนอยากบอกต่อ มายืมหนังสือกับโครงการนี้กันครับ!

ส่วนข้างล่างนี้ก๊อปมาจาก description ยูทูบข้างบน :

“อ่านเปลี่ยนโลก” (Reading Revolution) คือ โครงการส่งต่อหนังสือ ขยายพรมแดนความรู้ เปิดจินตนาการความเป็นไปได้ใหม่ๆ ผ่านการอ่านของ Common School โดย คณะก้าวหน้า

เราคัดเลือกหนังสือที่กระตุ้นให้เกิดจินตนาการถึงความเป็นไปได้ใหม่ๆ เพื่อนำมาแบ่งปันให้ทุกคนได้อ่านในรูปแบบการยืมและส่งต่อ (Book Sharing) หลังจากนั้น จะมีการจัดวงแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน (Reading Group)

การเปลี่ยนแปลงโลกให้ดีกว่าที่เป็นอยู่ ไม่สามารถอาศัยกำลังทางกายภาพและจำนวนปริมาณเท่านั้น แต่จำเป็นต้องมีความคิดชี้นำเพื่อไปสู่ความเปลี่ยนแปลงใหม่ การทำงานทางความคิดจึงเป็นขบวนการสำคัญ ดังที่ Lenin กล่าวไว้ว่า “หากปราศจากทฤษฎีปฏิวัติ ย่อมไม่มีขบวนการปฏิวัติ” หากความคิดความเชื่อแบบเดิมยังคงดำรงอยู่ การเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งใหม่ย่อมไม่อาจเกิดขึ้นได้ ดังนั้น การต่อสู้แย่งชิงเพื่อแตกหักกับความเชื่อเดิม สร้างความคิดความเชื่อใหม่จึงจำเป็น

การอ่าน คือ วิธีการเข้าถึงความรู้ วิธีการบ่มเพาะความคิดความเชื่อ ดังนั้น ความคิดใหม่จะเกิดขึ้นได้ ย่อมขึ้นกับว่าเราอ่านอะไร อ่านกับใคร และเข้าถึงการอ่านได้อย่างไร

ยืมหนังสือฟรี! pgmf.in.th/https://progressivemovement.in.th/article/common-school/3350/reading-revolution/

—–

สนับสนุนการทำงานของ Common School ได้ทางบัญชีธนาคารกรุงศรี ชื่อบัญชีมูลนิธิคณะก้าวหน้า เลขที่บัญชี 493-1-08675-7

ป.ล. รู้สึกว่าพิธีกรจะถามคุณช่อว่า “ถ้าหนังสือหาย ชำรุด หรือคนที่ยืมไปแล้วไม่คืนล่ะจะทำยังไง” คุณช่อตอบว่า “ก็ต้องช่วยๆ กัน…”

คอมเมนต์